วิกฤติอู้ตั่น
วิกฤติอู้ตั่น (อังกฤษ: U Thant's Funeral Crisis หรือ U Thant Crisis; พม่า: ဦးသန့် အရေးအခင်း) เป็นลำดับเหตุการณ์ของการประท้วงและการก่อการกำเริบในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2517 โดยเป็นการตอบสนองต่อการที่รัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธที่จะจัดงานศพระดับรัฐให้แก่อู้ตั่น อดีตเลขาธิการทั่วไปของสหประชาชาติคนที่ 3 รัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึกและปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง ภูมิหลังอู้ตั่นซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของอู้นุได้เป็นเลขาธิการทั่วไปของสหประชาชาติใน พ.ศ. 2504 ต่อมาใน พ.ศ. 2505 เนวี่นได้ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของอู้นุ ต่อมาใน พ.ศ. 2512 อู้นุซึ่งอยู่ระหว่างการลี้ภัยได้เรียกร้องให้ล้มล้างรัฐบาลของเนวี่นที่อาคารของสหประชาชาติในนิวยอร์ก[1] การจัดการประท้วงครั้งนี้เป็นการดำเนินการของอู้นุในขณะที่อู้ตั่นเดินทางไปแอฟริกาในขณะนั้น อู้ตั่นได้ปรามอู้นุว่าทำไม่เหมาะสม แต่เนวี่นเห็นว่าอู้ตั่นเป็นพวกอู้นุ และถือว่าอู้ตั่นเป็นศัตรูของรัฐ อู้ตั่นได้เดินทางไปย่างกุ้งเพื่ออธิบายแต่เนวินไม่ให้พบ ทำให้อู้ตั่นมีปัญหาในการต่ออายุหนังสือเดินทาง[1] อู้ตั่นยังอยู่ในนิวยอร์กหลังจากที่เขาพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการทั่วไปใน พ.ศ. 2514 จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 ด้วยโรคมะเร็งปอด เนวี่นไม่เคยให้อภัย เมื่อร่างของอู้ตั่นถูกนำกลับมายังย่างกุ้ง เนวี่นปฏิเสธที่จะให้เกียรติเป็นพิเศษใด ๆ ให้จัดแต่งานศพเท่านั้น[1] ร่างของเขามาถึงในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2517[2] และนำไปยังไจกะซานเพื่อให้ประชาชนเข้าคารวะและมีแผนจะเผาที่จานดอในวันที่ 5 ธันวาคม[3] การประท้วงในวันที่จะเผา มีนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยเตรียมเช่ารถบัสมาร่วมงานแต่ถูกปฏิเสธเพราะรัฐบาลห้ามมาร่วมงาน นักศึกษาตัดสินใจเดินจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งไปยังไจกะซานเพื่อแสดงความเคารพต่ออู้ตั่นเป็นครั้งสุดท้าย โลงศพถูกยึดโดยนักศึกษาไปยังมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง วางไว้บนเวทีและมีพระสงฆ์มาสวดมนต์ มีนักศึกษาจัดเวรยามเฝ้า มีนักศึกษากล่าวสุนทรพจน์ต่อต้านรัฐบาล ในวันที่ 6 ธันวาคม นักศึกษาได้ส่งจดหมายไปยังรัฐบาล แสดงความจำนงต้องการให้มีการจัดงานศพระดับรัฐ และถ้าปฏิเสธ พวกเขาจะจัดเองในฐานะวีรบุรุษของชาติ พวกเขาเลือกสถานที่ที่เคยเป็นอาคารสหภาพนักศึกษาที่ถูกทำลายไปเมื่อ พ.ศ. 2505 เป็นที่ฝังศพ[4] ในวันที่ 7 ธันวาคม รัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอ อู้ตั่นจะถูกฝังที่เชิงเจดีย์ชเวดากองโดยไม่มีงานศพระดับรัฐ ครอบครัวของอู้ตั่นต้องการงานศพแบบสาธารณะมากกว่างานศพระดับรัฐที่จัดโดยระบอบเผด็จการทหาร ในการประชุมระหว่างครอบครัวของอู้ตั่น ตัวแทนนักศึกษาและพระสงฆ์ เสียงส่วนใหญ่ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล[4] ในวันที่ 8 ธันวาคม โลงศพของอู้ตั่นได้วางไว้ที่บริเวณที่เป็นอาคารสหภาพนักศึกษาเป็นการชั่วคราว มีผู้เข้าร่วมคารวะศพอู้ตั่นเป็นจำนวนมาก ในที่สุด นักศึกษาหัวรุนแรงได้ยึดโลงศพอีกครั้งเพื่อฝังอู้ตั่นในบริเวณอาคารสหภาพนักศึกษา[4] ทำให้โลงศพของอู้ตั่นยังอยู่ที่นั่นและมีธงสหประชาชาติคลุม ในคืนนั้น วิทยุของรัฐบาลได้ประกาศว่านักศึกษาละเมิดข้อตกลงและไม่ยอมรับความต้องการของครอบครัวอู้ตั่น จึงถือว่านักศึกษาทำผิดกฎหมาย และเข้ายึดครองพื้นที่ของมหาวิทยาลัย การปะทะเช้าวันที่ 11 ธันวาคม ตำรวจและทหารบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย[4] และฆ่านักศึกษาที่ไม่มีอาวุธและยึดโลงศพไป เกิดการก่อกำเริบในย่างกุ้ง ฝูงชนที่โกรธแค้นเข้าไปทำลายสถานีตำรวจและโรงภาพยนตร์ เกิดไฟไหม้และมีคนถูกฆ่า รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึกและปราบปรามฝูงชนอย่างรุนแรง[3][5][6] งานศพครั้งสุดท้ายรัฐบาลได้ฝังศพอู้ตั่นไว้ที่สวนของฐานทัพใกล้กับพระเจดีย์ชเวดากอง อ้างอิง
|