พรเพชร เหมือนศรีพรเพชร เหมือนศรี หรือชื่อเดิม พรพิศ เหมือนศรี (22 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547) เป็นหญิงชาวนาจากจังหวัดนครสวรรค์ ผู้ใช้เวลากว่าครึ่งค่อนชีวิต ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐและระบบราชการ เพื่อรักษาที่ดิน มรดกชิ้นสุดท้ายที่พ่อกับแม่เธอทิ้งไว้ให้ การต่อสู้เริ่มตั้งแต่สมัยคุณพ่อของเธอ นายพิม เหมือนศรี เมื่อได้รับทราบว่า ที่ดินที่ตนได้ซื้อจากเจ้าของที่ดินเดิม และได้ทำไร่ทำนาจนทางราชการยกให้เป็นไร่ตัวอย่าง ได้ถูกประกาศให้เป็น ที่ดินสงวน หวงห้ามสำหรับเลี้ยงสัตว์ ("เขตสาธารณะเลี้ยงสัตว์ทุ่งเขาพระ") ซึ่งในการทำรังวัดนั้น ดำเนินการอย่างไม่โปร่งใส และเจ้าหน้าที่มีการบังคับให้ชาวบ้านเซ็นชื่อในเอกสารที่ไม่มีข้อความใด ๆ จดหมายร้องเรียนฉบับแรก เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 โดยนางหนู เหมือนศรี แม่ของพรเพชร การร้องเรียนได้ผ่านกระบวนการราชการมากมาย จากหน่วยงานหนึ่ง ไปยังอีกหน่วยงานหนึ่ง ย้อนกลับไปกลับมา เหมือนจะให้ผู้ร้องเรียนท้อถอยเบื่อหน่าย และล้มเลิกไปเอง กระทรวงมหาดไทย กรมที่ดิน กรมประชาสงเคราะห์ หน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ในสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จนถึง นายกรัฐมนตรี (ถนอม กิตติขจร,เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์,เปรม ติณสูลานนท์,ชาติชาย ชุณหะวัณ) เหล่านี้คือผู้คนและหน่วยงาน ที่พรเพชรและชาวบ้านได้เข้าร้องเรียน อย่างยาวนานต่อเนื่อง แต่ปัญหาต่าง ๆ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2547 พรเพชรส่งจดหมายถึงนายกสภาทนายความ เป็นการส่งเอกสารเพิ่มเติม เพื่อให้ช่วยส่งเรื่องพิพาทกรณีที่ดิน ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นจดหมายร้องเรียนฉบับสุดท้ายของเธอ ก่อนจะถูกลอบทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ด้วยวัย 67 ปี รวมเวลาการร้องเรียนทั้งสิ้น 36 ปี พรเพชรได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนดีเด่น ในปี พ.ศ. 2531 (พร้อมกับ เสน่ห์ จามริก ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) แหล่งข้อมูลอื่น
|