Share to:

 

มาร์วิน มินสกี

มาร์วิน มินสกี
มาร์วิน มินสกี ในปี ค.ศ. 2008
เกิดมาร์วิน ลี มินสกี
9 สิงหาคม ค.ศ. 1927(1927-08-09)
นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต24 มกราคม ค.ศ. 2016(2016-01-24) (88 ปี)
บอสตัน, รัฐแมสซาชูเซตส์, สหรัฐอเมริกา
สัญชาติอเมริกัน
ศิษย์เก่าวิทยาลัยฟิลลิปส์
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ปริญญาตรี, 1949)
มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน (ปริญญาเอก, 1954)
มีชื่อเสียงจากปัญญาประดิษฐ์[1]
รางวัลรางวัลทัวริง (ค.ศ. 1969)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาประชานศาสตร์
วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
ปัญญาประดิษฐ์
สถาบันที่ทำงานสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
วิทยานิพนธ์Theory of Neural-Analog Reinforcement Systems and Its Application to the Brain Model Problem (1954)
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกAlbert W. Tucker[2]
เว็บไซต์web.media.mit.edu/~minsky

มาร์วิน ลี มินสกี (อังกฤษ: Marvin Lee Minsky (9 สิงหาคม ค.ศ. 1927- 24 มกราคม ค.ศ. 2016) เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกันในสาขาปัญญาประดิษฐ์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และผู้เขียนหนังสือด้านปัญญาประดิษฐ์และปรัชญามากมาย

ประวัติ

มาร์วิน มินสกี เกิดที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรของจักษุศัลยแพทย์และหญิงชาวยิว เข้ารับศึกษาโรงเรียน Ethical Culture Fieldston School และโรงเรียน Bronx High School of Science ก่อนจะไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยฟิลลิปส์ ก่อนจะเข้าเป็นทหารเรือให้กับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาในช่วง ค.ศ. 1944 ถึง ค.ศ. 1945 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี ค.ศ. 1950 และปริญญาเอกด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตันในปี ค.ศ. 1954[3] หลังจบการศึกษา ได้เข้าเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ในปีต่อมา ได้ร่วมมือกับจอห์น แม็กคาร์ธีย์ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ อันถือเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดสาขาปัญญาประดิษฐ์[4] ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์

ไอแซค อสิมอฟ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย ยกว่ามินสกีเป็นหนึ่งในสองบุคคลที่เขายอมรับว่ามีความฉลาดมากกว่าเขา อีกคนหนึ่งคือ คาร์ล เซแกน นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน[5]

มินสกี เป็นผู้ประดิษฐ์หน้าจอดิสเพลย์แสดงกราฟิกแบบสวมหัวเครื่องแรกของโลกในปี ค.ศ 1963 และกล้องคอนโฟคอลในปี ค.ศ. 1957 อันเป็นที่มาของกล้องกล้องจุลทรรศน์แบบคอนโฟคอลชนิดที่ใช้เลเซอร์ในการสแกนที่ใช้กันในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาหุ่นยนต์เต่า และเครื่อง SNARC เครื่องจักรที่เรียนรู้จากโครงข่ายประสาทเทียมแบบต่อสุ่มเครื่องแรกในปี ค.ศ. 1951

มินสกีเขียนหนังสือเรื่อง Perceptrons ร่วมกับเซย์มัวร์ เพเพิร์ต ที่เป็นผลงานวิชาการสำคัญสำหรับการวิเคราะห์โครงข่ายประสาทเทียม หนังสือเล่มนี้ได้รับการกล่าวถึงมากในประวัติศาสตร์ของสาขาปัญญาประดิษฐ์ บ้างก็ว่าเป็นหนังสือสำคัญที่ทำให้นักวิจัยเริ่มตีตัวออกห่างจากโครงข่ายประสาทเทียมในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 จนนำมาสู่ช่วงยุคตกต่ำของปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำเสนอแบบจำลองทางปัญญาประดิษฐ์อีกมากมาย เช่น ในหนังสือเรื่อง "A framework for representing knowledge" ก็เป็นผู้สร้างมุมมองใหม่ในการเขียนโปรแกรม มินสกียังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่มนุษย์ต่างดาวที่สามารถพูดและคิดได้เหมือนมนุษย์อีกด้วย[6]

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ที่ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มินสกีและเซย์มัวร์ เพเพิร์ตร่วมกันพัฒนาทฤษฎีที่เรียกว่า Society of Mind เป็นทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายว่าสิ่งที่เราเรียกกันว่าความฉลาดนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นผลผลิตจากอันตรกิริยาระหว่างส่วนที่ไม่ฉลาด มินสกีชี้ว่าไอเดียนี้มีจุดกำเนิดมาจากงานวิจัยของตนเองที่พยายามจะสร้างเครื่องจักรที่ใช้แขนกล กล้องวิดีโอ และคอมพิวเตอร์ จากนั้นในปี ค.ศ. 1986 มินสกีได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Society of Mind ที่อธิบายถึงทฤษฎีดังกล่าวให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2006 มินสกีได้ตีพิมพ์หนังสืออีกเล่มคือ The Emotion Machine เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับทฤษฎีการคิดของมนุษย์ โดยเสนอว่าเราควรจะแทนที่แนวคิดที่ง่ายๆด้วยแนวคิดที่ซับซ้อน[7]

อ้างอิง

  1. doi:10.1109/JRPROC.1961.287775
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  2. Marvin Minsky in MathGenealogy
  3. Minsky, Marvin Lee (1954). Theory of Neural-Analog Reinforcement Systems and Its Application to the Brain Model Problem (วิทยานิพนธ์ PhD). Princeton University.
  4. Horgan, John (November 1993). "Profile: Marvin L. Minsky: The Mastermind of Artificial Intelligence". Scientific American. 269 (5): 14–15. doi:10.1038/scientificamerican1193-35.
  5. Isaac Asimov (1980). In Joy Still Felt: The Autobiography of Isaac Asimov, 1954-1978. Doubleday/Avon. p. 217,302. ISBN 0-380-53025-2.
  6. Minsky, Marvin (April 1985). "Communication with Alien Intelligence". BYTE. p. 127. สืบค้นเมื่อ 27 October 2013.
  7. [https://web.archive.org/web/20100314205648/http://web.media.mit.edu/~minsky/ เก็บถาวร 2010-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Marvin Minsky's Home Page
Kembali kehalaman sebelumnya