Share to:

 

รำวงมาตรฐาน

นางรำไทย

รำวงมาตรฐาน เป็นการแสดงที่มีวิวัฒนาการมาจาก รำโทน เป็นการรำและร้องของชาวบ้าน ซึ่งจะมีผู้รำทั้งชายและหญิง รำกันเป็นคู่ ๆ รอบ ครกตำข้าวที่วางคว่ำไว้ หรือไม่ก็รำกันเป็นวงกลม โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ลักษณะการรำ และร้องเป็นไปตามความถนัด ไม่มีแบบแผนกำหนดไว้ คงเป็นการรำ และร้องง่าย ๆ มุ่งเน้นที่ความสนุกสนานรื่นเริงเป็นสำคัญ เช่น เพลงช่อมาลี เพลงยวนยาเหล เพลงหล่อจริงนะดารา เพลงตามองตา เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด ฯลฯ ด้วยเหตุที่การรำชนิดนี้มีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ จึงเรียกการแสดงชุดนี้ว่า รำโทน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2487 ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการละเล่นรื่นเริงประจำชาติ และเห็นว่าคนไทยนิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลาย ถ้าปรับปรุงการเล่นรำโทนให้เป็นระเบียบทั้งเพลงร้องลีลาท่ารำ และการแต่งกาย จะทำให้การเล่นรำโทนเป็นที่น่านิยมมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงรำโทนเสียใหม่ให้เป็นมาตรฐาน มีการแต่งเนื้อร้อง ทำนองเพลงและนำท่ารำจากแม่บทมากำหนดเป็นท่ารำเฉพาะแต่ละเพลงอย่างเป็นแบบแผน

เพลง

รำวงมาตรฐาน ประกอบด้วยเพลงทั้งหมด 10 เพลง กรมศิลปากรแต่งเนื้อร้องจำนวน 4 เพลง คือ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลงรำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม แต่งเนื้อร้องเพิ่มอีก 6 เพลง คือ เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงบูชานักรบ เพลงยอดชายใจหาญ ส่วนทำนองเพลงทั้ง 10 เพลง กรมศิลปากร และกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้แต่ง

จากการสัมภาษณ์นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ศิลปินแห่งชาติ สาชาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) ปีพุทธศักราช 2533 อธิบายว่า ท่ารำเพลงรำวงมาตรฐานประดิษฐ์ท่ารำโดย นางลมุล ยมะคุปต์ นางมัลลี คงประภัศร์ และนางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์ ส่วนผู้คิดประดิษฐ์จังหวะเท้าของเพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ คือ นางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสังคีตศิลป (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยนาฏศิลป) ปี พ.ศ. 2485-2486

เมื่อปรับปรุงแบบแผนการเล่นรำโทนให้มีมาตรฐาน และมีความเหมาะสม จึงมีการเปลี่ยนแปลงชื่อจากรำโทนเป็น “รำวงมาตรฐาน” อันมีลักษณะการแสดงที่เป็นการรำร่วมกันระหว่างหญิง-ชายเป็นคู่ ๆ เคลื่อนย้ายเวียนไปเป็นวงกลม มีเพลงร้องที่แต่งทำนองขึ้นใหม่ มีการใช้ทั้งวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงประกอบ และบางเพลงก็ใช้วงดนตรีสากลบรรเลงเพลงประกอบ ซึ่งเพลงร้องที่แต่งขึ้นใหม่ทั้ง 10 เพลง

รายชื่อเพลงและท่ารำ

ชื่อเพลง ท่ารำ หมายเหตุ
งามแสงเดือน สอดสร้อยมาลา
ชาวไทย ชักแป้งผัดหน้า
รำมาซิมารำ รำส่าย
คืนเดือนหงาย สอดสร้อยมาลาแปลง
ดวงจันทร์วันเพ็ญ แขกเต้าเข้ารัง, ผาลาเพียงไหล่
ดอกไม้ของชาติ รำยั่ว
หญิงไทยใจงาม พรหมสี่หน้า, ยูงฟ้อนหาง
ดวงจันทร์ขวัญฟ้า ช้างประสานงา, จันทร์ทรงกลดแปลง
ยอดชายใจหาญ หญิง - ชะนีร่ายไม้
ชาย - ท่าจ่อเพลิงกาฬ
บูชานักรบ หญิง - ท่าขัดจางนาง, ท่าล่อแก้ว
ชาย - ท่าจันทร์ทรงกลดต่ำ, ท่าขอแก้ว

การแต่งกาย

เครื่องแต่งกายของรำวงมาตรฐาน ประกอบด้วย 4 แบบ ดังนี้

  • แบบที่ 1 แบบชาวบ้าน
    • ชาย นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อคอพวงมาลัย เอวคาดผ้าห้อยชายด้านหน้า
    • หญิง นุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าสไบอัดจีบ ปล่อยผม ประดับดอกไม้ที่ผมด้านซ้าย คาดเข็มขัด ใส่เครื่องประดับ
  • แบบที่ 2 แบบไทยพระราชนิยม
    • ชาย นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน ใส่ถุงเท้า รองเท้า
    • หญิง นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อลูกไม้ สไบพาดบ่าผูกเป็นโบ ทิ้งชายไว้ข้างลำตัวด้านซ้าย ใส่เครื่องประดับมุก
  • แบบที่ 3 แบบสากลนิยม
    • ชาย นุ่งกางเกง สวมสูท ผูกเน็กไท
    • หญิง นุ่งกระโปรงป้ายข้าง ยาวกรอมเท้า ใส่เสื้อคอกลม แขนกระบอก
  • แบบที่ 4 แบบราตรีสโมสร
    • ชาย นุ่งกางเกง สวมเสื้อพระราชทาน ผ้าคาดเอวห้อยชายด้านหน้า
    • หญิง นุ่งกระโปรงยาวจีบหน้านาง ใส่เสื้อจับเดรป ชายผ้าห้อยจากบ่าลงไปทางด้านหลัง เปิดไหล่ขวา ศีรษะทำผมเกล้า

ดูเพิ่ม

Kembali kehalaman sebelumnya