พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เป็นพงศาวดารสยาม ต้นฉบับเป็นสมุดไทยจำนวน 22 เล่ม เนื้อหาเริ่มตั้งแต่การสถาปนากรุงศรีอยุธยาจนถึง จ.ศ. 1152 (พ.ศ. 2333) ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแต่งเนื้อหาเพิ่มเติมจนจบรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและทรงนิพนธ์คำอธิบายเพิ่มเติม ซึ่งได้จัดพิมพ์เป็น 2 เล่ม ประวัติพระราชพงศาวดารฉบับนี้ไม่มีบานแพนกระบุที่มาการชำระ หอพระสมุดวชิรญาณรับซื้อมาราวปี พ.ศ. 2449-2450 มีจำนวน 22 เล่มสมุดไทย เนื้อความตรงกับพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ต่างตรงที่ฉบับนี้เริ่มเรื่องตั้งแต่สถาปนากรุงศรีอยุธยา (แต่ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์เริ่มเรื่องที่พระเจ้าเชียงรายกับชาวเมืองอพยพมาสร้างเมืองไตรตฤงษ์) และมีลายมือเขียนแก้ไขเพิ่มเติมคำและสำนวนไว้ สอดคล้องกับพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2398 ระบุว่าพระองค์กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท กำลังร่วมกันแต่งตำนานกรุงสยามเริ่มความตั้งแต่การสร้างกรุงศรีอยุธยามาจนถึงราชวงศ์จักรี[1] จึงเรียกพงศาวดารฉบับนี้ว่าพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา[2] สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชำระต่อเนื่องมาจนสิ้นรัชกาล[3] ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช รับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในงานพระศพพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ปี พ.ศ. 2455 ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเพิ่มเติมเนื้อหาจนจบรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเพิ่มคำอธิบายรัชกาลต่าง ๆ จนถึงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2457 เป็น 2 เล่ม นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 2[4] อ้างอิง
|