พระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช)
รองหัวหมื่น พระอนุวัตน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) มีชื่อจีนว่า แต้หงี่ฮง (鄭義豐) ยี่กอฮง (二哥豐) หรือ แต้ตี้ย้ง (鄭智勇) เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ พ.ศ. 2394 (นับแบบปัจจุบัน) แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดในประเทศไทย หรือเดินทางมาจากประเทศจีน[1] ท่านประกอบอาชีพค้าขาย และมีตำแหน่งเป็นนายอากรที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2479 รวมอายุได้ 87 ปี ประวัติประวัติของยี่กอฮงนั้น ส่วนที่เชื่อว่า เกิดในประเทศไทย ยี่กอฮงเป็นบุตรนายเกีย แซ่แต้ ชาวจีน กับนางเกิด ชาวไทย ซึ่งเมื่อยี่กอฮงถือกำเนิดมานั้น นายเกียผู้เป็นบิดาได้ตั้งหลักฐานอยู่ในพระนคร โดยเปิดร้านค้าขายผ้าอยู่ที่หัวมุมสี่กั๊กพระยาศรี เสาชิงช้า ด้านถนนบำรุงเมือง เมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ บิดาและมารดาถึงแก่กรรม ญาติฝ่ายบิดาที่เป็นคนจีนจึงรับกลับไปอยู่ที่เมืองจีนจนกระทั่งอายุ 16 ปี จึงกลับมายังประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2409 และไม่ได้กลับไปประเทศจีนอีกเลย โดยได้เข้าทำงานเป็นเสมียนโรงบ่อนของพระยาภักดีภัทรากร (เล่ากี้ปิง) อาศัยและประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้สมรสเป็นลูกเขยของคหบดีย่านตลาดสันป่าข่อย จนอายุได้ประมาณ 30 ปี ยี่กอฮงได้ล่องแพนำสินค้าลงมาค้าขายอยู่แถวบริเวณหน้าจวนของท่านเจ้าคุณโชฎึกราชเศรษฐี บริเวณวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อค้าขายได้ในระดับหนึ่ง ยี่กอฮงจึงตัดสินใจมาตั้งรกรากทำการค้าอยู่ที่พระนครโดยถาวร ส่วนที่เชื่อว่า เกิดในประเทศจีน ยี่กอฮงเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่ถือกำเนิดในมณฑลกวางตุ้ง ใน พ.ศ. 2394 เมื่ออายุ 16 ปี ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยตั้งปณิธานว่าจะประกอบอาชีพค้าขายในสยามตลอดชีวิต ส่วนประวัติจากจีนกล่าวว่า ยี่กอฮงเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่ถือกำเนิดที่ปากน้ำ เมืองสมุทรปราการ ใน พ.ศ. 2394 ชื่อจริงคือแต้หงี่ฮง เป็นบุตรของนายแต้ซี่เซ็ง (鄭詩生) ชาวจีนแต้จิ๋วจากหมู่บ้านคี้ฮึ๊ง (淇園鄉) อำเภอเตี่ยอัง (潮安縣) มณฑลกวางตุ้ง ที่อพยพมาไทยพร้อมกับภรรยา ต่อมาแต้ซี่เซ็งพาบุตรและภรรยากลับบ้านเกิดแล้วกลับมาทำงานที่เมืองไทยอีกครั้ง แต่แต้ซี่เซ็งมาป่วยหนักและสิ้นชีพที่ประเทศไทย ในเวลานั้น แต้หงี่ฮงมีอายุได้เพียงเก้าขวบ แม่ของแต้หงี่ฮงได้ย้ายไปอำเภอเท่งไฮ และแต่งงานใหม่ แต้หงี่ฮงไม่ถูกกับพ่อเลี้ยงอย่างรุนแรง ใน พ.ศ. 2406 แต้หงี่ฮงตัดสินใจหนีออกจากบ้านมาลงเรือสำเภาหัวแดงที่ท่าเรือซัวเถา เพื่อเดินทางสู่ประเทศไทยในวัย 13 ปี แต้หงี่ฮงทำงานเป็นเด็กรับใช้อยู่แถวท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านสำเพ็ง ต่อมามีชาวจีนอำเภอกิ๊กเอี๊ย ชื่อ หลิ่มมั่ง (林蟒) เป็นหนึ่งในกบฏเมืองแมนแดนสันติ ได้พาบริวารหนีการปราบปรามมาเมืองไทย และได้ตั้งสมาคมอั้งยี่ เรียกกันว่า ตั่วกอมั่ง (大哥蟒) และได้ชักชวนแต้หงี่ฮงซึ่งตอนนั้นมีอายุได้ 16 ปีแล้ว ให้เข้าร่วมสมาคมอั้งยี่ เมื่อตั่วกอมั่งสิ้นชีพ แต้หงี่ฮงได้ขึ้นเป็นหัวหน้าแทน แต่ไม่ยอมให้ใครเรียกตั่วกอ จึงเรียกกันว่ายี่กอฮง (二哥豐) ต่อมาได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย คุมการออกหวย ก.ข. และทำการค้าหลายอย่าง โดยเฉพาะกิจการเดินเรือกลไฟจีน-สยาม (華暹輪船公司) ในปี พ.ศ. 2493 และท่านได้เลือกทำเลปลูกคฤหาสน์อยู่ตรงสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยในปัจจุบัน ยี่กอฮงมีส่วนในการบริจาคทรัพย์สินและได้สร้างสาธารณประโยชน์ไว้อย่างมากมาย เช่น ถนน, สะพานฮงอุทิศ สะพานนิยมนฤนาถ สะพานอนุวัฒนโรดม, โรงเรียนวัดสะพานสูง, โรงเรียนเผยอิง เมื่อ พ.ศ. 2463, ศาลเจ้าเก่าถนนทรงวาด, ศาลเจ้าไต้ฮงกง, ก่อสร้างท่าน้ำฮั่วเซี้ยม, ริเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลเทียนฟ้า เป็นต้น ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งขึ้น โดยชักชวนเหล่าพรรคพวกเพื่อนฝูงในสมัยนั้น มาร่วมกันสร้างมูลนิธิช่วยเหลือผู้ยากไร้ตกทุกข์ได้ยากและสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่เรียนดีแต่ยากไร้ อีกทั้งยังเป็นผู้มีส่วนในการรณรงค์หาเงินเข้าสภากาชาดไทยอย่างมากมาย รวมถึงได้บริจาคเงิน 10,000 บาทในการก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยได้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์หมายเลข 9 และมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในแต้จิ๋ว ในวันที่ 13 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 ยี่กอฮงก็ได้ระดมเงินบริจาคจำนวนมหาศาลจากเมืองไทยไปช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากในดินแดนบ้านเกิด เมื่อครั้งที่ซุน ยัตเซ็น เดินทางมาถึงไทยในวันที่ 20 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ยี่กอฮงได้ให้การต้อนรับ หลังจากพูดคุยกับซุน ยัตเซ็นที่คฤหาสน์ของท่านแล้ว ยี่กอฮงตัดสินใจตัดผมเปียทิ้ง และอาสาเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมลับถงเหมิงฮุ่ยประจำประเทศไทยขึ้น แล้วยังมอบเงินสนับสนุนการปฏิวัติกับซุน ยัตเซ็นเป็นจำนวนเงินถึงหนึ่งแสนหยวน แล้วสาบานเป็นพี่น้องกับซุน ยัตเซ็นที่อายุอ่อนกว่า ซุนยัต เซ็นได้ตั้งชื่อให้ยี่กอฮงว่า ตี้ย้ง (智勇) หมายถึงผู้ที่มีพร้อมทั้งปัญญาและความกล้าหาญ จึงเรียกท่านอีกชื่อว่า แต้ตี้ย้ง (鄭智勇) และยกย่องยี่กอฮงว่าเป็น เจ้าสัวนักปฏิวัติ (革命座山) ด้วย[2] นอกจากนี้ยี่กอฮงยังได้รับพระราชทานตำแหน่ง หย่งหลกไต่ฮู (榮祿大夫) ขุนนางฝ่ายพลเรือนระดับ 1 ชั้นโท จากราชวงศ์ชิงด้วย ซึ่งเป็นขุนนางจีนสยามที่ได้รับพระราชทานตำแหน่งขุนนางจีนระดับสูงที่สุดในไทย[3] พระราชทานบรรดาศักดิ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงทราบถึงคุณความดีและทรงพอพระทัยอย่างมาก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระอนุวัตน์ราชนิยม"รองหัวหมื่น กรมมหาดเล็ก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2461 และพระราชทานนามสกุล "เตชะวณิช" ตำแหน่งนายอากร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2461[4] บั้นปลายชีวิตเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2479 (นับแบบปัจจุบันคือปี พ.ศ. 2480) รองหัวหมื่น พระอนุวัตน์ราชนิยมได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในบ้านของท่าน สิริอายุรวม 86 ปี ในย่านชุมชนกุฎีจีน ศพของท่านได้นำกลับไปฝัง ที่สุสานในเมืองปังโคย ประเทศจีน ขณะเดียวกันหลวงอดุลเดชจรัส ผู้เป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้นมีความต้องการใช้บ้านของท่านมาเป็นโรงพักกลางแทนโรงพักสามแยกที่ถูกไฟไหม้เสียหายไป จึงทำการรื้อตัวอาคารเดิมทั้งหมดทิ้งลง แล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาแทน และสร้างศาลพ่อปู่เจ้ายี่กอฮงไว้บนโรงพักแห่งนี้ด้วย[5] อ้างอิง
|