ฐานานุกรม คือชื่อเรียกลำดับตำแหน่งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทย ซึ่งภิกษุผู้มีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ทางพระสังฆาธิการ ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก, ชั้นโท, ชั้นตรี, ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ, ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด และฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะภาคมีสิทธิ์ในการตั้งฐานานุกรมประจำตำแหน่ง หรือพระราชาคณะ มีสิทธิ์ตั้งพระภิกษุรูปอื่นให้เป็นฐานานุกรมได้ ตามฐานานุศักดิ์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตตามที่ระบุไว้ในสัญญาบัตรพระราชาคณะ หิรัญบัฏพระราชาคณะเจ้าคณะรอง สุพรรณบัฏสมเด็จพระราชาคณะและสมเด็จพระสังฆราช ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ หรือพระราชบัญญัติ กฎระเบียบอื่นอันเกี่ยวเนื่องด้วยคณะสงฆ์
ฐานานุกรมนั้นมีตำแหน่งที่เป็นหลัก 3 ตำแหน่ง คือ พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา หากพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ที่มีสิทธิ์ตั้งฐานานุกรมเป็นผู้ที่มีสมณศักดิ์ตั้งแต่พระราชาคณะชั้นราชขึ้นไป พระฐานานุกรมที่ท่านเหล่านั้นตั้ง จะเรียก "พระครู" นำหน้าตำแหน่งฐานานุกรมนั้นทุกตำแหน่ง เช่น พระครูปลัด พระครูวินัยธร พระครูธรรมธร พระครูสังฆรักษ์เป็นต้น[1]
สิทธิในการให้พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์สามารถแต่งตั้งฐานานุกรมได้ จะมีระบุไว้ในสัญญาบัตรพระบรมราชโองการพระราชทานสมณศักดิ์ ว่าให้สามารถตั้งได้เท่านั้นเท่านี้รูป ซึ่งพระสงฆ์ผู้ได้รับพระราชทานสิทธิในการตั้งพระฐานานุกรม จะตั้งหรือไม่ตั้งก็ได้ หรือจะตั้ง แต่ตั้งเพียงจำนวนเท่าที่เห็นควรก็ได้ ไม่จำต้องตั้งทั้งหมด
ตำแหน่งเหล่านี้เดิมมีพัดยศของหลวงพระราชทานมาให้ แต่ปัจจุบันนี้ต้องจัดทำเอง โดยพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ที่มีสิทธิ์แต่งตั้งฐานานุกรมจะแต่งตั้งพระสงฆ์รูปใดในศิษยานุศิษย์ของตน ก็สุดแล้วแต่อัธยาศัย ทางการไม่ได้เกี่ยวข้องในการแต่งตั้งพระฐานานุกรม เพียงแต่รับรู้เท่านั้น[1]
ความหมายของฐานานุกรม
คำว่า ฐานานุกรม ในภาษาบาลี มาจากบทคือ ฐาน (ตำแหน่ง) + อนุกฺกม (ลำดับ, ระเบียบ, ชั้น) ประกอบกัน จึงแปลว่า ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นตามทำเนียบ ฐานานุกรมจึงหมายถึง ลำดับตำแหน่งยศพระสงฆ์ที่พระราชาคณะมีอำนาจตั้งสมณศักดิ์ให้ ตามทำเนียบที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชาคณะหรือเจ้าคณะผู้ปกครองนั้น ๆ เช่น พระสงฆ์ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ สามารถตั้งฐานานุกรมได้ 3 ตำแหน่ง พระราชาคณะชั้นสามัญตั้งฐานานุกรมได้ 3 ตำแหน่ง เป็นต้น ไปจนกระทั่งถึงสมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งฐานานุกรมได้ 15 ตำแหน่ง[1]
สถานะของพระฐานานุกรม
ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งในลักษณะนี้เรียกว่า พระฐานานุกรม[2] ทุกรูปจัดเป็นพระมีสมณศักดิ์ เช่นเดียวกับพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ตั้งแต่พระครูสัญญาบัตรขึ้นไป ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
การตั้งฐานานุกรมของพระราชาคณะ เป็นการตั้งโดยพระบรมราชานุญาตตามความที่ระบุในพระบรมราชโองการ ซึ่งทรงใช้พระราชอำนาจในการสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์ ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยไม่ทรงระบุอำนาจในการถอดถอนฐานานุกรมไว้แต่ประการใด ดังนั้นผู้ได้รับแต่งตั้งฐานานุกรมจากพระราชาคณะแล้ว จึงได้รับฐานานุกรมเป็นสิทธิ์เฉพาะตัวตามพระบรมราชโองการ และสามารถใช้ตำแหน่งนั้นได้ตราบเท่าที่ผู้ได้รับตั้งให้เป็นฐานานุกรมยังไม่ลาสิกขา ได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้น หรือมรณภาพ
กรณีพระราชาคณะผู้ได้ตั้งฐานานุกรมไว้ตามความในพระราชโองการพระราชทานสมณศักดิ์ ได้ลาสิกขา ได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้น หรือมรณภาพ ตำแหน่งฐานานุกรมต่าง ๆ ที่พระราชาคณะนั้น ๆ ได้ตั้งไว้แก่พระภิกษุต่าง ๆ แล้ว ยังไม่ถือเป็นอันสิ้นสุดไป เว้นแต่ตำแหน่งฐานานุกรมที่ยังไม่ได้ตั้งจึงถือเป็นอันสิ้นสุดไปตามผู้มีสิทธิ์ตั้ง ไม่สามารถตั้งได้อีกตามพระบรมราชโองการ เนื่องจากพระราชาคณะนั้น ๆ ย่อมได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาสิกขาบท ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สูงขึ้น หรือได้ทำหนังสือกราบถวายบังคมทูลลามรณภาพแล้วตามระเบียบปฏิบัติ
ในอดีต ตำแหน่งฐานานุกรมบางตำแหน่งมีลำดับสมณศักดิ์สูงกว่าพระมหาเปรียญ จึงมีบางครั้งที่พระมหาเปรียญก็อาจได้รับแต่งตั้งฐานานุกรมบ้าง ซึ่งเรียกกันในภาษาปากว่า ฐานาทรงเครื่อง หรือ พระครูทรงเครื่อง คือมีทั้งตำแหน่งมหาเปรียญและฐานานุกรมในคราวเดียวกัน[1]
ประเภทของฐานานุกรม
ฐานานุกรมแบ่งได้ 9 ประเภท ได้แก่
- ฐานานุกรมชั้นพระราชาคณะ ตำแหน่งนี้มีเฉพาะฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น มี 2 สมณศักดิ์ คือ พระราชาคณะปลัดขวา และพระราชาคณะปลัดซ้าย (บางสมัยอาจมีพระราชาคณะปลัดกลาง) และฐานานุกรมชั้นนี้สามารถตั้งฐานานุกรมได้ 3 ฐานานุศักดิ์ เหมือนพระราชาคณะชั้นสามัญ
- ฐานานุกรมมีสัญญาบัตรกำกับพระครูปลัดมีราชทินนามเฉพาะ พระครูปลัดมีราชทินนามเฉพาะตามที่ระบุไว้ในสัญญาบัตรฐานานุกรม เป็นฐานานุกรมของ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นสัญญาบัตร, ชั้นหิรัญบัฏ สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อได้ตั้งฐานานุกรมพระครูปลัดมีราชทินนามเฉพาะนี้แล้ว ต้องไปแจ้งที่กรมการศาสนาเพื่อขึ้นทะเบียน และจัดนิตยภัตถวาย[3] เช่นเดียวกับพระครูสัญญาบัตรทั่วไปโดยผู้ที่ได้รับฐานานุกรมนี้แล้ว ครองฐานานุกรมนี้โดยสมควร สามารถเลื่อนชั้นขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ[4] ตามหลักขั้นตอนการพิจารณาตั้งสมณศักดิ์
- ฐานานุกรมพระครูปลัดมีราชทินนาม พระครูปลัดมีราชทินนามเป็นฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นธรรมมีปรากฏในสัญญาบัตรพระราชาคณะชั้นธรรม เมื่อได้ตั้งพระครูปลัดมีราชทินนามฐานานุกรมนี้แล้ว ต้องไปแจ้งที่กรมการศาสนาเพื่อขึ้นทะเบียน และจัดนิตยภัตถวายเช่นเดียวกับพระครูสัญญาบัตรทั่วไป
- ฐานานุกรมชั้นพระครูอื่น คือ ฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นราชขึ้นไปจนถึงฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชบางตำแหน่ง เป็นตำแหน่งที่มีคำว่า "พระครู" นำหน้า เช่น พระครูปลัด พระครูวินัยธร พระครูคู่สวด พระครูรองคู่สวดเป็นต้น อนึ่ง พระครูฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช 4 ตำแหน่งที่อยู่อยู่ระหว่างพระราชาคณะปลัดขวา พระราชาคณะปลัดซ้ายกับพระครูชั้นเอกฐานานุกรมสมเด็จพระสังฆราช มีสิทธิ์รับพระราชทานนิตยภัตเช่นเดียวกับพระครูปลัดมีราชทินนาม
- ฐานานุกรมชั้นธรรมดา ฐานานุกรมชั้นนี้เป็นของพระราชาคณะชั้นสามัญ มีสมณศักดิ์ฐานานุกรม 3 ฐานานุศักดิ์ คือ พระปลัด, พระสมุห์ และพระใบฎีกา 1 (ไม่มีคำว่าพระครูนำหน้า)
- ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก, ชั้นโท, ชั้นตรี
- (ก.) ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในกรุงเทพมหานคร[5][6] มี 6 ตำแหน่งคือ พระครูปลัด, พระครูวินัยธร, พระครูธรรมธร, พระครูสังฆรักษ์, พระครูสมุห์ และพระครูใบฎีกา (มีคำว่าพระครูนำหน้า)
- (ข.) ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท ในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองชั้นเอก มี 3 ตำแหน่งคือ พระปลัด, พระสมุห์ และพระใบฎีกา (ไม่มีคำว่าพระครูนำหน้า)
- (ค.) ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นตรี ในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองชั้นโท, ชั้นตรี มี 2 ตำแหน่งคือ พระสมุห์ และพระใบฎีกา (ไม่มีคำว่าพระครูนำหน้า)
- ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอมีฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ มี 3 ตำแหน่งคือ พระปลัด, พระสมุห์, และพระใบฎีกา (ไม่มีคำว่าพระครูนำหน้า)
- ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด มีฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด[7] มี 5 ตำแหน่งคือ พระปลัด, พระวินัยธร, พระธรรมธร, พระสมุห์ และพระใบฎีกา (ไม่มีคำว่าพระครูนำหน้า)
- ฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะภาค มีฐานานุกรมประจำตำแหน่งเจ้าคณะภาค[8] มี 6 ตำแหน่งคือ พระครูปลัด, พระครูวินัยธร, พระครูธรรมธร, พระสังฆรักษ์, พระสมุห์, พระใบฎีกา (มีคำนำหน้าว่าพระครูนำหน้า 3 ตำแหน่ง และไม่มีคำว่าพระครูนำหน้า 3 ตำแหน่ง)
ทำเนียบฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นต่าง ๆ
จำนวนของฐานานุกรม ที่พระราชาคณะชั้นต่าง ๆ จะมีสิทธิ์ตั้งได้นั้น จะถูกระบุไว้ในพระบรมราชโองการพระราชทานสมณศักดิ์ ปัจจุบันการพระราชทานพระราชอำนาจให้แก่พระราชาคณะในการตั้งฐานานุกรมชั้นต่าง ๆ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย แต่โดยประเพณีจะมีการตั้งโดยระบุฐานานุกรมมีราชทินนาม และฐานานุกรมอื่น ดังนี้
สมเด็จพระราชาคณะ
|
พระราชาคณะเจ้าคณะรอง
|
พระราชาคณะชั้นธรรม
|
พระราชาคณะชั้นเทพ
|
พระราชาคณะชั้นราช
|
พระราชาคณะชั้นสามัญ
|
- พระครูปลัดมีราชทินนาม 1
(พระครูปลัดสัมพิพัฒน...จารย์)
- พระครูวินัยธร 1
- พระครูธรรมธร 1
- พระครูคู่สวด 2
- พระครูรองคู่สวด 2
- พระครูสังฆรักษ์
มีราชทินนาม 1
- พระครูสมุห์ 1
- พระครูใบฎีกา 1
|
- พระครูปลัดมีราชทินนาม 1
(พระครูปลัดสุวัฒน...คุณ หรือ พระครูปลัดวชิร...[# 1])[# 2]
- พระครูวินัยธร 1
- พระครูธรรมธร 1
- พระครูคู่สวด 2
- พระครูสังฆรักษ์
มีราชทินนาม 1
- พระครูสมุห์ 1
- พระครูใบฎีกา 1
|
- พระครูปลัดมีราชทินนาม 1
(พระครูปลัด...วัฒน์)[# 3]
- พระครูวินัยธร 1
- พระครูธรรมธร 1
- พระครูสังฆรักษ์ 1
- พระครูสมุห์ 1
- พระครูใบฎีกา 1
|
- พระครูปลัด 1
- พระครูวินัยธร 1
- พระครูสังฆรักษ์ 1
- พระครูสมุห์ 1
- พระครูใบฎีกา 1
|
- พระครูปลัด 1
- พระครูสังฆรักษ์ 1
- พระครูสมุห์ 1
- พระครูใบฎีกา 1
|
- พระปลัด 1
- พระสมุห์ 1
- พระใบฎีกา 1
|
- หมายเหตุ
- ↑ พระราชาคณะเจ้าคณะรองที่โปรดสถาปนาราชทินนามใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา จะมีฐานานุศักดิ์ตั้งพระครูปลัดในราชทินนาม พระครูปลัดวชิร... โดยมีพระครูปลัดวชิรโสภณญาณ ฐานานุกรมในพระพรหมวชิรโสภณ เป็นราชทินนามแรกที่ใช้รูปแบบนี้
- ↑ ยกเว้นพระครูปลัด ฐานานุกรมในพระสาสนโสภณ จะมีราชทินนามว่า พระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ
- ↑ ในพระราชาคณะชั้นธรรมบางรูป จะมีฐานานุกรมที่ลงท้ายด้วย "วัตร" เช่น พระธรรมราชานุวัตร มีพระครูปลัด มีราชทินนามว่า พระครูปลัดมหาเถรานุวัตร เป็นต้น
อ้างอิง