มหาวิหารแซ็ง-เดอนี
มหาวิหารแซ็ง-เดอนี (ฝรั่งเศส: Basilique Saint-Denis) เดิมเป็นแอบบีย์ชื่อ อารามแซ็ง-เดอนี ที่ตั้งอยู่ที่แซ็ง-เดอนีที่ปัจจุบันอยู่ทางเหนือของปารีส ต่อมาถูกยกสถานะขึ้นเป็นอาสนวิหารประจำมุขมณฑลแซ็ง-เดอนีในปี ค.ศ. 1966 มหาวิหารแซ็ง-เดอนีมีความสำคัญทั้งทางสถาปัตยกรรมและทางประวัติศาสตร์ต่อประเทศฝรั่งเศส มหาวิหารแซ็ง-เดอนีก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยพระเจ้าดาโกแบร์ที่ 1 บนที่ตั้งของที่ฝังศพของนักบุญเดนิสผู้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ประเทศฝรั่งเศสองค์หนึ่งในสามองค์ มหาวิหารกลายเป็นสถานที่สำหรับการแสวงบุญและใช้เป็นที่บรรจุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสเกือบทุกพระองค์ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และบางพระองค์จากก่อนหน้านั้น (แต่ไม่ใช่สถานที่สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษกที่ทำกันที่มหาวิหารแร็งส์ แต่พระราชพิธีราชาภิเษกพระราชินีมักทำกันที่นี่) มหาวิหารจึงกลายเป็นสิ่งก่อสร้างกลุ่มที่ซับซ้อน ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 อธิการซูว์เฌสร้างบางส่วนของมหาวิหารใหม่โดยใช้วิธีการก่อสร้างที่ล้ำสมัยสำหรับยุคนั้น และใช้การตกแต่งที่นำมาจากสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ การก่อสร้างครั้งนี้ถือกันว่าเป็นก่อสร้างสิ่งก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมกอทิกที่แท้จริงเป็นครั้งแรก[1] นอกจากนั้นมหาวิหารก็ยังเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแรยอน็อง และกลายมาเป็นแบบการก่อสร้างของมหาวิหารและแอบบีย์อื่น ๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส อังกฤษ และประเทศอื่น ๆ ต่อมา เบื้องหลังนักบุญเดนิสเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์องค์หนึ่งของประเทศฝรั่งเศสและตามตำนานแล้วก็เป็นบิชอปแห่งปารีสองค์แรกด้วย ก่อนหน้าที่สร้างเป็นมหาวิหารก็มีโบสถ์เล็ก ๆ สร้างเป็นอนุสรณ์ถึงท่าน ต่อมาพระเจ้าดาโกแบร์ที่ 1 พระมหากษัตริย์ชาวแฟรงก์ผู้ทรงปกครองระหว่าง ค.ศ. 628 ถึง ค.ศ. 637 ทรงก่อตั้งอารามแซ็ง-เดอนีเป็นอารามนักพรตคณะเบเนดิกติน ตัวหีบอนุสรณ์ (Shrine) เองสร้างโดยนักบุญเอลีจิอุส (Saint Eligius) ผู้ที่เป็นช่างทองมาก่อน ที่บรรยายในชีวประวัติของนักบุญว่า:
แต่งานชิ้นนี้ก็ไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว สถาปัตยกรรมมหาวิหารแซ็ง-เดอนีเป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมเพราะเป็นสิ่งก่อสร้างสิ่งแรกที่ส่วนใหญ่ออกแบบและก่อสร้างเป็นแบบกอธิค ทั้งทางทางด้านโครงสร้างและลักษณะของการก่อสร้างเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ไปเป็นสถาปัตยกรรมกอทิก ก่อนที่คำว่า “กอทิก” จะมาเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปลักษณะสถาปัตยกรรมนี้เรียกกันว่า “แบบฝรั่งเศส” (The French Style หรือ Opus Francigenum) แผนผังมหาวิหารในปัจจุบันเป็นผังแบบกางเขนแบบ “บาซิลิกา” คือมีทางเดินกลางที่สูงกว่าทางเดินข้างที่กระหนาบโดยมีหน้าต่างชั้นบนรอบตัวสิ่งก่อสร้าง ทางด้านเหนือมีทางเดินข้างเพื่มอีกหนึ่งทางที่เรียงด้วยชาเปลหรือคูหาสวดมนต์ ด้านหน้าโบสถ์มีประตูทางเข้าสามประตูและมีหน้าต่างกุหลาบเหนือประตู และหอหนึ่งหอทางด้านไต้ ทางด้านตะวันออกบริเวณพิธีที่สร้างเหนือคริพต์มีจรมุข และชาเปลดาวกระจาย (chevette) ที่ประกอบด้วยชาเปลเก้าชาเปลที่กระจายออกจากทางเดินรอบมุข ราวปี ค.ศ. 1137 อธิการซูว์เฌ (ค.ศ. 1081-ค.ศ. 1155) ผู้เป็นพระสหายและที่ปรึกษาคนสนิทของพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ตัดสินใจสร้างมหาวิหารแซ็ง-เดอนีใหม่ติดกับแอบบีย์ที่เป็นพระราชวังหลวง อธิการซูแฌร์เริ่มจากการก่อสร้างใหม่จากด้านหน้าที่เปลี่ยนจากที่มีประตูเดียวเป็นสามประตูที่มีลักษณะคล้ายประตูชัยเช่นประตูชัยคอนสแตนติน (Triumphal Arch of Constantine) การมีประตูเพิ่มขึ้นก็เป็นการบรรเทาการจราจรเข้าโบสถ์ของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้น เหนือด้านหน้าเป็นหน้าต่างกุหลาบซึ่งเป็นด้านที่มักจะเป็นที่ตั้งของหน้าต่างลักษณะนี้ในสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์แบบอิตาลี และเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นหน้าต่างกุหลาบหน้าต่างแรกที่สร้างในฝรั่งเศสที่กลายมาเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสถาปัตยแบบกรรมกอธิคของทางเหนือของฝรั่งเศสต่อมา เมื่อสร้างด้านหน้าเสร็จใน ค.ศ. 1140 อธิการซูว์เฌก็ย้ายไปสร้างด้านตะวันออกหรือด้านที่เป็นบริเวณพิธีโดยทิ้งทางเดินกลางอย่างคาโรลินเจียนไว้ อธิการซูแฌร์ออกแบบบริเวณร้องเพลงสวดที่อาบด้วยแสงซึ่งช่างก่อสร้างต้องหาวิธีการสร้างแบบใหม่ที่พัฒนามาจากสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เพื่อให้ได้ตามจุดประสงค์ ที่รวมทั้งการสร้างเพดานโค้งแหลม, เพดานสัน, ทางเดินรอบมุขที่มีชาเปลดาวกระจายยื่นออกไป, คอลัมน์หมู่ (Clustered columns) ที่รับแรงกดดันจากสันที่พุ่งมาจากทิศต่าง ๆ ของเพดาน และค้ำยันแบบปีก ที่สามารถทำให้สร้างหน้าต่างชั้นบนที่กว้างใหญ่ขึ้นซึ่งสามารถทำให้รับแสงได้เต็มที่ วิธีการก่อสร้างต่าง ๆ เช่นที่กล่าวมาเป็นการทำครั้งแรก นักประวัติศาสตร์ศิลปะเออร์วิน พานอฟสกี (Erwin Panofsky) อ้างว่าการสร้างมหาวิหารของอธิการซูว์เฌได้รับแรงบันดาลใจในการที่จะสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของเยรูซาเลม แต่จุดประสงค์ที่สูงไปกว่าการสร้างเพื่อความสวยงามก็ยังเป็นที่น่าสงสัยโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะเมื่อไม่นานมานี้ตามหลักฐานจากข้อเขียนของซูว์เฌเอง โบสถ์หลังใหม่ที่สร้างเสร็จเสกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1144 โดยมีบุคคลสำคัญต่าง ๆ เข้าร่วมในพิธีที่รวมทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 7[3] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1231 ทางเดินกลางเก่าก็ได้รับการสร้างใหม่ให้เป็นสถาปัตยกรรมกอทิกแบบเรยองนองท์ และเพิ่มสร้างหน้าต่างกุหลาบอีกสองบานทางด้านเหนือและไต้ของแขนกางเขน[4] อารามแซ็ง-เดอนีจึงกลายเป็นตัวอย่างของการสร้างอารามหลวงทางตอนเหนือของฝรั่งเศส นอกจากนั้นสถาปัตยกรรมกอทิกของฝรั่งเศสก็ยังเผยแพร่ไปยังอังกฤษโดยการปกครองของราชวงศ์อ็องเชแว็ง และแคว้นอื่น ๆ ในฝรั่งเศส กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ เยอรมนี สเปน ตอนเหนือของอิตาลี และซิซิลี[5][6] ลักษณะสำคัญ ๆ อื่น ๆ ของมหาวิหารก็ได้แก่คอลัมน์ที่มีรูปปั้นสองข้างประตูหน้าโบสถ์ที่ถูกทำลายไปแล้วที่สร้างจากภาพวาดของมงท์โฟคอง ผังจากราว ค.ศ. 1700 โดย Félibien แสดงภาพชาเปลพระบรมศพที่เป็นโดมติดกับแขนกางเขนทางด้านเหนือที่เป็นที่ตั้งของพระบรมศพและพระศพของราชวงศ์วาลัว[7] นอกจากนั้นก็มีหน้าต่างประดับกระจกสี และเก้าอี้อิงที่เหลืออยู่สิบสองตัว ที่เก็บพระศพมหาวิหารแซ็ง-เดอนีเป็นที่ฝังพระศพของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสและพระราชวงศ์เป็นเวลาหลายร้อยปีจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สุสานหลวงแห่งฝรั่งเศส” (Royal necropolis of France) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1789 พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสทุกพระองค์ยกเว้นสามพระองค์ก็ได้รับการบรรจุที่นี่ พระมหากษัตริย์บางพระองค์เช่นพระเจ้าโคลวิสที่ 1 (ค.ศ. 465-ค.ศ. 511) ถูกบรรจุที่อื่นมาก่อนที่นำมาไว้ที่แซ็ง-เดอนี แอบบีย์มีอนุสรณ์ของพระมหากษัตริย์และพระราชินีที่งดงามมากมายแต่มาถูกทำลายไปเสียมากระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ระหว่างการปฏิวัตินักปฏิวัติก็เปิดที่เก็บพระศพต่าง ๆ ภายในมหาวิหารและนำร่างของผู้ที่ถูกบรรจุอยู่ภายในออกไปโยนทิ้งในหลุมใหญ่สองหลุมนอกโบสถ์ อเล็กซานเดอร์ เลอนัวร์ นักโบราณคดีช่วยรักษาที่บรรจุพระศพไว้ได้บ้างโดยอ้างว่าเป็นงานศิลปะสำหรับการสะสมส่วนตัวของตนเองที่ถูกนำไปเก็บไว้ในอนุสาวรีย์ประวัติศาสตร์แห่งฝรั่งเศส (Monument historique) จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 เปิดมหาวิหารขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปีค.ศ. 1806 แต่ก็มิได้ทำอะไรกับพระร่างที่ถูกฝังไว้ในหลุมใหญ่ ระหว่างที่ประทับอยู่ที่เกาะเอลบา ราชวงศ์บูร์บองฟื้นฟูก็สั่งให้หาพระศพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16และพระนางมารี อ็องตัวแนต มีบางส่วนที่พบที่สันนิษฐานกันว่าเป็นของพระองค์และกอบสีเทาที่มีสายรัดถุงเท้าสตรีพบเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1815 ที่ถูกนำมาฝังไว้ในคริพท์ ในปี ค.ศ. 1817 หลุมศพใหญ่ที่พระศพถูกโยนลงไปก็ได้รับการเปิดขึ้นแต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นใครจากกองกระดูก กระดูกเหล่านี้จึงถูกนำมาไว้ในชาเปลบรรจุกระดูก (ossuary) ภายในคริพท์ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1824 พระศพก็ถูกฝังกลางคริพท์ใกล้กับพระศพพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแนต โลงพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ระหว่าง ค.ศ. 1815 ถึงปี ค.ศ. 1830 ก็ถูกบรรจุในคริพท์ด้วย ภายใต้การนำของเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก อนุสรณ์ต่าง ๆ ที่ถูกนำไปเก็บไว้ในอนุสาวรีย์ประวัติศาสตร์แห่งฝรั่งเศสก็ได้รับการนำกลับมายังมหาวิหาร และพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ผู้ถูกฝังไว้ที่อารามแซ็งปองต์ซึ่งมิได้ถูกทำลายก็ถูกนำกลับมายังมหาวิหาร ในปี ค.ศ. 2004 พระหทัย (หัวใจ) ของมกุฎราชกุมารที่ถ้าได้ขึ้นครองราชย์ก็จะเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 17 ก็ได้การบรรจุไว้ในผนังของคริพท์ ระเบียงภาพ
ข้อมูล
อ้างอิง
ข้อมูล
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มหาวิหารแซ็ง-เดอนี
|