สังฆราชสังฆราช คือพระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล[1] ในแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศกัมพูชา มักมีพระสังฆราชเป็นของตน พระสังฆราชอาจเป็นประมุขเฉพาะคณะสงฆ์นิกายหนึ่งหรือเป็นประมุขคณะสงฆ์ทั้งปวงทุกนิกายในประเทศนั้น (ซึ่งเรียกว่าสกลมหาสังฆปริณายก[2]) คำว่า สังฆราช เป็นคำสมาสจากคำว่า สงฺฆ (พระสงฆ์) + ราช (พระราชา) ซึ่งแปลว่า พระราชาแห่งคณะสงฆ์ ประเทศไทยพระสังฆราชของประเทศไทยเรียกว่า สมเด็จพระสังฆราช และมีตำแหน่งเป็นสกลมหาสังฆปริณายก เพราะทรงเป็นประมุขปกครองบัญชาการคณะสงฆ์ทุกนิกายในประเทศไทย และมีพระอิสริยยศเสมอด้วยพระองค์เจ้าต่างกรม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบันให้พระมหากษัตริย์ไทยเป็นผู้สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช[3] สมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560[4] ประเทศกัมพูชาช่วง พ.ศ. 2398-2524 ประเทศกัมพูชามีสมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ คือฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ในปี พ.ศ. 2524 ได้มีการรวมคณะสงฆ์ทั้งสองนิกายเป็นหนึ่งเดียว โดยมีสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (เทพ วงศ์) เป็นประมุข[5] ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงสถาปนาบัวร์ กรี เป็นสมเด็จพระอภิสิรีสุคนธามหาสังฆราชาธิบดี สมเด็จพระมหาสังฆราชในคณะธรรมยุติกนิกาย ทำให้คณะสงฆ์กัมพูชาแบ่งการปกครองเป็นสองนิกายอีกครั้ง[6] โดยสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (เทพ วงศ์) เป็นประมุขเฉพาะฝ่ายมหานิกาย และในปี พ.ศ. 2549 สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (เทพ วงศ์) ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี และสมเด็จนนท์ แงด ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี สมเด็จพระสังฆนายกฝ่ายมหานิกายสืบแทนมาจนปัจจุบัน ในปัจจุบันประเทศกัมพูชาจึงมีสมเด็จพระมหาสังฆราช 2 พระองค์ อ้างอิง
|