Share to:

 

วัดไก่เตี้ย (กรุงเทพมหานคร)

วัดไก่เตี้ย
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 11 ซอยบรมราชชนนี 33 ถนนบรมราชชนนี แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูวศินปริยัตยากร (สมภูมิ สมจิตฺโต)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดไก่เตี้ย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย ในแขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร[1] สภาพพื้นที่วัดเกือบล้อมรอบไปด้วยคลอง วัดไก่เตี้ยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแห่พระบรมสารีริกธาตุหรือประเพณีชักพระ ที่เริ่มแห่จากวัดนางชีโชติการาม[2]

ประวัติ

ประวัติการตั้งวัดมีสองข้อมูล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า วัดไก่เตี้ยสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2320 ในปลายสมัยกรุงธนบุรี ขณะที่ประวัติวัดทั้งฉบับกรมการศาสนาและของวัดระบุตรงกันว่า เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) สมุหนายก ต้นสกุล สนธิรัตน์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 บ้างระบุว่าปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 1[3] แต่หนังสือพระประวัติและพระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวว่าผู้สร้างคือพระนรินทราราชเสนี (เผื่อน) บิดาของท่านผู้หญิงอ่อน ภริยาเจ้าพระยารัตนาพิพิธ[4]

วัดได้รับการพัฒนาครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2511 มีการสร้างบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะและได้จัดแบบแปลนของวัดใหม่ กล่าวคือ ได้รื้ออุโบสถหลังเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากเป็นไม้และผุพังลง โดยได้ก่อสร้างขึ้นใหม่เป็นคอนกรีต มีพิธียกช่อฟ้าเมื่อ พ.ศ .2512 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2514[5]

อาคารเสนาสนะ

อุโบสถหลังใหม่ สร้างแทนอุโบสถเดิมที่รื้อไปเมื่อ พ.ศ. 2511 กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร หน้าบันทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางสมาธิ ด้านล่างมีรูปไก่อยู่ในวงกลม (คาดว่าทำขึ้นตามชื่อวัด) ลวดลายเดิมหน้าบันเป็นลายกนกและพรรณพฤกษา[6] พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ฐานมีจารึกว่าหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1989 คาดว่าอัญเชิญลงมาจากหัวเมืองเหนือในรัชกาลที่ 1 พร้อมกับพระพุทธรูปพันกว่าองค์ที่ประดิษฐานตามพระอารามหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์

วิหาร เชื่อว่าสร้างพร้อมอุโบสถหลังเดิม หน้าบันของวิหารเป็นไม้จำหลัก หน้าบันของมุขด้านล่างเป็นลายเครือเถากนกออกปลายเป็นเทพนม ตรงกลางเป็นครุฑ ส่วนหน้าบันด้านบน ตรงกลางสลักเป็นรูปวิมานท่ามกลางลายกนก (ปัจจุบันใช้เป็นกุฏิเจ้าอาวาส) มีพระพุทธฉาย ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถและวิหารภายในเขตกำแพงแก้ว

วัดมีหอระฆัง ตั้งอยู่ด้านข้างศาลาการเปรียญ เป็นหอระฆังเก่า ก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น หอพระไตรปิฎก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เชิงชายสลักไม้เป็นลายค้างคาวแบบจีน

อ้างอิง

  1. "วัดไก่เตี้ย". พระสังฆาธิการ.
  2. "ชาวพุทธสองฝั่งคลองภาษีเจริญร่วมประเพณีเก่าแก่นับ 100 ปีชักพระวัดนางชี". โพสต์ทูเดย์. 13 พฤศจิกายน 2562.
  3. วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 147
  4. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. พระประวัติและพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. กรุงเทพฯ : บรรณาคาร, 2515. หน้า 147
  5. "วัดไก่เตี้ย". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
  6. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
Kembali kehalaman sebelumnya