Share to:

 

สังข์ทอง สีใส

สังข์ทอง สีใส
เกิด19 มีนาคม พ.ศ. 2491 ตำบล จรเข้สามพัน
เปี๊ยก ศรีเหรา
เสียชีวิต25 มกราคม พ.ศ. 2527 (35 ปี) [1] อำเภอกุยบุรี
คู่สมรสฉันทนา สีใส [1]
อาชีพนักร้อง นักแสดง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2513 - 2527
ผลงานเด่นภาพยนตร์ โทน (2513)

สังข์ทอง สีใส (19 มีนาคม พ.ศ. 2491 - 25 มกราคม พ.ศ. 2527) เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง เจ้าของฉายา "เทพบุตรหน้าผี" ชื่อจริง นายเปี๊ยก ศรีเหรา มีบุตรชายหนึ่งคนคือ สุรัตน์ สีใส และเป็นพี่ชายแท้ๆของ สุเทพ สีใส ซึ่งเป็นนักแสดงตลกที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

ประวัติ

สังข์ทอง สีใส เป็นชาวตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี [1] มีชื่อจริงว่า เปี๊ยก ศรีเหรา เกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2491 บิดาชื่อนายทองคำ ศรีเหรามารดาชื่อนางเอื่อน ศรีเหราเป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน ตั้งแต่เด็กมีร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถทำงานหนักได้ จึงทำงานเป็นโฆษก เล่นปาหี่ และร้องเพลงขายของตามงานวัด โดยมีความชื่นชอบเพลงของชาย เมืองสิงห์ สามารถร้องเพลงของชายได้ทุกเพลง

การเข้าสู่วงการ

ต่อมาได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกวงดนตรีจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุล และมีโอกาสได้ร่วมงาน และร้องเพลงของชาย เมืองสิงห์จริงๆ ครูมงคล เป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า สังข์ทอง สีใส เพราะมีหน้าตาอัปลักษณ์เหมือนตัวละคร สังข์ทอง ได้บันทึกเสียงเพลงแรก คือเพลง "อกอุ่น" เริ่มมีชื่อเสียง และมีเพลงดังต่อมา เช่น "หนิงหน่อง" (แต่งโดย สุชาติ เทียนทอง) "หนาวลมห่มรัก" (แต่งโดย ชาย เมืองสิงห์)

ในปี พ.ศ. 2513 สังข์ทอง สีใส ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง โทน ของเปี๊ยก โปสเตอร์ นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน อรัญญา นามวงศ์ สายัณห์ จันทรวิบูลย์ จารุวรรณ ปัญโญภาส โดยได้ร้องเพลง "โทน" (แต่งโดย สุชาติ เทียนทอง) และมีเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ขับร้องโดย ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จ ทำให้สังข์ทองเป็นดาราชื่อดัง และได้แสดงภาพยนตร์ต่อมาอีกหลายเรื่อง

จำคุก

ต่อมา สังข์ทองต้องคดีอาญาข้อหาพยายามฆ่า เนื่องจากความพยายามควบคุมความเรียบร้อยให้ผู้ชมที่มาชมการแสดงของเขา โดยเรื่องเกิดจากการสังข์ทองและคณะมาถึงที่แสดงช้ากว่ากำหนด โดยสังข์ทองเองกล่าวกับผู้ที่มาชมการแสดงของเขาว่า เกิดจากรถของคณะสังข์ทองเองเกิดขัดข้อง และการแสดงก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงเวลาประมาณ 23:00 น. สังข์ทองขึ้นแสดงบนเวที แต่แสดงไปได้ไม่นาน ผู้ชมกลุ่มหนึ่งเริ่มขว้างปาแก้วน้ำ ขวดน้ำ เข้าไปในเวที และมีเสียงปืนดังขึ้นมาหลายครั้ง หลังเหตุการณ์สงบ ตำรวจได้จับกุมสังข์ทองในข้อหาพยายามฆ่า ต้องติดคุกอยู่นานหลายปี ซึ่งลำดับเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการนำมากล่าวถึงในเพลง "สังข์ทองแถลงการณ์" [2] ระหว่างต้องขังก็ยังรับหน้าที่ร้องเพลงภายในเรือนจำ และได้แต่งเพลงชื่อ ”รักข้ามกำแพง” จากชีวิตจริง เป็นเพลงดังหลังจากพ้นโทษแล้ว และเพลง คิดถึงบ้านเกิด ที่ดังต่อมาหลังจากเสียชีวิตร่วม 30 ปี ในระหว่างติดคุกสังข์ทองได้รู้จักกับเพื่อนร่วมคุกอย่าง วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ที่ย้ายมาจากคุกโรงเรียนพลตำรวจบางเขนในคดีกบฏ 26 มีนาคม 2520 วีระก็ได้เขียนหนังสือชื่อ “ เรื่องของคนขี้คุก “ ซึ่งมีอยู่ 2 เล่มโดยมีเนื้อหาพูดถึงสังข์ทอง[3] สังข์ทองติดคุกอยู่เป็นเวลา 4 ปี 7 เดือน พ้นโทษเมื่อปี พ.ศ. 2524 และออกมารับงานร้องเพลงและแสดงภาพยนตร์อีกครั้ง

ครอบครัว

สังข์ทอง สมรสกับ ฉันทนา สีใส มีบุตรชายชื่อ "ป๊อบ" สุรัตน์ (ศรีเหรา) สีใส (เกิด พ.ศ. 2512) [1] มีอาชีพนักดนตรี (ปัจจุบัน นำเพลงเก่าๆของสังข์ทอง มาร้องใหม่ ตามรอยพ่อ) ส่วนตัวสังข์ทอง สีใส เสียชีวิตเมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2527 ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ระหว่างเดินทางไปทำการแสดงที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ด้วยวัยเพียง 36 ปี

ผลงานภาพยนตร์

  • จงอางผยอง (2513)
  • โทน (2513)
  • จอมบึง (2513)
  • ลำพู (2513)
  • แม่นาคพระนคร (2513)
  • เพลงรักแม่น้ำแคว (2513)
  • กว่าจะรักกันได้ (2514)
  • โกรธกันทำไม (2514)
  • ลานพัยหญ้า (2514)
  • คีรีบูน (2514)
  • รักจ๋ารัก (2514)
  • จอมเจ้าชู้ (2514)
  • โฉมตรูภูธร (2514)
  • นักบุญทรงกลด (2514)
  • ไม่มีวันที่เราจะพรากจากกัน (2514)
  • นักบุญทรงกลด (2514)
  • ทะโมนไพร (2514)
  • ดวง (2514)
  • มดตะนอย (2514)
  • แม่ศรีไพร (2514)
  • วิวาห์พาฝัน (2514)
  • เหนือพญายม (2514)
  • ในสวนรัก (2514)
  • อีรวง (2514)
  • ลำดวน (2514)
  • เจ้าจอม (2514)
  • ไอ้หนุ่มบ้านนา (2514)
  • มนต์รักป่าซาง (2514)
  • วิมานสีทอง (2514)
  • แว่วเสียงซึง (2514)
  • กว๊านพะเยา (2515)
  • มนต์รักดอกคำใต้ (2515)
  • คนสู้คน (2515)
  • เลือดแม่ (2515)
  • วิวาห์ลูกทุ่ง (2515)
  • หยาดฝน (2515)
  • อสูรกาย (2515)
  • ลานสาวกอด (2515)
  • แม่เนื้อทอง (2515)
  • รักคืนเรือน (2515)
  • ระเริงชล (2515)
  • ศาลาลอย (2515)
  • ขวัญใจลูกทุ่ง (2515)
  • ดินคู่ฟ้า (2515)
  • ลูกชู้ (2515)
  • ไม้ป่า (2516)
  • ดอนโขมด (2516)
  • อะไรกันนักหนา (2516)
  • เขาสมิง (2516)
  • ส้มตำ (2516)
  • กระสือสาว (2516)
  • แก้วกลางนา (2516)
  • มาลัยเสี่ยงรัก (2517)
  • ดอกคูนเสียงแคน (2517)
  • ชาตินักเลง (2518)
  • แม่นาคบุกโตเกียว (2519)
  • บ้องไฟ (2519)
  • นักเลงสามสลึง (2519)
  • ไก่หลง (2519)
  • ท้องนาสะเทือน (2519)
  • นักเลงไม่มีอันดับ (2520)
  • อีเสือ (2520)
  • ไอ้สากเหล็ก (2520)
  • ศศิมาบ้าเลือด (2521)
  • 4 คิงส์ (2525)
  • ประกาศิตนักเลง (2525)
  • ดอกฟ้ากับเด็กวัด (2525)
  • พยัคฆ์ร้าย 6 แผ่นดิน (2525)
  • ยอดเยาวมาลย์ (2525)
  • เสี่ยวอีหลี (2526)
  • ผ่าโลกบันเทิง (2527)

รายชื่อผลงานเพลง

  • นิ้งหน่อง
  • อกอุ่น
  • รักข้ามกำแพง
  • โทน
  • อย่าบอน
  • ชนแหลก
  • กลับมาทำไม
  • มารักกันดีกว่า
  • อุทยานผี
  • จดหมายคนจน
  • คิดถึงบ้านเกิด
  • น้ำตาสังข์ทอง
  • บทเรียนสังข์ทอง
  • หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวสังทอง
  • หนาวลมห่มรัก
  • แดนทรชน

วัฒนธรรมสมัยนิยม

หลังจากการเสียชีวิตของ "สังข์ทอง สีใส" ในปี พ.ศ. 2527 เพลงของสังข์ทองหลายๆเพลง เช่น "กลับมาทำไม" "หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว" "นิ้งหน่อง" ของสังข์ทองก็ได้รับความนิยมอยู่ไม่สร่าง ไม่ว่าจะคณะลิเก ตลก ก็มักจะทำไปร้องรำหรือแปลงเพื่อการแสดง โดยรายการ คุณพระช่วยสำแดงสด ก็เคยนำขึ้นแสดงสด หรือแม้แต่ภาพยนตร์อย่าง "แหยม ยโสธร" ก็นำเองเพลง "กลับมาทำไม" เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์

ในปี พ.ศ. 2558 "แจ๊ส ชวนชื่น" ร่วมกับวงสามบาทห้าสิบ ก็ได้นำเพลงนี้ไปดัดแปลงเป็นเพลงในฉบับ­ของตัวเอง ชื่อเพลง "แว้นฟ้อหล่อเฟี้ยว"[4]

อ้างอิง

  • เจนภพ จบกระบวนวรรณ. เพลงลูกทุ่ง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 176 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-83-0

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya