Share to:

 

ลน นน

ลน นน
ผู้บัญชาการทหารในสมัยสาธารณรัฐเขมร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด18 เมษายน พ.ศ. 2473
จังหวัดไพรแวง
เสียชีวิต17 เมษายน พ.ศ. 2518 (44 ปี)
พนมเปญ
พรรคการเมืองพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยม
ญาติลน นล (พี่ชาย)
อาชีพทหารและนักการเมือง
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ กัมพูชา
สังกัดกองทัพแห่งชาติเขมร
ประจำการ2493-2518
ยศพลเอก
น้องชายของลน นล ถูกเขมรแดงสังหารเมื่อพนมเปญแตก พ.ศ. 2518

ลน นน (Lon Non; เอกสารภาษาไทยบางฉบับใช้ ลอน โนน[1]) เป็นทหารและนักการเมืองชาวกัมพูชาที่มีอำนาจในสมัยสาธารณรัฐเขมร เกิดเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2473 เป็นน้องชายของ ลอน นอล มีบทบาทมากในการสนับสนุนการปกครองของพี่ชาย เขาถูกเขมรแดงสังหารหลังจากพนมเปญแตกเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518

วัยเด็ก

นนเป็นบุตรชายของ ลน ฮิน ซึ่งเป็นกำนันในจังหวัดไพรแวง เข้าเรียนในวิทยาลัยนโรดม สีหนุ (Collège Norodom Sihanouk) ในกำปงชนัง เพื่อนสนิทในวัยเด็กของเขาคือลต ซอ (ต่อมาคือ พล พต)[2] ด้วยการสนับสนุนของพี่ชายเขาได้ไปศึกษาต่อทางด้านอาชญวิทยาที่ฝรั่งเศส[3]

อาชีพ

ในช่วงระบอบสังคมของพระนโรดม สีหนุ นนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีบทบาทสำคัญในรัฐประหาร พ.ศ. 2513 หลังจากนั้น นนก้าวหน้าในอาชีพการงานอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะขาดประสบการณ์ทางทหารแต่ก็ได้เลื่อนยศจนเป็นนายพล และเป็นผู้บัญชาการทหารเขมรเสรีและทหารจากขแมร์กรอมที่เข้ามาในประเทศหลังการรัฐประหาร การฆ่าชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาเชื่อว่าเป็นผลงานของลน นนเช่นกัน[4]

กิจกรรมทางการเมือง

บทบาททางการเมืองของนน เน้นที่ความจงรักภักดีต่อพี่ชาย แต่ความขัดแย้งของเขากับพระสีสุวัตถิ์ สิริมตะทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง เมื่อลน นลสุขภาพไม่ดีและไปรักษาตัวระหว่าง พ.ศ. 2513 – 2514 นนเกิดความขัดแย้งกับพระสิริมตะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2514 ภาพพจน์ของนนดีขึ้นเมื่อเขานำกองทัพรบชนะฝ่ายคอมมิวนิสต์ในปฏิบัติการอกิเนธ โมหะ ปาเดะวุธ

ต้นปี พ.ศ. 2515 ลน นนสามารถกำจัดพระสิริมตะออกจากรัฐบาลได้สำเร็จหลังจากจัดให้นักศึกษาออกมาประท้วงขับไล่[5] และมีส่วนผลักดันให้พี่ชายของเขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปลายปี พ.ศ. 2515 นน ที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในได้ก่อตั้งพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมเพื่อเข้าร่วมในการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปไตยของอิน ตัม กับพรรคสาธารณรัฐของพระสิริมาตะปฏิเสธเข้าร่วมการเลือกตั้ง ทำให้พรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด

ภายในพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมมีการแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มดงแร็กกับกลุ่มดังกอร์ นนอยู่ในกลุ่มดังกอร์ซึ่งเป็นคนละพวกกับเซิง งอกทัญและฮาง ทุน ฮัก ในระหว่างสงครามกลางเมืองกัมพูชา นนพยายามขอความช่วงเหลือจากฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียตเพื่อเจรจาสันติภาพ[6]

การฉ้อราษฎร์บังหลวง

มีหลักฐานที่เชื่อมโยงนนเข้ากับการค้าเฮโรอีน[7] และยังเกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธ และส่วนใหญ่จะตกไปถึงมือเขมรแดง สหรัฐอเมริกาได้กดดันลน นลให้ลดบทบาทของนนลง เนื่องจากปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขาดการควบคุมอารมณ์ ออสเตรเลียกล่าวว่านนได้จัดตั้งหน่วยลอบสังหารที่เรียกว่าหน่วยรักษาความปลอดภัยสาธารณรัฐ ใช้รถฮอนด้าสีเหลืองเป็นพาหนะ[8] เมื่อนนถูกกดดันให้ออกจากกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2516 ภรรยาของเขาได้นำเงินจำนวนมากออกนอกประเทศเพื่อไปใช้ชีวิตร่วมกับสามี[9]

เสียชีวิต

ลน นนกลับสู่กัมพูชาอีกครั้งใน พ.ศ. 2517 และเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีก ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 นนเลือกที่จะอยู่ในกัมพูชาหลังจากที่ลน นลพี่ชายได้ลี้ภัยออกนอกประเทศไป เพื่อเจรจาสงบศึกกับเขมรแดงร่วมกับลอง โบเรตและคนอื่น ๆ นนยังคงอยู่ในพนมเปญเมื่อเขมรแดงเข้าเมืองได้ในวันที่ 17 เมษายน[10] มีผู้พบเห็นเขาอยู่กับชุดรักษาความปลอดภัยของเขา หลังจากที่กอย ทวนได้เป็นหัวหน้ากองกำลังของเขมรแดงที่ออกกวาดล้างคนของระบบเก่า เขาได้สั่งจับกุมลน นน และเจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐเขมรมาประหารชีวิตกลางกรุงพนมเปญ วิทยุกระจายเสียงของเขมรแดงบอกว่าเขาถูกรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิต แต่ไม่มีใครทราบว่าที่แท้จริงเป็นอย่างไร

อ้างอิง

  1. ธิบดี บัวคำศรี. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กทม. เมืองโบราณ.2555
  2. Marlay, R. and Neher, C. Patriots and tyrants: ten Asian leaders, Rowman & Littlefield, 1999, p.177
  3. Corfield, J. Khmers stand up!: a history of the Cambodian government 1970-1975, 1992, p.111
  4. Kamm, H. Cambodia: report from a stricken land, Arcade, 1998, p.79
  5. Kiernan, B. How Pol Pot came to power, Yale UP, 2004, p.347
  6. Corfield, J. History of Cambodia, ABC-CLIO, 2009, p.78
  7. Scott, P. D. "Opium and Empire", Bulletin of Concerned Asian Scholars เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, vol 5, 2 (Sep. 1973), 49
  8. Clymer, K. J. The United States and Cambodia, 1969-2000: a troubled relationship, Routledge, p.69
  9. "$170,000 in Cash On Mrs., Lon Non Is Seized in Paris". The New York Times. September 23, 1973. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
  10. Henry Kissinger (February 2003). Ending the Vietnam War : A History of America's Involvement in and Extrication from the Vietnam War. Simon & Schuster. p. 529. ISBN 978-0-7432-1532-9.
Kembali kehalaman sebelumnya