Share to:

 

สะพานเจริญราษฎร์ 32

สะพานเจริญราษฎร์ 32
เส้นทางถนนกรุงเกษม
ข้ามคลองมหานาค
ที่ตั้งเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ข้อมูลจำเพาะ
ความยาว30 เมตร
ความกว้าง10.73 เมตร
ที่ตั้ง
แผนที่

สะพานเจริญราษฎร์ 32 ตั้งอยู่บนถนนกรุงเกษมข้ามคลองมหานาค และขนานกับคลองผดุงกรุงเกษมด้วยส่วนหนึ่ง อยู่ในท้องที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

สะพานเจริญราษฎร์ 32 เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2455 (ร.ศ. 131) เป็นสะพานที่ 2 ในบรรดาสะพานชุดเจริญ บริเวณที่สร้างสะพานเจริญราษฎร์นี้เคยเป็นที่ตั้งของสะพาน 100 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเนื่องในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบ 100 ปี 

ต่อมาสะพานนี้ชำรุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างสะพานใหม่ขึ้นแทน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ประจำพระชนมวารประจำปี 2454 ให้กรมสุขาธิบาลสร้างเป็นอนุสรณ์ในการเฉลิมพระชนมพรรษาและเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน และพระราชทานนามว่า สะพานเจริญราษฎร์ 32 เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างในคราวเฉลิมพระชนมพรรษา 32 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2455[1]

สถาปัตยกรรม

เสาสะพานปูนปั้นรูปนาค 5 เศียรตั้งอยู่บนแท่นปูนสี่เหลี่ยม

สะพานสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 10.73 เมตร ยาว 30 เมตร สูงจากระดับน้ำธรรมดาถึงท้องสะพาน 2 เมตร ที่มุมสะพานทั้ง 4 ด้านเป็นเสาสะพานปูนปั้นรูปนาค 5 เศียรตั้งอยู่บนแท่นปูนสี่เหลี่ยม เป็นศิลปะไทยแบบประยุกต์ ที่ฐานแท่นสี่เหลี่ยมที่รองรับนาคนั้นตกแต่งด้วยการทำปูนปั้นเป็นรูปใบไม้ มีแผ่นโลหะอักษรพระบรมนามาธิไธยย่อ ว.ป.ร. อยู่กลางรัศมี ประดับอยู่กลางพังพานของเศียรนาค[2] 

ลูกกรงราวสะพานเป็นปูนภายในมีแกนเหล็ก โดยมีการตกแต่งลูกกรงราวสะพานด้วยปูนปั้นลักษณะคล้ายกลีบบัวที่ส่วนล่างของลูกกรงดังกล่าว แท่นป้ายชื่อสะพานอยู่กึ่งกลางของราวสะพานทั้ง 2 ฟาก โดยตรงกลางป้ายเขียนว่า สะพานเจริญราษฎร์ 32 ร.ศ. 131 และเหนือชื่อนั้นมีการตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปกาบหอยอยู่ตรงกลาง ส่วนอีก 2 ข้างเป็นปูนปั้นรูปดอกไม้ซึ่งประดับอยู่ที่ส่วนปลายของแนวคิ้วปูนที่ทำเป็นเส้นโค้งเหนือป้ายขื่อ และที่ด้านข้างของป้ายชื่อสะพานทั้ง 2 ด้านมีปูนปั้นเป็นรูปต้นไม้ลักษณะใบคล้ายต้นบอน[3]

อ้างอิง

  1. โรม บุนนาค. "รู้ยังอยู่ไหนบ้าง! ๑๗ สะพานสวยงามสร้างสมัย ร.๔ ร.๕ ร.๖ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. อนนต์ ศรีศักดา. "เรื่องของสะพานในบางกอก" (PDF).
  3. "สะพานเจริญราษฎร์ 32". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
Kembali kehalaman sebelumnya