Share to:

 

วัดหนองเพียร

วัดหนองเพียร
หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดหนองเพียร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดหนองเพียร
ที่ตั้งเลขที่ 95 หมู่ที่ 2 ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 72140
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
ก่อตั้งพ.ศ. 2500
ผู้ก่อตั้งราษฎร
พระประธานหลวงพ่อประทานโชค
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อดำ
หลวงพ่อขาว
เจ้าอาวาสพระครูพิพัฒน์สุวรรณาภรณ์ (วิชัย เผือกวงศ์ จนฺทโชโต)
ความพิเศษสถานที่ท่องเที่ยว
เวลาทำการ07.00 น. - 17.00 น.
กิจกรรม- งานปิดทองไหว้พระ หลวงพ่อดำ หลวงพ่อขาว และสักการะพระธาตุเจดีย์ วันที่ 10 - 14 มกราคม ( 5 วัน 5 คืน )
- พิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความร่มเย็นของแผ่นดินไทย ณ ศาลาปฏิบัติธรรมชัยมงคล ทุกวันอังคาร เวลา 18.00 น. - 20.00 น.
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดหนองเพียร ตั้งอยู่เลขที่ 95 หมู่ที่ 2 ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 72140

เป็นวัดราษฎร์ คณะสงฆ์มหานิกาย เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ภาค 14 คณะสงฆ์หนกลาง

ประวัติ

วัดหนองเพียร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2500 โดยความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ คือ บ้านหนองเพียน บ้านหนองบอน บ้านนาพุทรา บ้านลาดตะเข้ บ้านทุ่งหลวง และบ้านดอนตะกู[1]

แต่เดิมก่อนสร้างวัด ชาวบ้านหมู่บ้านดังกล่าวต้องเดินทางไปทำบุญยังวัดซึ่งอยู่ในชุมชนใกล้เคียง คือ วัดโพธิ์ศรีเจริญ วัดวังพลับใต้ วัดเกาะ ซึ่งไม่สะดวกนัก

นายโต๊ะ ผลวงษ์ (ชาวบ้านหนองเพียน) จึงติดต่อนายคลัง นางพวง แก้วพูล ขอบริจาคที่ดินจำนวน 4 ไร่ ไม่ได้ใช้ประกอบเกษตรกรรม มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าละเมาะ และโป่งดินกระต่ายป่า ตั้งอยู่ที่ลำรางตะคร้อ อันเป็นจุดศูนย์กลางหมู่บ้านดังกล่าว เพื่อดำนินการสร้างวัด[1]

โดยมีนายสาย มากเทพพงษ์ (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.บางงาม) เป็นตัวแทนชาวบ้านดำเนินเรื่องขออนุญาตสร้างวัด แต่ทางอำเภอและคณะสงฆ์เห็นว่าที่ดินจำนวน 4 ไร่ นั้นมีพื้นที่ไม่เพียงพอ จึงแนะนำให้หาที่ดินเพิ่ม แล้วค่อยกลับมาดำเนินเรื่องใหม่[1]

นายโต๊ะกับนายสายจึงชักชวนชาวบ้านแผ้วถางป่าละเมาะ สร้างกุฏิแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาจำวัด และจัดงานเทศน์มหาชาติ เรี่ยไรเงินสมทบทุนสร้างวัดและซื้อที่ดินเพิ่มเติม จากนั้นติดต่อขอซื้อที่ดินจากชาวบ้านในพื้นที่ติดกัน ซึ่งมีความยินดีขายให้ไม่แพง พอเป็นค่าธรรมเนียมที่ดิน ดังนี้ นายท้วน สุนทรวิภาต จำนวน 2 งาน นางแฉ่ม หอมขจร จำนวน 1 ไร่ นายพรม แก้วพูล จำนวน 2 ไร่ นางเต็ม อุ่นศรี จำนวน 12 ไร่ และนายพรม อุ่นศรี บริจาคจำนวน 1 ไร่ รวมเป็น 20 ไร่ 2 งานเศษ[2]

ทางอำเภอและคณะสงฆ์เห็นว่ามีจำนวนที่ดินเพียงพอแล้วจึงอนุญาตให้สร้างวัดได้ แต่มีข้อแม้ว่าทางวัดจะต้องสร้างโรงเรียนประชาบาลให้แก่ทางราชการด้วย

หลังจากนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงออกประกาศอนุญาตตั้งวัด มีฐานะเป็นวัดประเภทสำนักสงฆ์ชื่อว่า "วัดหนองเพียร" เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503[2]

ชาวบ้านทำนุบำรุงและพัฒนาวัดต่อเนื่องมา โดยเฉพาะสมัยพระครูพิพัฒน์สุวรรณาภรณ์ (วิชัย เผือกวงศ์ จนฺทโชโต) เป็นเจ้าอาวาส มีการดำเนินการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์หลายรายการ

วัดได้รับบริจาคที่ดินเพิ่มเติม ดังนี้ พ.ศ. 2529 นายทุ นางอ่อน ชาวหนองเพียน บริจาคที่ดินให้สร้างถนนสาธารณะเข้าออกวัด (ทางหลวงชนบท สุพรรณบุรี 5008) จำนวน 2 งาน พ.ศ. 2553 ชาวบ้านร่วมกันบริจาคซื้อที่ดินติดวัด จำนวน 6 ไร่ 50 ตารางวา พ.ศ. 2562 นางสาวจง บุญธรรม บริจาค 2 งาน พ.ศ. 2565 นางสาวเกณิกา สุริวงษ์ บริจาค 2 งาน พ.ศ. 2566 นายสำรวย อุ่นศรี บริจาค 1 งานเศษ ปัจจุบันมีที่ดินตั้งวัดรวมจำนวน 27 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวาเศษ

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 25 เมตร ยาว 41 เมตร มีฐานะเป็นวัดประเภทวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2528[3]

ปัจจุบันเป็นวัดซึ่งประชาชนนิยมท่องเที่ยว เป็นสถานที่ประดิษฐาน หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน สร้างด้วยวัสดุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ผสมปูนปั้นเป็นองค์พระ โดย พระอาจารย์สมชาย (ฉุย หนูทอง มหิสฺสโร) พระอาจารย์ประจวบ เกิดปัญญา พระอาจารย์วิชัย เผือกวงศ์ จนฺทโชโต และชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516[2] ประชาชนนิยมบนบานสานกล่าว แก้บนด้วยวิทยุทรานซิสเตอร์ มีความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวไทยและต่างประเทศ[4]

ต่อมา พ.ศ. 2554 พระครูพิพัฒน์สุวรรณาภรณ์ (วิชัย เผือกวงศ์ จนฺทโชโต) กับชาวบ้านร่วมกันบูรณะเศียรพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ซึ่งมีสภาพชำรุด ดำเนินการหล่อด้วยโลหะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แล้วนำพระเศียรเดิมบรรจุไว้ภายในพระเศียรใหม่ มีพระนามว่า หลวงพ่อขาว[2]

ทำเนียบเจ้าอาวาส

ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดหนองเพียร อดีตถึงปัจจุบัน[1][2]

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 พระอาจารย์คำ พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2505 รักษาการ, ลาออก
2 พระอาจารย์ง้วน พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2508 รักษาการ
3 พระอาจารย์เสนาะ พ.ศ. 2508 พ.ศ. 2512 รักษาการ
4 พระอาจารย์จรูญ พ.ศ. 2512 พ.ศ. 2513 รักษาการ, ครั้งที่ 1
5 พระอาจารย์วิเศษ เขมวํโส พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2514 รักษาการ
6 พระอาจารย์สมชาย (ฉุย หนูทอง มหิสฺสโร) พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2520 รักษาการ, ลาสิกขา
7 พระอาจารย์จรูญ พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2521 รักษาการ, ครั้งที่ 2
8 พระอาจารย์พร้อย พ.ศ. 2521 พ.ศ. 2522 รักษาการ
9 พระอาจารย์โต๊ะ ผลวงษ์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2523 รักษาการ, ลาสิกขา
10 พระครูพิพัฒน์สุวรรณาภรณ์ (วิชัย เผือกวงศ์ จนฺทโชโต) พ.ศ. 2523 - เจ้าอาวาส, ปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถาน

อาคาร เสนาสนะ

ประกอบด้วย[2]

  • กุฏิ จำนวน 6 หลัง หลังแรกเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2500 ต่อเนื่องมากระทั่งหลังสุดท้ายสร้างเมื่อ พ.ศ. 2525
  • หอสวดมนต์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2505 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2507
  • ศาลาการเปรียญ (ศาลาปฏิบัติธรรมชัยมงคล) เริ่มสร้างเมื่อราว พ.ศ. 2511 - 2512 ต่อเนื่องมายังไม่แล้วเสร็จ กระทั่งได้รับการอุปถัมภ์โดย พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ) แล้วเสร็จและทำพิธียกช่อฟ้าเมื่อ พ.ศ. 2521
  • เมรุ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2524
  • อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 ได้รับการอุปถัมภ์โดย พระครูศรีคณานุรักษ์ (สม คงฺคสุวณฺโณ) แล้วเสร็จ พ.ศ.2529
  • หอระฆัง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2529
  • หอกลอง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2538
  • วิหารหลวงพ่อดำ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2541
  • กำแพงแก้วอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2546 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2547
  • พระธาตุเจดีย์ศรีสุวรรณประชารังสรร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2549 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2550
  • ซุ้มประตูวัด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2555 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2556
  • วิหารหลวงพ่อขาว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2557 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2558
  • อาคารอเนกประสงค์ ศาลาชัยมงคล 1 สร้างเมื่อ พ.ศ. 2558
  • อาคารอเนกประสงค์ ศาลาชัยมงคล 2 สร้างเมื่อ พ.ศ. 2559
  • ห้องน้ำ - สุขา ระดับ 5 ดาว จำนวน 20 ห้อง ที่ศาลาชัยมงคล 1 สร้างเมื่อ พ.ศ. 2559
  • อาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2565 ได้รับการอุปถัมภ์โดย พระครูสุวรรณธรรมานุยุต (สมบุญ ปิยธมฺโม) แล้วเสร็จ พ.ศ. 2566

เทศกาล และงานประจำปี

  • พิธีสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา และทำบุญวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม
  • งานปิดทองไหว้พระ หลวงพ่อดำ หลวงพ่อขาว สักการะพระธาตุเจดีย์ศรีสุวรรณประชารังสรร วันที่ 10 - 14 มกราคม ( 5 วัน 5 คืน)
  • พิธีทำบุญอายุวัฒนมงคล พระครูพิพัฒน์สุวรรณาภรณ์ (วิชัย เผือกวงศ์ จนฺทโชโต) วันที่ 13 มกราคม
  • พิธีสรงน้ำพระ และเปลี่ยนผ้าห่มพระธาตุเจดีย์ศรีสุวรรณประชารังสรร ช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 15 เมษายน
  • ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (ออกพรรษา)
  • งานบุญบวชเนกขัมมะ (บวชชีพราหมณ์) และสวดมนต์ข้ามปี วันที่ 30 ธันวาคม - 1มกราคม (ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่)
  • พิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความร่มเย็นของแผ่นดินไทย ณ ศาลาปฏิบัติธรรมชัยมงคล ทุกวันอังคาร เวลา 18.00 น. - 20.00 น.

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 พระสมุห์วิชัย จนฺทโชโต. (2529). งานผูกพัทธสีมาวัดหนองเพียร 9 - 17 มกราคม 2530. สุพรรณบุรี: โรงพิมพ์ศรีสว่าง.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 คณะศิษย์วัดหนองเพียร. (2556). ที่ระลึกในงานทำบุญอายุวัฒนมงคลครบ 5 รอบ 60 ปี พระครูพิพัฒน์สุวรรณาภรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานวิสุงคามสีมา, เล่ม 102, ตอน 9 ง, 24 มกราคม 2528, หน้า 6
  4. kititan_pat (2022-06-23). "พนง. ถูกรางวัลใหญ่ นำ "วิทยุทรานซิสเตอร์" ถวายแก้บน หลวงพ่อดำ วัดหนองเพียร". www.komchadluek.net.
Kembali kehalaman sebelumnya