พระใบฎีกาอินทร์
(อินทร์ , หลวงพ่ออินทร์เทวดา) |
---|
ชื่ออื่น | หลวงพ่ออินทร์ วัดราษฎรบำรุง |
---|
ส่วนบุคคล |
---|
เกิด | พ.ศ. 2419 (44 ปี) |
---|
มรณภาพ | 26 กันยายน พ.ศ. 2463 |
---|
นิกาย | มหานิกาย |
---|
ตำแหน่งชั้นสูง |
---|
ที่อยู่ | วัดราษฎรบำรุง ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี |
---|
อุปสมบท | พ.ศ. 2440 |
---|
พรรษา | 23 พรรษา |
---|
ตำแหน่ง | - อดีตเจ้าคณะหมวดบ้านคอย - อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง |
---|
พระใบฎีกาอินทร์ นิยมเรียกว่า “หลวงพ่ออินทร์ วัดราษฎรบำรุง” หรือ "หลวงพ่อวัดใหม่โรงหีบ" มีฉายาว่า "หลวงพ่ออินทร์เทวดา" เป็นพระเถราจารย์จังหวัดสุพรรณบุรี อดีตเจ้าคณะหมวดบ้านคอย อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี[1]
ประวัติ
ชาติภูมิ
ชื่อ อินทร์ บ้างเขียนว่า อิน สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุลใช้ ชาตะวันอาทิตย์ เดือน 12 ปีชวด พ.ศ. 2419[2] ณ บ้านละแวกวัดพร้าว ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
วัยเยาว์ - วัยหนุ่ม
ก่อนบวชเคยทำน้ำตาล ซึ่งยังคงเก็บรักษาเครื่องมือที่เคยใช้หาเลี้ยงชีพ คือ มีดปาดตาล ไว้เป็นที่ระลึกจนมรณภาพ
อุปสมบท
บรรพชาและอุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2440 ณ พัทธสีมาวัดพร้าว ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสันนิษฐานว่า
พระอุปัชฌาย์แก้ว วัดพร้าว เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ปลื้ม (ภายหลังมีสมณศักดิ์ที่ พระครูปลื้ม) วัดพร้าว เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์ปลื้ม (อีกรูปหนึ่ง) วัดพร้าว เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การศึกษา
อุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดพร้าว ศึกษาอักษรสมัย (หนังสือขอม) จากพระอาจารย์พริ้ง วชิรสุวณฺโณ (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูธรรมสารรักษา) เล่าว่าเรียนคู่กับพระอาจารย์หวาด ซึ่งเป็นคู่แข่งกันมา ท่านสามารถเทศน์ปากเปล่าได้ พระอาจารย์หวาดจึงเอาอย่างบ้าง แต่ได้ไม่เหมือน
จากนั้นย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาต่อ ช่วงเวลานั้นโรงไฟฟ้าข้างวัดกำลังมีการก่อสร้าง ส่งผลให้กุฏิสั่นสะเทือนไปหมด บิณฑบาตก็ลำบาก ไม่พอฉัน จำพรรษาอยู่ได้ไม่นานจึงต้องกลับวัดพร้าวตามเดิม[2]
ต่อมา พ.ศ. 2446 พระครูปลื้ม เจ้าอาวาสวัดพร้าว และเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอศรีประจันต์ ย้ายมาจำพรรษาและทำหน้าที่เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสที่วัดราษฎรบำรุง ท่านจึงทำหน้าที่เป็นพระอนุจรติดตามพระครูปลื้ม กระทั่งเมื่อออกพรรษา (ปวารณาแล้ว) พระครูปลื้มจึงกลับวัดพร้าวตามเดิม และมอบหมายให้ท่านเป็นหัวหน้าปกครองวัด และแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุงต่อเนื่องมา
วัตรปฏิบัติ และปฏิปทา
พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ) อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะ ซึ่งเป็นลูกศิษย์พระใบฎีกาอินทร์ เล่าว่าท่านเป็นพระที่มีความสามารถในด้านการก่อสร้างที่สำคัญมาก พูดจาไพเราะที่สุด เรียกว่าบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น มีเรื่องเล่าว่าพระรูปใดสวดพระปาฏิโมกข์ผิดพลาด แทนที่จะดุ ท่านกลับชมเชย ยกย่องว่ามีความสามารถ มีความอุตสาหะท่องบ่นจนจบ เมื่อชมแล้วท่านจะให้สวดใหม่ และขอให้เปล่งอักขระให้ชัดเจน หลวงพ่อปุยให้ความเคารพมาก ทุกครั้งที่พูดถึงหลวงพ่ออินทร์จะมีความแจ่มใสทันที[3]
ผลงาน
ผลงานพระใบฎีกาอินทร์ เท่าที่พบข้อมูล[1][2][4]
งานปกครอง
- พ.ศ. 2446 - พ.ศ. 2463 เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง
- พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล - พ.ศ. 2463 เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล - พ.ศ. 2463 เป็นเจ้าคณะหมวดบ้านคอย
งานสาธารณูปการ
- สร้างหอสวดมนต์ ขนาด 3 ห้อง (5 ห้องรวมเฉลียง) หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างกุฎิ เครื่องบนและฝาไม้สัก พื้นไม้มะม่วงป่า หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างกุฎิ เครื่องไม้สัก ขนาด 3 ห้อง จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- มีผู้ถวายเรือน ฝาสำหรวด (ฝากรุจาก) ขนาด 3 ห้อง นำมาสร้างเป็นกุฎิ จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างกุฎิ เครื่องบนไม้ป่า ฝาไม้สัก ขนาด 5 ห้อง จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- ทำนอกชานรอบหอสวดมนต์ เพื่อเชื่อมกุฏิกับหอสวดมนต์ติดต่อกันทั้ง 5 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างศาลาการเปรียญ เครื่องไม้ป่า หลังคาลดระดับ 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์เป็นแห่งแรกในลุ่มน้ำท่าคอย จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- หล่อพระพุทธรูปประจำศาลาการเปรียญ ที่วัดราษฎรบำรุง
- หล่อระฆังประจำศาลา ที่วัดราษฎรบำรุง
- หล่อช่อฟ้า ใบระกา ด้านใต้ศาลาการเปรียญ ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างศาลาคู่ มีนอกชานกลาง จำนวน 2 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง
- สร้างกุฏิสงฆ์ จำนวน 1 หลัง ที่วัดเกาะ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
- สร้างหอไตร 2 ชั้น ชั้นบนทำหลังคาเป็น 4 มุข แต่ละมุขลดระดับ 3 ชั้น มียอดกลางแบบปราสาท ชั้นล่างทำเป็นพาไลกว้างออกไป เสาตั้งบนดิน จำนวน 1 หลัง ที่วัดราษฎรบำรุง (สร้างไม่เสร็จ เนื่องจากมรณภาพ)
- เตรียมไม้ชิงชันเพื่อสร้างธรรมาสน์ ที่วัดราษฎรบำรุง (สร้างไม่เสร็จ เนื่องจากมรณภาพ)
- วางโครงการสร้างอุโบสถด้วยไม้ล้วนๆ ทั้งหลัง (ยังไม่ทันสร้าง เนื่องจากมรณภาพ)
- ฯลฯ
งานสาธารณสงเคราะห์
- สร้างถนนจากวัดราษฎรบำรุงถึงบ้านหนองสระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี
- สร้างศาลาที่พักกลางทาง และสะพานข้ามลำน้ำห้วยไกร ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 แห่ง
- สร้างศาลาที่พักกลางทาง ที่บ้านหนองไผ่ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 หลัง
- ขุดสระน้ำสาธารณะ ที่บ้านหนองสระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 สระ
- สร้างศาลากลางบ้าน ที่บ้านหนองสระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 หลัง
- สร้างศาลาที่พักกลางทาง ระหว่างทางจากบ้านหนองสระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) ถึงบ้านสระกระโจม ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลสระกระโจม อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ทราบจำนวนชัดเจน
- ฯ ล ฯ
งานพิเศษ
- พ.ศ. 2456 ช่วยเหลือราชการแผ้วถางป่า ทำถนน ขุดสระน้ำ และสร้างพลับพลารองรับการเสด็จของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในการเสด็จบวงสรวงและสมโภชเจดีย์ยุทธหัตถี ที่ดอนทำพระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี
เกียรติคุณ
เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านวิชาช่างก่อสร้าง ได้รับยกย่องว่าเป็นบรมครูช่างแห่งลุ่มน้ำท่าคอย มีลูกศิษย์สืบทอดวิชาช่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เรียกว่า "สกุลช่างบ้านคอย"
เป็นพระนักพัฒนา นักก่อสร้าง มีความรู้ความสามารถรอบด้าน ประชาชนเคารพนับถือ ยกย่องให้ฉายาว่า "หลวงพ่ออินทร์เทวดา"[2]
สมณศักดิ์
- พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจน เป็นพระฐานานุกรมใน พระครูปลื้ม วัดพร้าว (เจ้าคณะแขวงศรีประจันต์) ที่ พระใบฎีกาอินทร์
อาพาธ - มรณภาพ
พระใบฎีกาอินทร์ เริ่มอาพาธเมื่อต้นพรรษา พ.ศ. 2463 กระทั่งวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2463 (วันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก) เวลา 21.57 น. ถึงแก่มรณภาพ สิริอายุย่างเข้า 44 ปี อุปสมบทได้ 23 พรรษา[2]
ศิษย์
ศิษย์พระใบฎีกาอินทร์ อาทิ
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 พีระศักดิ์ สุนทรวิภาต. (2563). ที่ระลึก 125 ปีชาตกาล 40 ปีมรณภาพ พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: กุศลบุญการพิมพ์.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 พระอธิการจุ้ย ตนฺติปาโล. (2525). อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสิริยาภินันท์ (หลวงพ่อแช่ม ฐานคุโณ). สุพรรณบุรี: มนัสการพิมพ์
- ↑ พระปลัดสกล ปญฺญาพโล. (2523). ประวัติพระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). กรุงเทพฯ: อาทรการพิมพ์.
- ↑ พระศีลขันธโศภิต. (2499). ที่ระลึกในงานเปิดป้ายและฉลองอาคารเรียน โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนเจดีย์ 1 (วัดราษฎร์บำรุง). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
แหล่งข้อมูลอื่น