Share to:

 

วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร

วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร
พระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร, วัดมหาพฤฒาราม, วัดท่าเกวียน, วัดตะเคียน
ที่ตั้งเลขที่ 517 ถนนมหาพฤฒาราม แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี
เวลาทำการ08.00-18.00 น.
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดมหาพฤฒาราม วรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนมหาพฤฒาราม แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

วัดมหาพฤฒารามเป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลองผดุงกรุงเกษม แต่เดิมในช่วงสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดนี้แต่เดิมชื่อว่า "วัดท่าเกวียน" เนื่องจากเคยเป็นที่พักแรมของกองเกวียน ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ แต่ต่อมาชาวบ้านก็พากันเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดตะเคียน" สันนิษฐานว่า เรียกชื่อวัดตามต้นตะเคียนที่ขึ้นหนาแน่นอยู่รอบบริเวณวัดที่มีอาณาบริเวณถึง 14 ไร่

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เคยอยู่ในเพศบรรพชิตได้เสด็จมาพระราชทานผ้าป่าที่วัดนี้ ในคราวนั้น พระอธิการแก้วเจ้าอาวาสได้ทูลถวายพยากรณ์ว่า "จะได้เป็นเจ้าชีวิตในเร็วๆนี้" พระองค์จึงมีรับสั่งว่า "ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่" หลังจากนั้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ ในเวลาต่อมาจึงโปรดให้พระราชทานสมณะศักดิ์ พระอธิการแก้วเป็น "พระมหาพฤฒาจารย์" และโปรดให้สร้างพระอารามใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2397 จนถึง พ.ศ. 2409 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองในการสถาปนา ต่อมาเมื่อทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงโปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นในพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า "วัดมหาพฤฒาราม"

ศิลปะและสถาปัตยกรรม

จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
พระอุโบสถ

จิตรกรรมฝาผนังของที่วัดมหาพฤฒาราม แตกต่างจากวัดอื่นตรงที่เขียนเรื่อง "ธุดงควัตร13" และการไปสืบพระพุทธศาสนาที่ลังกา แทนการเขียนเรื่องทศชาติชาดกหรือพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ของวัดอื่น โดยนำเอาศิลปะทางตะวันตกมา นำเอาวิธีการเขียนภาพแบบ 3 มิติ ตามวิธีการเขียนภาพจิตรกรรมตะวันตกเข้ามาใช้ในการเขียนภาพทิวทัศน์ มีการจัดองค์ประกอบภาพให้มีความลึก เหมือนจริงตามธรรมชาติ และรับเอารูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาใช้ในการวาดภาพตกแต่งประดับอาคาร

พระอุโบสถของวัดมหาพฤฒาราม สร้างเป็นรูปโถงตลอด หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หน้าจั่วเป็นสัญลักษณ์พระมงกุฎวางอยู่บนพานสองชั้นในบุษบก ซึ่งตั้งอยู่บนช้างสามเศียร หมายถึง เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่4) ผู้ครองสยามประเทศ ทรงเป็นผู้สร้างพระอุโบสถหลังนี้ บานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถ เป็นรูปวัวลาก หมายถึง ชื่อเดิมของวัดท่าเกวียน รูปช้างหมายถึง เจ้าอาวาสพระอธิการแก้ว อายุ 107 ปี รูปเทวดาทูลพานสองชั้น ซึ่งมีพระมงกุฎวางอยู่ข้างบน หมายถึง เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่4)

พระประธานในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปางมารวิชัย กางกั้นด้วยเศวตฉัตร ๗ชั้น แต่เดิมไม่ปรากฏพระนาม ครั้นสมัยพระเทพวิสุทธิเวที(สุด ป.ธ.๙) เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาพฤฒารามในขณะนั้น ได้ค้นพบเอกสารพระราชหัตถเลขาของล้นเกล้าฯรัชกาลที่๔ ว่าด้วยเรื่องจะอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ จากเวียงจันทน์ ๒องค์มาประดิษฐานในพระนคร ปรากฏนามพระอินทร์แปลงว่าจะนำมาประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ (ภายหลังประดิษฐานเป็นประธานในพระวิหารวัดเสนาสนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา) เนื่องด้วยในสมัยที่ค้นคว้านั้น ข้อมูลข่าวสารยังไม่สะดวกเช่นปัจจุบัน จึงทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม (ซึ่งไม่ปรากฏพระนาม) คือพระอินทร์แปลง ตามที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขา และได้เรียกพระนามพระประธานในพระอุโบสถว่า พระอินทร์แปลงตั้งแต่นั้นมา[1]

พระปรางค์ 4 องค์สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ที่ปรินิพพานไปแล้ว โดยมีขนาดใหญ่เล็กเรียงกัน ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถกับวิหารเหนือ

พระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ของวัดพระมหาพฤฒารามใหญ่โตเป็นรองก็แค่พระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เท่านั้น เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีมาแต่ครั้งยังเป็น วัดท่าเกวียน และ วัดตะเคียน แต่เดิมไม่ได้ใหญ่ยาวดังในปัจจุบัน แต่รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปให้ใหญ่ขึ้น เป็นขนาดความยาวจากพระบาทถึงพระเกตุมาลา 19.25 เมตร และ พระอุระกว้าง 3.25 เมตร พระนาภีกว้าง 2 เมตร

รายนามเจ้าอาวาส

พระมหาพฤฒาจารย์ (แก้ว) เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่เป็นวัดท่าเกวียน[2] ภายหลังสถาปนาเป็นพระอารามหลวง วัดมหาพฤฒาราม มีเจ้าอาวาสดังรายนามต่อไปนี้

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 พระครูธรรมจริยาภิรมย์ (สอน) ครั้งที่ 1

พ.ศ.2397

ครั้งที่ 2 พ.ศ.2411

พ.ศ.2406

พ.ศ.2427

2 พระศีลาจารย์พิพัฒน์ (สี) พ.ศ.2406 พ.ศ.2411 ภายหลังเป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
3 พระสาศนานุรักษ์ (ปาน) พ.ศ.2428 พ.ศ.2436 ลาสิกขาบท
4 พระเทพสุธี (อุ่ม ธมฺมธโร ป.4) พ.ศ.2436 พ.ศ.2458 ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมเจดีย์
5 พระธรรมธราจารย์ (อ่อน ปุญฺญุตฺตโม) พ.ศ.2458 พ.ศ.2484
พระครูบริหารวรกิจ (เจ๊ก โสภีโต) พ.ศ.2484 พ.ศ.2491 รักษาการเจ้าอาวาส
6 พระเทพวิสุทธิเวที (สุด ฐิตวีโร ป.ธ.9) พ.ศ.2491 พ.ศ.2531
7 พระเทพวิสุทธิเวที (วิจิตร อาสโภ ป.ธ.7) พ.ศ.2531 พ.ศ.2552
พระโสภณปัญญารังษี (สมนึก ปญฺญาโชโต ป.ธ.7 ) พ.ศ.2552 พ.ศ.2552 รักษาการเจ้าอาวาส
8 พระราชวชิราภรณ์ (สุรเดช รกฺขิตญาโณ ป.ธ.5) พ.ศ.2553 พ.ศ.2566 ยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์[3]
พระธรรมสุธี (นรินทร์ นรินฺโท ป.ธ.3) พ.ศ.2566 ปัจจุบัน รักษาการเจ้าอาวาส[4]

ของหลวงที่พระราชทานไว้สำหรับวัด

  • ธรรมาสน์ชั้นเอก คราวงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 5
  • พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ 5 ทรงเครื่องยศจอมพลทหารบก สูงประมาณ 48 เซนติเมตร (สูญหาย)
  • พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ สมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมตู้บรรจุ
  • ตู้สลักลายปิดทองล่องชาด สำหรับตั้งเทียนพรรษา คราวงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (ถูกไฟไหม้สมัยสงคราม พ.ศ. 2487)
  • กระถางธูปกระเบื้องเคลือบ ลายสิงโต 1 กระถาง (แตกเสียหาย)
  • ธรรมาสน์พระปาฏิโมกข์ คราวงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในปี พ.ศ. 2471 (ชำรุด)

คลังภาพ

อ้างอิง

  1. "Facebook". www.facebook.com.
  2. www.thaistudies.chula.ac.th http://www.thaistudies.chula.ac.th/2018/09/29/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%92%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1/. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  3. "มส.พักตำแหน่งเจ้าอาวาส "พระราชวชิราภรณ์" พร้อมยกเป็นกิตติมศักดิ์ หลังปล่อย "คนนอก" คุมวัดมหาพฤฒาราม". เดลินิวส์.
  4. "แต่งตั้ง "พระธรรมสุธี" เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมหาพฤฒาราม". เดลินิวส์.

แหล่งข้อมูลอื่น

13°43′58″N 100°30′58″E / 13.732809°N 100.516213°E / 13.732809; 100.516213

Kembali kehalaman sebelumnya