Share to:

 

พริก

พริก
พริกขี้หนู
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: พืช (Plantae)
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Solanales
วงศ์: Solanaceae
สกุล: Capsicum

พริก เป็นพืชในวงศ์ Solanaceae สกุล Capsicum ชื่อภาษาอังกฤษว่า Chilli peppers, chili, chile หรือ chilli มาจากคำภาษาสเปน ว่า chile โดยส่วนมากแล้ว ชื่อเหล่านี้มักหมายถึง พริกที่มีขนาดเล็ก ส่วนพริกขนาดใหญ่ที่มีรสอ่อนกว่าจะเรียกว่า Bell Pepper ในสหรัฐอเมริกา Pepper ในประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์, capsicum ในประเทศอินเดียกับออสเตรเลีย และ Paprika ในประเทศทวีปยุโรปหลายประเทศ พริกชนิดต่าง ๆ มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีปลูกกันในหลายประเทศทั่วโลก เพราะพริกเป็นเครื่องเทศที่สำคัญและยังมีคุณสมบัติเป็นยาสมุนไพร

ชนิดของพริก

พริกมีหลายชนิด เช่น พริกขี้หนู พริกหยวก พริกเหลือง พริกชี้ฟ้า พริกหนุ่ม พริกกะเหรี่ยง ประเทศไทยนั้นมักนิยมปลูกพริกอยู่ 2 ชนิดซึ่งได้แก่

  1. พริกหวาน พริกหยวก พริกชี้ฟ้า (ในกลุ่ม C. annuum)
  2. พริกเผ็ดได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูใหญ่ (ในกลุ่ม C. furtescens)

การเพาะปลูก

การเตรียมดิน
ระหว่างไถพรวน ดินให้รองพื้นด้วยปูนขาว อัตรา 75 กก. ต่อไร่ และปุ๋ย ไบ.โอ.ฮิวมิค.พลัส. อัตรา 50 กก. ต่อไร่ แล้วรดน้ำตาม หรือจะใช้ปุ๋ยดิน ทอง อัตรา 1 แกลลอน (5 ลิตร) ต่อ 1 ไร่ รองพื้น เพื่อปรับสภาพดินและป้องกันกำจัด เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคพืชที่มีอยู่ในดิน บ่ม ดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงยกร่องกว้าง 1 เมตร สูง 20 ซม. แล้วจึงคลุมผ้ายาง ทำการ เจาะรูผ้ายางให้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ห่างกันประมาณ 50 ซม. เพื่อป้องกันกำจัด วัชพืชในแปลงพริก
การเพาะกล้า
ทำการแช่เมล็ดพริกโดย ใช้สารชีวภาพที่เร่งรากและใบ อัตรา 3-5 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อเร่งการงอกรากของเมล็ด เมล็ดพริกที่ใช้ปลูกให้แช่ทิ้งไว้ 1 คืน หลังจาก นั้นนำเมล็ดพริกขึ้นจากน้ำ แล้วห่อด้วยผ้า ขาวบางชุบน้ำอีก 1 คืน จึงหว่านเมล็ดลงบน แปลงเพาะ เมื่อต้นกล้าแตกใบแรกหรือ ประมาณ 7 วันหลังหว่าน จึงย้ายมาเพาะต่อ ในถาดหลุมอีกประมาณ 25-30 วัน จึงย้าย กล้ามาปลูกลงแปลงที่เตรียมไว้
การย้ายกล้าลงแปลงปลูก
ก่อนนำต้นกล้าลงแปลงปลูก ให้ใช้ปุ๋ย ไบ.โอ.ฮิวมัส.พลัส หรือปุ๋ยชีวภาพรองก้นหลุม อัตรา 1 ช้อนแกง ต่อหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน เพื่อป้องกัน โรครากเน่า โคนเน่าแล้วรดน้ำตามทันที หรืออาจใช้ปุ๋ยดินทอง (ปุ๋ยชีวภาพ) อัตรา 3 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตรราดดินหรือคลุกเคล้ากับดิน เพื่อใช้ในการรองพื้นก่อนการปลูกพืช
การบำรุงต้นและผล
เพื่อกระตุ้นให้ต้น พริกเจริญเติบโตเร็ว ออกดอกสม่ำเสมอ ให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่ ไม่มีโรคแมลงมา รบกวน ให้ใช้ปุ๋ยทรีซิน อัตรา 50 ซีซี. + ทรี เท็คซีน อัตรา 30 กรัม (เพื่อป้องกันและกำจัด เชื้อรา) + ซิลเวอร์เอ๊กซ์ตร้า บี.96 อัตรา 30 ซีซี. (เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นพริก) และในช่วงออกดอกให้ใช้ซิลเวอร์เอ็กซ์ตร้า สูตรเดตาดอกแทน + ทรีสตาร์ 5 ซีซี. + เซฟตี้ คิล 50 ซีซี. (เพื่อป้องกันและกำจัดแมลง) + สารจับใบ ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นต้นพริก ทุกๆ 7 วัน ถ้ามีโรคและแมลงมารบกวน ให้ ฉีดพ่นทุก 3-5 วัน และก่อนเก็บผลผลิต ประมาณ 1 สัปดาห์ให้ใช้วานาก้า 20 ซีซี. ฉีดรวมเข้าไปด้วย เพื่อทำให้พริกผลโต สี สวย ได้น้ำหนัก หรือเพื่อความสะดวกและ ประหยัดค่าใช้จ่าย อาจใช้ปุ๋ยชีวภาพปาณิ อัตรา 10 ซีซี.+ปุ๋ยปาณิแครป 10 ซีซี. + น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเพื่อกระตุ้นให้ต้นพริกเจริญ เติบโตออกดอกสม่ำเสมอ ให้ผลดก ผลมี ขนาดใหญ่ ไม่มีโรคแมลงรบกวน โดยฉีดพ่น ต้นพริก 7-10 วันต่อครั้ง แต่ถ้ามีโรคแมลงมารบกวน อาจฉีดพ่นทุก 3-5 วันและก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 สัปดาห์
การใช้ปุ๋ย
หลังย้ายต้นกล้าแล้ว 5 วัน อาจมีการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ร่วมกับ 15-15-15 อย่างละ 1 กก. ผสมน้ำ 20 ลิตร หยอดบริเวณโคนต้น เพื่อเร่งการเจริญเติบโต หลังจากนั้น 7 วัน หยอดปุ๋ยซ้ำอีกครั้ง โดยเพิ่ม ปริมาณปุ๋ยอีกอย่างละ 1 กก. จนต้นพริกมี อายุ 30 วัน ให้ทำการฝังปุ๋ยสูตร 15-15-15 ร่วมกับ 13-21-0 อัตรา 1 ช้อนแกงต่อหลุม โดยฝังให้ห่างโคนต้น 1 ฝ่ามือ เพื่อเร่งการ ออกดอก พอต้นพริกอายุได้ 45-50 วัน ให้ทำ การฝังปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1 ช้อนแกงต่อ หลุม เพื่อบำรุงเมล็ดพริก แต่ถ้าสมาชิกจะ หลีกเลี่ยงปุ๋ยสูตรดังกล่าว และหันมาใช้ปุ๋ย ชีวภาพที่มีขายในท้องตลาดเช่น ปุ๋ยปาณิ + ปุ๋ยปาณิแครป อัตรา อย่างละ 10 ซีซี. ฉีดพ่น ทุก 7-10 วันจนต้นพริกเก็บเกี่ยวผลผลิต
การให้น้ำ
ช่วงย้ายกล้าให้น้ำทุก ๆ 3 วัน จนต้นพริกมาอายุได้ 15 วัน จึงเปลี่ยนเป็น การให้น้ำสัปดาห์ 1 ครั้ง
ปัญหาเรื่องโรคและแมลง
มีการทำลายน้อยมาก ถ้ามีการใช้ปุ๋ยชีวภาพอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง ส่วนมากปัญหาที่พบคือ ยอดหงิก ซึ่งมีสาเหตุมาจากเพลี้ยไฟ ก็อาจ จะมีการป้องกันด้วยการถอนทำลายต้นทิ้ง หรืออาจมีการใช้สารเคมีบ้างในยามที่จำเป็น

สรรพคุณ

พริกมีวิตามินซี สูง เป็นแหล่งของกรด ascorbic ซึ่งสารเหล่านี้ ช่วยขยายเส้นโลหิตในลำไส้และกระเพาะอาหารเพื่อให้ดูดซึมอาหารดีขึ้น ช่วยร่างกายขับถ่าย ของเสียและนำธาตุอาหารไปยังเนื้อเยื่อของร่างกาย (tissue) สำหรับพริกขี้หนูสดและพริกชี้ฟ้าของไทย มีปริมาณวิตามิน ซี 87.0 - 90 มิลลิกรัม / 100 g นอกจากนี้พริกยังมีสารเบต้า - แคโรทีนหรือวิตามินเอ สูง (พริกขี้หนูสด 140.77 RE )

พริกยังมีสารสำคัญอีก 2 ชนิด ได้แก่ Capsaicin และ Oleoresinโดยเฉพาะสาร Capsaicin ที่ นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์รักษาโรค ในอเมริกามีผลิตภัณฑ์จำหน่ายในชื่อ Cayenne สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร สาร Capsaicin ยังมีคุณสมบัติทำให้เกิดรสเผ็ด ลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ หัวไหล่ แขน บั้นเอว และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายทั้งชนิดเป็นโลชั่นและครีม ( Thaxtra - P Capsaicin) แต่การใช้ในปริมาณที่มากเกินไป อาจมีผลกระทบต่ออาการหยุดชะงักการทำงานของกล้ามเนื้อได้เช่นกัน เพื่อความปลอดภัย USFDA ได้กำหนดให้ใช้สาร ห.ห.ห.ได้ ที่ความเข้มข้น 0.75 % สำหรับเป็นยารักษาโรค

สารเคมีในพริก

ในพริกนั้นมีสารที่สำคัญคือ Capsaicin นอกจากนั้นยังมีสารอื่นๆที่ให้ความเผ็ดอีก คือ Dihydrocapsaicin ,Nordihydrocapsaicin ,Homodihydrocapsaicin ,และ Homocapsaicin

สาร Capsaicin นี้ ถูกค้นพบในรูปผลึกบริสุทธิ์โดย พี เอ บุชธอลซ์ ต่อมา แอล ที เทรชศึกษาสารนี้และให้ชื่อว่า Capsaicin มีสูตรทางเคมีคือ C18H27NO3 ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยทำให้ประสาทรับความรู้สึกไหม้ที่เนื้อเยื่อ กระตุ้นการผลิตเมือกออกมาป้องกันการระคายเคืองและกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยย พืชจำพวกพริกนี้จะผลิตสารนี้ออกมาเพื่อป้องกันการถูกบริโภคโดยสัตว์กินพืช โดยสารนี้จะพบในเนื้อเยื่อของผลพริก มากกว่าในเมล็ด นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่าแมงมุมทาแรนทูลาก็มีพิษซึ่งมีส่วนประกอบด้วยเช่นกันของสารนี้เช่นกันสาร capsaicin บริสุทธิ์จะมีลักษณะเป็น คริสตัล หรือ ไขใสๆ ไม่มีกลิ่น และมีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำ

กลุ่มของสารเคมี Capsaicinoid ได้แก่

  1. แคปไซซิน (Capsaicin)
  2. ไดไฮโดรแคปไซซิน (Dihydrocapsaicin)
  3. นอร์ไดไฮโดรแคปไซซิน (Nordihydrocapsaicin)
  4. โฮโมไดไฮโดรแคปไซซิน (Homodihydrocapsaicin)
  5. โฮโมแคปไซซิน (Homocapsaicin)

โดยที่แคปไซซินจะพบในพริกมากที่สุด คือร้อยละ 97 และให้รสเผ็ดมากที่สุด

นักเคมีชื่อ "วิลเบอร์ สโกวิลล์" ได้ศึกษาปริมาณสาร capsaicin ในพริกแต่ละสายพันธุ์จากทั้งโลก และใช้ข้อมูลนี้จัดทำมาตราสโกวิลล์ขึ้น ซึ่งเป็นมาตราวัดความเผ็ดของพริกเมื่อเทียบกับสารแคปเซอิซินบริสุทธิ์ แต่กรรมวิธีการตรวจสอบสารแคปเซอิซินของสโกวิลล์ไม่เที่ยงตรง เนื่องจากเขาใช้การสกัดน้ำจากพริกชนิดนั้น ๆ มาแล้วให้อาสาสมัคร 5 คนลองชิมแล้วให้ความเห็นว่าพริกนั้นเผ็ดประมาณระดับไหน ความไม่เที่ยงตรงนี้ทำให้มีผู้พัฒนาวิธีตรวจสอบสารนี้ในพริกใหม่ โดยให้ชื่อว่า high performance liquid chromatography ซึ่งเป็นการวัดความร้อนที่สารเคมีนี้ผลิตออกมา และนำไปคำนวณโดยใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ ซึ่งจะได้มาตราแบบใหม่คือ ASTA pungency ยูนิต

สารสำคัญอีกอย่างที่มีอยู่ในพริกและมีประโยชน์ในด้านต้านมะเร็งคือ แคโรทีนอยด์ เราจะสามารถสังเกตได้เลยว่าผักผลไม้ใดมีสารนี้หรือไม่โดยดูจากสี เหลือง ส้ม และ แดง แคโรทีนอยด์นี้ก็คือรูปแบบหนึ่งของสารแคโรทีน โดยมีการรวมตัวกับออกซิเจนทำให้เป็นแคโรทีนอยด์ ในพริกจะมีบีตา-แคโรทีนมากกว่าแอลฟ่าแคโรทีน สารบีตา-แคโรทีนนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก กล่าวคือ เมื่อถูกย่อยในลำไส้เล็กแล้ว จะกลายเป็น เรตินอลซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามินเอ และจะถูกเก็บสะสมไว้ในตับเพื่อนำไปใช้ในคราวจำเป็น บีตา-แคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานได้ดี นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานแคโรทีนอยด์สังเคราะห์ในรูปแบบยาเม็ดอาหารเสริม ซึ่งในปัจจุบัน ได้รับความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพเป็นจำนวนมาก พวกเขาพบว่าการรับประทานเม็ดแคโรทีนสังเคราะห์เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด และมะเร็งอีกหลายชนิดมากขึ้น เนื่องจากในยาเม็ดสังเคราะห์จะมีปริมาณแคโรทีนอยด์มากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย แต่พวกเขายังไม่ได้ทำการวิจัยในสารแคโรทีนอยด์ธรรมชาติซึ่งมาจากพืช การรับประทานแคโรทีนอยด์มากไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน ถึงแม้จะเป็นแคโรทีนอยด์จากผักผลไม้ธรรมชาติสดๆ การรับประทานแครอทหรือผักผลไม้ที่มีสารแคโรทีนอยด์มากเกินไป จะทำให้ผิวหนังเป็นสีเหลือง ซึ่งเรียกว่า ภาวะ carotenemia นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่ภาวะที่ร่างกายมีวิตามินเอมากเกินไปด้วย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

สารสุดท้ายในพริกที่จะกล่าวถึงคือกรด ascorbic acid ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามินซี C6H8O6 วิตามินซี ละลายน้ำได้ พบได้ทั่วไปในพืช และผลไม้ทุกชนิด นอกจากนี้ยังพบในสัตว์หลายชนิดอีกด้วย เป็นสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เป็นตัวการร่วมในการสังเคราะห์สารชีวโมเลกุลในสัตว์ เกี่ยวข้องกับการสร้างคอลาเจนซึ่งเป็นโครงสร้างของผิวหนังและหลอดเลือด และช่วยในการขนส่งไขมันไปยังไมโทรคอนเดรียให้สันดาปอาหารได้เป็นพลังงาน

ในสมัยก่อน ยุคที่อังกฤษล่าอาณานิคม ลูกเรือที่เดินทางข้ามทวีปโดยใช้เวลาเป็นเดือน ๆ มักเป็นโรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน เจมส์ ลินด์ หมอของบริษัทการค้าอินเดียตะวันออกเป็นคนแรกที่สรุปว่าสารบางอย่างในผลไม้จำพวกส้ม สามารถรักษาโรคลักปิดลักเปิดได้ อีกหลายร้อยปีต่อมา อัลเบิรต์ กอยจี้ และทีมนักวิจัย สามารถแยกวิตามินซีบริสุทธิ์ได้ และตั้งชื่อมันว่ากรดแอสคอบิก

ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ชายคือ 90 มิลลิกรัม หญิงคือ 75 มิลลิกรัม ถ้าหากรับประทานเกินความจำเป็นของร่างกาย ทำให้ปวดท้อง และอาจทำให้ท้องเสียได้

Kembali kehalaman sebelumnya