มะเขือพวง (อังกฤษ: Turkey berry; ชื่อวิทยาศาสตร์: Solanum torvum) เป็นพืชตระกูลมะเขือ เป็นไม้ข้ามปี มีถิ่นกำเนิดในแถบรัฐฟลอริดา, หมู่เกาะเวสต์ อินดีส์, เม็กซิโก จนถึงอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล เป็นวัชพืชขึ้นกระจัดกระจายเกือบทั่วเขตร้อน
มะเขือพวงใช้ตำผสมลงในน้ำพริกหลายชนิดเช่น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกขี้กา ใช้ใส่ในแกงเช่น แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงป่า แกงอ่อม ซุบ กินดิบเป็นผักจิ้ม หรือกินสุกโดยการเผา ปิ้ง ย่าง[2]ในภาษาใต้จะเรียกว่า "มะเขือเทศ" หรือ "เขือเทศ"
สารที่พบ
ในมะเขือพวงพบสารสำคัญ เช่น[3]
- ทอร์โวไซด์ เอ, เอช (torvoside A, H) เป็นสตีรอยด์ไกลไซด์จากผลมะเขือพวง มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (Herpes simplex virus type 1) โดยมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสมากกว่ายาอะไซโคลเวียร์ 3 เท่า
- ทอร์โวนิน บี (torvonin B) เป็นซาโพนินชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์ขับเสมหะ
- โซลานีน (solanine) เป็นอัลคาลอยด์ สารที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ผู้ป่วยโรคไขข้อควรหลีกเลี่ยง
- โซลาโซนีนและโซลามาจีน (solasonine and solamagine) เป็นไกลโคซิเลตอัลคาลอยด์ที่พบร้อยละ ๐.๐๔ ของใบแห้ง ในมะเขือพวงบางสายพันธุ์แถบแคริบเบียน มีปริมาณสารเหล่านี้มาก อาจเกิดอาการของระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทได้
- โซลาโซดีน (solasodine) เป็นสารที่มีสรรพคุณต้านโรคมะเร็ง
- เพกติน เป็นสารที่ละลายน้ำได้ ช่วยเคลือบที่ผิวของลำไส้ ทำให้ลำไส้ดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลงจึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน[4]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Solanum torvum ที่วิกิสปีชีส์