ลิสแซมฟิเบีย (ชั้นย่อย: Lissamphibia) เป็นชั้นย่อยของสัตว์มีกระดูกสันหลังในชั้นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (Amphibia) โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lissamphibia
จากการศึกษาทางด้ายภายวิภาคศาสตร์และระดับโมเลกุลพบว่า ลิสแซมฟิเบียเป็นวิวัฒนาการเดี่ยวแยกจากสัตว์สี่เท้ากลุ่มอื่นที่ดำรงชีวิตและสืบทอดเผ่าพันธุ์มาจนปัจจุบัน กล่าวคือ เมื่อระยะเวลาราว 30 ล้านปีมาแล้ว ที่ได้มีสัตว์สี่เท้าถือกำเนิดขึ้นมา เป็นช่วงปลายยุคคาร์บอนิเฟอรัส ซึ่งช่วงนี้มีความสำคัญมากกับวิวัฒนาการของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกลุ่มแรก รวมทั้งวิวัฒนาการของสัตว์กลุ่มแอมนิโอต เนื่องจากในช่วงนี้หลักฐานทางซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์สี่ขาหลายกลุ่มปะปนกัน เช่น เทมโนสปอนเดิล, แอนธราโคซอร์, แอมนิโอตกลุ่มแรก เป็นต้น
ปัจจุบัน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั้งหมดที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ต่างก็เป็นลิสแซมฟิเบียทั้งหมด คือ Anura, Caudata และGymnophiona
และเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในยุคพาลีโอโซอิกตอนปลายอีกด้วย
ลักษณะร่วมของสัตว์ในชั้นย่อยลิสแซมฟิเบีย
- ฟันมีก้านยาว ตัวฟันแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนฐานเป็นก้านยาวซึ่งติดอยู่กับกระดูกขากรรไกร และส่วนยอดฟันโผล่พ้นเหงือกขึ้นมา ยอดฟันมี 2 ยอด คือ ยอดฝันด้านใน กับด้านนอก ยอดฟันแต่ละยอดแยกออกจากกันด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ยอดฟันมีลักษณะเป็นรอยคอดตรงตำแหน่งที่ติดกับส่วนฐาน เมื่อฟันสึกหรอได้ร่วงหลุดตรงตำแหน่งที่เป็นรอยคอด ต่อจากนั้นจึงมียอดฟันใหญ่ขึ้นมาทดแทนโดยเจริญจากส่วนฐาน โครงสร้างลักษณะนี้จะพบเฉพาะลิสแซมฟิเบียและเทมโนสปอนเดิล
- กระดูกที่ใช้ถ่ายทอดคลื่นเสียงในช่องหูชั้นกลางมี 2 ชิ้น กระดูกคอลิวเมลลา ที่พบในกลุ่มสัตว์สี่ขากลุ่มอื่นด้วย และกระดูกโอเพอร์คิวลั่ม ซึ่งค่อนข้างจำเพาะ เนื่องจากกระดูกชิ้นนี้มีกล้ามเนื้อไปเชื่อมต่อกับกระดูกซูปราสคาพูลาของกระดูกหัวไหล่ มีเซลล์รับรู้คลื่นเสียงในหูชั้นใน 2 แห่ง คือ ในถุงบาซิลาร์ และในถุงแอมฟิโบรั่ม
- กระดูกคอลิวเมลลาเรียงตัวในแนวระนาบกับช่องที่เปิดเข้าสู่หูชั้นในหรือเฉียงขึ้นไปทางด้านบนเล็กน้อย
- แฟทบอดีส์เจริญขึ้นมาในระยะเอมบริโอจากสันเจอร์มินัล ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อบริเวณเดียวกับอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ และมีความสัมพันธ์กับอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ในสัตว์วัยเจริญพันธุ์
- ผิวหนังที่ลำตัวประกอบด้วยต่อมเมือกและต่อมพิษ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในปัจจุบัน และมีลักษณะโครงสร้างเป็นแบบอย่างเดียวกัน โดยผลิตเมือกลื่นเพื่อชโลมผิวให้ชุ่มชื้นตลอดเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนแก๊ส ส่วนต่อมพิษมีความหลากหลายและรุนแรงไปตามระดับ แตกต่างกันออกไป
- เซลล์รับรู้สึกในชั้นจอตาคือ เซลล์ร็อดเขียว เป็นลักษณะจำพวกของสัตว์ในจำพวกกบและซาลาแมนเดอร์ ขณะที่เขียดงูจะไม่มี
- มีแผ่นกล้ามเนื้อบางอยู่ในเบ้าตา เพื่อทำหน้าที่ยกตาให้สูงขึ้นหรือดึงตาเข้าและออกจากเบ้า พบเฉพาะสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเท่านั้น
- มีกลไกแลกเปลี่ยนแก๊สค่อนข้างจำเพาะ เนื่องจากโครงสร้าง 3 ประการ คือ เหงือก, ปอด และผิวหนัง เหงือกและปอดทำหน้าที่ต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยเหงือกจะทำหน้าที่ในวัยอ่อน ส่วนปอดทำหน้าทที่เต็มที่ในวัยโต ขณะที่ผิวหนังทำหน้าที่ทั้งในวัยอ่อนและวัยโต นอกจากซาลาแมนเดอร์บางชนิดเท่านั้นที่อาศัยบนบกและไม่มีปอด และบางชนิดที่อาศัยในน้ำจะมีปอดเล็กมากจึงใช้เฉพาะส่วนผิวหนังแลกเปลี่ยนแก๊ส โดยใช้ปอดเป็นแรงดันในอุ้งปากควบคุมการไหลเข้าออกของอากาศ
- มีกระดูกซี่โครงที่สั้นและไม่ล้อมรอบลำตัวให้เป็นช่องอก
- มีปุ่มออคซิพิทัค 2 ปุ่ม
- ได้ลดรูปกะโหลกและมีแบบอย่างของช่องเปิดบนกะโหลกคล้ายคลึงกับของสัตว์สี่ขาในยุคพาลีโอโซอิก เช่น ลดรูปลงไปในหลายกระดูก แต่เขียดงูมีลักษณะค่อนข้างจำเพาะเมื่อเปรียบเทียบกับของกบและซาลาแมนเดอร์[1]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น