Share to:

 

ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก

西汉全盛疆域

เมืองหลวง ฉางอัน
จักรพรรดิ
 -จักรพรรดิองค์แรก
 -จักรพรรดิองค์สุดท้าย
12พระองค์
ฮั่นไท่จู่
หยูจื่ออิง
ปีที่สถาปนาราชวงศ์ฮั่นตะวันตก
(202 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ปีที่ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกล่มสลาย
(คริสต์ศักราชที่ 8)

ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (จีน: 西汉, 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 8) เป็นยุคสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนโบราณ เป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ฮั่น ร่วมกับราชวงศ์ฮั่นตะวันออก 206 ปีก่อนคริสตกาล หลิวปัง ได้รับตำแหน่งฮั่นหวางจากเซี่ยงอวี่

หลิวปังรบชนะฌ้อป๋าอ๋องเซี่ยงหวี่ และตั้งราชวงศ์ฮั่นขึ้น ราชวงศ์ฮั่นเป็นยุคทองของจีน คนจีนในยุคหลังจะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวฮั่น ราชวงศ์ฮั่นอยู่ได้เป็นเวลานาน กว่า 400 ปี (ราว ๆ ช่วง พ.ศ. 335 - 763) (หรือราว ๆ ช่วง ก่อนคริสต์ศักราช 206 ปี - ค.ศ. 220) และล่มสลายมาเป็นยุคสามก๊ก (ราว ๆ พ.ศ. 763 - 823)(หรือ ๆ ค.ศ. 220 - 280)มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เมื่อกองทัพหลิวปังเอาชนะกองทหารของเซี่ยงอี่สำเร็จ จึงสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฮั่นอันยิ่งใหญ่และยาวนาน มีพระนามว่า จักรพรรดิฮั่นไท่จู่ โดยตั้งเมืองหลวงที่ ฉางอาน (ใกล้บริเวณเมืองซีอาน มณฑลส่านซีปัจจุบัน) แล้วเรียกชื่อประเทศว่า อาณาจักรฮั่น นักประวัติศาสตร์จีนแบ่งยุคสมัยของราชวงศ์ฮั่นเป็นสองยุคตามที่ตั้งของเมืองหลวง คือ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (เริ่มต้นโดยจักรพรรดิฮั่นไท่จู่) และราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (เริ่มต้นที่พระเจ้าฮั่นกวงอู่) เนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองอันมากด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนาน จึงถือเป็นยุคทองของจีน จึงมีศัพท์จีนคำหนึ่งซึ่งได้ยินติดหูและใช้เรียกในชีวิตประจำวัน คือ ชาวฮั่น ภาษาฮั่น ซึ่งหมายถึง ชาวจีน ภาษาจีน นั่นเอง มันแสดงถึงความภาคภูมิใจของคนจีนที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรฮั่นโบราณ

ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก

หลังจากปราบปรามกองทหารของเซี่ยงอี่และกลุ่มต่อต้านอื่นสำเร็จแล้ว หลิวปังหรือจักรพรรดิฮั่นไท่จู่ รวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวกัน สังคมสงบอีกครั้ง แต่อยู่ในภาวะอ่อนล้าจากสงครามนับสิบปี บ้านเมืองเสียหายหนัก ประชาชนอดอยากเพราะผลิตพืชผลได้ไม่เต็มที่ จักรพรรดิฮั่นไท่จู่และเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนมาจากสามัญชน จึงเข้าใจความทุกข์ยากของชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง พระองค์ดำเนินนโยบายการปกครองแบบไม่ปกครองเพื่อช่วยฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรและบ้านเมือง

การปกครองแบบไม่ปกครอง

นโยบายปกครองของหลิวปังซึ่งใช้กับราษฎรหลังสงครามยาวนาน เรียกว่า การปกครองแบบไม่ปกครอง มันเป็นการปกครองตามการผันแปรของธรรมชาติ อันทำให้สังคมมีเสถียรภาพ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น ส่วนนโยบายลดภาระของราษฎรซึ่งมีต่อรัฐ เช่น ลดอัตราภาษีส่งรัฐ งดและลดการเกณฑ์แรงงาน และอื่นๆ อันส่งผลให้ชีวิตราษฎรมีอิสระเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาผลผลิตของตน บ้านเมืองจึงฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

นโยบายการปกครอง

ช่วงแรกของการครองราชย์นั้นหลิวปังแต่งตั้งเจ้านครรัฐซึ่งร่วมทำสงครามชิงอำนาจกับเซี่ยงอี่ไปปกครองนครรัฐทั้งเจ็ดเพื่อตอบแทนน้ำใจ ต่อมาเมื่ออำนาจของพระองค์มั่นคงขึ้นจึงวางแผนใส่ร้ายพวกเขาว่าเป็นกบฏแล้วกำจัดทั้งหมด จากนั้นแต่งตั้งให้ราชนิกุลดำรงตำแหน่งแทนเจ้านครรัฐเหล่านั้น

ปราบกบฏเจ้านครรัฐทั้งเจ็ด

ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากหลิวปังต่างช่วยกันพัฒนาและฟื้นฟูบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราษฎรมีความสุข อาณาจักรเจริญรุ่งเรืองจนกระทั่งนักประวัติศาสตร์เรียกช่วงการครองราชย์ของพระเจ้าฮั่นเหวินตี้และพระเจ้าฮั่นจิ่งตี้ ว่า การปกครองสมัยเหวิน- จิ่ง เมื่อบ้านเมืองมีความสงบสุขและมั่นคง พระเจ้าฮั่นจิ่งตี้มีการปรับนโยบายปกครองประเทศด้วยการลดทอนดินแดนในครอบครองของเจ้านครรัฐ อันเป็นเหตุให้เกิดจลาจลเจ็ดเจ้านครรัฐ พระองค์มีคำสั่งให้แม่ทัพโจวย่าฟูไปปราบจลาจล เพียงสามเดือนรัฐอู๋และรัฐฉู่ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ถูกปราบราบคาบ อีกห้ารัฐถูกสยบด้วยเวลาไม่นานนัก ชัยชนะครั้งนี้ส่งผลให้เจ้านครรัฐกลายสภาพเป็นผู้ครอบครองดินแดนในนามเท่านั้น ไม่มีอำนาจปกครองประชาชนอีกต่อไป เมื่ออำนาจของส่วนกลางมั่นคง การปกครองแผ่นดินจึงเป็นไปอย่างราบรื่น ต่อมาสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้เห็นว่าอาณาเขตของเจ้านครรัฐยังกว้างใหญ่และมีเศรษฐกิจดี ซึ่งอาจก่อปัญหาต่อราชสำนักภายหน้า จึงประกาศนโยบายมรดกศักดินาโดยยอมให้เจ้านครรัฐนำที่ดินในครอบครองแบ่งแก่ทายาทของตนได้ มันเป็นแผนแยบยลเพื่อลดขนาดดินแดนของเจ้านครรัฐอันส่งผลมิให้เจ้านครรัฐมีอำนาจต่อรองหรือกดดันราชสำนักได้อีก

จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ มหาราชลือนามในแผ่นดิน

หลิวเช่อ เป็นพระนามเดิมของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ทรงขึ้นครองราชย์เมื่ออายุ 16 พรรษา ปกครองอาณาจักรฮั่นนานถึง 54 ปี (ปี 140 – 87 ก่อน ค.ศ.) ผลงานปรับปรุงประเทศและแผ่ขยายอิทธิพลของพระองค์ทำให้นักประวัติศาสตร์ถือเป็นมหาราชซึ่งมีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ของจีน พระองค์กำหนดปีรัชสมัยของตนขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อว่า “เจี้ยนหยวน” นับจากนี้ไปกษัตริย์จีนองค์ต่อมาต่างถือเป็นประเพณีตั้งชื่อรัชศกของตนมาจนกระทั่งสิ้นสุดยุคจักรพรรดิ

นโยบายการปกครอง

พระองค์ปรับระบบการเข้ารับราชการใหม่ โดยกำหนดให้ทุกท้องที่เลือกผู้มีจิตกตัญญูหรือขุนนางซื่อสัตย์ไปที่เมืองหลวงเพื่อเป็นข้าราชการ ทำให้ระบบคัดเลือกขุนนางแบบเดิมซึ่งสืบทอดตำแหน่งโดยทายาทลดความสำคัญลงไปอย่างมาก คุณภาพของขุนนางดีขึ้นอันส่งผลดีต่อการทำงานเพื่อบ้านเมืองและความสุขของราษฎรมาก

นโยบายด้านเศรษฐกิจ

พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ก่อสร้างพระราชวังและมีการทำสงครามแผ่ขยายอำนาจบ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินมาก พระองค์ออกข้อกำหนดเข้มงวดในทางเศรษฐกิจแตกต่างจากอดีตเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในภารกิจดังกล่าว ตัวอย่างเช่น

  1. สร้างกิจการผูกขาดโดยรัฐ และห้ามบุคคลทั่วไปทำกิจการนี้ อันได้แก่ การค้าเกลือ โลหะและเหล้า
  2. กำหนดใช้เงินตราสกุลเดียวกัน โดยสร้างเงินเหรียญ 5 จู ซึ่งมีน้ำหนักเท่ากับน้ำหนักของเมล็ดข้าวโพด 500 เมล็ด มีอักษรจีนคำว่า 5 จู กำกับไว้
  3. รัฐทำการค้าขายเอง โดยกระจายสินค้าเครื่องบรรณาการจากรัฐต่างๆหรือประเทศข้างเคียงส่งไปขายที่เมืองอื่นเพื่อเพิ่มพูนรายได้ของรัฐ และตั้งหน่วยงานในเมืองหลวงรับซื้อสินค้าต่างๆอันเป็นการปรับกลไกของตลาดและควบคุมราคาสินค้าได้ด้วย

นโยบายด้านการทหาร

  1. พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ส่งขุนพลเว่ยชิงและขุนพลฮั่วชี่ปิ้งนำกองทัพนับแสนคนบุกโจมตีถึงกลางดินแดนที่ตั้งของชนเผ่าซยงหนู ซึ่งอาศัยทางเหนือของจีนและเข้าปล้นชิงทรัพย์สินของชาวฮั่นบ่อยครั้ง ในที่สุดชนเผ่านี้ต้องถอยขึ้นไปทางเหนือของทะเลทรายมองโกเลีย ชายแดนทางเหนือของแผ่นดินฮั่นตะวันตกจึงสงบสุขได้ยาวนาน
  2. การขยายดินแดนและอำนาจ พระองค์ยกทัพไปตีเกาหลีและดินแดนของชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยจัดตั้งเป็นเขตปกครองและดูแลเข้มงวด อาณาจักรแผ่ขยายใหญ่กว่าอาณาจักรฉินมาก นอกจากนั้นยังส่งทูตไปเจริญไมตรียังดินแดนตะวันตก อันได้แก่ ที่ราบสูงทาร์มทางตะวันออกของชงหลิงถึงทางตะวันตกของด่านอี้เหมินกวนและด่านหยังกวน แล้วยังจัดตั้งเขตปกครองพิเศษดินแดนส่วนนี้ นับเป็นการเริ่มต้นปกครองดินแดนตะวันตกอย่างเป็นทางการ

ความรุ่งเรืองสูงสุดของอาณาจักรฮั่น

แม้พระเจ้าฮั่นอู่ตี้จักสร้างความสำเร็จในการพัฒนาบ้านเมืองและประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างมาก แต่ทรงมีนิสัยชอบทำการใหญ่โต สุรุ่ยสุร่าย งมงาย และทำศึกสงครามตลอดรัชสมัย ทำให้เงินคงคลังร่อยหรอลง ฐานะความมั่นคงของประเทศเสื่อมโทรมลงในตอนปลายรัชสมัย ผู้สืบทอดบัลลังก์รุ่นต่อมา คือ พระเจ้าฮั่นเจาตี้ และ พระเจ้าฮั่นเซวียนตี้ พยายามแก้ไขปัญหาทับถมจากอดีตด้วยการระมัดระวังการแต่งตั้งขุนนาง ละเว้นภาษีค่าเช่าที่นาเพื่อลดความเดือดร้อนของราษฎร พัฒนาด้านเกษตรกรรมและหัตถกรรมอันส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตในชาติ จึงมีการยกย่องให้พระเจ้าฮั่นเซวียนตี้ เป็นเจ้าแห่งความเฟื่องฟู ด้วยการทำประโยชน์ของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์จึงประคองและรักษาความรุ่งเรืองของราชวงศ์ต่อไปอีกพักใหญ่ก่อนวาระแห่งการล่มสลายจักมาเยือนราชวงศ์อันยิ่งใหญ่นี้

วาระเสื่อมสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก

อำนาจปกครองของราชวงศ์นี้หลังจากพระเจ้าฮั่นอู่ตี้สิ้นพระชนม์ตกอยู่ในมือของพระญาติวงศ์และขันที กษัตริย์รุ่นต่อมาใช้ชีวิตสุขสำราญเป็นหลัก การบริหารบ้านเมืองจึงอยู่ในมือของญาติวงศ์ สมัยพระเจ้าฮั่นหยวนตี้นั้นครอบครัวตระกูลหวังของพระมเหสีได้รับการวางใจเป็นพิเศษ เมื่อถึงสมัยพระเจ้าฮั่นเฉิงตี้ พระญาติวงศ์สกุลหวังเข้ากุมอำนาจปกครองต่อเนื่องและมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ต่อมาไม่นาน หวังมั่ง ยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จจากรัชทายาทของพระเจ้าฮั่นผิงตี้แล้วสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ตั้งชื่อราชวงศ์ของตนว่า ราชวงศ์ซิน

Kembali kehalaman sebelumnya