Share to:

 

สนประดิพัทธ์

สนประดิพัทธ์
สนประดิพัทธ์ พบที่ Ambarita, Samosir สุมาตราเหนือ อินโดนีเซีย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Fagales
วงศ์: Casuarinaceae
สกุล: Casuarina
สปีชีส์: C.  junghuhniana
ชื่อทวินาม
Casuarina junghuhniana
ชื่อพ้อง
  • Casuarina montana Lesch. ex Miq.
  • Casuarina muricata Roxb. ex Hornem.

สนประดิพัทธ์ หรือสนปฏิพัทธ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Casuarina junghuhniana) เป็นไม้ยืนต้น ทรงพุ่มสูงปลายยอดแหลม ในวงศ์สนทะเล (Casuarinaceae) ที่มีถิ่นกำเนิดในเกาะชวาและหมู่เกาะซุนดาน้อย ประเทศอินโดนีเซีย ชื่อของสนประดิพัทธ์เชื่อว่าตั้งตามชื่อของผู้ที่นำเข้ามาในประเทศไทยคือ “พระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) และยังใช้เป็นชื่อของหาดหนึ่งในอำเภอหัวหิน ที่อยู่ไม่ไกลทางใต้ของเขาตะเกียบ ซึ่งเรียก “หาดสวนสนประดิพัทธ์” ที่มีที่มาจากทิวสนประดิพัทธ์ที่ปลูกตลอดแนวของชายหาดที่เงียบสงบแห่งนี้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดกลางมีความสูง 15-35 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 4-6 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดรูปกรวยแหลม แตกกิ่งก้านจำนวนมาก กิ่งขนาดเล็กทำมุมแหลมกับลำต้น และแตกกิ่งเป็นระเบียบไม่โค้งงอ[1] มีข้อรอบกิ่งชัดเจน เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้มปนเทา เปลือกมักแตกเป็นร่องตามแนวตั้ง ลอกเป็นแผ่นเล็ก ๆ และอาจห้อยตามลำต้น[2] ร่องแตกมีสีน้ำตาลแดง

รากของสนประดิพัทธ์ มีปมคล้ายกับพืชตระกูลถั่ว และยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินโดยการตรึงไนโตรเจนเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว[3] [4] จุลินทรีย์ภายในปมของสนประดิพัทธ์ (C. junghuhniana) เป็นแอคติโนมัยซีทใน genus Frankia และพบว่ามีเส้นใยขนาดเล็กมากมายภายในปม และจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมทที่มีออกซิเจนตํ่า

ใบเดี่ยว ใบยาวเป็นข้อปล้อง คล้ายกิ่งแขนงขนาดเล็ก ใบสีเขียว เป็นเส้นกลมห้อยลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1.0 มม. ปล้องยาว 6-7 มม. ตลอดปล้องสันโดดเด่น 9-11 สัน ปลายแต่ละปล้องคล้ายหนามแหลม 9-11 ซึ่[5] สามารถถอดออกได้เป็นข้อ ๆ ยอดอ่อนหรือปลายกิ่งอ่อนมีสีเหลือง หรือสีฟางซีด[2] ใบร่วงง่าย

ดอก ขนาดเล็ก แบบแยกเพศและแยกต้น ดอกเพศผู้สีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลือง ยาว 15-35 มม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 มม. ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดที่ปลายกิ่ง กาบเรียงเป็นวงกว้าง 10-30 ช่อแต่ละช่อมี 9 ช่อมีดอกเดียวในแต่ละกาบ รูปทรงกระบองเรียว ช่อดอกตั้งยาว 1-3 ซม. เกสรเพศผู้ 1 อัน สีน้ำตาล ดอกเพศเมีย สีน้ำตาลแดงอมเทา[5] หรือออกแดง[6] ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ปลายกิ่งสั้นๆ รูปทรงกรวยสั้น หรือเกือบกลม ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก แต่มีกลีบประดับขนาดเล็ก 2 กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอกประมาณ 0.5 ซม. ออกดอกเดือน ธ.ค.-ก.พ. แต่ในประเทศไทยขยายพันธุ์โดยการปักชำ ตอนกิ่ง หรือหน่อจากราก เนื่องจากมีแต่ต้นเพศผู้ [1] [2] [7] [3]

ผล อยู่ในกลีบประดับย่อยแบบปีกเดียว (samara — ผลที่มีผนังผลชั้นนอกเจริญยื่นออกมาเป็นปีก) เมล็ดกลมเล็ก มีปีก ขนาดกว้าง 2-3 มม. และยาว 4-5 มม. รวมปีกเมล็ด[6] น้ำหนักโดยจำนวนเมล็ดต่อกิโลกรัม 1-1.6 ล้านเมล็ดต่อกิโลกรัม [8]

สนประดิพัทธ์ (C. junghuhniana) ต่างจากสนทะเล (C. equisetifolia) คือ สนประดิพัทธ์มีทรงพุ่มที่แคบกว่า กิ่งที่เล็กและเป็นระเบียบ ไม่มีปมและมีลำต้นที่ตรง[1] [7] และสนในวงศ์สนทะเล (Casuarinaceae) นี้อาจดูคล้ายกับสนแท้ (pine) อื่น ๆ ได้แก่ สนสองใบและสนสามใบ แต่ต่างตรงที่ใบของวงศ์สนทะเลเป็นข้อปล้องสามารถถอดออกได้

อนุกรมวิธานและการตั้งชื่อ

สนประดิพัทธ์ (Casuarina junghuhniana) จัดอยู่ในวงศ์สนทะเล (Casuarinaceae) มีชื่อสามัญอื่นคือ Mountain Ru, Red-tipped Ru, Horsetail Tree, Ru Ronan[9] (และบางครั้งอาจเรียก Iron Wood ซึ่งเป็นชื่อสามัญอื่นของสนทะเลด้วย[3]) ชื่อสามัญภาษาอินโดนีเซีย คือ cemara gunung (ชื่อสามัญทั่วไป), ajaob, kasuari (ชื่อสามัญในติมอร์)

ในประเทศไทยชื่อสามัญ "สนประดิพัทธ์" เชื่อว่าตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาประดิพัทธ์ภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสนชนิดนี้มาจากสิงคโปร์[7]

ชนิดย่อย

  • C. j. junghuhniana กระจายพันธุ์ใน เกาะชวา เกาะบาหลี เกาะลอมบอก เกาะซุมบาวา และเกาะฟลอเรส ประเทศอินโดนีเซีย[8]
  • C. j. timorensis พบใน เกาะติมอร์ เกาะเวตาร์ เกาะซุมบาและเกาะซัมบาวา ประเทศอินโดนีเซีย[8] และประเทศติมอร์-เลสเต

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจาย

มีถิ่นกำเนิดในเกาะชวาและหมู่เกาะซุนดาน้อย ประเทศอินโดนีเซีย เป็นพืชที่นำเข้าไปปลูกในปากีสถานและบังกลาเทศในฐานะการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม[10]

นิเวศวิทยา

ขึ้นในดินทรายใกล้ทะเล (ดินปนทรายหรือดินเค็ม) จนถึงภูเขาสูงถึง 3,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทรายจนถึงดินเหนียว ซึ่งมีความเป็นกรด เป็นด่าง pH 2-8[3] ทนน้ำท่วมขัง[7]

เคมี

สารสำคัญสกัดจากรากสนประดิพัทธ์ (C. junghuhniana) คือสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพจำพวกแบคทีเรียโรคพืช (phytopathogens) การศึกษาทางโครมาโทกราฟีระบุว่า พบกรดฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ที่มากในส่วนราก อาจเป็นตัวช่วยในการเจริญเติบโตในดินที่ขาดธาตุอาหารอย่างรุนแรง ด้วยการสร้างความต้านทานต่อเชื้อโรคพืช และอาจนำไปใช้เป็นสารป้องกันชีวภาพสำหรับการจัดการโรคพืชในพืชอื่น [11]

การใช้ประโยชน์

นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นแนวกันลม สามารถตัดแต่งเป็นรูปต่างๆ ได้ ปลูกในสวนหรือพื้นที่ที่ไม่ต้องการดูแลรักษามาก[7]

เนื้อไม้

เป็นไม้โตเร็ว เนื้อไม้แข็งแน่น แต่เนื้อไม้ฉีกและบิดตัวง่ายเมื่ออบหรือตากให้แห้ง จึงใช้ในงานแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ ปาร์เก้ได้ค่อนข้างยาก โดยทั่วไปใช้ในงานไม้โครงสร้าง เช่น ใช้ทำเสาโป๊ะ เสากระโดงเรือ ไม้กระดาน ไม้ฝา เนื้อไม้เหมาะแก่การทำฟืน ถ่าน เนื่องจากให้ความร้อนสูงและมีเถ้าต่ำ ไม้สนประดิพัทธ์อบแห้งมีความหนาแน่น 900-1000 kg/m3 และถ่านประดิพัทธ์ 650 kg/m3 พลังงานที่ให้จากถ่านสนประดิพัทธ์คือ 34500 kJ/กก. ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาไม้ฟืน[12]

วนเกษตร

สนประดิพัทธ์ เป็นไม้บุกเบิกในการทำป่าไม้เพื่อเนื้อไม้หรือการฟื้นฟูในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และเนินหิน เนื่องจากช่วยฟื้นฟูสภาพดินด้วยรากที่ตรึงไนโตรเจนได้ดี ถูกนำมาใช้ในโครงการฟื้นฟูป่าไม้ตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1900 และมีคุณสมบัติที่ดีมากในการลดการพังทลายของดินและดินถล่ม สามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีกรดซัลเฟตต่ำ เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียเหนือ[12]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 Normita Thongtham. Casuarina and effects Bangkok Post, 23 กุมภาพันธ์ 2558.
  2. 2.0 2.1 2.2 ไทยเกษตรศาสตร์ สนประดิพัทธ์ เก็บถาวร 2019-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 4 ธันวาคม 2557.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 สนประดิพัทธ์ เก็บถาวร 2020-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อ้างอิงจาก นันทวัน บุญยะประภัศร, บรรณาธิการ , อรนุช โชคชัยเจริญพร. (2543). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2564.
  4. National Academy of Sciences. Casuarinas: Nitrogen-Fixing Trees for Adverse Sites. National Academy Press, Washington D.C., 1984.
  5. 5.0 5.1 Rubina Dawar 3. Casuarina junghuhniana Miq., Pl.Jungh. 7. 1851. Wilmot-Dear, l.c. Flora of Pakistan
  6. 6.0 6.1 Pl@ntUse Casuarina junghuhniana (PROSEA) สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2564.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 บ้านและสวน สนประดิพัทธ์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง 4 กรกฎาคม 2559.
  8. 8.0 8.1 8.2 Winrock International. Casuarina junghuhniana – a Highly Adaptable Tropical casuarina เก็บถาวร 2020-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน NFTA 95-01, January 1995.
  9. Flora & Fauna Web Casuarina junghuhniana สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2564.
  10. Plants of the World, Kew Science Casuarina junghuhniana Miq. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2564.
  11. G. Chathurdevi, s.Uma Gowrie. A Promising Source of Potential Bioactive Metabolites from the Root Extracts of Casuarina junghuhniana Miq. December 2016.
  12. 12.0 12.1 Useful Tropical Plants Database Casuarina junghuhniana 13 June 2019.
Kembali kehalaman sebelumnya