พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ)พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ) นิยมเรียกว่า “หลวงพ่อปุย วัดเกาะ” เป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุพรรณบุรี อดีตเจ้าคณะตำบลบางงาม อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะ ตำบลวังหว้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี[1] ประวัติชาติภูมิชื่อ ปุย นามสกุล รักกูล ชาตะ วันศุกร์ ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2438 (วันพระ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 ปีมะแม) ณ บ้านใกล้ศาลพ่อปู่หมื่น หมู่บ้านบางงาม ตำบลบางงาม (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลวังหว้า) อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี[2] เป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวน 5 คน ของนายหลาด (ฉลาด) นางแรด นามสกุล รักกูล ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกร วัยเยาว์บิดามารดานำไปฝากเป็นลูกศิษย์วัดเกาะ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อให้ศึกษาเล่าเรียนและรับการอบรมสั่งสอนจากหลวงปู่เฒ่าพลาย (เจ้าอาวาส) ผู้มีศักดิ์เป็นตา โดยพำนักอยู่กับท่านตั้งแต่ อายุ 5 - 15 ปี (พ.ศ. 2443 - 2453) รวมเป็นระยะเวลา 10 ปี ศึกษาอักขระขอม แพทย์แผนโบราณ พุทธาคม และวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงปู่เฒ่าพลาย ศึกษาอักขระไทยจากพระใบฎีกาอินทร์ เจ้าอาวาสวัดใหม่ (วัดราษฎรบำรุง) ซึ่งวัดตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ศึกษาการแสดงพระธรรมเทศนาแบบโบราณจากหลวงพ่ออ่วม (พระลูกวัด วัดเกาะ เป็นพระธรรมกถึกศึกษามาแต่วัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร)[2] ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา สามารถท่องบทสวดมนต์ต่างๆ และขานนาค ได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กวัด หลวงปู่เฒ่าพลายจึงมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นครูต่อหนังสือแก่ผู้ที่จะบรรพชาหรืออุปสมบท ทั้งที่ยังไม่เคยผ่านการบวชมาก่อน[3] ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ด้านแพทย์แผนโบราณและพุทธาคม เป็นที่ไว้วางใจจากผู้เป็นพระอาจารย์และชาวบ้าน มีชื่อเสียงว่ารักษาโรคและไล่ผีได้ ภายหลังเมื่อเป็นหนุ่มให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน จนได้รับสมญานามว่า "หมอปุย" และ "หมอปุยขับผี"[4] ส่วนการแสดงพระธรรมเทศนาแบบโบราณ ภายหลังเมื่อบวชเป็นพระแล้วมีชื่อเสียงทางด้านนี้มาก ถึงขนาดเคยมีการเทศน์สามหรือสี่ธรรมาสน์ประชัน ก็ยังเอาท่านไม่ลง เนื่องจากเทศน์มีไหวพริบดีมาก ไม่ว่าจะถามหรือตอบ ยึดหลักธรรมะและองค์แห่งพระธรรมกถึกอยู่ตลอดเวลา[2] วัยหนุ่มราว พ.ศ. 2454 หลังหลวงปู่เฒ่าพลายมรณภาพ จึงออกจากวัดเกาะ กลับไปอยู่บ้านเพื่อช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ ทำหน้าที่เป็นโคบาล เลี้ยงโค กระบือ สมัยนั้นพื้นที่แถบนี้ยังมีสภาพเป็นป่าดง มีสัตว์ร้ายนานาชนิด การเลี้ยงสัตว์ต้องนำไปเลี้ยงในพื้นที่สูง ห่างจากไร่นาชาวบ้าน หลายครั้งเกิดเหตุการณ์สัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้านถูกเสือคาบไป ท่านต้องช่วยตามหาเข้าไปในป่าลึก ผจญภัยกับสัตว์ร้ายหรือเรื่องราวอาถรรพ์ จึงนำความรู้ที่ศึกษามาช่วยเหลือชาวบ้านให้ผ่านพ้นปัญหาได้ด้วยดี[3] ยามว่างชอบฝึกจิต ฝึกกรรมฐานในป่าช้า ป่าอาถรรพ์ ดินแดนลี้ลับ เช่น ท่ายายเภา ซึ่งชาวบ้านเกรงกลัวมาก มีความเชื่อว่าเป็นประตูสู่เมืองลับแล เคยมีคนถามท่านว่า "ไม่กลัวผี ไม่กลัวตายหรือ" ท่านตอบกลับว่า "กลัวเขาทำไม เขาอยากพบ อยากเจอเราด้วยซ้ำไป จึงต้องไปโปรดเขา แผ่ส่วนกุศลให้ เขาจะได้ไปเกิดได้" ท่านทำเช่นนี้อยู่หลายปี กระทั่งบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จึงไม่มีผู้ใดพบเจอเรื่องราวอาถรรพ์ที่ท่ายายเภาอีกเลย[4] พ.ศ. 2456 ร่วมกับคณะศิษย์พระใบฎีกาอินทร์ (เจ้าคณะหมวดบ้านคอย เจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง) และชาวบ้านในพื้นที่ตำบลบ้านคอย ตำบลบางงาม ช่วยทางราชการดำเนินการแผ้วถางป่า ทำถนน ขุดสระน้ำ และสร้างพลับพลา รองรับการเสด็จของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในการเสด็จบวงสรวงและสมโภชเจดีย์ยุทธหัตถี ที่ดอนทำพระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยมีลักษณะร่างกายกำยำ แข็งแรง เป็นคนมีวิชาความรู้ ความคิดโตเกินวัย มีน้ำใจ กล้าหาญ กล้าได้กล้าเสีย มนุษยสัมพันธ์ดี เป็นที่นับถือของชาวบ้าน ส่งผลให้เป็นผู้กว้างขวาง มีพรรคพวกจำนวนมาก และได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้า (ลูกพี่) โดยถือคติว่า ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่รังแกผู้ใด แต่ใครจะมารังแกไม่ได้ รู้จักกับนักเลงแถบตัวเมืองสุพรรณบุรี คือ นายแต้ม (ภายหลังอุปสมบทเป็นพระภิกษุ คือ พระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ (แต้ม ปุญฺญสุวณฺโณ) วัดพระลอย) วัยหนุ่มเคยมากินนอนเที่ยวเล่นในพื้นที่แถบนี้ และเมื่อบวชเคยมาจำพรรษาอยู่ที่วัดราษฎรบำรุง ช่วงปี พ.ศ. 2457 - 2461[5] เป็นลูกศิษย์พระใบฎีกาอินทร์ ครูบาอาจารย์เดียวกัน จึงทำให้ทั้งสองชอบพอ ไปมาหาสู่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดมา รับราชการทหารพ.ศ. 2458 เข้ารับการคัดเลือกเป็นทหาร ผลจับได้ใบแดง จึงต้องเป็นทหารกองประจำการ ผลัดที่ 2 เนื่องด้วยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านแพทย์แผนโบราณและอ่านออกเขียนได้ จึงได้รับเลือกให้สังกัดอยู่หน่วยทหารเสนารักษ์ ประจำการที่กรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 2 ปี ระหว่างนี้ได้ศึกษาภาษาอังกฤษจากผู้มีความรู้ในกรมกอง กระทั่งสามารถอ่านออกเขียนได้[2] พ.ศ. 2460 เมื่อถึงคราวจะปลดจากทหารกองประจำการ ผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีความรู้ความสามารถและประพฤติดี จึงชักชวนให้เป็นทหารต่อ แล้วจะประดับยศให้ แต่ท่านปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าเป็นห่วงทางบ้านและต้องการจะอุปสมบททดแทนผู้มีพระคุณตามที่ได้ตั้งใจไว้ หลังปลดประจำการ บิดามารดาสนับสนุนหญิงสาวคนหนึ่งในหมู่บ้าน หวังให้ท่านสร้างครอบครัวภายหลังจากอุปสมบทและลาสิกขาแล้ว แต่ท่านไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ ด้วยมีความมุ่งมั่นที่จะอุปสมบท อุปสมบทวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 (วันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย) บรรพชาและอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเกาะ (อุโบสถหลังเก่า) อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี[6] พระครูปลื้ม เจ้าคณะแขวงศรีประจันต์ เจ้าอาวาสวัดพร้าว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์พริ้ง ผู้ช่วยเจ้าคณะแขวงศรีประจันต์ เจ้าอาวาสวัดจันทร์ (วัดวรจันทร์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาอินทร์ เจ้าคณะหมวดบ้านคอย เจ้าอาวาสวัดใหม่ (วัดราษฎรบำรุง) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า ปุญฺญสิริ [ปุน-ยะ-สิ-หริ] การศึกษาอุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ เพื่อโปรดโยมบิดามารดา ท่องพระปาฏิโมกข์ และศึกษาพระธรรมวินัยจากพระใบฎีกาอินทร์ ที่วัดใหม่ (วัดราษฎรบำรุง) ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน พ.ศ. 2463 จำพรรษาอยู่ที่วัดหัวเขา อำเภอเดิมบาง (อำเภอเดิมบางนางบวช ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี ศึกษาสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน และพุทธาคม จากหลวงพ่ออิ่ม (เจ้าอาวาส) ผู้ได้รับตำราถ่ายทอดมาแต่โบราณ เล่าว่าตั้งแต่สมัยพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช[4] ถ่ายทอดมาเป็นลำดับกระทั่งถึงหลวงพ่อปุย โดยได้รับคำยกย่องจากหลวงพ่ออิ่มว่า เปรียบเสมือนบัวที่พ้นน้ำแล้ว ทั้งยังเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไช ต่อมาจึงกราบลาหลวงพ่ออิ่มเพื่อกลับไปช่วยจัดงานฌาปนกิจศพพระใบฎีกาอินทร์ในปี พ.ศ. 2464 แต่ยังคงกลับไปมาหาสู่หลวงพ่ออิ่มตลอดระยะเวลาหลายปี กระทั่งหลวงพ่ออิ่มมรณภาพ[2] พ.ศ. 2480 พ.ศ. 2464 หลังเสร็จงานฌาปนกิจศพพระใบฎีกาอินทร์ ร่วมกับคณะศิษย์พระครูปลื้ม (พระอุปัชฌาย์) วัดพร้าว นำโดย พระเซ้ง อินฺทโชโต (ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆภาณโสภณ) จัดงานทำบุญอายุและหล่อรูปเหมือนพระครูปลื้ม แล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดพร้าว อำเภอท่าพี่เลี้ยง (อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ในปัจจุบัน) จังหวัดสุพรรณบุรี ศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน พุทธาคม จากพระครูปลื้ม พ.ศ. 2466 พระอาจารย์แคล้ว เจ้าอาวาสวัดเกาะ ลาสิกขา ทางคณะสงฆ์จังหวัดสุพรรณบุรี โดยการนำเสนอของ พระครูปลื้ม เจ้าคณะแขวงศรีประจันต์ มีมติแต่งตั้ง พระปุย ปุญฺญสิริ เป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะ พ.ศ. 2468 ศึกษาพระปริยัติธรรมจากสำนักเรียนวัดราษฎรบำรุง โดย พระมหาสุนทร ศรีโสภาค (ลูกศิษย์พระใบฎีกาอินทร์ ที่ไปศึกษาอยู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร) เป็นผู้ดำเนินการสอน ผลปรากฏว่าสอบได้นักธรรมชั้นตรี ท่านเป็นพหูสูต คนโบราณเรียกว่า "ผู้คงแก่เรียน" เพียรศึกษาจากผู้มีความรู้ต่างๆ[2] พบบันทึกรายนามครูบาอาจารย์ทั้งพระภิกษุและฆราวาสที่เคยศึกษา ปรากฏชื่อในสมุดไทย (สมุดข่อย) สมุดฝรั่ง และเท่าที่ลูกศิษย์ทราบ ดังนี้
วัตรปฏิบัติ - ปฏิปทาท่านเป็นพระเคร่งครัดในทางปฏิบัติ สมถะ ถ่อมตน ไม่โอ้อวด ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เบียดเบียนรบกวนผู้ใด มีเมตตา ไม่ยึดติด มุ่งส่งเสริมการศึกษาและจริยธรรม ถือคติ "พัฒนาคนมากกว่าวัตถุ" มีศิษย์วัดเกาะที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษา สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญา อนุปริญญา พระมหาเปรียญ พระนักธรรม พระสวดพระปาฏิโมกข์ จำนวนหลายรูป/คน ท่านให้การบรรพชาสามเณรและอุปสมบทพระภิกษุนับแต่เป็นพระกรรมวาจาจารย์กระทั่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ระยะเวลากว่า 50 ปี ส่วนคฤหัสถ์นั้นสอบธรรมศึกษาได้จำนวนหลายคน สนับสนุนส่งเสริมผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาให้มีโอกาสทางการศึกษา (ส่งเรียน) โดยมุ่งเน้นพัฒนาให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม[6] ผลงานงานปกครอง
งานสาธารณูปการ
งานสาธารณสงเคราะห์
งานศึกษา
งานศึกษาสงเคราะห์
งานเผยแผ่
งานพิเศษ
เกียรติคุณ
สมณศักดิ์
อาพาธ - มรณภาพบั้นปลายชีวิตพระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา เริ่มมีสุขภาพไม่ดี อาพาธเป็นโรคหอบหืด และปัสสาวะไม่ออก (นิ่ว) วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ท่านจึงนิมนต์พระในวัดทั้งหมด และคณะศิษย์ที่อยู่ใกล้ชิดขณะนั้น มาประชุมเพื่อเป็นสักขีพยานในการปลงสังขารและบริขารของท่าน เดือนตุลาคม พ.ศ. 2522 ท่านเริ่มอาพาธอีกครั้ง ครั้งนี้มีอาการไม่ดีนัก คณะศิษย์จึงขออนุญาตพาเข้ารับการรักษา แต่ท่านปฏิเสธด้วยปลงในสังขารแล้ว แต่คณะศิษย์ไม่อาจนิ่งเฉยได้ จำต้องขัดใจท่าน พาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อมีอาการดีขึ้น แพทย์จึงอนุญาตให้กลับวัดได้ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 เมื่อกลับถึงวัดเกาะ ท่านจึงอนุญาตให้ศิษย์เตรียมหีบศพไว้ และพูดเชิงล้อว่า "อย่าให้ใครใช้ก่อนนะ" หลังจากนั้นจึงสั่งเสียว่า "ฉันเองคงอยู่ด้วยไม่นาน ฝากศพด้วย" ต่อมาท่านอาพาธด้วยโรคหอบหืดอีกครั้งหนึ่ง วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2523 คณะศิษย์จึงพาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ครั้งนี้มีอาการค่อนข้างหนัก แต่ท่านมิได้บ่นร้องถึงทุกขเวทนาใดๆ ปกติหากห่างวัด ท่านจะเป็นห่วง พูดถึงวัดและชาวบ้าน แต่ครั้งนี้ท่านมิได้พูดถึง คล้ายกับว่าไม่มีห่วงใดๆ แล้ว มีเพียงผ้าไตรครองของท่านเท่านั้น ที่บอกกับศิษย์ให้นำมาไว้ใกล้ๆ ตัวท่าน เมื่อถึงวันใกล้ละสังขาร ท่านจึงบอกว่า "ฉันอยู่ไม่ทันสร้างศาลาฯ เสียแล้ว"[2] วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 เวลา 16.11 น. ท่านละสังขาร ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ตรงกับวันศุกร์ ปีมะแม อันเป็นวันและปีเกิดของท่าน ซึ่งคนโบราณมีคติความเชื่อว่าตายวันตัว ถือว่าเป็นการสิ้นอายุขัย สิริอายุ 84 ปี 8 เดือน 8 วัน อุปสมบทได้ 62 พรรษา การจัดการศพหลังละสังขาร คณะศิษย์ประชุมและมอบหมายให้ พระปลัดสกล ปญฺญาพโล (ภายหลังมีสมณศักดิ์ที่ พระครูสุวรรณปัญญารัต) รักษาการเจ้าอาวาสวัดเกาะในขณะนั้น เป็นประธานจัดการเรื่องงานศพ เริ่มจากอัญเชิญสรีระสังขารหลวงพ่อปุยกลับสู่วัดเกาะในวันเดียวกัน (8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523) มีพิธีสรงน้ำศพที่กุฏิหลวงพ่อปุย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 พิธีบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรม เวลากลางคืน ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2523 , วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ครบ 7 วัน (สัตตมวาร) , วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2523 ครบ 50 วัน (ปัญญาสมวาร) , วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ครบ 100 วัน (ศตมวาร)[2] หลังครบ 100 วัน (ศตมวาร) จึงกำหนดเก็บสังขารของท่านไว้ก่อน เพื่อให้ร่างได้อยู่ทันสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่ท่านเริ่มโครงการไว้ให้ศิษย์ช่วยกันสานต่อให้แล้วเสร็จ กระทั่งเมื่อศาลาการเปรียญสร้างเสร็จ จึงอัญเชิญสรีระสังขารขึ้นประดิษฐาน วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2527 วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2530 เวลา 16.00 น. อัญเชิญสรีระสังขารจากศาลาการเปรียญขึ้นสู่ฌาปนสถานชั่วคราว (เมรุลอย 5 ยอด) ซึ่งตั้งอยู่ที่ลานหน้าศาลาการเปรียญ กลางคืนมีพิธีบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรม , วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2530 พระสงฆ์สวดมาติกา บังสุกุล ศราทธพรตคาถา เวลา 16.00 น. พระราชทานเพลิงศพ , วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2530 ช่วงเช้า พิธีสามหาบ เก็บอัฐิ[10] สิ่งเกี่ยวเนื่อง - อนุสรณ์
ศิษย์ศิษย์พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ) อาทิ[6]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|