ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์
ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (อังกฤษ: Lee Harvey Oswald, 18 ตุลาคม ค.ศ. 1939 – 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963) เป็นมือปืนผู้สังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 35 ในดัลลาส รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 ตามการสรุปของหน่วยงานสอบสวนของรัฐสี่หน่วยงาน เขาเป็นอดีตนาวิกโยธินสหรัฐ และแปรพักตร์เข้ากับสหภาพโซเวียตเป็นช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 1959 ถึงมิถุนายน ค.ศ. 1962 เดิมออสวอลด์ถูกจับกุมในข้อหายิงฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ. ดี. ทิพพิต บนถนนดัลลาสราว 40 นาทีหลังเคนเนดีถูกยิง เขาถูกตั้งข้อสงสัยว่าลงมือลอบสังหารเคนเนดีด้วยเช่นกัน ออสวอลด์ปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุฆาตกรรมทั้งสองครั้ง สองวันให้หลัง ขณะกำลังถูกเคลื่อนย้ายตัวจากสำนักงานใหญ่ตำรวจไปยังเรือนจำของเคาน์ตี ออสวอลด์ถูกยิงเสียชีวิตโดยเจ้าของไนท์คลับ แจ็ก รูบี ต่อหน้ากล้องโทรทัศน์ที่แพร่ภาพสด ใน ค.ศ. 1964 คณะกรรมการวอร์เรนสรุปว่า ออสวอลด์กระทำการเพียงลำพังในการลอบสังหารเคนเนดี โดยยิงกระสุนออกไปสามนัด อันเป็นข้อสรุปที่การสืบสวนก่อนหน้า อันได้แก่ สำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกาและกรมตำรวจดัลลาส บรรลุเช่นกัน อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. 1979 คณะกรรมการสอบสวนการลอบสังหารแต่งตั้งโดยรัฐสภา สรุปว่าออสวอลด์อาจมิได้ลงมือเพียงลำพัง หลักฐานสนับสนุนสมมติฐานดังกล่าวมีการโต้แย้งอย่างกว้างขวางนับแต่นั้น เหตุยิงเคนเนดีและทิพพิตตามข้อมูลการสอบสวนของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง รวมทั้งคณะกรรมการวอร์เรน ขณะที่ขบวนรถยนต์ของเคนเนดีผ่านดีลเลย์พลาซาของดัลลาส เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ออสวอลด์ยิงกระสุนไรเฟิลสามนัด "... ในช่วงเวลาระหว่างประมาณ 4.8 วินาที ถึงเกิน 7 วินาที" จากชั้นหก หน้าต่างหัวมุมตะวันออกเฉียงใต้ของอาคารเก็บหนังสือโรงเรียนเท็กซัส (อังกฤษ: Texas School Book Depository)[1] ประธานาธิบดีถูกกระสุนสองนัด ซึ่งทำให้เขาถึงแก่อสัญกรรมและทำให้ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส จอห์น คอนแนลลี ได้รับบาดเจ็บสาหัส ตามคณะกรรมการวอร์เรน ทันทีหลังถูกยิง ออสวอลด์ซ่อนไรเฟิลไว้หลังกล่องสักกล่อง และลงจากอาคารโดยใช้ปล่องบันไดด้านหลัง เกือบเก้าสิบนาทีหลังเหตุยิง ในห้องอาหารกลางวันชั้นสอง เขาพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแมเรียน เบเกอร์ (Marrion Baker) ร่วมกับหัวหน้าของออสวอลด์ รอย ทรูลี (Roy Truly) เบเกอร์ปล่อยให้ออสวอลด์ผ่านไปหลังทรูลีระบุว่าเขาเป็นลูกจ้าง ตามข้อมูลของเบเกอร์ ออสวอลด์มิได้มีอาการประหม่าหรือกระหืดกระหอบแต่อย่างใด[2] นางโรเบิร์ต เรด (Robert Reid) หัวหน้าฝ่ายธุรการที่อาคารเก็บ กลับไปยังสำนักงานของเธอภายในสองนาทีหลังเกิดเหตุลอบสังหาร เธอว่าเห็นออสวอลด์ผู้ "ใจเย็นมาก" บนชั้นสอง พร้อมด้วยโค้กอยู่ในมือ[3] ออสวอลด์ออกจากอาคารโดยใช้บันไดหน้า และออกจากอาคารเก็บผ่านทางเข้าด้านหน้าไม่นานก่อนที่ตำรวจจะปิดกั้นการเข้าออก หัวหน้าของออสวอลด์ ภายหลังชี้แก่เจ้าหน้าที่ว่าออสวอลด์เป็นลูกจ้างเพียงคนเดียวที่เขามั่นใจว่าหายไปจากอาคารหลังเหตุลอบสังหาร แม้เขาจะเชื่อว่ามีคนอื่นอีกเช่นกัน[4][5] เมื่อเวลาประมาณ 12.40 น. ออสวอลด์ขึ้นรถโดยสารประจำทางของนคร แต่เขาขอลงรถ ซึ่งอาจเป็นเพราะการจราจรที่ติดขัด และลงจากรถอีกสองช่วงตึกถัดมา[6] เขานั่งรถแท็กซี่ไปยังห้องเช่า ที่เลขที่ 1026 ถนนนอร์ทเบคเลย์ ถึงเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. เขาเข้าผ่านประตูหน้า ตามข้อมูลของแม่บ้าน เอียร์ลีน โรเบิร์ตส์ (Earlene Roberts) เขาไปยังห้องของเขาทันที และ "เดินค่อนข้างเร็ว"[7] นางโรเบิร์ตส์ให้การว่าออสวอลด์ออกจากอาคาร "ไม่กี่นาที" ให้หลัง รูดซิปแจ็กเก็ตที่เขาไม่ได้ใส่เข้ามาในอาคาร และเธอเห็นออสวอลด์ครั้งสุดท้ายขณะยืนอยู่ที่ที่หยุดรถโดยสารประจำทางถนนเบคเลย์ทางเหนือ ด้านหน้าบ้าน[8] พยานคนต่อไปพบเห็นออสวอลด์ใกล้กับหัวมุมถนนอีสต์ที่ 10 และถนนนอร์ทแพตตัน ห่างไปประมาณ 1.4 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือจากห้องชุดของเขา อันเป็นระยะทางซึ่งคณะกรรมการวอร์เรนว่า "ออสวอลด์สามารถเดินไปได้ง่าย ๆ"[9] ตามข้อมูลของคณะกรรมการวอร์เรน ที่ตรงนั้นมีตำรวจลาดตระเวน เจ. ดี. ทิพพิต (อังกฤษ: J. D. Tippit) ขับรถขนาบข้างออสวอลด์และ "มีการต่อปากต่อคำกันอย่างชัดเจนด้วยหน้าต่างด้านคนขับหรือช่องลม" เมื่อเวลาประมาณ 13.11-13.14 น. ทิพพิตออกจากรถของเขาและถูกตีและยิงสี่นัดเสียชีวิตทันที[10][11] พยานหลายคนได้ยินเสียงปืนและเห็นชายคนหนึ่งวิ่งหนีจากจุดเกิดเหตุโดยถือปืนลูกโม่[12] พบปลอกกระสุนปืน 4 นัดที่จุดเกิดเหตุ ซึ่งได้รับการยืนยันโดยพยานผู้เชี่ยวชาญ[13] ก่อนคณะกรรมการวอร์เรนและคณะกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นนั้นสรุปว่าปลอกกระสุนทั้งหมดยิงมาจากปืนพกลูกโม่ซึ่งภายหลังพบว่าอยู่ในความครอบครองของออสวอลด์ ไม่เหมือนกับอาวุธอื่น อย่างไรก็ดี กระสุนที่มาจากร่างของทิพพิตไม่อาจระบุได้ว่ามาจากปืนพกลูกโม่ของออสวอลด์[13][14] การถูกจับกุมผู้จัดการร้านรองเท้า จอห์นนี บรีเวอร์ ให้การว่าอีกไม่กี่นาทีให้หลัง เขาเห็นออสวอลด์หลบซ่อนเข้าไปในห้องทางเข้าของร้านของเขา ด้วยความสงสัยในพฤติกรรมนี้ บรีเวอร์จึงได้เฝ้าดูออสวอลด์เดินต่อไปตามถนนและเข้าไปในโรงภาพยนตร์เท็กซัส (อังกฤษ: Texas Theatre) ใกล้ๆ อย่างเงียบเชียบ โดยไม่จ่ายเงิน[15] เขาเตือนพนักงานขายตั๋วของโรงภาพยนตร์ ซึ่งโทรศัพท์เรียกตำรวจ[16] เมื่อเวลาประมาณ 13.40 น. เมื่อตำรวจมาถึง และบรีเวอร์ชี้ตัวออสวอลด์ซึ่งกำลังนั่งอยู่ใกล้กับด้านหลังของโรงภาพยนตร์ ออสวอลด์ดูเหมือนว่าจะยอมจำนน โดยกล่าวว่า "เอาละ มันจบสิ้นแล้ว" ก่อนจะโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาถูกปลดอาวุธหลังมีการต่อสู้ขัดขืน[17] ระหว่างที่เขาถูกนำออกจากโรงภาพยนตร์ ออสวอลด์ตะโกนว่าเขาเป็นเหยื่อความรุนแรงจากตำรวจ[18] เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ออสวอลด์มาถึงอาคารกรมตำรวจ ที่ซึ่งเขาถูกตั้งคำถามโดยนักสืบ จิม ลีเวลล์ (Jim Leavelle) เกี่ยวกับการยิงเจ้าหน้าที่ทิพพิต เมื่อร้อยเอก เจ. ดับเบิลยู. ฟริทซ์ ได้ยินชื่อของออสวอลด์ เขาจำได้ว่าเป็นชื่อของลูกจ้างอาคารเก็บหนังสือผู้ได้รับรายงานว่าสูญหายและเป็นผู้ต้องสงสัยในการลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดีแล้ว[19][20] ออสวอลด์ถูกบันทึกข้อหาฆาตกรรมทั้งสองบุคคล และเมื่อถึงคืนนั้น เขาถูกกล่าวหาด้วยเช่นกัน[21] ไม่นานหลังออสวอลด์ถูกจับกุม เขาพบกับผู้สื่อข่าวในห้องโถง และบอกว่า "ผมไม่ได้ยิงใครทั้งนั้น" และ "พวกเขาจับผมเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าผมเคยอยู่ในสหภาพโซเวียต ผมเป็นแค่แพะรับบาป!" ภายหลัง ในการประชุมกับสื่อที่จัดขึ้น ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งถามว่า "คุณฆ่าประธานาธิบดีหรือ" และออสวอลด์ ผู้ซึ่งในขณะนั้นถูกแจ้งให้ทราบถึงข้อหาฆาตกรรมทิพพิต แต่ยังไม่ถูกแจ้งข้อหาฆาตกรรมเคนเนดี ตอบว่า "ไม่ ผมไม่ได้ถูกตั้งข้อหานั้น อันที่จริงแล้ว ไม่มีใครบอกผมเรื่องนี้เลย สิ่งแรกที่ผมได้ยินคือจากผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในห้องโถงที่ถามผมอย่างนั้น" และเมื่อเขาถูกนำออกจากห้อง มีการตั้งคำถามว่า "คุณทำอะไรในสหภาพโซเวียต" และ "ทำไมดวงตาของคุณบาดเจ็บ" ออสวอลด์ตอบว่า "ตำรวจตีผม"[22][23][24] การสืบสวนของตำรวจออสวอลด์ถูกสอบปากคำหลายครั้งระหว่างสองวันที่เขาอยู่ในกองบัญชาการตำรวจดัลลาส เขาปฏิเสธว่าลงมือฆ่าเคนเนดีและทิพพิต ปฏิเสธว่าเป็นเจ้าของปืนไรเฟิล โดยกล่าวว่า ภาพถ่ายสองภาพของเขาขณะกำลังถือปืนไรเฟิลและปืนพกเป็นของปลอม ปฏิเสธการบอกเพื่อนร่วมงานของเขาว่าต้องการนั่งรถไปยังเออร์วิงเพื่อไปเอาราวผ้าม่านกลับไปยังอพาร์ตเมนต์ของเขา และปฏิเสธถือพัสดุที่ยาวและหนักไปทำงานในช่วงเช้าของวันที่เกิดเหตุลอบสังหาร คณะกรรมการวอร์เรนยังระบุว่า ออสวอลด์ปฏิเสธว่าตนไม่รู้จักกับ เอ. เจ. ฮิเดล และเมื่อแสดงบัตรลงทะเบียนเป็นทหาร (Selective Service) ที่ทำปลอมขึ้น ซึ่งมีชื่อนั้นอยู่ในการครอบครองของเขาเมื่อถูกจับกุม เขาปฏิเสธที่จะตอบทุกคำถามที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวว่า "... คุณมีบัตรอยู่แล้วและคุณรู้มากเท่ากับที่ผมรู้"[25] คณะกรรมการวอร์เรนระบุว่าบัตรปลอมนี้มีชื่อของ อเล็ก เจมส์ ฮิเดล[26] ระหว่างการสอบปากคำครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน ออสวอลด์ถูกตั้งคำถามถึงหลักฐานยืนยันที่อยู่ขณะที่ประธานาธิบดีถูกยิง ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่พิเศษเอฟบีไอ เจมส์ โฮสตี และตำรวจดัลลาส ร้อยเอกวิล ฟริตซ์ ออสวอลด์ระบุว่าเขากำลังทานอาหารกลางวันอยู่ในห้องอาหารชั้นแรกของอาคารเก็บหนังสือ จากนั้นขึ้นไปชั้นสองเพื่อรับโคคา-โคลา ที่ซึ่งเขาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ[27][28][29][30] ระหว่างการสอบปากคำครั้งสุกท้ายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ตามข้อมูลของผู้ตรวจการไปรษณีย์ แฮร์รี โฮมส์ ออสวอลด์ถูกถามอีกครั้งว่าเขาอยู่ที่ไหนขณะที่เกิดเหตุลอบสังหารขึ้น โฮมส์ ผู้เข้าร่วมการสอบปากคำตามคำเชิญของร้อยเอกวิล ฟริตซ์ ระบุว่า ออสวอลด์ตอบว่าเขากำลังทำงานอยู่ที่ชั้นบนเมื่อเกิดเหตุยิงขึ้น จากนั้นลงมาชั้นล่างที่ซึ่งพบกับตำรวจ[31] ออสวอลด์ร้องขอที่ปรึกษาทางกฎหมายหลายครั้งขณะถูกสอบปากคำ เช่นเดียวกับเมื่อพบกับผู้สื่อข่าว แต่เมื่อผู้แทนจาก เนติบัณฑิตยสภาดัลลาส (Dallas Bar Association) มาพบเขาในห้องขังเมื่อวันเสาร์ เขาปฏิเสธบริการจากเนติบัณฑิตสภา โดยระบุว่าเขาต้องการให้จอห์น แอบท์ (John Abt) หัวหน้าทนายความของพรรคคอมมิวนิสต์สหรัฐอเมริกา หรือโดยทนายความที่เกี่ยวโยงกับสหภาพเสรีภาพของพลเมืองอเมริกา[32][33] ทั้งออสวอลด์และรูธ ไพน์ (Ruth Paine) พยายามติดต่อแอบท์ โดยโทรศัพท์หลายครั้งทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์[34][35] แต่แอบท์ไม่อยู่ในช่วงสุดสัปดาห์[36] ออสวอลด์ยังปฏิเสธข้อเสนอของน้องชาย โรเบิร์ต เมื่อวันเสาร์ในการติดต่ออัยการท้องถิ่น[37] เสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน ออสวอลด์ถูกนำตัวผ่านชั้นล่างของกองบัญชาการตำรวจดัลลาสในการเตรียมเคลื่อนย้ายไปยังเรือนจำของเคาน์ตี เมื่อ เวลา 11.21 น. เจ้าของไนท์คลับดัลลาส แจ็ก รูบี ก้าวออกมาจากฝูงชนและยิงใส่ออสวอลด์ที่ท้อง ออสวอลด์เสียชีวิตเมื่อเวลา 13.07 น. ที่โรงพยาบาลอนุสรณ์พาร์คแลนด์ โรงพยาบาลเดียวกับที่เคนเนดีเสียชีวิตสองวันก่อน[38] กล้องโทรทัศน์เครือข่ายกำลังออกอากาศสดอยู่ในขณะนั้น และผู้ชมหลายล้านคนเห็นภาพการยิงขณะที่เกิดขึ้น[39] เหตุการณ์ดังกล่าวยังมีถ่ายไว้จนเป็นภาพที่รู้จักกันดีอีกด้วย ภายหลังรูบีกล่าวว่า เขารู้สึกว้าวุ่นใจกับการถึงแก่อสัญกรรมของเคนเนดี และว่าเหตุจูงใจในการฆ่าออสวอลด์นั้นเป็นไปเพื่อ "... ช่วยมิให้คุณนายเคนเนดีสับสนจากการหวนกลับสู่ความเจ็บปวด"[40] หลายคนสันนิษฐานว่ารูบีเป็นส่วนหนึ่งของแผนสมคบคิด[41] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Lee Harvey Oswald |