Share to:

 

พระนารายณ์

นารายณ์ (สันสกฤต: नारायण Nārāyaṇa; ความหมาย: ผู้ที่ได้เคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ[1]) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ แต่ทว่าชาวไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับพระนามว่าพระนารายณ์ มากกว่า[2]

เหตุที่มีพระนามแตกต่างกัน เนื่องจากมีบางคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเล่าว่า เดิมทีมีเทพเจ้าเพียงองค์เดียว คือ พระนารายณ์ ซึ่งเรียกว่าปรพรหม ซึ่งเป็นพระผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง เมื่อพระนารายณ์รำพึงถึงการสร้างโลก ก็ทรงคำนึงถึงการปกปักรักษา

แต่พระปรพรหมนั้นเป็นอรูปกเทพ คือ ไม่มีตัวตน จึงไม่สามารถที่จะสร้างโลกได้ จึงแบ่งภาคแยกร่างออกมาเป็น พระวิษณุ ซึ่งทรงประทานพระนามให้ และเมื่อพระวิษณุบรรทมหลับในเกษียรสมุทร ก็ทรงสุบินถึงการสร้างทุกสรรพสิ่ง ซึ่งพระวิษณุเป็นเทพผู้สร้างโลก สิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์ และที่พระนาภีของพระองค์ก็บังเกิดมีดอกบัวหลวงผุดขึ้นมา และภายในดอกบัวนั้นก็มี พระพรหม ซึ่งเป็นหนึ่งในตรีมูรติอยู่ภายใน ซึ่งพระวิษณุก็เป็นผู้ให้กำเนิดพระพรหมด้วย[3]

บางตำราก็กล่าวว่าเดิมมีพระนามว่า วิษณุ หรือ พิษณุ และได้เปลี่ยนเป็น นารายณ์ ในระยะหลัง โดยพระองค์มีสีพระวรกายเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของโลก ในกฤตยุค ยุคแรกของโลก ยุคที่คุณธรรมความดีของมนุษย์มีเต็มเปี่ยม สีกายพระนารายณ์สีขาว ยุคที่สอง ไตรดายุค ธรรมะและคุณธรรมมนุษย์เหลือสามในสี่ สีกายพระนารายณ์เป็นสีแดง ยุคที่สาม ทวาปรยุค คุณธรรมมนุษย์เหลือครึ่งเดียว สีกายเป็นสีเหลือง ยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่สี่ กลียุค คุณธรรมของมนุษย์ลดลงเหลือหนึ่งในสี่ สีกายพระนารายณ์ เปลี่ยนเป็นสีนิลแก่หรือสีดำ[4]

ในทางประวัติศาสตร์ พระนารายณ์ในยุคเริ่มแรกของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยังมิได้มีสถานะเป็นมหาเทพ และยังมิได้มีพระนามว่า "นารายณ์" โดยความเชื่อเรื่องพระนารายณ์ หรือพระวิษณุ ปรากฏอยู่ในหมู่ชาวทราวิฑ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดีย โดยนับถือเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งคำว่า "วิษณุ" หมายถึง "ผู้เป็นทุกสิ่งและสถิตอยู่ในทุกสิ่ง"

เมื่อเข้าสู่ยุคพระเวท ชาวอารยันได้รับเอาพระวิษณุของชาวทราวิฑมาเป็นเทพชั้นรองที่เป็นตัวแทนของพลังดวงอาทิตย์ คือ เป็นเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ตอนเช้า, ตอนเที่ยง และตอนเย็น มีหน้าที่ก้าว 3 ก้าวที่เรียกว่า "ตรีวิกรม" ในแต่ละวัน ต่อมาในยุคพราหมณะ พระวิษณุได้รับการยกฐานะสูงขึ้นเป็นเทพผู้นำโชคลาภ แต่ก็ยังไม่ได้นับเป็นมหาเทพ จนกระทั่งเมื่อมีคัมภีร์มหาภารตะและปุราณะ พระวิษณุได้ถูกยกให้เป็นมหาเทพผู้รักษาโลก และช่วงเวลานี้เองที่พระนามนารายณ์ได้ปรากฏ โดยแต่เดิม "นารายณ์" เป็นพระนามใช้เรียกพระพรหม ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในยุคแรก

เมื่อสถานะของพระพรหมได้ถูกลดลงมา ในขณะที่พระวิษณุมีสถานะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงนำเอาชื่อนารายณ์มาใช้เรียกแทนวิษณุ และยังถืออีกว่าพระพรหมเกิดมาจากดอกบัวที่ผุดมาจากพระนาภีของพระนารายณ์[5]

อ้างอิง

  1. "ตำนานเทพแห่งศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู". โอเชียนสไมล์ทัวร์. 30 March 2014. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
  2. "นารายณ์". พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร. 30 March 2014. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
  3. "พระพรหม". ไทยรัฐ. 30 March 2014. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
  4. "พระ (นารายณ์) มาโปรด". ไทยรัฐ. 11 December 2015. สืบค้นเมื่อ 13 December 2015.
  5. ภาคภูมิ น้อยวัฒน์. "พระนารายณ์ในศิลปกรรมไทย". อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 63, ฉบับที่ 9 เมษายน 2566, หน้า 98-99
Kembali kehalaman sebelumnya