ลิลิต
ลิลิต หมายถึง หนังสือที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงและร่าย สลับกันเป็นช่วง ๆ ตามธรรมเนียมแล้ว มักจะใช้โคลงและร่ายในแบบเดียวกัน กล่าวคือ โคลงดั้น สลับกับร่ายดั้น, โคลงสุภาพ สลับกับร่ายสุภาพ อย่างนี้เป็นต้น โคลงและร่ายที่สลับกันนั้น มักจะร้อยสัมผัสด้วยกัน เรียกว่า "เข้าลิลิต" วรรณคดีที่แต่งตามแบบแผนลิลิต มักจะใช้ร่ายและโคลงสลับกันเป็นช่วง ๆ ตามจังหวะ ลีลา และท่วงทำนอง และความเหมาะสมของเนื้อหาในช่วงนั้น ๆ ลิลิตที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของโคลงลิลิต คือ ลิลิตพระลอ ประวัติความเป็นมาของลิลิต ไม่ปรากฏแน่ชัด โดยสืบค้นได้เก่าสุดถึงสมัยอยุธยา ได้แก่ ลิลิตยวนพ่าย และลิลิตพระลอ (สำหรับอายุของลิลิตพระลอยังเป็นที่ถกเถียง ยังไม่ยุติ) แต่ถ้าจะนับอย่างธรรมเนียมลิลิตแล้ว น่าจะมีเพียงลิลิตพระลอ เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น เนื่องจากในยวนพ่ายนั้น มีร่ายนำ 1 บท แล้วมีร่ายแทรกตอนปลาย ๆ (ไม่ใช่ท้ายเรื่อง)กลางเรื่องอีก 1 บทเท่านั้น ส่วนลิลิตพระลอนั้น แต่งด้วยร่ายสุภาพและโคลงสุภาพอย่างหลากหลาย สลับเป็นช่วง ๆ (โปรดอ่านรายละเอียดในหัวข้อ ลิลิตพระลอ) มีทั้งโคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ นอกจากนี้ยังมีร่ายสอดสร้อยอีกด้วย สำหรับโองการแช่งน้ำ แม้จะเคยเรียกกันว่า ลิลิตโองการแช่งน้ำ มาก่อน แต่ในภายหลัง นักวรรณคดีส่วนใหญ่สมัครใจที่จะเรียกชื่อโดยไม่มีคำว่าลิลิต ทั้ง ๆ ที่ในโองการแช่งน้ำ ก็แต่งด้วยร่ายสลับโคลง ทว่าเป็นร่ายโบราณ สลับกับโคลงห้า ซึ่งไม่ปรากฏแบบแผนที่ไหนมาก่อน เป็นที่น่าสังเกตว่า นิราศคำโคลง หรือที่เรียกชื่อขึ้นต้นด้วย "โคลงนิราศ" ในสมัยส่วนใหญ่ จะขึ้นต้นด้วยร่ายนำ 1 บทเสมอ เช่น นิราศนรินทร์ นิราศพระยาตรังโคลงทวาทศมาส แต่มิได้เรียกว่าลิลิตแต่อย่างใด วรรณคดีที่เรียกว่าลิลิตจำนวนหนึ่ง จึงเป็นเพียงวรรณกรรม คำโคลง ที่มีร่ายนำเท่านั้น นอกจากลิลิตยวนพ่ายแล้ว ยังมีลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง มีร่ายนำเพียงหนึ่งบท ลิลิตเป็นแบบแผนคำประพันธ์ที่มีผู้นิยมแต่งเสมอมา แม้จนปัจจุบัน เนื่องจากสามารถเปลี่ยนลีลาอารมณ์ของบทร้อยกรองได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการส่งสัมผัสระหว่างบท หรือ "เข้าลิลิต" นั้นไม่ถือเคร่งครัดนัก ลิลิตในสมัยต่าง ๆ
|