Share to:

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง ปญฺญาทีโป)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

(แสง ปญฺญาทีโป)
ส่วนบุคคล
เกิด21 มิถุนายน พ.ศ. 2375 (71 ปี 168 วัน ปี)
มรณภาพ6 ธันวาคม 2446
นิกายมหานิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 7 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
อุปสมบทพ.ศ. 2395
ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นามเดิม แสง ฉายา ปญฺญาทีโป เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดราชบุรณราชวรวิหารและเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ

ประวัติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มีนามเดิมว่า แสง เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2375 ตรงกับวันแรม 8 ค่ำเดือน 7 ปีมะโรง ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร จนอายุได้ 15 ปีจึงย้ายมาอยู่วัดราชบุรณราชวรวิหาร ศึกษาพระปริยัติธรรมจนอายุได้ 18 ปีจึงเข้าสอบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้เป็นสามเณรเปรียญธรรม 3 ประโยคในครั้งนั้น[1]

ปีชวด พ.ศ. 2395 ได้อุปสมบทในรามัญนิกาย โดยมีพระคุณวงศ์ (จุลนาค) วัดบวรมงคลราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. 2400 เข้าสอบอีก ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่มอีก 2 ประโยค เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค ต่อมาปีระกา พ.ศ. 2404 เข้าแปลที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้อีก 2 ประโยค เป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค[1]

ศาสนกิจ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้ปฏิบัติพระวินัยได้บริบูรณ์ ฉลาดในการเทศนา ประพันธ์คาถา โศลก และฉันท์ได้ชำนาญและไพเราะ เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ในด้านการปกครอง ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะรอง และเจ้าคณะใหญ่ตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งเป็นแม่กองตรวจชำระพระอภิธรรมปิฎกในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112[2]

สมณศักดิ์

  • เป็นพระปลัด ฐานานุกรมของพระปิฎกโกศล (อ่วม)
  • 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 เป็นพระราชาคณะที่ พระราชมุนี
  • 23/24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2420 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระโพธิวงศาจารย์ ญาณนายก ตรีปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • พ.ศ. 2428 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรยโลกาจาริย ญาณวิสาระทะนายก ตรีปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[3]
  • 20 มีนาคม ร.ศ. 110 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายใต้ที่ พระธรรมวโรดม บรมญาณอดุล สุนทรนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต ทักษิณทิศคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[4]
  • 11 พฤศจิกายน ร.ศ. 113 เลื่อนเป็น พระธรรมวโรดม ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และได้รับตาลปัตรแฉกพื้นขาวปักดิ้นเลื่อม[5]
  • 20 ธันวาคม ร.ศ. 113 สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ผู้ช่วยฝ่ายเหนือที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี[6]
  • 27 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 119 สถาปนาเป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือที่ สมเด็จพระพุทธโฆาจารย์ ญาณอดุลย์สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทธยาคุณ วิบุลย์คัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี อรัญวาสี[7]

มรณภาพ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อาพาธเป็นลมแน่นหน้าอกตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม ร.ศ. 122 พระภิกษุในวัดจัดยาถวายแต่อาการไม่ทุเลา ถึงแก่มรณภาพในวันรุ่งขึ้นเวลา 3 โมงเข้าเศษ สิริอายุได้ 71 ปี 168 วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปพระราชทานน้ำสรงศพ พระราชทานโกศไม้สิบสอง ชั้นแว่นฟ้า 2 ชั้น มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมวันละ 8 รูป รับพระราชทานฉันเช้าเพลมีกำหนด 3 เดือน[8]

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 124 เจ้าพนักงานตั้งกระบวนเคลื่อนศพสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จากวัดราชบุรณฯ มาบรรจบกับกระบวนเคลื่อนศพพระอุบาฬีคุณูปมาจารย์ (ปาน) จากวัดพระเชตุพนฯ เป็นกระบวนเดียว ปยังเมรุ ณ สุสานวัดเทพศิรินทราวาส เวลาย่ำค่ำวันต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทอดผ้าบังสุกุลและพระราชทานเพลิงศพ และวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เจ้าพนักงานเก็บอัฐิ นำขึ้นเสลี่ยงแล้วอัญเชิญกลับยังพระอารามเดิม[9]

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 111
  2. ราชกิจจานุเบกษา, การศาสนูปถัมภก คือ การพิมพ์พระไตรปิฎก, เล่ม 5, ตอน 47, 8 เมษายน ร.ศ. 112, หน้า 410
  3. ราชกิจจานุเบกษา, สำเนาสัญญาบัตรพระสงฆ์ ปีรกาสัปตศก, เล่ม 7, ตอน 39, 1 กุมภาพันธ์ 2429, หน้า 328
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 8, ตอน 52, 27 มีนาคม ร.ศ. 110, หน้า 466
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระธรรมวโรดม ดำรงที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, เล่ม 11, ตอน 34, 18 พฤศจิกายน ร.ศ. 113, หน้า 265
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 11, ตอน 39, 23 ธันวาคม ร.ศ. 113, หน้า 310
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระสงฆ์, เล่ม , ตอน , , หน้า
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถึงมรณภาพ, เล่ม 20, ตอน 37, 13 ธันวาคม ร.ศ. 122, หน้า 653
  9. ราชกิจจานุเบกษา, การศพสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และพระอุบาฬีคุณูปมาจารย์, เล่ม 22, ตอน 48, 25 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 124, หน้า 1,097-1,098
บรรณานุกรม
  • สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 218-222. ISBN 974-417-530-3


Kembali kehalaman sebelumnya