รถไฟฟ้า มาหานะเธอ
รถไฟฟ้า มาหานะเธอ เป็นภาพยนตร์ไทยแนวโรแมนติก-คอมเมดี้ ผลิตโดยจอกว้างฟิล์ม และจัดจำหน่ายโดยจีทีเอช เข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ร่วมเขียนบทและกำกับโดยอดิสรณ์ ตรีสิริเกษม [3] นำแสดงโดยธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ คริส หอวัง และอังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา ภาพยนตร์นำเสนอในมุมมองของ "เหมยลี่" พนักงานบริษัทสาวโสดวัย 30 ปี ที่พบรักกับวิศวกรรถไฟฟ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานที่ถ่ายทำส่วนใหญ่ถ่ายทำในรถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้า บริษัทรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงสถานที่อื่นในกรุงเทพมหานครอย่างถนนจันทน์ สองฝั่งคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระที่นั่งอนันตสมาคม เยาวราช ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น ภาพยนตร์ได้รับการตอบรับอย่างดี เปิดตัวรายได้ในวันแรกที่ 15.1 ล้านบาท ทำลายสถิติรายได้วันเปิดตัวในปีนี้ของภาพยนตร์ ห้าแพร่ง ที่ 14.9 ล้านบาท ติดอันดับ 1 ยาวนาน 4 สัปดาห์ ทำรายได้รวม 145.82 ล้านบาท นอกจากนั้นภายหลังภาพยนตร์ฉายยังมีออกในรูปแบบการ์ตูน ส่วนด้านรางวัลที่ภาพยนตร์เรื่อง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ ได้รับ คือสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จาก 2 สถาบันคือรางวัลขวัญใจสื่อมวลชนและท็อปอวอร์ด 2009 รวมถึงยังได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดนิยมจากสตาร์พิกส์อวอร์ด ส่วนในด้านรางวัลการแสดง คริส หอวัง ได้รับรางวัลประเภทนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากหลายสถาบัน เนื้อเรื่องในคืนวันแต่งงานของ เป็ด (ปาณิสรา อารยะสกุล) ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ เหมยลี่ หรือ ลี่ (คริส หอวัง) เพื่อนสนิทของเป็ด ซึ่งเมาหัวราน้ำก็นอนหลับในห้องของเป็ด หลังจากที่ตื่นและเริ่มสร่างเมาแล้วจึงขับรถกลับบ้าน แต่ก็ขับรถไถข้างทางจนกระจกข้างรถกระเด็นออกไป และได้พบกับ ลุง (ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์) ผู้เข้ามาช่วยดูเครื่องยนต์รถที่สตาร์ตไม่ติดให้ เมื่อลี่ถึงบ้านในตอนเช้า พ่อแม่และอาม่าก็มาต่อว่าถึงหน้าบ้านและพ่อยังไม่ให้ขับรถไปทำงานอีก ทำให้ลี่ต้องมาทำงานโดยการขนส่งมวลชนแทน คืนหนึ่งลี่ตื่นขึ้นมากลางดึกและแอบขึ้นไปกินเบียร์บนดาดฟ้า ลี่บังเอิญพบกับเพื่อนร่วมกัน ซึ่งแนะนำให้เธอรู้จักลุง หลังจากนั้นลี่ก็ได้พบกับลุงอีกครั้งบนสถานีรถไฟฟ้า ครั้งนี้ลี่ทำแว่นตาเรย์แบนของลุงหล่นไปจนพัง ลี่ได้ปรึกษารุ่นน้องแถวบ้านที่ชื่อ เพลิน (อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา) โดยแนะนำให้เขียนเบอร์โทรศัพท์ให้ ลี่จึงได้ซื้อแว่นตาและได้เขียนเบอร์โทรศัพท์ไว้บนกล่องและหาโอกาสให้แว่นตาใหม่ แต่ลุงก็ไม่โทรมาหา ลี่และเพลินมาดักรอที่ร้านวิดีโอที่คาดว่าลุงจะมา จนได้เจอลุงอีกครั้ง แต่เพลินสามารถหาวิธีเอาเบอร์โทรศัพท์ของลุงมาได้แต่ไม่ให้ลี่ ในเวลาต่อมาเพลินได้มาเป็นพนักงานร้านวิดีโอที่ลุงเช่า ลี่แก้เผ็ดเพลินโดยใช้โทรศัพท์ของเพลินส่งข้อความไปหากิ๊กของเพลินให้มาพบกันทั้ง 3 คน จนเกิดทะเลาะวิวาทกัน ลุงได้เข้ามาในร้านพอดีและถือแล็ปท็อปมาด้วยก็เกิดทำตกลงพื้น ด้วยความสำนึกผิด ลี่จึงอาสาเอาแล็ปท็อปของลุงให้สามีของเป็ดซ่อม แต่ก็ซ่อมไม่ได้ จึงเอามาคืนที่สำนักงานรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งนี้เธอตั้งใจจะฝากข้อความกับผู้รักษาความปลอดภัย แต่ก็หลับไปก่อน เมื่อลุงเลิกงานก็กลับบ้านพร้อมกับลี่ด้วยรถไฟฟ้า แต่กระเป๋าที่ใช้มาตั้งแต่ยังเรียนก็เกิดพังขึ้นมาจึงจะนำไปทิ้งลงถังขยะ แล้วลี่ก็เก็บกระเป๋าของลุงเอาไว้ ในนั้นพบของหลายอย่าง รวมถึงฟิล์มถ่ายรูป ลี่จึงนำฟิล์มไปล้างพบภาพลุงกับนักแสดงสาว กบ กวิตา (ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ) ในละครโทรทัศน์เรื่อง "น้ำตากามเทพ" แต่แล้วภาพก็หลุดไปทางอินเทอร์เน็ตจนเป็นข่าวใหญ่โตทางหน้าหนังสือพิมพ์ ลี่ได้พบลุงอีกครั้งบนรถไฟฟ้าในขณะที่เขายังนอนหลับอยู่ ลี่ได้บอกความจริงเกี่ยวกับเรื่องข่าวว่าภาพอาจจะหลุดมาจากฝีมือของเธอ แต่ลุงก็ไม่ถือสาอะไร ลุงได้เล่าว่านักแสดงสาว กบ เป็นแฟนเก่าและเลิกกันเพราะเวลาไม่ตรงกัน จากนั้นพอถึงสถานีเอกมัย ลี่ชวนลุงมาดูดาวที่ท้องฟ้าจำลอง และเดินมาดูนิทรรศการเกี่ยวกับดาวหางแมกไบรท์ที่จะโคจรมาถึงโลก ลี่ชวนลุงดูดาวหาง หลังจากนั้นไม่นานก่อนสงกรานต์ ลุงชวนลี่มาเล่นสงกรานต์กัน แต่ลี่ซึ่งตกลงกับทางบ้านว่าจะไปประเทศจีนในช่วงวันนั้นพอดี ก็แก้ตัวว่าลืมหนังสือเดินทางอยู่ที่บ้าน เธอจึงไม่ได้ไปประเทศจีนกับครอบครัว ในช่วงสงกรานต์ ที่ทั้ง 2 นัดกัน เพลินก็เข้ามามีส่วนร่วมตามไปด้วย ลี่ไม่รู้สึกสนุกกับการเล่นเพราะมีก้างขวางคออยู่ ทั้ง 3 คนแยกทางกันจากรถสองแถว ลี่ก็ได้รู้จักบ้านลุงที่เป็นเกสต์เฮาส์อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลี่กลับบ้านมาเปลี่ยนชุด หลังจากนั้นไปเที่ยวกันตอนดึก ทั้ง 2 เที่ยวกันในสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ลุงชวนลี่ไปในกิจกรรมวันครอบครัวของรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สามารถชวนครอบครัว คนรู้จักเข้าไปในสถานีได้ ลุงถ่ายรูปแต่ก็แย่งกล้องถ่ายรูปกันอีกจนกล้องพัง ในวันครอบครัว ก็ทำให้ลี่ได้รู้ว่าลุงจะไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนีในอีก 2 วัน ทำให้ลี่ถึงกับอึ้งไป ต่อมาลี่ก็มาที่บ้านลุงในสภาพข้าวของที่ถูกห่อหีบแล้ว ทั้งคู่เดินไปคุยที่สะพานสาทร ลี่ก็จากลากับลุงที่สะพาน โดยลี่บอกว่าขอแค่เป็นคนรู้จักกัน ในวันถัดมาซึ่งเป็นวันที่ลุงเดินทางไปประเทศเยอรมนีในตอนเช้า ลูกจ้างชายที่อยู่เกสต์เฮาส์ของลุงได้ฝากกล่องให้ลี่ ในนั้นมีกระจกข้างของรถลี่ในวันที่เจอกันวันแรก แว่นตาเรย์แบนที่ลี่ทำแตก ตั๋วเข้าท้องฟ้าจำลอง แล็ปท็อบที่ทำตกพัง และกล้องถ่ายรูปที่พัง แต่ในนั้นยังมีเมโมรีการ์ดอยู่ ลี่เปิดมาดูเห็นภาพที่ลุงแอบถ่ายลี่ในสภาพความเป็นธรรมชาติ ลี่น้ำตาไหลและรีบออกไปสนามบินสุวรรณภูมิแต่ก็สายเกินไป ลุงออกเดินทางไปแล้ว ในวันนั้นเองซึ่งเป็นวันที่ดาวหางแมกไบรท์ซึ่งโคจรเฉียดโลกมาพอดี ลุงซึ่งอยู่บนเครื่องบินดูดาวหางบนเครื่องบินในขณะที่ลี่ก็ดูดาวหางอยู่เช่นกัน 2 ปีถัดมา ลี่ทำงานกะกลางคืน ในขณะที่เดินทางไปทำงานลี่บังเอิญได้พบกับลุงอีกครั้งบนสถานีรถไฟ ลุงเปลี่ยนมาทำงานกะกลางวันและกลับมาประเทศไทยราว 2-3 เดือน ทั้งคู่ลงจากรถไฟฟ้ามาที่สถานีสยาม ซึ่งเป็นสถานีเปลี่ยนเส้นทางระหว่างสายสุขุมวิทและสายสีลม ลี่ลงบันไดมาชั้นล่างเพื่อเปลี่ยนเส้นทางโดยไม่หันหลังกลับไปมองลุงเลย ลี่ต่อรถไฟฟ้าแต่แล้วรถไฟฟ้าเกิดขัดข้องไฟดับบนเส้นทาง คนในรถไฟฟ้าต่างโทรศัพท์หาแฟนหรือเพื่อน แต่แล้วก็มีโทรศัพท์เข้ามาสายเข้าจากลุงบอกว่ารถไฟขัดข้อง ลุงก็ชวนลี่ไปเที่ยวสงกรานต์กัน ลี่ก็ตอบว่าว่าง จนเกือบจะร้องไห้ เมื่อไฟมาลุงก็อยู่ในรถไฟฟ้านั้นแล้ว แล้วบอกว่าให้บันทึกเบอร์ไว้ นักแสดงและบทบาทนักแสดงหลัก
นักแสดงสมทบ
งานสร้างภาพยนตร์บทภาพยนตร์บทภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มเขียนขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อนออกฉาย ซึ่งมีพล็อตเรื่องเป็นภาพยนตร์สั้นที่มีเค้าโครงเรื่องจริงของการรักที่ไม่ได้แสดงออกว่ารัก ทำให้ความรักไม่ชัดเจนและหลุดลอยไป หลังจากนั้น มีผู้ร่วมเขียนบทเพิ่มเติม คือ เบ็ญจมาภรณ์ สระบัว, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ และอดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ส่วนอีกแนวคิดของจิระ มะลิกุล ที่เขียนมานานตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดบริษัทจีทีเอช เป็นเรื่องราวที่รวบรวมจากเรื่องการจราจร และต้องการที่จะทำภาพยนตร์เกี่ยวกับคนเมืองและคนทำงานในยามราตรี อย่างเช่น ยาม คนซ่อมเสาไฟฟ้า คนขุดท่อ ที่ต้องทำงานตอนคนอื่นหลับไปแล้ว จึงเกิดคำถามว่าคนเหล่านี้ใช้ชีวิตกันอย่างไร[4] ผู้กำกับเรื่องนี้คือ อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม อดีตลูกศิษย์ของจิระเมื่อสมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย มีความคิดไปตรงกันกับภาพยนตร์สั้นมีความคล้ายกับเรื่องนี้ นั่นคือ อารมณ์ของชายหญิงที่มีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร จิระจึงเลือกอดิสรณ์มาเป็นผู้กำกับ จนพัฒนาเนื้อเรื่องต่อจากเดิมหนังรักชายหญิงทั่วไป เนื่องจากอดิสรณ์เคยเห็นมามากแล้ว จึงรู้สึกเบื่อ และเสนอมุมมองเรื่องเล่าของนางเอกแทน โดยต้องการสื่อให้เห็นว่าไม่ใช่ผู้ชายเท่านั้นที่แอบชอบผู้หญิง ผู้หญิงก็เช่นกัน ซึ่งมีความคิดที่อยากเจอผู้ชายคนที่ดี และหากเจอแล้วก็ไม่อยากให้รักครั้งแรกและครั้งนี้พลาดหวังไป ซึ่งผู้กำกับก็นำมาใส่ในเนื้อเรื่องให้ดูสนุก โดยเล่าเรื่องซึ่งเป็นการเล่าเรื่องของการดำเนินชีวิตของชายหญิงคู่หนึ่งที่ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดช่องว่างและความห่าง ซึ่งผู้กำกับคิดว่ายังไม่มีหนังไทยเรื่องไหนเคยทำ เป็นแนวหนังอย่างเรื่อง บริดเจตโจนส์ไดอารี[ต้องการอ้างอิง] ชื่อหนังในฉบับร่างใช้ชื่อว่า Last Train To Bangrak เนื่องจากขณะนั้นช่วงบางรักเป็นสถานีสุดท้าย อันหมายถึงหากไม่มีความรัก ถ้าเจอคนที่ใช่ ก็ต้องขึ้นขบวนรถไฟไปได้แล้ว[5] ลักษณะการทำงานถึงแม้บทภาพยนตร์เรื่องนี้จะเริ่มเขียนจากนวพล แต่ผู้เขียนบทภาพยนตร์ทั้ง 3 คน แบ่งปันแนวคิดร่วมกัน ด้วยจากพล็อตเรื่องเดิมที่เริ่มจากภาพยนตร์สั้น จึงไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของแนวคิดในส่วนไหน ๆ ของเรื่อง[6] การคัดเลือกนักแสดงหลังจากผู้กำกับเขียนบทอยู่ปีกว่า จึงเริ่มคิดกับโปรดิวเซอร์เรื่องตัวนักแสดงหญิง โดยได้ทำการทดสอบการแสดงนักแสดงหญิงกว่า 600 คน ทั้งดารา โมเดลลิง และหน้าใหม่ ใช้เวลาคัดเลือกสำหรับบทนี้กว่า 6-7 เดือน[7] โดยในตอนทดสอบบทก็ให้แนวทางผู้ทดสอบบท คือลูกคนจีน และมีความตลก ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุด ซึ่งคริส หอวังมีคุณลักษณะตรงนี้ ทั้งนี้ตัวละครตัวนี้ แสดงถึงความพยายามของผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากมีความรักและมีความขี้แพ้อยู่ในตัวด้วย[4] ตอนแรกทางทีมงานไม่ได้นึกถึงคริส เพราะจากบทเป็นผู้หญิงที่ครอบครัวหัวโบราณ แต่คริสที่รู้จักจะเป็นคนทันสมัยมาก นำแฟชั่น จนเมื่อเข้าช่วงท้ายของการทดสอบการแสดง ทีมงานส่งรูปถ่ายคริสมาให้ผู้กำกับดู ซึ่งผู้กำกับรู้สึกว่า "คงไม่มีใครเหมาะกับบทนี้มากกว่าคริส" และเมื่อคริสเรียนการแสดงเพิ่มเติมกับอรชุมา ยุทธวงศ์ (ครูแอ๋ว) ถึงกับบอกว่า "บทนี้เขียนมาสำหรับเพื่อคริสเลย"[4] จากบทบาทนี้คริสเปิดเผยว่า "ทั้งเรื่องไม่มีแต่งหน้า คือแต่งน้อยมาก" ส่วนบทแพทตามบทจะเป็นเด็กแสบ ๆ เปรี้ยว ๆ กิ๊กเยอะ ตอนเขียนบท ผู้กำกับกล่าวว่า "อยากได้เด็กแสบ ๆ เด็กสก๊อย แต่ก็รู้สึกธรรมดา" แต่อาจจะดูไม่ดีนักในหนัง แต่เมื่อผู้กำกับนึกถึงภาพแพทแล้ว ความร้ายก็ยังคงดูน่ารักอยู่[8] อังศุมาลินเรียนการแสดงกับอรชุมา ในเรื่องการตีความ การสวมวิญญาณเข้าไปถึงตัวละคร อังศุมาลินให้สัมภาษณ์ถึงการเรียนนี้ว่า "ต้องรู้ว่า 'เพลิน' อยู่ที่ไหน ชอบกินอะไร ชอบไปเที่ยวไหน แฟนคนแรกเป็นใคร เพื่อที่แสดงจริงจะได้นึกได้" รวมถึงเรียนคือเรื่องสมาธิ[4] ส่วนบทผู้ชาย ไม่ได้ตั้งไว้ว่าเป็นเคน ผู้กำกับกล่าวว่า "ต้องรู้สึกว่า คนที่คนเห็นแล้วก็รู้สึกว่าไอ้เนี่ยหล่อ" ทางด้านธีรเดชได้รับการติดต่อจากทางจิระ มะลิกุลในเรื่องบท ซึ่งธีรเดชชื่นชอบในตัวจิระ มะลิกุล เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตั้งแต่ทำภาพยนตร์สั้นด้วยกันและเห็นว่าเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้า ยังไม่เคยมีหนังเรื่องไหนเข้าไปถ่ายทำ มีความน่าสนใจ[9] การเตรียมรับบทหลังจากคุยกับผู้กำกับ ธีรเดชร่วมวิเคราะห์ตัวละครกับอรชุมา ครูสอนการแสดง จากนั้นไปเข้าฉากกับ คริส หอวัง และ อังศุมาลิน ส่วนในฉากที่ขึ้นรถไฟฟ้าในช่วงกลางคืน ไปดูการเจียราง ซ่อมรางรถไฟฟ้า ถ่ายทำตั้งแต่ 6 โมงเย็น จนถึง 6 โมงเช้า[10] การถ่ายทำและสถานที่ถ่ายทำสถานที่ถ่ายทำนอกจากการถ่ายทำในรถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้า บริษัทรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้ว สำหรับการวางแผนถ่ายทำบนรถไฟฟ้า ผู้กำกับบอกว่า "ผมไม่เรียกว่าเป็นอุปสรรค ผมเรียกว่าเป็นโจทย์ เป็นเงื่อนไขที่เราประชุมกับรถไฟฟ้าทุกขั้นตอนในการถ่ายทำ เราต้องมีการรายงานมีการส่งแผนการถ่ายทำทุกอย่างเพื่อคุยกับรถไฟฟ้า เพราะว่าระบบซีคิวริตีเขาสูงมาก เป็นเงื่อนไขที่เรารับรู้อยู่แล้ว ...เราจะต้องไม่รบกวนการให้บริการตามปกติ"[8] ในฉากวันสงกรานต์นั้นได้ใช้ถนนจันทน์เป็นสถานที่ถ่ายทำ ซึ่งตรงกับตรุษจีนพอดี เป็นช่วงที่อากาศหนาวมาก และยังเกิดปัญหาจากความโด่งดังของพระเอก เคน ธีรเดช ที่ทำให้มีคนกรี๊ดตลอด 2 ฝั่งถนน ส่วนในฉากเที่ยวกรุงเทพฯ ของทั้ง 2 คน มีฉากชมทิวทัศน์สองฝั่งคลอง ชมพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ยามค่ำ แวะเที่ยวพระที่นั่งอนันตสมาคม เที่ยวเยาวราช ฉากที่ท้องฟ้าจำลอง[11] ฉากบ้านของลี่อยู่ปากซอยเจริญกรุง 35/1 แต่ถ่ายทำจริงที่ซอยอิสรภาพ 42/1 ฉากร้านเช่าวิดีโอถ่ายทำที่ร้านเช่าวิดีโอย่านถนนบรรทัดทอง ฉากเกสต์เฮาส์ที่ลุงอาศัยอยู่ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เห็นทัศนียภาพของวัดจีจินเกาะในฝั่งตรงข้าม เกสต์เฮาส์อยู่ในวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร[12] เครื่องแต่งกายผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย คือ สุธี เหมือนวาจา เขาแบ่งสีให้กับเครื่องแต่งกายของนักแสดงไว้ คือ เหม่ยลี่ สีม่วง, ลุง สีฟ้า, เพลิน สีเขียว และเป็ด เป็นสีเทา-ดำ ผู้กำกับกล่าวไว้ใช้เทคนิคดังกล่าวมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น เป็นการทำให้สามารถจดจำตัวละครได้ สำหรับเหม่ยลี่ สีม่วงนั้นสะท้อนให้เห็นลักษณะตัวละครที่เป็นสาวโสด เข้ากับตัวละครที่ดูมีอายุ และดูสวยทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนลุงที่เป็นวิศวกร มาจากเครื่องแบบของบีทีเอส ส่วนชุดไปรเวตจะเป็นชุดลายสก็อต ซึ่งอยู่ในโทนสีฟ้า กรมท่า ส่วนในฉากที่ลุงใส่เสื้อ ร.ด. ผู้กำกับเล่าว่าเพื่อให้แสดงภาพลักษณ์ผู้ชายธรรมดา สามารถบอกเล่าเบื้องหลังบางอย่างได้ ส่วนเพลิน เลือกสีเขียว เพื่อแสดงให้แก่แดด และอายุน้อยที่สุดในเรื่อง ดูสดใสและลึกลับ น่ากลัว[13] ชุดแต่งกายของเหม่ยลี่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะสาวออฟฟิศทั่วไป จึงเลือกซื้อเสื้อผ้าทั่วไปเช่น แพลตตินัม สยามสแควร์ ส่วนกระเป๋าเลือกมีราคา ซึ่งแม้ในกระทู้ในพันทิปจะมีตั้งประเด็นว่า ทำไมเหม่ยลี่ซึ่งเป็นสาวออฟฟิศทั่วไปจึงใช้กระเป๋าราคาแพง แต่ก็มีบางความคิดเห็นซึ่งเป็นสาวออฟฟิศทั่วไป บอกว่า ผู้หญิงก็แต่งตัว เก็บเงินซื้อกระเป๋า ซึ่งคริส หอวังก็เสริมว่า เหม่ยลี่ทำงานมาร่วม 10 ปี น่าจะเก็บเงินซื้อกระเป๋าได้[13] เทคนิคพิเศษสำหรับเทคนิคพิเศษด้านภาพในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำโดยโอเรียนทอลโพสต์ มีใช้อยู่หลายจุด แต่เมื่อดูผิวเผินแล้วอาจจะไม่รู้ว่าใช้เทคนิคพิเศษ แต่นำมาใช้เพื่อให้ดูสมจริง เพราะในบางครั้งไม่สามารถถ่ายทำจริงได้อย่างเช่น บ้านของเหม่ยลี่ ในฉากที่เหม่ยลี่ขึ้นไปบนดาดฟ้า เห็นฉากหลังเป็นสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสินอยู่ไกล ๆ จึงต้องถ่ายบนกรีนสกรีนแล้ว ใส่ภาพพิเศษเข้าไป และในอีกฉากที่สถานีสยาม จะเห็นขบวนรถไฟฟ้า ขบวนล่างและขบวนบน วิ่งออกไปคนละทาง แต่ในความเป็นจริง รถไฟฟ้าไม่ได้ออกมาในลักษณะที่ผู้กำกับต้องการ โดยผู้กำกับถ่ายรถขบวนทุกครั้งไว้เพื่อดูว่าคันไหนสวยที่สุดและจังหวะออกรถดูดีที่สุด จากนั้นจึงใช้เทคนิคพิเศษใส่ไป และลบโฆษณาบนตัวรถไฟฟ้าออกด้วย ส่วนอีกฉาก คือฉากหล่อทะลุแป้ง ที่ผู้กำกับได้แนวคิดจากที่เห็นจากฉากหิมะเลยผ่านกล้องไป ทำมาในลักษณะลอยผ่านกล้องไป[14] ส่วนงานแก้ปัญหา ในบางฉากที่เห็นข้อผิดพลาดในการตัดต่อ อาทิ ในฉากที่เหม่ยลี่คุยโทรศัพท์อยู่ในขบวนรถไฟฟ้า แต่ในฉากนั้นมีชายคนหนึ่งยืนโบกมืออยู่ข้างหลัง จึงได้ใช้เทคนิคพิเศษโดยเปลี่ยนให้เขามองออกไปข้างนอกรถไฟฟ้าแทน[14] เพลงประกอบเพลงในภาพยนตร์ มีเพลงที่ประกอบในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ:
หลังจากนั้นทางจีทีเอชได้ออกอัลบั้มเพลง รถไฟฟ้า มาคนละเพลง ที่รวบรวม 14 เพลงรักคัดเลือกโดยผู้กำกับภาพยนตร์ของค่ายจีทีเอชที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ ออกขายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งยังมีเพลงพิเศษที่ชื่อ “คือคำว่ารัก” แต่งโดยพิยะดา หาชัยภูมิ ขับร้องโดยคริส หอวัง[15] เทคนิค
การตอบรับการออกฉายและรายได้รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ออกฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552 โดยทีมงาน นักแสดง ผู้บริหารเปิดตัวจากบนรถไฟฟ้าเดินลงมาพรมแดงลานดิสคัพเวอรี่ สยามดิสคัพเวอรี่[16] ภาพยนตร์ออกฉายรอบปกติในโรงภาพยนตร์วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ได้รับเรตติ้ง "ท" (ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป) เปิดตัวรายได้ในวันแรกที่ 15.1 ล้านบาท ทำลายสถิติรายได้วันเปิดตัวในปีนี้ของภาพยนตร์ ห้าแพร่ง ที่ 14.9 ล้านบาท[17] ทำรายได้ 4 วันที่ 57 ล้านบาทและมีรายได้เป็นอันดับ 1 ของสัปดาห์นั้น[18] ในสัปดาห์ที่ 2 ยังคงที่ในอันดับที่ 1 รวมรายรับอีก 4 วันที่ 30.3 ล้านบาท[19] ในสัปดาห์ที่ 3 ทำรายได้อีก 14.3 ล้านบาท รายได้จากการเข้าฉายในประเทศไทย (เฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล) รวมสัปดาห์ที่ 3 ภาพยนตร์ รถไฟฟ้า มาหานะเธอ ทำรายได้ที่ 131 ล้านบาท[20] ในสัปดาห์ที่ 4 ยังคงสามารถทำรายได้เป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ โดยรายได้รวมอยู่ที่ 141.1 ล้านบาท[21] รายได้รวมทำลายสถิติภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน ที่เป็นภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดของค่ายจีทีเอชไปได้[22] ในสัปดาห์ที่ 5 ตกจากอันดับ 1 ทำรายได้เพิ่มอีก 1.1 ล้านบาท[23] ทำรายได้รวม 145.82 ล้านบาท ถือเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดของปี พ.ศ. 2552 และเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดของค่ายจีทีเอช ในขณะนั้น[24] ด้านการออกฉายในต่างประเทศ ภาพยนตร์ รถไฟฟ้า มาหานะเธอ ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์โอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553 โดยเข้าประกวดในหนังสายสันติภาพแต่ไม่ได้รับรางวัล[25] ภาพยนตร์ออกฉายอย่างเป็นทางการในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ได้รับเรตติ้ง "G" จัดจำหน่ายโดยโกลเดนวิลเลจพิกเจอร์ส คำวิจารณ์ในด้านเสียงวิจารณ์ สรดิเทพ ศุภจรรยา จากเว็บไซต์ thaicinema.org เปรียบเทียบเรื่องนี้ว่าเป็น "เทพนิยายสำหรับคนโสดยุคปัจจุบัน หรือ “พริ้ตตี้ วูเมน” ฉบับเมืองไทย เป็นหนังรักโรแมนติกคอเมดี้ที่ "ปลอดภัย น่ารัก สดใส ฟีลกู๊ด ดำเนินเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีกระตุก ไม่มีติดขัด ไม่มีหักมุม ไม่มีอุปสรรคเกินจริง ดูแล้วอมยิ้มได้ตลอดเรื่อง"[26] อภินันท์ บุญเรืองพะเนา จาก ผู้จัดการออนไลน์ สรุปโดยรวมว่า "บรรยากาศอารมณ์ของหนังนั้นไม่ได้ “หวือหวา” อะไรมากมายนัก เส้นกราฟอารมณ์ของหนังดูค่อนข้างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีจุดที่ “พีคสุดๆ” แต่ก็ไม่ถึงขั้น “ลงต่ำ” จนน่าเบื่อ" ส่วนเนื้อเรื่องของหนัง "ไม่ได้เน้นความ “เนี้ยบ เฉียบ ลึก” อะไรมาก พล็อตเรื่องหลักก็เป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของหญิงสาว ความเหงา และคนรัก ที่แพ็คมากับอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ให้ฝ่าฟันและผ่านพ้น"[27] นันทขว้าง สิรสุนทรพูดถึงแก่นเรื่องใน คมชัดลึก ว่า "ถึงจะอยู่ร่วมไปกับเมือง แต่สารและ message ที่ถูกเล่าผ่านๆ และปรากฏในบางช่วงบางตอน กลับสะท้อนถึงมายาคติหรือ myth ที่ผู้หญิงใฝ่ฝันอย่างชอบธรรม"[28] ในขณะที่สรดิเทพกล่าวถึงเรื่องมุกตลกและพล็อตที่ไม่ได้ต่อยอด เช่น "ตอนห้องน้ำในบ้าน หรืออาม่าติดละครน้ำเน่างอมแงม หรือแม้เรื่องรูปลับพระเอกที่เหมือนจะเพิ่มปมเรื่องถ่านไฟเก่าแต่สุดท้ายก็ ไม่มีอะไร ฉากในร้านเช่าหนังกลับเน้นหนักไปที่มุกตลกของ เพลิน (แพท-อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา) สาวคาสโนวี่ กับกิ๊กเธออีกสามคน"[26] ส่วนเรื่องตัวนักแสดง อภินันท์ พูดถึงเคน ธีรเดชว่า "ภาพลักษณ์ของเคนในโลกความเป็นจริง ถูกหยิบมาใช้สอยในโลกของหนังได้อย่างเหมาะเจาะถูกที่ถูกเวลา กับบทบาทนี้" แต่ชญานิน เตียงพิทยากรจาก นิตยสารสตาร์พิกส์ วิจารณ์การแสดงของเคนว่า "ดูเหมือนการแสดงของเคนจะยังไม่รับกับรูปแบบของภาพยนตร์นัก... ออร่าของความเหนือมนุษย์ที่ยังคงแผ่รังสีออกมาจากตัวเขาตลอดเวลา จึงกีดกันให้ตัวละครนี้ดูหลุดลอยจากโลกแห่งความจริง"[29] ขณะที่คริส หอวัง ทางอภินันท์จำกัดความว่า “เต็มที่” กับบทบาทของตัวเองในแบบที่สามารถส่งเข้าชิงนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมได้สบาย ๆ ส่วนณัฐพงษ์ โอฆะพนม จาก คมชัดลึก กล่าวว่า "หนังรู้จักจุดแข็งและข้อได้เปรียบของการมีดาราขวัญใจคนทั้งบ้านทั้ง เมืองอย่าง ‘เคน’ ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ อยู่ในจอ และจัดการให้เขาบริหารเสน่ห์ได้อย่างที่ตั้งใจ... ทั้งนี้ ยังเป็นหนังเรื่องแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับความรักแบบพาฝันอย่างจริงจัง รู้จักแบบผ่อนหนักผ่อนเบา ยั่วเย้าในแบบทีเล่นทีจริง สร้างคาแรกเตอร์ให้เป็นมนุษย์ปุถุชนที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันและ จัดวางสถานการณ์ ‘ความบังเอิญ’ ของการพบกันให้สอดคล้องกลมกลืน"[30] การตอบรับของผู้ชมหลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉาย ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก เพลงประกอบภาพยนตร์ "โปรดส่งใครมารักฉันที" ติดอันดับ 1 ของการดาวน์โหลด ต่างมีคู่คนหนุ่มสาวพากันไปเที่ยวท้องฟ้าจำลองมากขึ้น อีกทั้งแว่นตาที่ธีรเดชใส่ในเรื่อง มียอดขายเพิ่มขึ้นด้วย[31] เช่นเดียวกับกระเป๋ากุชชีที่ใช้ในเรื่อง คริสเล่าว่า มีพนักงานที่รู้จักกันบอกว่า ต้องสั่งกระเป๋ารุ่นดังกล่าวถึง 2 ครั้ง ส่วนแว่นตาเรย์แบน ผู้กำกับเล่าว่า ไปถามพนักงานของแว่นตาเรย์แบนตรงบูธที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ กล่าวว่า "มีคนดูภาพยนตร์เสร็จ มีคนถือตั๋วหนังเดินลงมาซื้อเลย"[13] ส่วนกระแสตอบรับในเว็บไซต์ จากกระทู้แนะนำในพันทิป "ตามรอยสถานที่ในหนัง รถไฟฟ้า..มาหานะเธอ"[32] ทางจีทีเอชจึงจัดรายการทัวร์ “ตามรอยโรงจอดรถไฟฟ้า...มาหานะเธอ” เพื่อตอบรับกระแสนิยมของแฟนคลับ โดยให้เข้าเยี่ยมชมบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ถึงโรงจอดรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำ มีคริส หอวัง และอดิสรณ์ ตรีสิริเกษม นำชม[33] จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552[34] จากการสำรวจของเอแบคโพล ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 จากการสำรวจประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2552 ในหัวข้อภาพยนตร์ไทยที่เป็นที่ชื่นชอบที่สุด รถไฟฟ้า มาหานะเธอ ติดอยู่อันดับ 2 รองจาก แหยมยโสธร 2 (ร้อยละ 36.7) ด้วยคะแนนร้อยละ 27.7[35] นอกจากนั้นยังได้รับเลือกว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ชื่นชอบที่สุดโดยผู้อ่านในการจัดของนิตยสารบีเค[36] งานมอบรางวัลอินยังเจเนอเรชันชอยซ์ 2009 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของสาววัย 18-29 ปี ทั่วประเทศ โดยผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจาก 7 จังหวัด ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลหนังรักแห่งปี[37] การต่อยอดการต่อยอดของภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังมีการ์ตูน “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” ฉบับการ์ตูนโดยทีมงานการ์ตูนไทยสตูดิโอ วาดโดยเอนก ร้อยแก้ว[38] มีเนื้อหาเล่าเรื่องเบื้องหลังของ “เหมยลี่” เล่าเรื่องสาเหตุถึงการเป็นโสดและ “ลุง” นักศึกษาวิศวกรที่ได้ทุนเรียนต่างประเทศจนได้เข้าทำงานเป็นวิศวกรของบีทีเอส การ์ตูนมีจำนวนหน้า 140 หน้า[39] นอกจากนี้ จีทีเอช และ หับโห้หิน บางกอก ยังได้นำ น้ำตากามเทพ ละครสั้นที่ซ้อนอยู่ในภาพยนตร์ไปต่อยอดเป็นละครชุดเพื่อออกฉายทางช่องโทรทัศน์ดาวเทียม จีทีเอชออนแอร์ และสถานีโทรทัศน์จีเอ็มเอ็มแชนแนลใน พ.ศ. 2558 โดยมีการต่อเรื่องให้เห็นถึงภูมิหลังของตัวละครชาวี รวมถึงเพิ่มเนื้อเรื่องให้เข้มข้นจนกลายเป็นละครเสียดสีละครไทยเต็มรูปแบบในที่สุด ผู้สนับสนุนภาพยนตร์เรื่องนี้มีผู้สนับสนุนการสร้างคือ บริษัท เอพีฮอนด้า เจ้าของผลิตภัณฑ์รถจักรยานยนต์ฮอนด้า โดยได้นำสินค้าเข้าไปโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ ให้เหมยลี่มีกิจการที่บ้านเป็นผู้แทนจำหน่ายฮอนด้า [40] นอกจากนี้บริษัทยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายควบคู่กับการฉายภาพยนตร์[41] ก่อนหน้าภาพยนตร์จะเข้าฉายในวงกว้าง ได้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น โดยฝ่ายการตลาดของสินค้าคู่แข่งของฮอนด้า คือยามาฮ่า ได้เตรียมจัดกิจกรรมการตลาดจัดฉายภาพยนตร์รอบพิเศษเรื่องนี้สำหรับลูกค้า โดยไม่ทราบเนื้อเรื่องมาก่อนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากสินค้าคู่แข่ง แต่ก็ได้ยกเลิกการจัดอย่างกะทันหันก่อนการจัดงานจริง[42] รางวัลรางวัลที่ภาพยนตร์เรื่อง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ ได้รับ คือสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จาก 2 สถาบันคือรางวัลขวัญใจสื่อมวลชนและท็อปอวอร์ด 2009 รวมถึงยังได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดนิยมจากสตาร์พิกส์อวอร์ด ส่วนในด้านรางวัลการแสดง คริส หอวัง ได้รับรางวัลประเภทนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากหลายสถาบัน และรางวัลพิเศษภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดแห่งปี จากรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ส่วนรายละเอียดรางวัลอื่นที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงและที่ได้รับรางวัล ตามตารางด้านล่าง
ดีวีดีดีวีดี รถไฟฟ้า มาหานะเธอ วางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553 ในสองรูปแบบคือ รูปแบบดีวีดีแผ่นเดียว จัดจำหน่ายโดยพีระมิด ดิจิตอล ระบบภาพไวด์สกรีน 16:9 ระบบเสียงภาษาไทย 2 ระบบคือ ดอลบีดิจิตอล5.1 และ ดอลบี 2.0 มีให้เลือกซับไตเติลภาษาไทย นอกจากนั้นยังมีส่วนพิเศษคือรูปภาพจากภาพยนตร์ ส่วนวิดีโอประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์และตัวอย่างภาพยนตร์[56] ส่วนในรูปแบบดีวีดีสองแผ่น แผ่นแรกเหมือนในดีวีดีแผ่นเดียว ส่วนในแผ่นที่ 2 มีภาพจากภาพยนตร์ที่ถูกตัดออก เบื้องหลังภาพยนตร์ การทดสอบการแสดงของนักแสดง ภาพจากงานแถลงข่าว ภาพละคร น้ำตากามเทพ จากในภาพยนตร์ ฉากเต้นรำสาวออฟฟิส วิดีโอเกี่ยวกับเสื้อผ้าและผม วิดีโอที่พูดถึงดาวหาง "แม็คไบรท์" วิดีโอรถไฟฟ้า มหานิยม และการบรรยายของผู้กำกับและนักแสดงในภาพยนตร์[57] นอกจากนั้นยังมีบัตรบีทีเอสแบบเติมเงินรุ่นรถไฟฟ้ามาหานะเธอและภาพถ่าย อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |