วัดสมรโกฏิ (กรุงเทพมหานคร)
วัดสมรโกฏิ [สะ-หฺมอ-ระ-โกด] เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งเหนือของคลองบางระมาด ในแขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ประวัติหนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ของกรมการศาสนาระบุว่า วัดสมรโกฏิสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2294 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2319 สันนิษฐานว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นน่าจะเป็นสำนักเรียนที่สำคัญแห่งหนึ่ง เนื่องจากปรากฏในเอกสารโบราณ เมื่อปีขาล โทศก จ.ศ. 1192 (พ.ศ. 2373) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า มีพระสงฆ์รูปหนึ่งจากวัดสมรโกฏิเล่าเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ได้จนถึงชั้นเอก โดยบันทึกว่าชื่อ "วัดสมรโกษบางลมาศ"[1] ปี พ.ศ. 2543 เจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้ปรับปรุงอุโบสถใหม่โดยใช้แผ่นใยขัดขัดภาพจิตรกรรมฝาผนังออกและปูวอลเปเปอร์แทน[2] ราวปี พ.ศ. 2546–2547 ชาวบ้านร่วมใจกันบริจาคที่ดินของตนเพื่อตัดถนนจากถนนตัดใหม่คือถนนราชพฤกษ์เข้าสู่ซอยวัดสมรโกฏิและทำซุ้มประตูวัดขึ้นใหม่ อาคารเสนาสนะอุโบสถเป็นอุโบสถมหาอุด ตั้งขนานไปกับคลองบางระมาด มีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ประตูด้านหน้า 2 ช่อง ด้านหลังไม่มีประตู ผนังด้านหลังภายนอกติดแผ่นหินอ่อน จารึกการบูรณะใน พ.ศ. 2538 ซึ่งได้เปลี่ยนลวดลายหน้าบัน เดิมเป็นหน้าบันปูนปั้นประดับด้วยถ้วยชาม ในปัจจุบันเป็นรูปธรรมจักร ด้านหน้ามีมุข หน้าบันเป็นปูนปั้นรูปพระนารายณ์ 4 กร ยืนบนนาค เดิมไม่มีมุข เพิ่งสร้างเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ. 2500 ภายในอุโบสถประดิษฐาน พระธนนายก พระพุทธรูปประธานแบบสุโขทัย ปางมารวิชัย ลักษณะพระพักตร์ยิ้มแย้ม อิ่มเอิบ เดิมมีจิตรกรรมฝาผนังแต่ได้ปูวอลเปเปอร์แทน อกเลาประตูเป็นไม้แกะสลักลวดลายต่าง ๆ เช่น พระนารายณ์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ครุฑ มีภาพจับและรูปสัตว์เล็ก ๆ แทรกอยู่ รูปแบบศิลปะน่าจะเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนปลายหรือต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีสภาพลบเลือน ทั้งยังถูกทาสีทองทับจนหนา ด้านหลังบานประตูหน้าต่างเขียนภาพจิตรกรรมเป็นรูปเทพทวารบาล ยืนถือพระขรรค์ น่าจะมีอายุราวสมัยรัชกาลที่ 4–5 ภายนอกมีเสมารอบอุโบสถ น่าจะสลักขึ้นจากหิน แต่มาปั้นปูนทับ แล้วทาสีขาวหมดทุกใบ ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ประดับลวดลายง่าย ๆ เอวเสมาเป็นกระหนกเล็ก ๆ งอนขึ้น ใบเสมาเอกสลักจากหินอ่อนแบบที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ถูกปิดประดับด้วยกระจกสีจนหมด วิหารตั้งอยู่ในกำแพงแก้วข้างอุโบสถ หน้าบันปั้นปูนทาสีเป็นลายธรรมจักร มีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง มีประตูด้านหน้า 1 ช่อง ไม่มีประตูหลัง วิหารได้รับการบูรณะระหว่างปี พ.ศ. 2524–2527 ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อดำ น่าจะอายุราวสมัยอยุธยาตอนปลาย เพิ่งมีการลงรักปิดทองหลวงพ่อดำใหม่ทั้งองค์เมื่อ พ.ศ. 2548 ซึ่งคาดว่าลงรักปิดทองเพื่อซ่อมแซมร่องรอยผุพังชำรุด ข้างวิหารมีพระปรางค์ขนาดเล็กประดิษฐานอยู่องค์หนึ่ง ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ทรงไทย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2499 บูรณะเมื่อ พ.ศ. 2530 ภายในมีธรรมาสน์ซึ่งมีจารึกอยู่บนพนักพิงหลังว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 หอระฆังได้รับการบูรณะใหม่แต่ยังคงลักษณะเดิมในสมัยอยุธยาตอนปลาย หมู่กุฏิเป็นอาคารไม้เรือนไทย วัดยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารขนาดเล็ก ตั้งอยู่นอกเขตสังฆาวาส สร้างใน พ.ศ. 2535[3] รายนามเจ้าอาวาส
อ้างอิง
|