ประเทศพม่า
พม่า[13][14] หรือ เมียนมา[15] (พม่า: မြန်မာ, ออกเสียง: [mjəmà]) มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (ပြည်ထောင်စု သမ္မတ မြန်မာနိုင်ငံတော်, [pjìdàʊ̯ɰ̃zṵ θəməda̰ mjəmà nàɪ̯ŋàɰ̃dɔ̀]) เป็นรัฐเอกราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดกับอินเดีย บังกลาเทศ จีน ลาว และไทย หนึ่งในสามของพรมแดนพม่าที่มีความยาว 1,930 กิโลเมตรเป็นแนวชายฝั่งตามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน ด้วยพื้นที่ 676,578 ตารางกิโลเมตร พม่าจึงเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 40 ของโลก เป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ที่สุดในแผ่นดินคาบสมุทรอินโดจีน พม่ามีประชากรราว 54 ล้านคน[16] มีเมืองหลวงคือ กรุงเนปยีดอ และนครใหญ่สุดคือ ย่างกุ้ง[17] อารยธรรมช่วงต้นของพม่ามีนครรัฐปยูที่พูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่าในพม่าตอนบน และราชอาณาจักรมอญในพม่าตอนล่าง ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชาวพม่าได้เข้าครอบครองบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนบน และสถาปนาราชอาณาจักรพุกามในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1050 ภาษาและวัฒนธรรมพม่าพร้อมด้วยศาสนาพุทธนิกายเถรวาทค่อย ๆ ครอบงำในประเทศ อาณาจักรพุกามล่มสลายเพราะการบุกครองของมองโกลและรัฐหลายรัฐกำเนิดขึ้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ราชวงศ์ตองอูสร้างเอกภาพอีกครั้ง และเป็นจักรวรรรดิใหญ่สุดในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสั้น ๆ[18] ต่อมา ในต้นศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์โก้นบองได้ปกครองพื้นที่พม่าและควบคุมมณีปุระและอัสสัมในช่วงสั้น ๆ ด้วย บริติชพิชิตพม่าหลังสงครามอังกฤษ-พม่าทั้งสามครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และประเทศกลายเป็นอาณานิคมบริติช ก่อนจะได้รับเอกราชในปี 2491 โดยในช่วงช่วงแรกมีการปกครองแบบชาติประชาธิปไตย และหลังรัฐประหารใน พ.ศ. 2505 พม่าอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร[19] พรรคโครงการสังคมนิยมพม่าโดยนายพลเนวี่นมีบทบาทนำในการปกครองประเทศ การก่อการกำเริบ 8888 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองของประเทศ แม้กองทัพจะยังมีบทบาทสำคัญจนถึงปัจจุบัน พม่าต้องเผชิญกับการต่อสู้ชาติพันธุ์ที่รุนแรงมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยังดำเนินอยู่ยาวนานที่สุดสงครามหนึ่งของโลก สหประชาชาติและอีกหลายองค์การรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอย่างต่อเนื่อง[20][21][22] ในปี 2554 มีการยุบคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองอย่างเป็นทางการหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2553 และมีการตั้งรัฐบาลในนามพลเรือน แต่อดีตผู้นำทหารยังมีอำนาจภายในประเทศโดยผู้นำพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเป็นอดีตนายทหารระดับสูง กองทัพพม่าดำเนินการสละการควบคุมรัฐบาล รวมถึงการปล่อยตัวอองซานซูจีและนักโทษทางการเมือง มีการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนนำไปสู่การผ่อนปรนการลงโทษทางการค้าและเศรษฐกิจอื่น ๆ[23][24] ทว่ายังมีการวิจารณ์การปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาของรัฐบาลและการสนองต่อการปะทะกันทางศาสนา ซึ่งความขัดแย้งยังเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน[25][26][27] แม้ว่านางอองซานซูจีจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2563 ทว่ากองทัพพม่าได้ก่อรัฐประหารอีกครั้งในปี 2564[28] รัฐบาลทหารได้จับกุมและตั้งข้อหาทางอาญานางอองซานซูจีอีกครั้งในความผิดฐานทุจริตและฝ่าฝืนกฎระเบียบในช่วงโควิด-19[29] อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตจากนานาชาติว่าการตั้งข้อหาดังกล่าวล้วนเกิดจากเหตุจูงใจทางการเมือง[30] การรัฐประหารครั้งล่าสุดยังนำไปสู่การประท้วงใน พ.ศ. 2564–2565 และลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองโดยกองทัพได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม[31] พม่าเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2540 และยังเป็นสมาชิกการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก, ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และบิมสเทค แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครือจักรภพแห่งประชาชาติ แม้จะเคยเป็นประเทศอาณานิคมของสหราชอาณาจักร และยังเป็นประเทศคู่เจรจาที่สำคัญในองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ประเทศพม่าอุดมด้วยหยก อัญมณี น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และทรัพยากรแร่อื่น ๆ ทั้งยังขึ้นชื่อในด้านพลังงานทดแทน และมีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดในบรรดากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง[32] ในปี 2556 จีดีพี (ราคาตลาด) อยู่ที่ 56,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีดีพี (อำนาจซื้อ) อยู่ที่ 221,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[33] พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุดในโลก[34][35] เนื่องจากภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ถูกผู้สนับสนุนอดีตรัฐบาลทหารควบคุม[36][37] พม่ายังมีระดับการพัฒนามนุษย์ต่ำโดยอยู่อันดับที่ 147 จาก 189 ประเทศจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ในปี 2563[38] นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีประชากรเมียนมาอย่างน้อยหลายแสนรายต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น สืบเนื่องจากความรุนแรงในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร และมีประชากรราวสามล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน[39] นิรุกติศาสตร์ชื่อประเทศของพม่าทั้ง Myanmar และ Burma เป็นที่ถกเถียงกันมาหลายทศวรรษ[40][41] โดยทั้งสองชื่อต่างก็ได้รับความนิยมทั้งในบริบททางการรวมถึงการใช้ทั่วไป[42] ทั้งสองคำมาจากการแผลงคำในภาษาพม่า Mranma และ Mramma ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพม่ามายาวนาน[43] และหลักฐานบางชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าชื่อทั้งสองมีที่มาจากภาษาสันสกฤต Brahma Desha (ब्रह्मादेश/ब्रह्मावर्त) ซึ่งสื่อถึงพระพรหม[44] ในปี 2532 รัฐบาลทหารได้มีมติให้ใช้ชื่อประเทศในภาษาอังกฤษว่า Myanmar รวมถึงให้ใช้ชื่อนี้ในการอ้างถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยย้อนไปตั้งแต่ยุคการปกครองของสหราชอาณาจักร แต่ชื่อดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก โดยกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศรวมถึงชาติอื่น ๆ ที่ต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการทหารของพม่ายังคงใช้ชื่อ Burma ต่อ[45] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและผู้นำประเทศได้ใช้ชื่อ Myanmar เพื่อแทนตัวเองในการติดต่อกับต่างชาติทุกโอกาสมานับตั้งแต่นั้น ในเดือนเมษายน 2559 ไม่นานหลังการเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ อองซานซูจีได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวโดยเธอกล่าวว่า "ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เนื่องจากไม่มีการบัญญัติอย่างตายตัวในรัฐธรรมนูญของประเทศเราที่ระบุว่าต้องใช้ชื่อใดระหว่างสองชื่อนี้" เธอยังกล่าวอีกว่า "ฉันมักจะใช้ชื่อ Burma เพราะความเคยชิน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องทำเช่นนั้น และฉันยินดีที่จะใช้คำว่า Myanmar ให้บ่อยขึ้นเพื่อให้รัฐบาลสบายใจ"[46] ชื่อเต็มของประเทศคือ "สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา" (ပြည်ထောင်စုသမ္မတ မြန်မာနိုင်ငံတော်, Pyihtaungsu Thamada Myanma Naingngantaw, อ่านว่า [pjìdàʊɴzṵ θàɴməda̰ mjəmà nàɪɴŋàɴdɔ̀]) หรือที่บางประเทศเรียกอย่างย่อว่า "สหภาพพม่า" (Union of Burma) เชื่อกันว่ามีที่มาตั้งแต่สมัยพม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และแม้ว่ารัฐบาลพม่าจะใช้ชื่อ Myanmar เป็นหลัก แต่รัฐบาลของชาติตะวันตกหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ยังนิยมเรียกประเทศพม่าว่า Burma ในปัจจุบัน โดยในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐใช้คำว่า Burma และมีการใส่ (Myanmar) ต่อท้ายในวงเล็บกำกับไว้ด้วย รวมถึงเดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊กของซีไอเอก็มีการระบุชื่อประเทศเป็น Burma ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เช่นกัน[47] รัฐบาลแคนาดาเคยใช้คำว่า Burma ในช่วงที่พม่าถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น Myanmar ในเดือนสิงหาคม 2563[48] โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีการบัญญัติวิธีการออกเสียงชื่อประเทศพม่าในภาษาอังกฤษอย่างตายตัว และนักภาษาศาสตร์สมัยใหม่กล่าวว่า พบการออกเสียงที่แตกต่างกันอย่างน้อย 9 แบบ โดยการออกเสียง 2 พยางค์นั้นพบบ่อยครั้งในพจนานุกรมของสหราชอาณาจักรและสหรัฐ[49] ยกเว้นฉบับคอลลินส์ (Collins English Dictionary)[50] ซึ่งออกเสียงสามพยางค์ (mjænˈmɑːr/, /ˈmjænmɑːr/, /ˌmjɑːnˈmɑːr/) พจนานุกรมจากแหล่งอื่นมีการออกเสียงสามพยางค์บ้าง เช่น /ˈmiː.ənmɑːr/, /miˈænmɑːr/, /ˌmaɪ.ənˈmɑːr/, /maɪˈɑːnmɑːr/, /ˈmaɪ.ænmɑːr/. ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ของพม่านั้นมีความยาวนานและซับซ้อน มีประชาชนหลายเผ่าพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เผ่าพันธุ์เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏได้แก่ชาวมอญ ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวพม่าได้อพยพลงมาจากบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและทิเบต เข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และได้กลายเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ที่ปกครองประเทศในเวลาต่อมา ความซับซ้อนของประวัติศาสตร์พม่ามิได้เกิดขึ้นจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนพม่าเท่านั้น แต่เกิดจากความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอันได้แก่ จีน, อินเดีย, บังกลาเทศ, ลาว และไทย มอญมนุษย์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนของประเทศพม่าเมื่อราว 11,000 ปีมาแล้ว แต่กลุ่มชนแรกที่สามารถสร้างอารยธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนได้ในดินแดนพม่าก็คือชาวมอญ ชาวมอญได้สถาปนาอาณาจักรสุธรรมวดี อันเป็นอาณาจักรแห่งแรกขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ณ บริเวณเมืองสะเทิม ชาวมอญได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธผ่านทางอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ซึ่งเชื่อว่ามาจากการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช บันทึกของชาวมอญส่วนใหญ่ถูกทำลายในระหว่างสงคราม วัฒนธรรมของชาวมอญเกิดขึ้นจากการผสมเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ากับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนกลายเป็นวัฒนธรรมลักษณะลูกผสม ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 ชาวมอญได้เข้าครอบครองและมีอิทธิพลในดินแดนตอนใต้ของพม่า ปยูชาวปยูเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศพม่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 4 และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่นที่ พินนาคา (Binnaka) มองกะโม้ (Mongamo) ศรีเกษตร (Sri Ksetra) เบะตะโน่ (Beikthano) และฮะลี่น (Halin) ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนพม่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย จากเอกสารของจีนพบว่า มีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวปยู 18 เมือง และชาวปยูเป็นชนเผ่าที่รักสงบ ไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นระหว่างชนเผ่าปยู ข้อขัดแย้งมักยุติด้วยการคัดเลือกตัวแทนให้เข้าประลองความสามารถกัน ชาวปยูสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทำจากฝ้าย อาชญากรมักถูกลงโทษด้วยการโบยหรือจำขัง เว้นแต่ได้กระทำความผิดอันร้ายแรงจึงต้องโทษประหารชีวิต ชาวปยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 20 ปี นครรัฐของชาวปยูไม่เคยรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่นครรัฐขนาดใหญ่มักมีอิทธิพลเหนือนครรัฐขนาดเล็กซึ่งแสดงออกโดยการส่งเครื่องบรรณาการให้ นครรัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดได้แก่ศรีเกษตร ซึ่งมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอาณาจักรศรีเกษตรถูกสถาปนาขึ้นเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารว่ามีการเปลี่ยนราชวงศ์เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 637 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรศรีเกษตรต้องได้รับการสถาปนาขึ้นก่อนหน้านั้น มีความชัดเจนว่า อาณาจักรศรีเกษตรถูกละทิ้งไปในปีพุทธศักราช 1199 เพื่ออพยพย้ายขึ้นไปสถาปนาเมืองหลวงใหม่ทางตอนเหนือ แต่ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองใด นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองฮะลี่น อย่างไรก็ตามเมืองดังกล่าวถูกรุกรานจากอาณาจักรน่านเจ้าในราวพุทธศตวรรษที่ 15 จากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงชาวปยูอีก อาณาจักรพุกามชาวพม่าเป็นชนเผ่าจากทางตอนเหนือที่ค่อย ๆ อพยพแทรกซึมเข้ามาสั่งสมอิทธิพลในดินแดนประเทศพม่าทีละน้อย กระทั่งปีพุทธศักราช 1392 จึงมีหลักฐานถึงอาณาจักรอันทรงอำนาจซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง "พุกาม" (Pagan) โดยได้เข้ามาแทนที่ภาวะสุญญากาศทางอำนาจภายหลังจากการเสื่อมสลายไปของอาณาจักรชาวปยู อาณาจักรของชาวพุกามแต่แรกนั้นมิได้เติบโตขึ้นอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา (พ.ศ. 1587–1620) พระองค์จึงสามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ และเมื่อพระองค์ทรงตีเมืองท่าตอนของชาวมอญได้ในปีพุทธศักราช 1600 อาณาจักรพุกามก็กลายเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งที่สุดในดินแดนพม่า อาณาจักรพุกามมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจานซิต้า (พ.ศ. 1624–1655) และพระเจ้าอลองสิธู (พ.ศ. 1655–1710) ทำให้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ดินแดนในคาบสมุทรสุวรรณภูมิเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดยอาณาจักรเพียงสองแห่ง คืออาณาจักรเขมรและอาณาจักรพุกาม อำนาจของอาณาจักรพุกามค่อย ๆ เสื่อมลง ด้วยเหตุผลหลักสองประการ ส่วนหนึ่งจากการถูกเข้าครอบงำโดยของคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ และอีกส่วนหนึ่งจากการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลที่เข้ามาทางตอนเหนือ พระเจ้านรสีหบดี (ครองราชย์ พ.ศ. 1779–1830) ได้ทรงนำทัพสู่ยุนนานเพื่อยับยั้งการขยายอำนาจของมองโกล แต่เมื่อพระองค์แพ้สงครามที่งาซองจาน (Ngasaunggyan) ในปีพุทธศักราช 1820 ทัพของอาณาจักรพุกามก็ระส่ำระสายเกือบทั้งหมด พระเจ้านรสีหบดีถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ในปีพุทธศักราช 1830 กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้อาณาจักรมองโกลตัดสินใจรุกรานอาณาจักรพุกามในปีเดียวกันนั้น ภายหลังสงครามครั้งนี้ อาณาจักรมองโกลก็สามารถเข้าครอบครองดินแดนของอาณาจักรพุกามได้ทั้งหมด ราชวงศ์พุกามสิ้นสุดลงเมื่อมองโกลได้แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นบริหารดินแดนพม่าในปีพุทธศักราช 1832 อังวะและหงสาวดีหลังจากการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม พม่าได้แตกแยกออกจากกันอีกครั้ง ราชวงศ์อังวะซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรพุกามได้ถูกสถาปนาขึ้นที่เมืองอังวะในปีพุทธศักราช 1907 ศิลปะและวรรณกรรมของพุกามได้ถูกฟื้นฟูจนยุคนี้กลายเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมของพม่า แต่เนื่องด้วยอาณาเขตที่ยากต่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู เมืองอังวะจึงถูกชาวไทใหญ่เข้าครอบครองได้ในปีพุทธศักราช 2070 สำหรับดินแดนทางใต้ ชาวมอญได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตนขึ้นใหม่อีกครั้งที่หงสาวดี โดยมะกะโทหรือพระเจ้าฟ้ารั่ว เป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของมอญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาทและศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา ราชวงศ์ตองอูพระเจ้าเมงจีโย ได้รวบรวมชาวพม่าที่หลงเหลืออยู่อย่างกระจัดกระจาย โดยสถาปนาเมืองตองอูขึ้นเป็นราชธานี เมืองตองอูเข้มแข็งขึ้นมาในรัชสมัยของ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระโอรสของพระองค์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2074–2093) และได้แผ่อาณาเขตของอาณาจักรขยายไปรอบด้าน เช่น แปร, พะสิม อังวะ, ยะไข่ และที่สำคัญที่สุดคือ หงสาวดี อันเป็นอาณาจักรเดิมของชาวมอญ ในช่วงระยะเวลานี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาค ชาวไทใหญ่มีกำลังเข้มแข็งเป็นอย่างมากทางตอนเหนือ การเมืองภายในอาณาจักรอยุธยาเกิดความไม่มั่นคง ในขณะที่โปรตุเกสได้เริ่มมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสามารถเข้าครอบครองมะละกาได้ การเข้ามาของบรรดาพ่อค้าชาวยุโรป ทำให้พม่ากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง การที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ตีและย้ายเมืองหลวงจากตองอูมาอยู่ที่เมืองหงสาวดีซึ่งเป็นเมืองของชาวมอญ เหตุผลส่วนหนึ่งก็เนื่องด้วยทำเลทางการค้าและการกดให้ชาวมอญอยู่ภายใต้อำนาจ พระเจ้าบุเรงนอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2094–2124) ซึ่งเป็นพระเทวัน (พี่เขย) ของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาและสามารถเข้าครอบครองอาณาจักรต่าง ๆ รายรอบได้ อาทิ มณีปุระ (พ.ศ. 2103) อยุธยา (พ.ศ. 2112) ในรัชสมัยของพระองค์พม่ามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด อย่างไรก็ตาม ทั้งมณีปุระและอยุธยา ต่างก็ประกาศตนเป็นอิสระภายในเวลาต่อมาไม่นาน เมื่อต้องเผชิญกับการก่อกบฏจากเมืองขึ้นหลายแห่ง ประกอบกับการรุกรานของโปรตุเกส กษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูจำเป็นต้องถอนตัวจากการครอบครองดินแดนทางตอนใต้ โดยย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองอังวะ พระเจ้าอะเนาะเพะลูน พระนัดดาของพระเจ้าบุเรงนอง สามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งในพุทธศักราช 2156 พระองค์ตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้าต่อต้านการรุกรานของโปรตุเกส พระเจ้าตาลูน ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ได้ฟื้นฟูหลักธรรมศาสตร์ของอาณาจักรพุกามเก่า แต่พระองค์ทรงใช้เวลากับเรื่องศาสนามากเกินไป จนละเลยที่จะใส่ใจต่ออาณาเขตทางตอนใต้ ท้ายที่สุด หงสาวดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสซึ่งตั้งมั่นอยู่ในอินเดีย ก็ได้ทำการประกาศเอกราชจากอังวะ จากนั้นอาณาจักรของชาวพม่าก็ค่อย ๆ อ่อนแอลงและล่มสลายไปในปีพุทธศักราช 2295 จากการรุกรานของชาวมอญ ราชวงศ์โก้นบองราชวงศ์โก้นบอง หรือ ราชวงศ์อลองพญา ได้รับการสถาปนาขึ้นและสร้างความเข้มแข็งจนถึงขีดสุดได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว พระเจ้าอลองพญาซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมจากชาวพม่า ได้ขับไล่ชาวมอญที่เข้ามาครอบครองดินแดนของชาวพม่าได้ในปี 2296 จากนั้นก็สามารถเข้ายึดครองอาณาจักรมอญทางใต้ได้ในปี 2302 ทั้งยังสามารถกลับเข้ายึดครองกรุงมณีปุระได้ในช่วงเวลาเดียวกัน หลังจากเข้ายึดครองตะนาวศรีพระองค์ได้ยาตราทัพเข้ารุกรานอยุธยา แต่ต้องประสบความล้มเหลวเมื่อพระองค์สวรรคตระหว่างการสู้รบ พระเจ้ามังระ (ครองราชย์ พ.ศ. 2306 – 2319) พระราชโอรส ได้โปรดให้ส่งทัพเข้ารุกรานอาณาจักรอยุธยาอีกครั้งในปี 2309 ซึ่งประสบความสำเร็จในปีถัดมา ในรัชสมัยนี้แม้จีนจะพยายามขยายอำนาจเข้าสู่ดินแดนพม่า แต่พระองค์ก็สามารถยับยั้งการรุกรานจากจีนได้ทั้งสี่ครั้ง (ช่วงปี 2309–2312) ทำให้ความพยายามในการขยายพรมแดนของจีนทางด้านนี้ต้องยุติลง ในรัชสมัยของพระเจ้าปดุง (ครองราชย์ พ.ศ. 2324–2362) พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าอลองพญา พม่าต้องสูญเสียอำนาจที่มีเหนืออยุธยาไป แต่ก็สามารถผนวกดินแดนยะไข่ และตะนาวศรีเข้ามาไว้ได้ในปี 2327 และ 2336 ตามลำดับ ในช่วงเดือนมกราคมของปี 2366 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าจักกายแมง (ครองราชย์ พ.ศ. 2362–2383) ขุนนางชื่อมหาพันธุละ นำทัพเข้ารุกรานแคว้นมณีปุระและอัสสัมได้สำเร็จ ทำให้พม่าต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับอังกฤษที่ครอบครองอินเดียอยู่ในขณะนั้น สงครามกับอังกฤษและการล่มสลายของราชอาณาจักรสืบเนื่องจากการพยายามขยายอำนาจของอังกฤษ กองทัพอังกฤษได้เข้าทำสงครามกับพม่าในปี 2367 สงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2367–2369) ยุติลงโดยอังกฤษเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ฝ่ายพม่าจำต้องทำสนธิสัญญารานตะโบกับอังกฤษ ทำให้พม่าต้องสูญเสียดินแดนอัสสัม, มณีปุระ, ยะไข่ และตะนาวศรีไป ซึ่งอังกฤษก็เริ่มต้นตักตวงทรัพยากรต่าง ๆ ของพม่านับแต่นั้นเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับวัตถุดิบที่จะป้อนสู่สิงคโปร์ สร้างความแค้นเคืองให้กับทางพม่าเป็นอย่างมาก กษัตริย์องค์ต่อมาจึงทรงยกเลิกสนธิสัญญารานตะโบ และทำการโจมตีผลประโยชน์ของฝ่ายอังกฤษทั้งต่อบุคคลและเรือ เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่สอง ซึ่งก็จบลงโดยชัยชนะเป็นของอังกฤษอีกครั้ง หลังสิ้นสุดสงครามครั้งนี้อังกฤษได้ผนวกดินแดนทางใต้เข้าไว้กับตน โดยเรียกดินแดนดังกล่าวใหม่ว่าพม่าตอนล่าง สงครามครั้งนี้ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในพม่า เริ่มต้นด้วยการเข้ายึดอำนาจโดยพระเจ้ามินดง (ครองราชย์ พ.ศ. 2396–2421) จากพระเจ้าพุกามแมง (ครองราชย์ พ.ศ. 2389–2396) ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนี พระเจ้ามินดงพยายามพัฒนาประเทศพม่าเพื่อต่อต้านการรุกรานของอังกฤษ พระองค์ได้สถาปนามัณฑะเลย์ ซึ่งยากต่อการรุกรานจากภายนอกขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการรุกรานจากอังกฤษได้ รัชสมัยต่อมา พระเจ้าสีป่อ (ครองราชย์ พ.ศ. 2421–2428) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้ามินดง ทรงมีบารมีไม่พอที่จะควบคุมอาณาจักรได้ จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นไปทั่วในบริเวณชายแดน ในที่สุดพระองค์ได้ตัดสินพระทัยยกเลิกสนธิสัญญากับอังกฤษที่พระเจ้ามินดงได้ทรงกระทำไว้ และได้ประกาศสงครามกับอังกฤษเป็นครั้งที่สามในปี 2428 ผลของสงครามครั้งนี้ทำให้อังกฤษสามารถเข้าครอบครองดินแดนประเทศพม่าส่วนที่เหลือเอาไว้ได้ทั้งหมด เอกราชพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 2429 และระยะก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย ญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ติดต่อกับพวกทะขิ่น ซึ่งเป็นองค์กรของนักชาตินิยมในพม่า มีออง ซาน ผู้นำของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเป็นหัวหน้า พวกทะขิ่นเข้าใจว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุนการประกาศอิสรภาพของพม่าจากอังกฤษ แต่เมื่อญี่ปุ่นยึดครองพม่าได้แล้วกลับพยายามหน่วงเหนี่ยวมิให้พม่าประกาศเอกราช และได้ส่งอองซานและพวกทะขิ่นประมาณ 30 คน เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อรับคำแนะนำในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ เมื่อคณะของอองซานได้เดินทางกลับพม่าใน พ.ศ. 2485 อองซานได้ก่อตั้ง องค์การสันนิบาตเสรีภาพแห่งประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Peoples Freedom League: AFPFL) เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ องค์การนี้ภายหลังได้กลายเป็นพรรคการเมือง ชื่อ พรรค AFPFL เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว อองซานและพรรค AFPFL ได้เจรจากับอังกฤษ โดยอังกฤษยืนยันที่จะให้พม่ามีอิสรภาพปกครองตนเองภายใต้เครือจักรภพ และมีข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำพม่าช่วยให้คำปรึกษา แต่อองซานมีอุดมการณ์ที่ต้องการเอกราชอย่างสมบูรณ์ อังกฤษได้พยายามสนันสนุนพรรคการเมืองอื่น ๆ ขึ้นแข่งอำนาจกับพรรค AFPFL ของอองซานแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงยินยอมให้พรรค AFPFL ขึ้นบริหารประเทศโดยมีอองซานเป็นหัวหน้า อองซานมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และต้องการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษโดยสันติวิธี จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ในพรรค AFPFL อองซานและคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน จึงถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2490 ขณะที่เดินออกจากที่ประชุมสภา ต่อมาตะขิ้นนุหรืออู นุ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2490 โดยอังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่พม่าแต่ยังรักษาสิทธิทางการทหารไว้ 4 มกราคม 2491 อังกฤษจึงได้มอบเอกราชให้แก่พม่าอย่างสมบูรณ์ เมื่อพม่าได้รับเอกราชแล้ว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหภาพพม่า โดยมี เจ้าส่วยแต้ก เป็นประธานาธิบดีคนแรก และ มี อู นุ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก โดยพม่าไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ เครือจักรภพแห่งชาติ เหมือนกับประเทศอดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ รัฐสภาซึ่งเป็นระบบสองสภาถูกจัดตั้งขึ้น และมีการเลือกตั้งระบบหลายพรรคเกิดขึ้นในปี 2494, 2495, 2499 และ 2503 ในปี 2504 นาย อู้ตั่น ซึ่งขณะนั้นดำรวตำแหน่งเป็นผู้แทนถาวรของสหภาพพม่าประจำองค์การสหประชาชาติ ได้รับการรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เป็นคนแรกของเอเชีย โดยดำรงตำแหน่งถึง 10 ปี ระบอบทหารใน พ.ศ. 2501 ประเทศพม่าประสบความล้มเหลวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนั้น สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ยังแตกแยกออกเป็นสองส่วน กลุ่มหนึ่งนำโดยอู นุและติน อีกกลุ่มนำโดยบะส่วยและจอเย่ง แม้อูนุจะประสบความสำเร็จในการนำประชาธิปไตยเข้าสู่ยะไข่โดยอูเซนดา แต่เกิดปัญหากับชาวปะโอ ชาวมอญ และชาวไทใหญ่ ปัญหาเหล่านี้ทำให้รัฐสภาไม่มีเสถียรภาพ แม้อูนุจะผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจโดยได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมสหชาติ กองทัพได้เจรจาปัญหาเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่ากับรัฐบาลของอูนุ ทำให้อูนุเชิญเน วิน ผู้บัญชาการทหารเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล กลุ่มแนวร่วมสหชาติถูกจับกุม 400 คน และมี 153 คนถูกส่งไปยังหมู่เกาะโกโกในทะเลอันดามัน ในกลุ่มที่ถูกจับกุมมีอองทาน พี่ชายของอองซานด้วย หนังสือพิมพ์ Botahtaung Kyemon Rangoon Daily ถูกสั่งปิด รัฐบาลของเน วินประสบความสำเร็จในการทำให้สถานการณ์มั่นคงและเกิดการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2503 ซึ่งพรรคสหภาพของอูนุได้เสียงข้างมาก แต่เสถียรภาพไม่ได้เกิดขึ้นนาน เมื่อขบวนการสหพันธ์ฉานนำโดยเจ้าส่วยใต้ เจ้าฟ้าเมืองยองห้วยที่เป็นประธานาธิบดีคนแรกของพม่า ต้องการสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ที่ขอแยกตัวออกไปได้เมื่อรวมตัวเป็นสหภาพครบสิบปี เน วิน พยายามลดตำแหน่งเจ้าฟ้าของไทใหญ่โดยแลกกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2502 ในที่สุด เน วินได้ก่อรัฐประหารในวัที่ 2 มีนาคม 2505 อูนุและอีกหลายคนถูกจับกุม เจ้าส่วยใต้ถูกยิงเสียชีวิต เจ้าจาแสง เจ้าฟ้าเมืองตี่บอหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยที่จุดตรวจใกล้ตองจี ภายหลังจากการรัฐประหาร พม่าถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร นำโดยคณะปฏิวัติของเน วิน สังคมทั้งหมดถูกควบคุมและอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ผ่านรูปแบบสังคมนิยม ซึ่งดัดแปลงมาจากแนวคิดของสหภาพโซเวียต และ การวางแผนจากส่วนกลาง รัฐธรรมนูญใหม่แห่ง สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ได้ถูกประกาศใช้ปี 2517 ในช่วงเวลานั้นพม่าถูกปกครองโดยระบบพรรคการเมืองเดียว คือ พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า นำโดยเน วิน และ อดีตนายทหารหลายนาย จนกระทั่งถึงปี 2531 ซึ่งนับว่าในขณะนั้น พม่าได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก[51] มีการปฏิวัติระดับชาติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. 2531 การปฏิวัติเริ่มในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 (ค.ศ. 1988) และจากวันที่นี้ (8-8-88) ทำให้เหตุการณ์นี้มักเป็นที่รู้จักในชื่อ "การก่อการปฏิวัติ 8888" ประเทศพม่าปกครองด้วยพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ที่มีพรรคการเมืองเดียวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 การปกครองเน้นชาตินิยมและรัฐเข้าควบคุมการวางแผนทุกประการ การลุกฮือเริ่มต้นจากนักศึกษาในเมืองย่างกุ้งเมื่อ 8 สิงหาคม ข่าวการประท้วงของนักศึกษาได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ[52] ต่อมามีประชาชนเรือนแสนที่เป็นพระภิกษุ เยาวชน นักศึกษา แม่บ้านและหมอ ออกมาประท้วงต่อต้านระบอบการปกครอง รัฐบาลได้มีคำสั่งให้สลายฝูงชนด้วยอาวุธ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก[53] ในวันที่ 18 กันยายน เกิดการรัฐประหารและทหารได้กลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง มีการจัดตั้งสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรที่เปลี่ยนรูปมาจากพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า หลังจากที่ได้ประกาศกฏอัยการศึก ได้เกิดการประท้วงที่รุนแรงขึ้น นักศึกษา พระสงฆ์และนักเรียนราวพันคนถูกสังหาร และมีประชาชนอีก 500 คนถูกฆ่าในการประท้วงนอกสถานทูตสหรัฐอเมริกา นักศึกษาบางส่วนได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย[52][54][55] ในขณะที่ในพม่ารายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 350 คน[56][57] ในวันที่ 21 กันยายน รัฐบาลได้เข้ามาปกครองประเทศและขบวนการต่อต้านได้สลายตัวไปในเดือนตุลาคม เมื่อสิ้นปี 2531 เชื่อว่าผู้เสียชีวิตร่วมหมื่นคนและสูญหายอีกจำนวนมากจากปฏิบัติการทางทหารระหว่างการก่อการปฏิวัติ การประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่นำโดยคณะพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักศึกษาและประชาชน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550 จากการไม่พอใจของประชาชนต่อการประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบเท่าตัว และขึ้นราคาก๊าซหุงต้มถึง 5 เท่าอย่างฉับพลันโดยมิได้ประกาศแจ้งบอกของรัฐบาลทหารพม่า[58] การประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยมา จนถึงวันที่ 5 กันยายน มีการชุมนุมประท้วงที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองปะโคะกู ทางตอนกลางของประเทศ เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งพระสงฆ์จำนวน 3 รูป สื่อมวลชนบางแห่งเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า Saffron Revolution หรือ การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์[59][60] คณะพระภิกษุ ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับความเคารพอย่างสูงจากชาวพม่า ประกาศ "ปฐม นิคหกรรม" ไม่รับบิณฑบาตจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารพม่า ทหาร และครอบครัว และเรียกร้องให้ทางการพม่า ขอโทษองค์กรสงฆ์อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 17 กันยายน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ภิกษุสงฆ์จึงเริ่มเข้าร่วมการประท้วงด้วยตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน เมื่อรวมผู้ประท้วงแล้วมากกว่า 1 แสนคน การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การประท้วงเมื่อปี 2531 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน ในการใช้กำลังทหารเข้าสลายการประท้วง[61] ปัจจุบันรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพได้ประกาศ "แนวทางปฏิบัติสู่ประชาธิปไตย" ตั้งแต่ปี 2536 แต่กระบวนการนี้ดูเหมือนจะหยุดชะงักหลายครั้ง กระทั่งในปี 2551 รัฐบาลได้ตีพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติฉบับใหม่ และจัดให้มีการลงประชามติระดับชาติ (ที่มีข้อบกพร่อง) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้การเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติที่มีอำนาจแต่งตั้งประธานาธิบดีในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจในการควบคุมกองทัพในทุกระดับ[62] การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี ถูกคว่ำบาตรโดยสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย พรรคสหสามัคคีและการพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพประกาศชัยชนะ โดยอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากคะแนนเสียงร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง[63] ต่อมาได้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีนายพลเต้นเซนเป็นประธานาธิบดี[64] นำไปสู่กิจกรรมทางประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปิดการค้าและการปฏิรูปในประเทศจนถึงปี 2554 รวมถึงการปล่อยตัวนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยจากการถูกกักบริเวณในบ้าน การจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การอนุญาตให้มีการนิรโทษกรรมทั่วไปสำหรับนักโทษการเมืองมากกว่า 200 คน การตรากฎหมายแรงงานใหม่ที่อนุญาตให้มีสหภาพแรงงาน และการนัดหยุดงาน การผ่อนคลายการเซ็นเซอร์สื่อ และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับสกุลเงิน จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สหรัฐฯมีแผนพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่า โดยส่ง นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาเยือนพม่าในเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งถือเป็นการเยือนพม่าครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในรอบกว่าห้าสิบปี ซึ่งได้เข้าพบประธานาธิบดีเต้นเซนและผู้นำฝ่ายค้านอองซานซูจี[65] ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2555 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยชนะ 43 ที่นั่งจากทั้งหมด 45 ที่นั่ง และยังเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนจากต่างประเทศได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบกระบวนการลงคะแนนเสียงในพม่า[66] การเลือกตั้งทั่วไป 2558 และการเลือกตั้งรัฐสภา 2563มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีการแข่งขันอย่างเปิดเผยในพม่านับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2533 (ซึ่งถูกยกเลิก) และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยได้ที่นั่งข้างมากในทั้งสองสภา ซึ่งเพียงพอที่จะรับรองได้ว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะได้เป็นประธานาธิบดี ในขณะที่ผู้นำพรรคอย่างอองซานซูจี ถูกห้ามดำรงแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ[67] รัฐสภาชุดใหม่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และในวันที่ 15 มีนาคม ทีนจอ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี โดยเขาเป็นบุคคลพลเรือนคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2505[68] ต่อมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน อองซานซูจีเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐซึ่งเป็นตำแหน่งที่เพิ่งมีการแต่งตั้งเป็นครั้งแรก โดยมีหน้าที่คล้ายนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งรัฐสภาในปี 2563 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซานซูจี ได้เข้าแข่งขันกับพรรคการเมืองเล็ก ๆ หลายพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งสนับสนุนโดยกองทัพ พรรคการเมืองและบุคคลอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรกับชนกลุ่มน้อยเฉพาะก็ลงสมัครรับตำแหน่งเช่นกัน พรรคของนางซูจีชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 อย่างถล่มทลาย[69] และชนะการเลือกตั้งในทั้งสองสภาอีกครั้งโดยชนะ 396 ที่นั่งจาก 476 ที่นั่งในรัฐสภา[70] พรรคสหสามัคคีซึ่งถือเป็นตัวแทนของกองทัพ ประสบความพ่ายแพ้อย่าง "อัปยศ" ยิ่งกว่าในปี 2555 โดยได้ที่นั่งเพียง 33 ที่นั่งจาก 476 ที่นั่ง แต่นายทหารระดับสูงปฏิเสธผลการเลือกตั้ง[71] และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยมีทหารเป็นผู้สังเกตการณ์แทน พรรคการเมืองเล็ก ๆ อีกกว่า 90 พรรคร่วมคัดค้านการลงคะแนนเสียง รวมถึงอีกกว่า 15 พรรคที่ร้องเรียนการกระทำดังกล่าว[72] อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งประกาศว่าไม่มีสิ่งผิดปกติที่สำคัญในการลงคะแนนเสียง กองทัพได้เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพเมียนมา (UEC) และรัฐบาลตรวจสอบผลการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมาธิการปฏิเสธข้อเรียกร้องเนื่องจากไม่มีหลักฐานใด ๆ แต่กองทัพยังคงไม่ยอมรับ[73] และขู่ว่าจะทำการตอบโต้ในเร็ววัน[74][75] รัฐประหาร 2564ในช่วงเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภามีการประชุม กองทัพพม่ามอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มี่นอองไลง์ เข้าควบคุมประเทศ[76] และประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลาหนึ่งปีและมีการปิดพรมแดน[77] จำกัดการเดินทางและการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศ กองทัพประกาศว่าจะแทนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีอยู่ด้วยคณะกรรมการการชุดใหม่ และสื่อทางการทหารระบุว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ภายในหนึ่งปี แม้ว่ากองทัพจะหลีกเลี่ยงการให้คำมั่นอย่างเป็นทางการ[78] ที่ปรึกษาของรัฐ อองซานซูจี และประธานาธิบดี วี่น-มหยิ่น ถูกกักบริเวณในบ้าน และทหารได้เริ่มยื่นฟ้องหลายข้อหากับพวกเขา ทหารขับไล่สมาชิกรัฐสภาพรรคสันนิบาตแห่งชาติออกจากกรุงเนปิดอว์ภายในวันที่ 15 มีนาคม ผู้นำทางทหารโดยกลุ่มของมี่นอองไลง์ยังคงขยายกฎอัยการศึกไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของย่างกุ้ง ในขณะที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้สังหารผู้คนไป 38 คนในวันเดียว ในวันที่สองของการทำรัฐประหาร ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนตามถนนในเมืองใหญ่ รวมถึงนครย่างกุ้ง และการประท้วงบริเวณอื่น ๆ ก็ปะทุทั่วประเทศ[79] ส่งผลให้การค้าและการขนส่งหยุดชะงัก แม้ว่ากองทัพจะจับกุมและสังหารผู้ประท้วง แต่สัปดาห์แรกของการทำรัฐประหารพบว่าประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงกลุ่มข้าราชการ ครู นักศึกษา คนงาน พระ และผู้นำทางศาสนา แม้แต่ชนกลุ่มน้อย การรัฐประหารถูกประณามทันทีโดยเลขาธิการสหประชาชาติและผู้นำของประเทศประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดิน แห่งสหรัฐอเมริกา ผู้นำทางการเมืองของยุโรปตะวันตก และชาติประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอื่น ๆ ทั่วโลกที่เรียกร้องหรือกระตุ้นให้ปล่อยตัวผู้นำเชลย และหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยในทันที สหรัฐฯ ขู่คว่ำบาตรกองทัพและผู้นำรวมถึงการ "ระงับ" ทรัพย์สินมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์[80] อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ รัสเซีย เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ และจีน ละเว้นจากการวิจารณ์การรัฐประหาร ผู้แทนของรัสเซียและจีนได้หารือกับผู้นำกองทัพพม่าเพียงไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร การสมรู้ร่วมคิดที่เป็นไปได้ของพวกเขาทำให้ผู้ประท้วงในพม่าไม่พอใจ[81] ภูมิศาสตร์ประเทศพม่า ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 676,578 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ (หรือคาบสมุทรอินโดจีน) และใหญ่เป็นอันดับที่ 40 ของโลก ตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 9° และ 29° เหนือ และลองติจูด 92° และ 102° ตะวันออก ประเทศพม่ามีพรมแดนติดต่อกับบังกลาเทศยาว 271 กิโลเมตร (168 ไมล์) ติดกับอินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือยาว 1,468 กิโลเมตร (912 ไมล์) พรมแดนทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับทิเบตและมณฑลยูนนานของจีนยาว 2,129 กิโลเมตร (1,323 ไมล์) ติดกับลาวยาว 238 กิโลเมตร (148 ไมล์) และติดกับไทยยาว 2,416 กิโลเมตร (1,501 ไมล์) พม่ามีแนวชายฝั่งต่อเนื่องตามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันทางตะวันตกเฉียงใต้และใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของพรมแดนทั้งหมด[82] การแบ่งเขตการปกครองประเทศพม่าแบ่งเขตการปกครองในระดับภูมิภาคออกเป็น 7 ภาค (တိုင်းဒေသကြီး) สำหรับพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พม่า และ 7 รัฐ (ပြည်နယ်) สำหรับพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย และ 1 ดินแดนสหภาพ (ပြည်တောင်စုနယ်မြေ) ได้แก่
อากาศพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเขตร้อนทรอปิกออฟแคนเซอร์และเส้นศูนย์สูตร ตั้งอยู่ในเขตมรสุมของเอเชีย โดยบริเวณชายฝั่งจะมีปริมาณน้ำน้ำฝนมากกว่า 5,000 มม. (196.9 นิ้ว) ต่อปี ปริมาณน้ำฝนรายปีในภูมิภาคอยู่ที่ประมาณ 2,500 มม. (98.4 นิ้ว) ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยในเขตแห้งแล้งในภาคกลางน้อยกว่า 1,000 มม. (39.4 นิ้ว) ภาคเหนือของประเทศจะอากาศเย็นที่สุด โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 21 °C (70 °F) บริเวณชายฝั่งและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32 °C (89.6 °F)[84] สิ่งแวดล้อมพม่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพด้วยพืชมากกว่า 16,000 ชนิด, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 314 ชนิด, นก 1,131 ชนิด, สัตว์เลื้อยคลาน 293 ชนิด และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 139 ชนิด รวมถึงพืชพรรณเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน พื้นที่ชุ่มน้ำที่ถูกน้ำท่วมตามฤดูกาล พม่ามีระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ยังไม่ถูกทำลายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ระบบนิเวศที่เหลืออยู่ในปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาการคุกคามจากมนุษย์ ที่ดินของพม่ามากกว่าหนึ่งในสามได้ถูกแปลงเป็นระบบนิเวศของมนุษย์ในช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา และเกือบครึ่งหนึ่งของระบบนิเวศกำลังถูกคุกคาม พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด สิ่งนี้ก่อให้เกิดความท้าทายทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล พม่ามีคะแนนเฉลี่ยดัชนีความสมบูรณ์ของภูมิทัศน์ป่าไม้ปี 2562 ที่ 7.18/10 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 49 ของโลกจาก 172 ประเทศ[85] การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าของพม่ามีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศส่วนใหญ่ ป่าไม้ รวมถึงการเติบโตอย่างหนาแน่นในเขตร้อนและไม้สักอันมีค่าในภูมิภาคตอนล่างซึ่งรอบคลุมพื้นที่กว่า 49% ของประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤติ การทำลายป่านำไปสู่กฎหมายป่าไม้ฉบับใหม่ปี 2538 มีผลบังคับใช้และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในปัจจุบัน สัตว์ป่าทั่วไป โดยเฉพาะเสือโคร่ง พบได้น้อยในพม่า สัตว์ที่พบได้ในตอนบนของประเทศเช่น แรด ควายป่า เสือดาวลายเมฆ หมูป่า กวาง ละมั่ง และช้าง ซึ่งบางที่มีการเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กยังมีอยู่มากมายตั้งแต่ชะนีและลิงไปจนถึงค้างคาวแม่ไก่ นกมีมากกว่า 800 สายพันธุ์ รวมทั้งนกแก้ว นกขุนทอง นกยูง นกป่าแดง นกทอผ้า อีกา นกกระสา และนกเค้าแมว สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ จระเข้ ตุ๊กแก งูเห่า งูเหลือมพม่า และเต่า ปลาน้ำจืดหลายร้อยสายพันธุ์มีความหลากหลาย อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ[86] รัฐบาลและการเมืองประเทศพม่าเผชิญกับหนึ่งในสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อที่สุดท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายซึ่งยังแก้ไม่ตก ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ถึง 2554 ประเทศพม่าอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองถูกยุบอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2554 หลังการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2553 และมีการตั้งรัฐบาลพลเรือนในนามแทน แต่ทหารยังมีอิทธิพลอยู่มาก สหประชาชาติและอีกหลายองค์การได้รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบในพม่า รวมทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การข่มขืน แรงงานเด็ก ทาส การค้ามนุษย์ และการขาดเสรีภาพในการพูด ในช่วงปีหลัง พม่าและผู้นำทหารได้ผ่อนปรนต่อนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและกำลังพัฒนาความสัมพันธ์อย่างช้า ๆ กับมหาอำนาจและสหประชาชาติ พม่าดำเนินการทางนิตินัยในฐานะสาธารณรัฐที่มีการรวมตัวและเป็นอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยอองซานซูจี ถูกกองทัพพม่าขับไล่และก่อรัฐประหาร[87] กองทัพประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลาหนึ่งปี และมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มี่นอองไลง์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีของพม่าจะทำหน้าที่เป็นประมุข และประธานสภาบริหารแห่งรัฐทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลโดยพฤตินัย สมัชชาสหภาพแรงงานรัฐธรรมนูญของพม่าซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นับตั้งแต่ได้รับเอกราช ถูกร่างโดยผู้ปกครองทหารและตีพิมพ์ในเดือนกันยายน 2551 พม่าปกครองด้วยระบบรัฐสภาที่มีสภานิติบัญญัติแบบสองสภา (โดยมีประธานาธิบดีบริหารรับผิดชอบสภานิติบัญญัติ) สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ และสมาชิกที่เหลือได้รับเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป สภานิติบัญญัติเรียกว่าสภาแห่งสหภาพ (Assembly of the Union) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรแห่งสัญชาติ 224 ที่นั่งและสภาผู้แทนราษฎรล่าง 440 ที่นั่ง สภาสูงประกอบด้วยสมาชิก 168 คนที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงและ 56 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพพม่า สภาล่างประกอบด้วยสมาชิก 330 คนที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงและ 110 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ นโยบายต่างประเทศในอดีต พม่ามีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับชาติตะวันตก แต่สถานการณ์ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่การปฏิรูปหลังการเลือกตั้งในปี 2553 หลังจากหลายปีของการแยกตัวทางการทูตและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการทหาร สหรัฐฯ ได้ผ่อนปรนมาตรการช่วยเหลือต่างประเทศแก่พม่าในเดือนพฤศจิกายน 2554 และประกาศการเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้งในวันที่ 13 มกราคม 2555 สหภาพยุโรปได้คว่ำบาตรพม่า รวมถึงการคว่ำบาตรอาวุธ การยุติสิทธิพิเศษทางการค้าและการระงับความช่วยเหลือทั้งหมด ยกเว้นความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2555 เดวิด แคเมรอน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในขณะนั้น เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า[88][89] แม้จะแยกตัวจากชาติตะวันตก แต่โดยทั่วไปแล้วบริษัทในเอเชียยังคงเต็มใจที่จะลงทุนในประเทศต่อไปและมีการวางแผนเริ่มลงทุนใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ พม่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดียและจีน โดยมีบริษัทอินเดียและจีนหลายแห่งที่ดำเนินงานในประเทศ ภายใต้นโยบาย Look East ของอินเดีย ความร่วมมือระหว่างอินเดียและพม่ารวมถึงการสำรวจระยะไกล การสำรวจน้ำมันและก๊าซ เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานน้ำ และการก่อสร้างท่าเรือและอาคาร[90][91] ในปี 2551 อินเดียระงับความช่วยเหลือทางทหารแก่พม่าสืบเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลเผด็จการ ถึงแม้ว่าอินเดียจะยังรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับพม่าอยู่ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและเบลารุสเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 เมื่อนายกรัฐมนตรี มิคาอิล มยาสนิโควิช แห่งเบลารุสและภรรยาของเขา ลุดมิลา มาเยือนกรุงเนปยีดอ ในวันเดียวกับที่พม่าได้รับการเยือนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเข้าพบผู้นำฝ่ายค้านประชาธิปไตยของอองซานซูจี ทั้งสองชาติยังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไปในเดือนกันยายน 2555 เมื่ออองซานซูจีเยือนสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคม 2556 เต้นเซนกลายเป็นประธานาธิบดีพม่าคนแรกที่ไปเยือนทำเนียบขาวในรอบ 47 ปี ผู้นำพม่าคนสุดท้ายที่ไปเยือนทำเนียบขาวคือพลเอกเนวี่นในเดือนกันยายน 2509 ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ยกย่องอดีตนายพลเรื่องการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ และการยุติความตึงเครียดระหว่างพม่าและสหรัฐอเมริกา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคัดค้านการเยือนดังกล่าวเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า แต่โอบามารับรองเต้นเซนว่าพม่าจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ[92] ผู้นำทั้งสองหารือถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองเพิ่ม การปรับโครงสร้างการปฏิรูปการเมืองและหลักนิติธรรม และการยุติความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า รัฐบาลทั้งสองตกลงที่จะลงนามในข้อตกลงกรอบการค้าและการลงทุนทวิภาคีในวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 กองทัพพม่าได้รับความช่วยเหลือทางทหารมากมายจากจีนในอดีต[93] พม่าเป็นสมาชิกของอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2540 แม้ว่าจะเลิกดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2549 แต่ก็เป็นประธานการประชุมและเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดในปี 2557[94] ในเดือนพฤศจิกายน 2551 สถานการณ์ทางการเมืองของพม่ากับบังคลาเทศเพื่อนบ้านเริ่มตึงเครียดเมื่อพวกเขาเริ่มค้นหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวเบงกอลที่มีข้อพิพาท ความขัดแย้งรอบด้านด้านประชากรโรฮีนจายังคงเป็นปัญหาระหว่างบังกลาเทศและพม่า[95] กองกำลังติดอาวุธของพม่าเรียกว่ากองทัพพม่าซึ่งมีจำนวน 488,000 คน กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ พม่าอยู่ในอันดับสิบสองของโลกสำหรับจำนวนทหารประจำการที่ประจำการอยู่ กองทัพมีอิทธิพลอย่างมากในพม่า โดยตำแหน่งรัฐมนตรีและกระทรวงระดับสูงทั้งหมดมักเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการสำหรับการใช้จ่ายทางทหาร การประมาณการแตกต่างกันอย่างมากเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่แน่นอน แต่ค่าใช้จ่ายของกองกำลังทหารของพม่านั้นสูง พม่านำเข้าอาวุธส่วนใหญ่จากรัสเซีย ยูเครน จีน และอินเดีย พม่าอยู่ระหว่างการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการวิจัยใกล้กับพินอูลวินด้วยความช่วยเหลือจากรัสเซีย[96] พม่าเป็นหนึ่งในผู้ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2535 และเป็นสมาชิกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ตั้งแต่ปี 2500 รัฐบาลทหารได้แจ้ง IAEA ในเดือนกันยายน 2540 ถึงความตั้งใจที่จะสร้างเครื่องปฏิกรณ์ในปี 2553 พม่าถูกตั้งข้อสงสัยว่าใช้ทีมก่อสร้างของเกาหลีเหนือเพื่อสร้างฐานป้องกันขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ[97] ณ ปี 2562 สำนักงานควบคุมอาวุธแห่งสหรัฐอเมริกาประเมินว่าพม่าไม่ได้ละเมิดพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ แต่รัฐบาลพม่ามีประวัติความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับโครงการและเป้าหมายด้านนิวเคลียร์ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนเป็นที่วิจารณ์กันโดยทั่วไประบอบทหารในพม่า (พ.ศ. 2505-53) เป็นระบอบที่กดขี่ประชาชนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก[98] ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ซาแมนธา พาวเวอร์ ผู้ช่วยพิเศษของประธานาธิบดี บารัก โอบามา หัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชน เขียนบนบล็อกของทำเนียบขาวก่อนการเยือนของประธานาธิบดีว่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อพลเรือนในหลายภูมิภาคยังดำเนินต่อไป รวมถึงต่อผู้หญิงและเด็ก” สมาชิกของสหประชาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรายใหญ่ได้ออกรายงานซ้ำ ๆ และสม่ำเสมอเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย[99] สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเคารพสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง และในเดือนพฤศจิกายน 2552 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติ "ประณามอย่างรุนแรงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบ" และเรียกร้องให้กองทัพพม่าดำเนินการ "ใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรม"[100] องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึง ฮิวแมนไรตส์วอตช์, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ สมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน ได้จัดทำเอกสารและประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในวงกว้างในพม่าหลายครั้ง รายงาน The Freedom in the World 2011 โดย Freedom House ระบุว่า "รัฐบาลเผด็จการทหารได้ ... ปราบปรามสิทธิขั้นพื้นฐานเกือบทั้งหมด และกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ต้องรับโทษ" ในเดือนกรกฎาคม 2556 สมาคมช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองระบุว่ามีนักโทษการเมืองประมาณ 100 คนถูกคุมขังในเรือนจำพม่า[101] หลักฐานที่รวบรวมโดยนักวิจัยชาวอังกฤษตีพิมพ์ในปี 2548 เกี่ยวกับการกดขี่ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม เช่น กะเหรี่ยง และฉาน การบังคับเยาวชนไปเป็นทหารทหารเด็กมีบทบาทสำคัญในกองทัพพม่าจนถึงประมาณปี 2555 สำนักข่าวอิสระรายงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ว่า "เด็ก ๆ ถูกขายเป็นทหารเกณฑ์ในกองทัพพม่าด้วยเงินเพียง 40 ดอลลาร์และข้าวหนึ่งถุงหรือน้ำมันหนึ่งกระป๋อง"[102] ราธิกา คูมารัสวามี ผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติของเลขาธิการเพื่อเด็กและความขัดแย้งทางอาวุธซึ่งลาออกจากตำแหน่งในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ได้พบกับตัวแทนของรัฐบาลพม่าในเดือนกรกฎาคม 2555 และกล่าวว่าเธอหวังว่ารัฐบาลจะลงนามแผนปฏิบัติการจะ "ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลง" ในเดือนกันยายน 2555 กองทัพพม่าปล่อยทหารเด็ก 42 นาย และองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้พบกับตัวแทนของรัฐบาลและกองทัพกะชีนอิสระเพื่อประกันการปล่อยตัวทหารเพิ่มเติม ตามรายงานของ ซาแมนธา พาวเวอร์ คณะผู้แทนของสหรัฐฯ ได้หยิบยกประเด็นเรื่องทหารเด็กกับรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2555 อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าของรัฐบาลในการปฏิรูปในด้านนี้ ชาวโรฮีนจาชาวโรฮีนจาต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องจากระบอบการปกครองของพม่าที่ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าพวกเขาเป็นพลเมืองพม่า (แม้ว่าบางคนจะอาศัยอยู่ในพม่ามานานกว่าสามชั่วอายุคน) ชาวโรฮีนจาถูกปฏิเสธไม่ให้สัญชาติพม่าตั้งแต่มีการตรากฎหมายในปี 2525[103] ระบอบการปกครองของพม่าพยายามบังคับขับไล่ชาวโรฮีนจาและมีการขับไล่ชาวประมาณครึ่งหนึ่งจากจำนวน 800,000 คนออกจากพม่า ในขณะที่ชาวโรฮีนจาได้รับการอธิบายว่าเป็น "ชนกลุ่มน้อยที่เป็นที่ต้อนรับน้อยที่สุดของโลก" และ "ชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดของโลก" ชาวโรฮีนจาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ ถูกห้ามไม่ให้ถือครองที่ดิน และต้องลงนามในคำมั่นสัญญาว่าจะมีบุตรไม่เกินสองคน ณ เดือนกรกฎาคม 2555 รัฐบาลพม่าไม่รวมชนกลุ่มน้อยโรฮีนญาซึ่งจัดเป็นชาวเบงกาลีมุสลิมที่ไร้สัญชาติจากบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2525 ในรายการของรัฐบาลที่มีเชื้อชาติมากกว่า 130 ชาติพันธุ์ ดังนั้น รัฐบาลจึงระบุว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์ขอสัญชาติพม่า[104] ในปี 2550 ศาสตราจารย์ บาสซัม ตีบี ชาวเยอรมัน เสนอว่าความขัดแย้งโรฮีนจาอาจขับเคลื่อนโดยวาระทางการเมืองของอิสลามิสต์เพื่อกำหนดกฎหมายทางศาสนา[105] ในขณะที่สาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเช่นกัน เช่น ความขุ่นเคืองที่คงอยู่ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่น และการยึดครองพม่าในสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงเวลานี้ อังกฤษได้เป็นพันธมิตรกับชาวโรฮีนจาและต่อสู้กับรัฐบาลหุ่นเชิดของพม่า (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบามาร์ญี่ปุ่น) ที่ช่วยก่อตั้งกองทัพพม่า ที่มีอำนาจมายาวนานยกเว้นในช่วง 5 ปี (2559 - 2564) เศรษฐกิจประเทศพม่าอุดมไปด้วยทรัพยากร แต่เศรษฐกิจพม่าเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจด้อยพัฒนาที่สุดในโลก จีดีพีของพม่าอยู่ที่ 42,953 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สหภาพยุโรป สหรัฐ แคนาดา และอีกหลายประเทศได้กำหนดการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่า ระบบสาธารณสุขของพม่าเป็นหนึ่งในระบบสาธารณสุขที่เลวร้ายที่สุดในโลก องค์การอนามัยโลกจัดอันดับพม่าไว้อันดับที่ 190 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย ประเทศพม่ามี เกษตรกรรม เป็นอาชีพหลัก เขตเกษตรกรรมคือบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสะโตง แม่น้ำทวาย-มะริด ปลูกข้าวเจ้า ปอกระเจา อ้อย และพืชเมืองร้อนอื่น ๆ ส่วนเขตฉาน อยู่ติดแม่น้ำโขงปลูกพืชผักจำนวนมาก ทำเหมืองแร่ ภาคกลางตอนบนมีน้ำมันปิโตรเลียม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขุดแร่ หิน สังกะสี และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ทำเหมืองดีบุกทางตอนใต้เมืองมะริดมีเพชรและหยกจำนวนมาก การทำป่าไม้ มีการทำป่าไม้สักทางภาคเหนือ ส่งออกขายและล่องมาตามแม่น้ำอิรวดีเข้าสู่ย่างกุ้ง อุตสาหกรรม กำลังพัฒนา อยู่บริเวณตอนล่าง เช่น ย่างกุ้ง และ มะริด และทวาย เป็นอุตสาหกรรมต่อเรือเดินสมุทรที่ใหญ่ของพม่า การคมนาคมการขนส่งทางบก ได้แก่ ทางถนนและทางรถไฟ ทางถนน ถนนในพม่าส่วนใหญ่ขนานไปกับภูเขาและแม่น้ำ ทอดไปตามความยาวของประเทศ เช่นเดียวกับทางรถไฟ ถนนสายต่าง ๆ ที่สำคัญมีดังนี้ ถนนพม่า เป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างย่างกุ้งกับเมืองคุนหมิง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน มีความยาวในเขตพม่าถึงเมืองหมู่แจ้ ประมาณ 1,160 กิโลเมตร และมีความยาวในเขตจีนจากหมู่แจ้ถึงคุนหมิง ประมาณ 90 กิโลเมตร ถนนสายนี้ผ่านเมืองต่าง ๆ คือ หงสาวดี-ตองอู-ปยี่นมะน่า-เมะทีลา-มัณฑะเลย์-สี่ป้อ-ล่าเสี้ยว-แสนหวี-หมู่แจ้ รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,140 กิโลเมตร ใช้การทุกฤดูกาล ส่วนทางรถไฟของพม่าได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2481 การขนส่งทางน้ำ การคมนาคมขนส่งทางน้ำภายในประเทศ นับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศพม่าเป็นอย่างมาก และยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวดีมีทางน้ำอยู่มากมาย และเป็นเขตที่มีประชาชนพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ประกอบกับเส้นทางถนนและทางรถไฟยังมีจำกัด สกุลเงินสกุลเงินของประเทศพม่า คือ จัต (Kyat) อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 43.19 จัตต่อ 1 บาท[106] หรือประมาณ 1,390.91 จัตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ[107] (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2563) เกษตรกรรมสินค้าเกษตรที่สำคัญคือข้าว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 60% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของประเทศ ข้าวคิดเป็น 97% ของการผลิตเมล็ดพืชอาหารทั้งหมดโดยน้ำหนัก โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ 52 พันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ออกจำหน่ายในประเทศระหว่างปี 2509-2540 ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวของประเทศเป็น 14 ล้านตันในปี 2530 และ 19 ล้านตันในปี 2539 โดยในปี 2531 มีการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ครึ่งหนึ่งของนาข้าวของประเทศ รวมทั้งร้อยละ 98 ของพื้นที่ชลประทาน ในปี 2551 ผลผลิตข้าวคิดเป็นประมาณ 50 ล้านตัน[108] อุตสาหกรรมสำคัญพม่าผลิตอัญมณีล้ำค่า เช่น ทับทิม ไพลิน ไข่มุก และหยก ทับทิมที่มีมูลค่าสูงสุดกว่า 90% ของทับทิมที่ขายทั่วโลกมาจากพม่าซึ่งหินสีแดงได้รับการยกย่องในด้านความบริสุทธิ์และสีสันสวยงาม ประเทศไทยซื้ออัญมณีส่วนใหญ่มาจาก "หุบเขาแห่งทับทิม" พื้นที่ภูเขา โม่โกะ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางเหนือ 200 กม. (120 ไมล์) ขึ้นชื่อเรื่องทับทิมสีเลือดของนกพิราบและไพลินสีน้ำเงินที่หายาก[109] บริษัทเครื่องประดับในสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายแห่ง รวมถึง Bulgari, Tiffany และ Cartier ปฏิเสธที่จะนำเข้าอัญมณีเหล่านี้โดยอิงจากรายงานสภาพการทำงานที่น่าสงสารในเหมือง ฮิวแมนไรตส์วอตช์ สนับสนุนการห้ามซื้ออัญมณีพม่าโดยสมบูรณ์ตามรายงานเหล่านี้[110] และเนื่องจากผลกำไรเกือบทั้งหมดตกเป็นของรัฐบาลเผด็จการ เนื่องจากกิจกรรมการขุดส่วนใหญ่ในประเทศเป็นกิจการของรัฐบาล รัฐบาลพม่าควบคุมการค้าอัญมณีด้วยการเป็นเจ้าของโดยตรงหรือโดยการร่วมทุนกับเจ้าของเหมืองส่วนตัว ธาตุแรร์เอิร์ธเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากพม่าจัดหาแร่หายากประมาณ 10% ของโลก ความขัดแย้งในรัฐคะฉิ่นได้คุกคามการปฏิบัติงานของทุ่นระเบิด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ สินค้าเกษตร สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากไม้ วัสดุก่อสร้าง อัญมณี โลหะ น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ สมาคมวิศวกรรมแห่งพม่าได้ระบุสถานที่อย่างน้อย 39 แห่งที่สามารถผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพได้ และแหล่งกักเก็บความร้อนใต้พิภพเหล่านี้บางแห่งตั้งอยู่ใกล้กับย่างกุ้งซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการผลิตไฟฟ้า การท่องเที่ยวรัฐบาลได้รายได้จากบริการการท่องเที่ยวของภาคเอกชน[111] สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมได้แก่เมืองใหญ่ เช่น ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ สถานที่ทางศาสนาในรัฐมอญ พินดายา พะโค และพะอาน เส้นทางศึกษาธรรมชาติในทะเลสาบอี้นเล่ เชียงตุง, ปูดาโอ, ปยีนอู้ลวีน เมืองโบราณเช่นพุกามและมเยาะอู้ เช่นเดียวกับชายหาดในนาบูเล อย่างไรก็ตาม ในปี 2544 คณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวพม่าได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคุ้มครองนักท่องเที่ยวและจำกัด "การติดต่อที่ไม่จำเป็น" ระหว่างชาวต่างชาติกับชาวพม่า วิธีที่นิยมมากที่สุดสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศคือทางอากาศ ตามเว็บไซต์ Lonely Planet การเดินทางเข้าสู่พม่ามีปัญหาสำคัญได้แก่: "ไม่มีบริการรถประจำทางหรือรถไฟเชื่อมต่อพม่ากับประเทศอื่น และไม่สามารถเดินทางโดยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ข้ามพรมแดน - แต่ต้องเดินข้ามมาเท่านั้น" พวกเขากล่าวเพิ่มเติมว่า "เป็นไปไม่ได้สำหรับชาวต่างชาติที่จะไป/กลับจากพม่าโดยทางทะเลหรือแม่น้ำ" มีการผ่านแดนไม่กี่แห่งที่อนุญาตให้ยานพาหนะส่วนตัวผ่านได้ เช่น พรมแดนระหว่างรุ่ยลี่ (จีน) ไปยัง หมู่แจ้ พรมแดนระหว่าง Htee Kee (พม่า) และด่านพุน้ำร้อน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นพรมแดนที่ตรงที่สุดระหว่างทวายและกาญจนบุรี และชายแดนระหว่างเมียวดี และแม่สอด ประเทศไทย บริษัทท่องเที่ยวอย่างน้อยหนึ่งแห่งประสบความสำเร็จในการดำเนินการเส้นทางการค้าทางบกผ่านพรมแดนเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2556 ประชากรศาสตร์ผลการสำรวจสำมะโนประชากรพม่า พ.ศ. 2557 พบว่ามีประชากรทั้งหมด 51,419,420 คน[112] ตัวเลขนี้รวมบุคคลประมาณ 1,206,353 คนในบางส่วนของรัฐยะไข่ตอนเหนือ รัฐกะชีน และรัฐกะเหรี่ยงบุคคลที่อยู่นอกประเทศในช่วงเวลาของการสำรวจสำมะโนประชากรจะไม่รวมอยู่ในตัวเลขเหล่านี้ มีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนจากพม่าในประเทศไทยกว่า 600,000 คน และอีกหลายล้านคนทำงานอย่างผิดกฎหมาย พลเมืองพม่าคิดเป็น 80% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมดในประเทศไทย[113] ความหนาแน่นของประชากรของประเทศอยู่ที่ 76 ต่อตารางกิโลเมตร (200/ตร.ไมล์) ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัตราการเจริญพันธุ์ของพม่า ณ ปี 2554 อยู่ที่ 2.23 ซึ่งสูงกว่าระดับเฉลี่ยเล็กน้อย และต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน เช่น กัมพูชา (3.18) และลาว (4.41) ภาวะเจริญพันธุ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษ 2000 จากอัตรา 4.7 เด็กต่อผู้หญิงหนึ่งคนในปี 1983 ลดลงเหลือ 2.4 ในปี 2001 แม้จะไม่มีนโยบายด้านประชากรของประเทศก็ตาม และอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำในเขตเมือง[114] เมืองใหญ่สุดเชื้อชาติจำนวนประชากรประมาณ 53,582,855 คน มีชาติพันธุ์พม่า 68% ไทใหญ่ 10% กะเหรี่ยง 7% ยะไข่ 3.5% จีน 3% มอญ 2% กะชีน 1.5% อินเดีย 2% ชีน 1% คะยา 0.8% เชื้อชาติอื่น ๆ 5% ศาสนาในปี ค.ศ. 2014[116] ประเทศพม่ามีประชากรที่นับถือศาสนา แบ่งได้ดังนี้ ศาสนาพุทธ 87.9% ศาสนาคริสต์ 6.2% ศาสนาอิสลาม 4.3% พื้นบ้าน 0.8% ศาสนาฮินดู 0.5% อื่น ๆ 0.2% และไม่นับถือศาสนา 0.1% หลายศาสนามีการปฏิบัติในพม่า ศาสนสถานและคำสั่งสอนมีมาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ประชากรชาวคริสต์และมุสลิมต้องเผชิญกับการกดขี่ทางศาสนา และเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวพุทธที่จะเข้าร่วมกองทัพหรือหางานทำในรัฐบาลซึ่งเป็นเส้นทางหลักสู่ความสำเร็จในประเทศ การกดขี่ข่มเหงและการกำหนดเป้าหมายของพลเรือนดังกล่าวมีความโดดเด่นเป็นพิเศษในภาคตะวันออกของพม่า ซึ่งมีหมู่บ้านมากกว่า 3,000 แห่งถูกทำลายในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ชาวมุสลิมมากกว่า 200,000 คนหนีไปบังกลาเทศภายในปี 2550 เพื่อหนีการกดขี่ข่มเหง[117] ภาษานอกจากภาษาพม่า ซึ่งเป็นภาษาทางการแล้ว พม่ามีภาษาหลักที่ใช้งานในประเทศถึงอีก 18 ภาษา[118] โดยแบ่งตามตระกูลภาษาได้ดังนี้
สาธารณสุขภาวะสุขภาพโดยทั่วไปในพม่านั้นย่ำแย่ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพียง 0.5% ถึง 3% ของ GDP ของประเทศในด้านการดูแลสุขภาพซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลกทุกปี แม้ว่าการรักษาพยาบาลจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในทางนิตินัย แต่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ายาและการรักษาแม้แต่ในคลินิกของรัฐและโรงพยาบาล โรงพยาบาลของรัฐขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์พื้นฐานมากมาย อัตราการตายของมารดาในปี 2553 ต่อการเกิด 100,000 คนในพม่าคือ 240 เมื่อเปรียบเทียบกับ 219.3 ในปี 2551 และ 662 ในปี 2533 อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 5 ต่อการเกิด 1,000 คนคือ 73 และอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดเมื่ออายุต่ำกว่า 5 ปีคือ 47 ตามรายงานชื่อ "ชะตากรรมที่ป้องกันได้" ซึ่งจัดพิมพ์โดยแพทย์ไร้พรมแดน ผู้ป่วยโรคเอดส์ในพม่า 25,000 รายเสียชีวิตในปี 2550 ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยยาต้านไวรัสและการรักษาที่เหมาะสม[119] เอชไอวี/เอดส์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นโรคที่น่าเป็นห่วงโดยกระทรวงสาธารณสุขของพม่า เป็นโรคที่แพร่ระบาดมากที่สุดในหมู่ผู้ให้บริการทางเพศและผู้เสพยาทางหลอดเลือดดำ ในปี 2548 อัตราความชุกของเชื้อเอชไอวีในผู้ใหญ่โดยประมาณในพม่าอยู่ที่ 1.3% (200,000–570,000 คน) จากข้อมูลของ UNAIDS และตัวบ่งชี้เบื้องต้นของความก้าวหน้าใดๆ ในการต่อต้านการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีนั้นไม่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม โครงการเอดส์แห่งชาติพม่าพบว่า 32% ของผู้ให้บริการทางเพศและ 43% ของผู้ใช้ยาทางเส้นเลือดในพม่าติดเชื้อเอชไอวี การศึกษาจากข้อมูลของสถาบันสถิติของยูเนสโก อัตราการรู้หนังสืออย่างเป็นทางการของพม่า ณ ปี 2543 อยู่ที่ 90%[120] ในอดีต พม่ามีอัตราการรู้หนังสือสูง ระบบการศึกษาของประเทศดำเนินการโดยหน่วยงานราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ระบบการศึกษานี้มีพื้นฐานมาจากระบบของสหราชอาณาจักร หลังจากอิทธิพลเกือบหนึ่งศตวรรษของชาวอังกฤษและคริสเตียนในพม่า เกือบทุกโรงเรียนดำเนินการโดยรัฐบาล แต่มีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่ได้รับทุนสนับสนุนของเอกชนเพิ่มขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 การศึกษาเป็นภาคบังคับจนถึงปลายชั้นประถมศึกษาประมาณ 9 ปี ในขณะที่ระดับการศึกษาภาคบังคับคือ 15 หรือ 16 ในระดับนานาชาติ มีมหาวิทยาลัย 101 แห่ง สถาบัน 12 แห่ง วิทยาลัย 9 ปริญญา และวิทยาลัย 24 แห่งในพม่า รวม 146 สถาบันอุดมศึกษา มีโรงเรียนฝึกเทคนิค 10 แห่ง โรงเรียนฝึกพยาบาล 23 แห่ง โรงเรียนกีฬา 1 แห่ง และโรงเรียนผดุงครรภ์ 20 แห่ง มีโรงเรียนนานาชาติสี่แห่งที่ได้รับการยอมรับจาก WASC และคณะกรรมการวิทยาลัย ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติย่างกุ้ง โรงเรียนนานาชาติพม่า โรงเรียนนานาชาติย่างกุ้ง และโรงเรียนนานาชาติแห่งพม่าในย่างกุ้ง พม่าอยู่ในอันดับที่ 129 ในดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2563 อินเทอร์เน็ตการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อินเทอร์เน็ตของพม่าเคยถูกเซ็นเซอร์ และเจ้าหน้าที่ทหารมีสิทธิ์ตรวจดูอีเมลรวมถึงโพสต์บนอินเทอร์เน็ตของประชาชนจนถึงปี 2555 เมื่อรัฐบาลยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อ ในช่วงที่มีการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดกิจกรรมที่อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ถูกควบคุม และบล็อกเกอร์ชื่อ ซากะนา ถูกตัดสินให้ติดคุกในข้อหาเผยแพร่วิดีโอเกี่ยวกับการทำลายล้างที่เกิดจากพายุไซโคลนนาร์กิส ในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร พม่าเป็นประเทศอันดับสุดท้ายในเอเชียในดัชนีความพร้อมเครือข่ายของสภาเศรษฐกิจโลก[121] ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำหรับกำหนดระดับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ จากรายงาน 139 ประเทศ พม่าอยู่ในอันดับที่ 133 โดยรวมในการจัดอันดับประจำปี 2559 อาชญากรรมพม่ามีอัตราการฆาตกรรม 15.2 ต่อประชากร 100,000 คน รวม 8,044 คดีฆาตกรรมในปี 2555 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการก่อคดีในระดับสูงของพม่า ได้แก่ ความรุนแรงในชุมชนและความขัดแย้งทางอาวุธ พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทุจริตมากที่สุดในโลก ดัชนีการรับรู้การทุจริตระหว่างประเทศเพื่อความโปร่งใสประจำปี 2555 จัดอันดับประเทศที่ 171 จากทั้งหมด 176 ประเทศ[122] พม่าเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากอัฟกานิสถาน โดยผลิตฝิ่นประมาณ 25% ของโลก และเป็นส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมทองคำ อุตสาหกรรมฝิ่นเป็นการผูกขาดในสมัยอาณานิคมและตั้งแต่นั้นมาก็ถูกดำเนินการอย่างผิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ทุจริตในกองทัพพม่าและนักสู้กบฏ โดยพื้นฐานแล้วจะเป็นการผลิตเฮโรอีน พม่ายังเป็นผู้ผลิตยาบ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก โดยยาบ้าส่วนใหญ่ที่พบในไทยผลิตในพม่า โดยเฉพาะในสามเหลี่ยมทองคำและรัฐฉานตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีพรมแดนติดกับไทย ลาว และจีน โดยทั่วไปแล้วยาบ้าที่ผลิตจากพม่าจะถูกค้ามาที่ประเทศไทยผ่านทางลาวก่อนที่จะถูกส่งไปยังไทยในภาคอีสาน[123] วัฒนธรรมวัฒนธรรมของพม่าได้รับอิทธิพลทั้งจากมอญ จีน อินเดีย มาช้านาน ดังสะท้อนให้เห็นในด้านภาษา ดนตรี และอาหาร สำหรับศิลปะของพม่านั้นได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีและพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ในปัจจุบันนี้วัฒนธรรมพม่ายังได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากเขตชนบทของประเทศ ด้านการแต่งกายของพม่าทั้งชายและหญิงนิยมนุ่งโสร่ง เรียกว่า โลนจี (longyi) ส่วนการแต่งกายแบบโบราณเรียกว่า ลูนตะยาอะเชะ (lun taya acheik) อาหารอาหารพม่าโดดเด่นด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างแพร่หลาย เช่น น้ำปลา ง่าปิ (อาหารทะเลหมัก) และกุ้งแห้ง โหมะน์ฮี่นก้าเป็นอาหารเช้าแบบดั้งเดิมและเป็นอาหารประจำชาติของพม่า อาหารทะเลเป็นส่วนประกอบทั่วไปในเมืองชายฝั่ง ในขณะที่เนื้อสัตว์และสัตว์ปีกเป็นที่นิยมในเมืองที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เช่น มัณฑะเลย์ ปลาน้ำจืดและกุ้งเป็นแหล่งโปรตีนหลักในการปรุงอาหารภายในประเทศ และใช้ในหลากหลายวิธีทั้งแบบสดหรือทำเค็ม ตากแห้ง หมักให้เปรี้ยว หรือบด อาหารพม่ามีหลายรูปแบบเช่น ยำหรือสลัด (โทก) โดยส่วนผสมหลักคือ อาหารจำพวกแป้งจากข้าว ข้าวสาลีและเส้นจากข้าว วุ้นเส้นและเส้นหมี่ ไปจนถึงมันฝรั่ง ขิง มะเขือเทศ มะกรูด ถั่วฝักยาว และละแพะ (ใบชาหมัก) กีฬาศิลปะการต่อสู้แบบและเหว่, Bando, Banshay และ Pongyi และชี่นโล่น เป็นกีฬาดั้งเดิมในพม่า[124] ฟุตบอลนิยมเล่นกันทั่วประเทศ แม้แต่ในหมู่บ้าน และฟุตบอลทีมชาติอยู่ภายใต้การควบคุมของสหพันธ์ฟุตบอลพม่า ซีเกมส์ 2013 จัดขึ้นที่เนปยีดอ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และหาดงเวซองในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นครั้งที่สามที่งานดังกล่าวจัดขึ้นที่พม่า ก่อนหน้านี้พม่าเป็นเจ้าภาพการแข่งขันในปี 2504 และ 2512[125] สื่อสืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนในประเทศ ส่งผลให้มีบริษัทด้านสื่อเพียงเล็กน้อยในพม่าซึ่งเกือบทั้งหมดดำเนินการโดยเอกชน แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารอย่างเคร่งครัด รายการทั้งหมดต้องเป็นไปตามการอนุมัติของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ รัฐบาลพม่าประกาศเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ว่าจะหยุดเซ็นเซอร์สื่อก่อนเผยแพร่ ภายหลังการประกาศ หนังสือพิมพ์และร้านค้าอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากเซ็นเซอร์ของรัฐอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม นักข่าวในประเทศยังคงต้องเผชิญกับผลที่ตามมาสำหรับสิ่งที่พวกเขาเขียนและพูด ในเดือนเมษายน 2556 มีการเผยแพร่รายงานของสื่อต่างประเทศเพื่อถ่ายทอดการตรากฎหมายปฏิรูปการเปิดเสรีสื่อที่เราประกาศในเดือนสิงหาคม 2555 เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ของเอกชนในประเทศ[126] ภาพยนตร์ภาพยนตร์เรื่องแรกของพม่าเป็นสารคดีเกี่ยวกับงานศพของตุน เชอิน นักการเมืองชั้นนำในทศวรรษ 1910 ผู้รณรงค์เพื่อเอกราชของพม่าในลอนดอน ภาพยนตร์เงียบเรื่องแรกคือเรื่อง Myitta Ne Thuya (Love and Liquor) ในปี 2463 เป็นจุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จครั้งสำคัญ แม้ว่าจะมีคุณภาพต่ำเนื่องจากตำแหน่งกล้องและอุปกรณ์ฟิล์มที่ไม่เพียงพอในสมัยนั้น ในช่วงปี 2463 ถึง 2473 บริษัทภาพยนตร์พม่าจำนวนมากผลิตภาพยนตร์หลายเรื่อง ภาพยนตร์ที่มีบทพูดเรื่องแรกของประเทศผลิตขึ้นในปี 2475 ในเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย โดยใช้ชื่อว่า Ngwe Pay Lo Ma Ya (Money Can't Buy It) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพยนตร์พม่าเน้นเนื้อหาประเด็นทางการเมือง ภาพยนตร์หลายเรื่องที่ผลิตในช่วงต้นยุคสงครามเย็นมีการโฆษณาชวนเชื่อ ในยุคที่ตามหลังเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2531 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ถูกควบคุมโดยรัฐบาลมากขึ้น ดาราภาพยนตร์ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองถูกห้ามไม่ให้ปรากฏในภาพยนตร์ รัฐบาลออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์และกำหนดว่าใครมีสิทธิ์สร้างภาพยนตร์และได้รับรางวัล[127] ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้เปลี่ยนไปสู่การผลิตภาพยนตร์โดยตรงไปยังวิดีโอที่มีงบประมาณต่ำจำนวนมาก ภาพยนตร์ที่ผลิตในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นแนวคอเมดี้ ในปี 2551 มีการสร้างภาพยนตร์เพียง 12 เรื่องที่ได้รับการยอมรับว่าควรค่าแก่การเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ แม้ว่าจะมีการผลิตวีซีดีอย่างน้อย 800 แผ่นก็ตาม ในปี 2552 ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับนักข่าววิดีโอชาวพม่าชื่อ Burma VJ ได้รับการเผยแพร่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมประจำปี 2553[128] ภาพยนตร์ชื่อดัง อองซานซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ (The Lady) ออกฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต ครั้งที่ 36[129] อ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ประเทศพม่า รัฐบาล
ข้อมูลทั่วไป
เศรษฐกิจ
การเกษตร
การค้า สิ่งแวดล้อม
|