วรรณกรรมเลสเบียนวรรณกรรมเลสเบียน (อังกฤษ: lesbian literature) เป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งซึ่งมีแก่นเรื่องว่าด้วยเลสเบียน อาจปรากฏในรูปกวีนิพนธ์ บทละคร หรือบันเทิงคดีซึ่งมีตัวละครเป็นเลสเบียน หรือสารคดีที่มีหัวเรื่องเป็นเลสเบียนก็ได้ คำศัพท์ใกล้เคียง คือ วรรณกรรมแซฟฟิก (sapphic literature) ซึ่งว่าด้วยวรรณกรรมทั้งปวงที่มีเนื้อหาหลักกล่าวถึงความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกัน โดยที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่จำต้องเป็นเลสเบียนเสมอไป[1][2][3] วรรณกรรมเลสเบียนมีความเป็นมายาวนาน วรรณกรรมเลสเบียนที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งคือ วรรณกรรมภาษาญี่ปุ่นจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 เรื่อง วากะ มิ นิ ทาโดรุ ฮิเมงิมิ (ญี่ปุ่น: わが身にたどる姫君; "เจ้าหญิงผู้ค้นหาตนเอง") เขียนขึ้นในราว ค.ศ. 1259–1278 ผู้เขียนไม่ปรากฏนาม[4] ตัวอย่างวรรณกรรมเลสเบียนตะวันตกที่มีชื่อเสียง คือ นวนิยายเรื่อง เดอะเวลออฟโลนลิเนส (ค.ศ. 1928) ของแรดคลิฟฟ์ ฮอลล์ ซึ่งว่าด้วยหญิงเลสเบียนคนหนึ่งพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเป็นเลสเบียนของตน วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกห้ามเผยแพร่และให้ริบ ส่วนผู้เขียนเองถูกดำเนินคดี ด้วยข้อกล่าวหาว่าขัดต่อศีลธรรมอันดี[5] และนวนิยายเรื่อง ไดแอนา (ค.ศ. 1939) ของฟรานเซส วี. รัมเมลล์ ซึ่งเป็นกึ่งอัตชีวประวัติของผู้เขียนเอง มีเนื้อหาว่าด้วยหญิงสาวผู้ค้นพบว่าตนเองเป็นเลสเบียน เมื่อเผยแพร่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน[5] ส่วนตัวอย่างวรรณกรรมเลสเบียนไทยที่มีชื่อเสียงในยุคต้น ๆ ได้แก่ กวีนิพนธ์เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ ซึ่งคุณสุวรรณประพันธ์ขึ้นในรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367–2394) ว่าด้วยความสัมพันธ์ของนางในสองคนในราชสำนัก[6] อ้างอิง
|