พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (20 มีนาคม พ.ศ. 2280 — 7 กันยายน พ.ศ. 2352) หรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 1 ในราชวงศ์จักรีและเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 45 ตามประวัติศาสตร์ไทย เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง อัฐศก จ.ศ. 1098 เวลา 3 ยาม ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2280 (เมื่อเทียบปฏิทินสุริยคติแล้ว) ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 45 พรรษา และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงรับการยกย่องเป็น 1 ใน 8 สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประเทศไทย พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่าเป็น มหาราช เพราะทรงได้รับชัยชนะจากสงครามเก้าทัพ พระราชประวัติพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2280 (วันที่ 20 เดือน 4 ตามปีจันทรคติ) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งอาณาจักรอยุธยา พระองค์เป็นบุตรคนที่ 4 ของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก กับพระอัครชายา (หยก) เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ครั้นพระชนมายุครบ 21 พรรษา ก็เสด็จออกผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทลาย 1 พรรษา แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังเดิม เมื่อพระชนมายุได้ 25 พรรษา พระองค์เสด็จออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่ง "หลวงยกกระบัตร" ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์[2] และได้สมรสกับคุณนาค (ภายหลังได้รับการสถาปนาที่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญที่มีรกรากอยู่ที่บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม
รับราชการในสมัยกรุงธนบุรีภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแก่กรุงอังวะแล้ว พระยาตาก (สิน) ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี ในขณะนั้นนายทองด้วงมีอายุ 32 ปี ได้เข้าถวายตัวรับราชการตามคำชักชวนของพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้เป็นน้องชาย โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น พระราชริน (พระราชวรินทร์) เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และย้ายมาอาศัยอยู่ที่บริเวณวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จขึ้นไปตีเมืองพิมายซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นเจ้าเมืองพิมายอยู่ พระราชรินและพระมหามนตรีได้รับพระราชโองการให้ยกทัพร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย หลังจากการศึกในครั้งนี้ พระราชรินได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จที่มีความชอบในการสงครามครั้งนี้ หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นไปปราบเจ้าพระฝางสำเร็จแล้ว มีพระราชดำริว่าเจ้าพระยาจักรี (หมุด) นั้นมิแกล้วกล้าในการสงคราม ดังนั้น จึงโปรดตั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์ขึ้นเป็น พระยายมราช เสนาธิบดีกรมพระนครบาล โดยให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย เมื่อเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ถึงแก่กรรมแล้ว พระยาอภัยรณฤทธิ์จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก พร้อมทั้งโปรดให้เป็นแม่ทัพเพื่อไปตีกรุงกัมพูชา โดยสามารถตีเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์ และเมืองพุทไธเพชร (เมืองบันทายมาศ) ได้ เมื่อสิ้นสงครามสมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้นักองค์รามาธิบดีไปครองเมืองพุทไธเพชรให้เป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชา และมีพระดำรัสให้เจ้าพระยาจักรีและพระยาโกษาธิบดีอยู่ช่วยราชการที่เมืองพุทไธเพชรจนกว่าเหตุการณ์จะสงบราบคาบก่อน เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพทำราชการสงครามกับพม่า เขมร และลาว จนมีความชอบในราชการมากมาย ดังนั้น จึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก และได้รับพระราชทานเสลี่ยงงากลั้นกลดและมีเครื่องทองต่าง ๆ เป็นเครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม[3][4] เดือนมีนาคม พ.ศ 2324 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้าให้พระยาสรรค์แต่งทัพไปปราบกบฎ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้ากับกบฎและนำทัพเข้ายึดกรุงในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2324 พระยาสรรค์ได้กราบทูลให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสละราชสมบัติและออกผนวช ซึ่งพระองค์ยอมทำตามในวันที่ 10 มีนาคม พระยาสรรค์ครองเมืองได้ราวสองสัปดาห์ก็ถูกปราบโดยทัพของพระยาสุริยอภัย พระยาสุริยอภัยจับภิกษุตากสึกและขังไว้ หลังสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ยกทัพกลับจากกัมพูชามาถึงกรุงธนบุรีและได้สำเร็จโทษบรรดากบฎแล้ว ก็ดำริว่า เหตุแห่งกบฎคือพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้พิพากษาโทษอดีตพระเจ้าตากดังความ:
ต่อมานายสินถูกนำตัวไปประหารด้วยการตัดศีรษะ[6] ปราบดาภิเษกในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 หลังจากได้สำเร็จโทษพระเจ้าตากสินแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 พรรษา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน ครั้งเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หรือเรียกอย่างสังเขปว่า "กรุงเทพมหานคร" สวรรคตหลังจากการฉลองวัดพระแก้วแล้ว ก็ประชวรทรงพระโสภะอยู่ 3 ปี[7] พระอาการทรุดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รวมพระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี พระบรมศพถูกเชิญลงสู่พระลองเงินประกอบด้วยพระโกศทองใหญ่แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม โคมกลองชนะตามเวลา ดังเช่นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ จนกระทั่ง พ.ศ. 2354 พระเมรุมาศซึ่งสร้างตามแบบพระเมรุมาศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาได้สร้างแล้วเสร็จ จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจักให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้น มีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร (หรือกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นราชธานี และทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีปกครองราชอาณาจักรไทยเมื่อ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 (วันจักรี) ภายหลังการเสด็จเสวยราชย์แล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 ที่เรียกว่า "สงครามเก้าทัพ" นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์พระราชกรณียกิจประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากกรุงธนบุรีตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารและวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร ส่วนทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล จ.ศ. 1144 ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระบรมมหาราชวังสืบทอดราชประเพณี และสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้พระราชทานนามแก่ราชธานีใหม่นี้ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์" นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างสิ่งต่าง ๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานีได้แก่ ป้อมปราการ, คลอง ถนนและสะพานต่าง ๆ มากมาย การป้องกันราชอาณาจักรพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด 7 ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่
สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่าส่งคือ สงครามเก้าทัพ โดยในครั้งนั้นพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบอาณาจักรสยาม จึงรวบรวมไพร่พลถึง 144,000 คน กรีธาทัพจะเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งเป็น 9 ทัพใหญ่ เข้าตีจากกรอบทิศทาง ส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่าคือมีเพียง 70,000 คนเศษเท่านั้น ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้
ในสงครามครั้งนี้ ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุด โดยแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ จากศึกครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีพม่าที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ หลังจากรบกันได้ 3 วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่าง ๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ เขมร และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมืองกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเปรัก หลังจากที่พม่าพ่ายแพ้แก่สยาม ก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล 6,000 นาย มาช่วยเหลือและขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เกณฑ์ไพร่พล 20,000 นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ
ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ
เนื่องจากสงครามในครั้งก่อน ๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้ จึงทรงรับสั่งไพร่พล 55,000 นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น 7 ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล 20,000 นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น 40,000 นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน
ในครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ
พระบรมราชอิสริยยศ
ภายหลังการสวรรคตในรัชกาลที่ 3
ภายหลังการสวรรคตในรัชกาลที่ 4
ภายหลังการสวรรคตในรัชกาลที่ 6
ภายหลังการสวรรคตในรัชกาลที่ 7
พระพุทธรูปประจำพระองค์พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรตามวันพระบรมราชสมภพ สร้างราว พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๑๑ สร้างด้วยทองคำ บาตรลงยา สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบรมอัยกาธิราช สูง 29.50 เซนติเมตร ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน พระพุทธรูปประจำรัชกาล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ภายใต้พระเศวตฉัตร ๓ ชั้น สร้างราว พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔ หน้าตักกว้าง ๘.๓ ซ.ม. สูงเฉพาะองค์พระ ๑๒.๕ ซ.ม. สูงรวม ๔๖.๕ ซ.ม. ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน พระปรมาภิไธยเมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระองค์มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฏฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว"[8] เนื่องจากพระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏนี้เป็นพระปรมาภิไธยเดียวกับพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง), สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐา) และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ดังนั้น พระองค์จึงเป็น "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4"[9] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ออกพระนามรัชกาลที่ 1 ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตามนามของพระพุทธรูปที่ทรงสร้างอุทิศถวาย[10] และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เพิ่มพระปรมาภิไธยแก่สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชจารึกลงในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก"[9] หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1[11] ในวาระการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี รัฐบาลได้จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 ในการนี้รัฐบาลและปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์โดยถวายพระราชสมัญญา "มหาราช" ต่อท้ายพระปรมาภิไธย ออกพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช"[12][13] พระราชลัญจกรพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1 เป็นตรางารูป "ปทุมอุณาโลม" หรือ "มหาอุณาโลม" หมายถึง ตาที่สามของพระศิวะ ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์ในการตั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีอักขระ "อุ" แบบอักษรขอมอยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวอันเป็นดอกไม้ที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ตราอุณาโลมที่ใช้ตีประทับบนเงินพดด้วงมีรูปร่างคล้ายสังข์ทักษิณาวรรต หรือ สังข์เวียนขวา มีลักษณะเป็นม้วนกลมคล้ายลักษณะความหมายของพระนามเดิมว่า "ด้วง" อยู่ในกรอบลายกนก เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2328 ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[14][15] พระราชสันตติวงศ์
เมื่อครั้งที่ทรงดำรงตำแหน่งหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสมรสกับคุณนาค ธิดาของคหบดีใหญ่ในตระกูลบางช้าง (ดู ณ บางช้าง) โดยมีพระราชโอรสสองพระองค์หนีราชภัยมาตั้งถิ่นฐานที่แขวงบางช้าง เมืองราชบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสงคราม) ต่อมาเมื่อขึ้นครองราชย์ แม้จะมิได้โปรดให้สถาปนายกย่องขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่คนทั้งปวงก็เข้าใจว่าท่านผู้หญิงนาค เอกภรรยาดั้งเดิมนั้นเองที่อยู่ในฐานะสมเด็จพระอัครมเหสี จึงพากันขนานพระนามว่า สมเด็จพระพันวษา หรือสมเด็จพระพรรษา ตามอย่างการขนานพระนามสมเด็จพระอัครมเหสีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้เฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโอรส-ราชธิดา รวมทั้งสิ้น 42 พระองค์ โดยเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่สมเด็จพระพันวษา พระอัครมเหสี 10 พระองค์ เรียงตามพระประสูติกาล
ลำดับประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญ
ในวัฒนธรรมสมัยนิยมมีนักแสดงผู้รับบท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่
พงศาวลี
แผนผัง
ดูเพิ่มวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อ้างอิง
|