Share to:

 

ศิลปะพะเยา

พระพุทธรูปวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา

ศิลปะพะเยา หรือ สกุลช่างพะเยา เป็นรูปแบบศิลปะจัดอยู่ในสกุลช่างหนึ่งในศิลปะล้านนา พบบริเวณจังหวัดพะเยา พบเป็นประติมากรรมเช่นพระพุทธรูปหินทราย สถูปเจดีย์หินทราย และจารึกต่าง ๆ ปัจจุบันได้มีการเก็บรวบรวมไว้หลายที่หลายแห่ง แต่มากที่สุดถูกเก็บไว้ที่วัดศรีโคมคำและวัดลี จังหวัดพะเยา[1]

นิยาม

ศิลปะพะเยาได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกโดยหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล โดยทรงจัดว่าศิลปะพะเยาเป็นตอนปลายของศิลปะเชียงแสนรุ่นหลัง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21–22[2]

จากงานวิจัยเรื่อง "พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา" ของศักดิ์ชัย สายสิงห์ ระบุว่าสกุลช่างพะเยาเริ่มสร้างงานศิลปกรรมตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จนถึงช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24 โดยในยุคแรกสร้างตามแบบพระสิงห์โดยใช้วัสดุเป็นหินทราย ต่อมาได้รับอิทธิพลสกุลช่างสุโขทัยเข้ามา โดยได้พัฒนาจนมีรูปแบบเฉพาะตัวในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 คงดำรงไว้จนถึงช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 22 แล้วจึงเสื่อมโทรมลง

น.ณ. ปากน้ำ กำหนดอายุพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยาว่า ร่วมสมัยกับพระพุทธรูปหินทรายในสมัยอยุธยา สุพรรณบุรีและลพบุรี[3]

ลักษณะ

พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยามีเอกลักษณ์คือ ทำพระพุทธรูปที่มีเม็ดพระศกมีลักษณะเป็นตารางสี่เหลี่ยมมีส่วนยอดเรียวแหลม เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นเพราะวัสดุหินทรายซึ่งไม่สามารถสลักเป็นขมวดวงก้นหอยได้ ส่วนประกอบของพระพักตร์ ได้แก่ พระขนง พระนาสิก เชื่อมต่อกันเป็นสันนูน ไม่นิยมทำไรพระศก มุมพระโอษฐ์ทั้งสองข้างตวัดขึ้นสูง พระวรกายโปร่ง เพรียว มักทำประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย พระพุทธรูปปางสมาธิ หรือพระพุทธรูปทรงเครื่องพบหลักฐานไม่มากนัก[4]

อ้างอิง

  1. "หินทรายเมืองพะเยา ตอน ๒ แหล่งหินทรายและปติมากรรมหินทรายในเมืองพะเยา".
  2. หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปะในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 7, 2524), 24.
  3. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. "พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  4. อัญชลี สินธุสอน. "พระพุทธรูปศิลปะล้านนาในลุ่มแม่น้ำอิง : ลักษณะเฉพาะสกุลช่าง" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Kembali kehalaman sebelumnya