ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (อังกฤษ: immunodeficiency หรือ immune deficiency) ในทางการแพทย์ถือว่า เป็นภาวะที่ความสามารถของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อลดลงหรือขาดไป ซึ่งส่วนมากพบเป็นแบบทุติยภูมิ หรือเกิดขึ้นภายหลัง (acquired หรือ secondary) แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะนี้มาตั้งแต่กำเนิด หรือเรียกว่าภูมิคุ้มกันบกพร่องแบบปฐมภูมิ (primary immunodeficiency) ในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อลดการต่อต้านอวัยวะปลูกถ่ายเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินจนต่อต้านร่างกายตนเอง สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสติดเชื้อจากการติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infection) เพิ่มนอกเหนือไปจากการติดเชื้อทั่วไปที่เกิดขึ้นกับทุกคน ชนิดภูมิคุ้มกันบกพร่องแบบปฐมภูมิโรคที่พบยากบางชนิดมีลักษณะการเพิ่มความไวรับต่อการติดเชื้อตั้งแต่วัยเด็ก ความผิดปกติดังกล่าวมักถ่ายทอดทางพันธุกรรมและมีลักษณะด้อย (autosomal recessive) หรือมียีนบนโครโมโซมเพศ (X-linked) กลุ่มอาการที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิดพบแล้วมากกว่า 80 กลุ่มอาการซึ่งมีลักษณะร่วมกันของความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกัน เช่นในลิมโฟไซต์หรือแกรนูโลไซต์[1] การรักษาภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิดขึ้นกับธรรมชาติของโรค และอาจต้องให้แอนติบอดีในเส้นเลือด การใช้ยาปฏิชีวนะระยะยาว หรือในบางกรณีอาจรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ภูมิคุ้มกันบกพร่องแบบเกิดภายหลังภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจเป็นผลจากปัจจัยภายนอกหรือโรคบางอย่าง จึงเรียกผลดังกล่าวว่าภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแบบทุติยภูมิ หรือเกิดขึ้นภายหลัง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากทุพโภชนาการ (malnutrition) , ความชรา (aging) และยาบางชนิด เช่น เคมีบำบัด, ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ (disease-modifying antirheumatic drugs) , สารกดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive drugs) ที่ให้หลังจากการปลูกถ่ายอวัยวะ, และสเตอรอยด์เช่นกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) โรคบางชนิดมีผลทางตรงและทางอ้อมในการทำลายระบบภูมิคุ้มกัน เช่นมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งไขกระดูกและเม็ดเลือด (เช่นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) , มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) หรือมัลติเปิลไมอีโลมา (multiple myeloma) และโรคเรื้อรังบางชนิด ที่รู้จักกันดีเช่นเอดส์ (AIDS) หรือกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมซึ่งมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นอาการหลัก เกิดจากไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งทำลายระบบภูมิคุ้มกันทางอ้อม ในประเทศไทย สาเหตุของภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่พบได้บ่อยคือการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งพบได้มากกว่าภูมิคุ้มกันบกพร่องแบบปฐมภูมิ การวินิจฉัยเด็กที่สงสัยว่ามีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจึงควรคำนึงถึงโรคเอดส์เอาไว้ด้วย[2] อ้างอิง
|