Share to:

 

มงกุฎแห่งสกอตแลนด์

มงกุฎแห่งสกอตแลนด์
Crown of Scotland

มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ในรัฐพิธีการเปิดประชุมสภาของสกอตแลนด์ ในปีค.ศ. 2011
ตราสัญลักษณ์
รายละเอียด
สำหรับ สกอตแลนด์
ผลิตเมื่อค.ศ. 1540
ผู้ครอบครองพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
น้ำหนักสุทธิ1.64 กิโลกรัม (3 ปอนด์ 10 ออนซ์)
จำนวนโค้ง2 โค้ง
วัตถุดิบหลักทองคำ
วัสดุซับในกำมะหยี่สีแดงกรุขอบด้วยขนเออร์มิน
อัญมณีสำคัญอัญมณี 22 เม็ด
รัตนชาติ 20 เม็ด
ไข่มุกน้ำจืดสกอตแลนด์ 68 เม็ด
องค์ประกอบอื่นๆยอดทรงกางเขนประดับไข่มุก

มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ (อังกฤษ: The Crown of Scotland) เป็นมงกุฎที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์สกอตแลนด์ โดยได้ทำการจัดสร้างขึ้นใหม่เลียนแบบของเดิมที่ทรงโดยพระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์เมื่อปีค.ศ. 1540 มงกุฎองค์นี้ถือเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสกอตแลนด์ และยังเป็นถือเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุด โดยปรากฎหลักฐานจากพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ ซึ่งปรากฎในหนังสือกำหนดเทศกาล (Book of Hours) เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับมาร์กาเร็ต ทิวดอร์

การจัดสร้าง

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1540 พระเจ้าเจมส์ที่ 5 ได้ทรงมีพระราชบัญชาให้จอห์น มอสแมน ช่างทองประจำราชสำนักทำการปรับแต่งมงกุฎแห่งสกอตแลนด์ โดยมงกุฎองค์เดิมนั้นมีลักษณะบอบบาง และถูกซ่อมแซมอย่างน้อยสองครั้งภายในรอบ 30 ปี และจากการตรวจนับใหญ่ในปีค.ศ. 1539 ก็ได้พบว่ามีการชำรุดเพิ่มขึ้นโดยมีชิ้นส่วนเฟลอ-เดอ-ลีส์สูญหายไปจำนวน 1 ชิ้น โดยได้มีการบูรณะโดยการแยกชิ้นส่วนของมงกุฎองค์เดิม แยกอัญมณีและรัตนชาติออก โดยส่วนที่เป็นโลหะได้นำไปหลอมใหม่ โดยเพิ่มน้ำหนักทองคำเพิ่มขึ้นอีกถึง 41 ออนซ์

องค์มงกุฎทำจากทองคำ โดยมีส่วนประกอบคือบริเวณฐาน ซึ่งทำเป็นรูปดอกลิลลี หรือเฟลอ-เดอ-ลีส์ สลับกับใบสตรอเบอร์รี่สี่แฉก มีส่วนโค้งเหนือฐานทั้งหมด 4 ด้านทำจากทองคำและรูปใบโอ้คสีแดง บริเวณเหนือส่วนตัดตรงกลางมงกุฎเป็นลูกโลกทองคำทาสีฟ้าประดับด้วยดาวทำจากทองคำ เหนือลูกโลกเป็นยอดกางเขนขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยไข่มุกและทองคำ มงกุฎทั้งองค์ประกอบด้วยอัญมณีถึง 22 เม็ด รวมถึงโกเมนและแอเมทิสต์ รัตนชาติ 20 เม็ด และไข่มุกน้ำจืดของสกอตแลนด์จำนวน 68 เม็ด

พระเจ้าเจมส์ที่ 5 ได้มีพระราชบัญชาให้ใช้ขนเออร์มินสีม่วงจากช่างตัดเสื้อ โธมัส อาร์เธอร์แห่งเอดินบะระบุทำเป็นหมวกด้านใน ต่อมาพระเจ้าเจมส์ที่ 7 ได้มีพระราชบัญชาให้เปลี่ยนเป็นสีแดง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนหมวกด้านในบ่อยครั้ง และในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนในปีค.ศ. 1993 มงกุฎทั้งองค์มีน้ำหนักทั้งสิ้น 1.64 กิโลกรัม (3 ปอนด์ 10 ออนซ์)

การใช้งาน

ตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักรที่ใช้ในสกอตแลนด์ ประกอบด้วยมงกุฎแห่งสกอตแลนด์ปรากฎบนเครื่องยอดของสัญลักษณ์ ด้านบนเหนือสิงโตสีแดงที่เป็นสัญลักษณ์ของสกอตแลนด์ และเหนือยูนิคอร์นเงินที่ประคองอยู่ด้านข้าง ส่วนมงกุฎที่อยู่เหนือสิงห์นั้นคือมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพระราชอำนาจเหนือเครือจักรภพอังกฤษ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1953 เป็นต้นมา

มงกุฎได้ถูกใช้สวมโดยพระเจ้าเจมส์ที่ 5ในงานพระราชพิธีสถาปนามารีแห่งกีซ พระมเหสีพระองค์ที่สองขึ้นเป็นพระราชินีในปีเดียวกันกับการจัดสร้างมงกุฎ และต่อมาได้ใช้สวมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีในปีค.ศ. 1643 และในงานบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเจมส์ที่ 6 ในปีค.ศ. 1567

ในช่วงที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ประจำราชบัลลังก์สกอตแลนด์อันสืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติการรวมราชบัลลังก์ ค.ศ. 1603 เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 6ได้รับพระราชบัลลังก์ของอังกฤษ และทรงย้ายจากเอดินบะระไปประทับที่ลอนดอน มงกุฎนี้ได้ใช้ประดับเป็นองค์ประธานที่รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์

มงกุฎนี้ได้ใช้สวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ในปีค.ศ. 1633 และพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ในปีค.ศ. 1651 เป็นพระองค์สุดท้ายที่ทรงมงกุฎนี้ในพระราชพิธี

ในช่วงสงครามกลางเมือง โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ได้พยายามที่จะค้นหาและทำลายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสกอตแลนด์ ซึ่งรวมถึงมงกุฎองค์นี้ แต่ก็ได้ถูกเก็บซ่อนไว้อย่างดีจนกระทั่งมีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ในปีค.ศ. 1660

ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีผลทำให้ทั้งสองราชอาณาจักรรวมกันเป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ทำให้มงกุฎองค์นี้ไม่มีบทบาทในการใช้บรมราชาภิเษกตามบทบัญญัติของรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ จึงทำให้มงกุฎองค์นี้ถูกย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่ปราสาทเอดินบะระ โดยได้ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาจนกระทั่งปีค.ศ. 1818 เซอร์วอลเตอร์ สกอตต์ ได้รับหน้าที่ค้นหามงกุฎองค์นี้ ได้พบว่าถูกเก็บรักษาไว้ในหีบสมบัติใบหนึ่ง และได้นำขึ้นจัดแสดงที่ห้องเก็บรักษาภายในปราสาทเอดินบะระ ซึ่งจะถูกเชิญออกมาเฉพาะในงานรัฐพิธีสำคัญเท่านั้น โดยในครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1822 โดยได้นำมงกุฎขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าจอร์จที่ 4 ที่พระราชวังฮอลีรูด ในระหว่างที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนสกอตแลนด์ในครั้งนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสกอตแลนด์โดยพระมหากษัตริย์ที่ทรงราชย์อยู่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปีค.ศ. 1651 เป็นต้นมา

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1953 มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ได้ถูกเชิญมาภายหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยถือนำหน้าพระองค์ในขบวนประกอบพระบรมราชอิสริยยศ โดยร่วมในขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคจากพระราชวังฮอลีรูด ไปยังอาสนวิหารเซนต์กิลส์แห่งเอดินบะระ ซึ่งได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสกอตแลนด์ให้กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในระหว่างพิธีขอบคุณพระเจ้า

โดยครั้งล่าสุด มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ ได้ถูกเชิญขึ้นเป็นองค์ประธานในรัฐพิธีเปิดประชุมสภาสกอตแลนด์ในปีค.ศ. 1999[1] และพิธีเปิดอาคารรัฐสภาแห่งสกอตแลนด์แห่งใหม่ในปีค.ศ. 2004[2] โดยเมื่อมีการเชิญมงกุฎ จะถูกเชิญโดยดยุกแห่งแฮมิลตัน ซึ่งโดยตามบรรดาศักดิ์แล้วเป็นผู้ถือมงกุฎแห่งสกอตแลนด์ โดยจะเดินนำหน้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในพระราชพิธีสืบเนื่องมาจากโบราณที่ใช้ในการเปิดประชุมสภาที่เรียกว่า Riding of Parliament

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

Kembali kehalaman sebelumnya