Share to:

 

พระกรัดนางกัลยาณี

พระกรัดนางกัลยาณี
พระมเหสีฝ่ายซ้าย
ประสูติราว พ.ศ. 2224
พระราชสวามีสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
ราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ (ประสูติ)
บ้านพลูหลวง (อภิเษกสมรส)
พระราชบิดาพระไชยเชษฐาธิราชที่ 2

พระกรัดนางกัลยาณี[1] หรือ พระตรัสนายกัลยาณี[2] หรือ พระแก้วฟ้า[3] เป็นพระราชธิดาในพระไชยเชษฐาธิราชที่ 2 แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 แห่งอาณาจักรอยุธยา[1][2]

พระประวัติ

ชีวิตตอนต้น

ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าเมื่อปี พ.ศ. 2238 อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ได้มีพระราชสาสน์กราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระเพทราชาใจความว่า พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (ตรงกับรัชกาลพระไชยเชษฐาธิราชที่ 2)[4] มีความประสงค์จะถวายพระราชบุตรีพระองค์หนึ่ง พระนามว่าพระกรัดนางกัลยาณี (คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม)[1] หรือพระตรัสนายกัลยาณี, พระแก้วฟ้า (คำให้การขุนหลวงหาวัด)[2][3] ซึ่งมีพระชันษาเพียง 14 ปี เป็นบาทบริจาริกา นัยว่าขอพึ่งกรุงศรีอยุธยาให้ยกทัพมาช่วยอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์กำลังจะทำศึกกับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง[5] จากเอกสารของลาวพบว่าพระไชยเชษฐาธิราชที่ 2 ไม่มีพันธมิตรใดคอยช่วยเหลือเลยนอกจากญวน[4] เมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงทราบความ จึงยกทัพที่มีไพร่พล 10,000 คนไปเวียงจันทน์ และมีหนังสือติดต่อไปยังอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางทำนองว่ากล่าว ทางหลวงพระบางจึงยอมและมีนโยบายประนีประนอมกับเวียงจันทน์ในเวลาต่อมา อยุธยาจึงยกทัพกลับ หลังการช่วยเหลือเสร็จสิ้น อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ก็ส่งพระราชบุตรีลงมายังกรุงศรีอยุธยาทางคลองโพเรียง สมเด็จพระเพทราชาจึงมีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรสถานมงคลรับพระราชบุตรีแห่งเวียงจันทน์ไว้ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล[3][5] หากเทียบกับเอกสารทางลาว คาดว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2246 อันเป็นปีที่พระไชยเชษฐาธิราชที่ 2 ทรงรวมไพร่พลเข้ายึดเมืองหลวงพระบาง และตรงกับปีสุดท้ายของรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา[4]

ส่วนคำให้การขุนหลวงหาวัด และคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ระบุว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 แห่งอาณาจักรอยุธยาทรงมีชื่อเสียงว่าตั้งอยู่ในธรรม มีวิทยาคม และเก่งกล้าสามารถเลื่องลือไปถึงอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจึงแต่งพระราชธิดาที่มีพระสิริโฉมงดงามมาถวาย ซึ่งเสด็จมาด้วยใจรักภักดี มาพร้อมทั้งเสนามาตย์ ไพร่พลลาวทั้งหญิงชายจำนวนหนึ่งหมื่นคน[3] สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 จึงพระราชทานบำเหน็จต่าง ๆ ให้ และมีพระกรุณาให้ตั้งบ้านเรือน ณ บ้านมะม่วงหวาน หรือบ้านม่วงหวาน[1][2] (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลม่วงงาม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้และอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี)

ตำแหน่งพระมเหสี

หลังพระกรัดนางกัลยาณีเข้ามาในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 แล้วทรงสร้างพระตำหนักและเรือนหลวงให้เป็นที่อยู่ใหม่ เรียกว่าพระตำหนักใหม่[1][2] ชนทั้งหลายจึงออกพระนามพระมเหสีฝ่ายซ้ายว่า "เจ้าตำหนักใหม่"[6][7] แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีพระประสูติกาลพระราชบุตร

พงศาวลี

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 คำให้การขุนหลวง วัดประดู่ทรงธรรม, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 278
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 คำให้การขุนหลวงหาวัด, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 741
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 437-439
  4. 4.0 4.1 4.2 ลำดับกษัตริย์ลาว, หน้า 221-222
  5. 5.0 5.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 339-341
  6. คำให้การชาวกรุงเก่า, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 112
  7. คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 545
บรรณานุกรม
  • สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545. 368 หน้า. ISBN 974-418-118-4
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
Kembali kehalaman sebelumnya