พื้นดินพื้นดิน หรือ แผ่นดิน (อังกฤษ: Land หรือ dry land) คือ พื้นผิวที่เป็นของแข็งบนโลกซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงพื้นน้ำ[1] พื้นดินเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ตลอดประวัติศาสตร์ซึ่งมีคุณูปการต่อการเกษตรกรรม การตั้งถิ่นฐาน และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ สิ่งมีชีวิตบนพื้นดินบางชนิด เช่น พืชบกและสัตว์บก ได้พัฒนาจากสายพันธ์ดั้งเดิมซึ่งเคยอาศัยอยู่ในน้ำมาก่อน พื้นที่ซึ่งเป็นบริเวณที่พื้นดินติดกับพื้นน้ำจะถูกเรียกว่าพื้นที่ชายฝั่ง การแบ่งแยกระหว่างพื้นดินและพื้นน้ำเป็นแนวคิดพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งแตกต่างออกไปตามเขตอำนาจในแต่ละท้องที่หรือปัจจัยอื่น ๆ เขตแดนทางทะเลเป็นตัวอย่างหนึ่งของการแบ่งแยกโดยใช้หลักทางการเมือง มีเขตแดนทางธรรมชาติหลายอย่างซึ่งช่วยในการกำหนดพื้นน้ำและพื้นดินได้อย่างชัดเจน ธรณีสัณฐานที่เป็นหินแข็งจะแบ่งแยกได้ง่ายกว่าเขตแดนที่เป็นบึงหรือแอ่งน้ำเมื่อไม่มีตำแหน่งที่ชัดเจนของบริเวณที่เป็นจุดสิ้นสุดของพื้นดินและจุดเริ่มต้นของพื้นน้ำ การแบ่งแยกอาจแตกต่างกันไปตามกระแสน้ำและสภาพอากาศ ประวัติศาสตร์ของพื้นดินบนโลกวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในระบบสุริยะมีอายุตั้งแต่ 4.5672±0.0006 พันล้านปี[2] ดังนั้นโลกจึงถือกำเนิดขึ้นจากการรวมมวลช่วงระหว่าง 4.54±0.04 พันล้านปี[3] จากการกำเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะ โลกยุคแรกก่อตัวขึ้นควบคู่ไปกับการกำเนิดดวงอาทิตย์ ในทฤษฎี เนบิวลาดวงอาทิตย์ได้แยกออกจากเมฆโมเลกุลด้วยการยุบตัวของแรงโน้มถ่วง ซึ่งเริ่มหมุนและแผ่ราบเปลี่ยนเป็นแผ่นจานดาวฤกษ์ ซึ่งดาวเคราะห์ต่าง ๆ ได้ก่อตัวขึ้นควบคู่ไปกับดาวฤกษ์ โดยเนบิลาประกอบไปด้วยแก๊ส น้ำแข็งยักษ์ และฝุ่นคอสมิก (ตัวอย่างเช่นนิวไคลด์ดึกดำบรรพ์) ในสมมติฐานเนบิวลา การเกิดดาวเคราะห์ได้เริ่มขึ้นหลังจากอนุภาคดาวเคราห์เพิ่มขึ้นจากการยึดเหนียวและแรงโน้มถ่วง การหลอมรวมของโลกยุคแรกยังคงดำเนินการไปอีก 10-20 ล้านปี[4] ชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรของโลกได้เกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟและปล่อยแก๊สและไอน้ำ รวมถึงยังได้รับจากน้ำและน้ำแข็งจากดาวเคราะห์น้อย ดาวเคราะห์แรกเริ่ม และดาวหาง[5] แก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศช่วยปกป้องมหาสมุทรจากการแข็งตัวขณะที่ดวงอาทิตย์เกิดใหม่ยังมีความสว่างดวงอาทิตย์เพียงร้อยละ 70[6] ช่วง 3.5 พันล้านปี สนามแม่เหล็กของโลกได้เกิดขึ้นซึ่งช่วยป้องกันลมสุริยะไม่ให้พัดผ่านชั้นบรรยากาศของโลก[7] ชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรของโลกยังคงมีอิทธิพลต่อรูปร่างบนผิวโลกอย่างต่อเนื่องจากการกัดเซาะและการพัดผ่านวัตถุบนพื้นผิว[8] เปลือกโลกซึ่งมีลักษณะแข็งในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นเมื่อพื้นผิวหลอมเหลวชั้นนอกของดาวเคราะห์โลกเย็นตัวกลายเป็นของแข็งขณะที่ไอน้ำเริ่มสะสมในชั้นบรรยากาศ เมื่อพื้นดินเริ่มมีความสามารถในการเอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยล้านปี การเพิ่มขึ้นยังคงดำเนินอยู่ยกเว้นเมื่อเกิดการสูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก[9] พื้นดินบนดาวเคราะห์อื่น ๆดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ที่มนุษย์รู้จักมีทั้งดาวเคราะห์ยักษ์ที่เป็นแก๊สและดาวเคราะห์คล้ายโลกที่เป็นของแข็ง ดาวเคราะห์คล้ายโลกประกอบด้วยดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร โดยพื้นผิวของดาวเคราะห์ชั้นในเหล่านี้มีมีองค์ประกอบของหินและแกนกลางเป็นโลหะ[10] ขณะที่ดาวเคราะห์ยักษ์ประกอบด้วยดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูนซึ่งเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่มีพื้นผิวดินเป็นแกนหินขนาดเล็กเพียงอย่างเดียวล้อมรอบด้วยชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น[11] ดาวแก๊สยักษ์คือดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์มีชั้นพื้นผิวที่ประกอบด้วยไฮโดรเจนเหลวแทนที่จะเป็นพื้นดินแข็งซึ่งในทางธรณีวิทยาดาวเคราะห์ยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก ความเป็นไปได้ของดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน (ดาวน้ำแข็งยักษ์) มีความร้อนแรงอัดสูงและน้ำยิ่งยวดภายใต้ชั้นบรรยากาศหนาทึบได้รับการตั้งสมมุติฐานขณะที่องค์ประกอบของดาวเคราะห์ยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก การศึกษาของวิคโทโรวิคซ์และคนอื่น ๆ ในปี 2006 ได้ตัดความเป็นไปได้ของการมีน้ำใน "มหาสมุทร" ที่มีอยู่ในดาวเนปจูน[12] แม้ว่าบางการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่ามหาสมุทรซึ่งมีองค์ประกอบของเพชรเหลวสามารถเป็นไปได้ พื้นผิวทั้งหมดของดาวเคราห์หินหรือดวงจันทร์ถือว่าเป็นพื้นดินแม้ว่าจะไม่มีทะเลหรือมหาสมุทรก็ตาม ส่วนประกอบของดาวเคราะห์ที่มีชั้นบรรยากาศบาง ๆ มักมีพื้นดินที่เด่นชัดจากการตกของอุกกาบาตเนื่องจากสภาพของชั้นบรรยากาศมักจะเผาไหม้วัตถุที่ตกลงมาและกระทบพื้นผิวอย่างรุนแรง[13] พื้นดินของดาวเคราะห์นอกเหนือจากโลกยังสามารถซื้อและขายได้แม้ว่ากรรมสิทธิ์ของอสังหาริมทรัพย์นอกโลกจะไม่เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานใด ๆ[14] พื้นดินและภูมิอากาศพื้นดินของโลกมีปฏิสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศอย่างมากเนื่องจากพื้นผิวมีการเพิ่มขึ้นของความร้อนและการเย็นตัวที่รวดเร็วกว่าอากาศและน้ำ[15] ละติจูดของพื้นดินจะส่งผลต่อปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์ที่กระทบพื้นผิว พื้นที่ละติจูดสูงจะได้รับปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์น้อยกว่าพื้นที่ละติจูดต่ำ[15] ความสูงของพื้นดินเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างและเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของอากาศและหยาดน้ำฟ้าบนโลก ธรณีสัณฐานขนาดใหญ่เช่นเทือกเขาก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนของพลังงานลม และสร้างอากาศเบาบางและกักเก็บความร้อนได้น้อยลง เมื่อมวลอากาศสูงขึ้น ผลกระทบจากความเย็นทำให้เกิดการควบแน่นและหยาดน้ำฟ้า การสะท้อนแสงของโลกที่เรียกว่าอัตราส่วนรังสีสะท้อนของดาวเคราะห์และชนิดของสิ่งปกคลุมดินซึ่งรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ส่งผลต่อปริมาณของพลังงานซึ่งสะท้อนหรือถ่ายโอนไปยังโลก[16] พืชพันธุ์มีอัตราส่วนรังสีสะท้อนต่ำซึ่งหมายถึงพื้นผิวที่ปกคลุมด้วยพืชจะดูดซับพลังงานของดวงอาทิตย์ได้ดี ป่ามีค่าอัตราส่วนรังสีสะท้อนร้อยละ 10-15 ขณะที่ทุ่งหญ้าค่าอัตราส่วนรังสีสะท้อนที่ร้อยละ 15-20 เมื่อเทียบกับพื้นทรายในบริเวณแห้งแล้งจะมีค่าอัตราส่วนรังสีสะท้อนที่ร้อยละ 25-40[16] การใช้ที่ดินของมนุษย์มีบทบาทต่อสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคและระดับโลก เมืองที่มีประชากรหนาแน่นจะอุ่นขึ้นและเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนซึ่งมีผลต่อหยาดน้ำฟ้า การปกคลุมของเมฆ และอุณหภูมิของภูมิภาคนั้น ๆ[15] อ้างอิง
|