Share to:

 

สุพันธุศาสตร์

ภาพจากการประชุมสุพันธุศาสตร์นานาชาติครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1921 แสดงภาพสุพันธุศาสตร์เป็นต้นไม้ที่รวมสาขาวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน[1]

สุพันธุศาสตร์ (อังกฤษ: Eugenics) คือประมวลความเชื่อและวิธีปฏิบัติว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพทางพันธุกรรมของประชากรมนุษย์ คำว่า สุพันธุศาสตร์ นี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกโดยนักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ เซอร์ ฟรานซิส แกลตัน ในปีค.ศ. 1883

กฎหมายสุพันธุศาสตร์ถูกบังคับใช้ครั้งแรกในโลกที่รัฐอินดีแอนาในปี 1907[2][3] ซึ่งเปิดทางให้มีการบังคับทำหมัน ก่อนที่ศาลสูงรัฐอินดีแอนาจะสั่งยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ในปี 1921 แต่ยังมีรัฐอื่นอีก 13 แห่งที่นำกฎหมายเช่นนี้ไปบังคับใช้ตาม หนึ่งในนั้นคือรัฐเวอร์จิเนียซึ่งตรากฎหมายทำหมันขึ้นในปี 1924 กฎหมายนี้ถูกฟ้องต่อศาลสูงสุดสหรัฐว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุด ศาลสูงสุดสหรัฐก็รับรองกฎหมายฉบับนี้ให้บังคับใช้ต่อไปในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งอนุญาตให้มีการบังคับทำหมันแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช[4]

กฎหมายทำหมันในสหรัฐนี้เองที่เป็นต้นแบบของกฎหมายสุพันธุศาสตร์ในประเทศนาซีเยอรมนี โดยมีมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์เป็นผู้ออกทุนสนับสนุน บุคลากรสหรัฐจำนวนมากจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีการบังคับทำหมันมากที่สุดมากกว่ารัฐอื่นๆรวมกัน ถูกส่งตัวไปยังเยอรมนีเพื่อให้คำแนะนำแก่บรรดาแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน[5]

กฎหมายสุพันธุศาสตร์ยังถูกใช้งานในอีกหลายประเทศเช่นกัน อาทิ ประเทศเม็กซิโกในปีค.ศ. 1932 และประเทศญี่ปุ่นระหว่างปีค.ศ. 1948-96 ซึ่งล้วนมีลักษณะเนื้อหาคล้ายคลึงกัน โดยจะอนุญาตให้แพทย์สามารถบังคับทำหมันบุคคลที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญาซึ่งอาจถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรรุ่นหลังเกิดมาอย่างด้อยคุณภาพ

อ้างอิง

  1. Currell, Susan; Christina Cogdell (2006). Popular Eugenics: National Efficiency and American Mass Culture in The 1930s. Athens, OH: Ohio University Press. p. 203. ISBN 0-8214-1691-X.
  2. Lombardo, 2011: p. ix.
  3. Indiana Supreme Court Legal History Lecture Series, "Three Generations of Imbeciles are Enough:"Reflections on 100 Years of Eugenics in Indiana, at In.gov เก็บถาวร 13 สิงหาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. Larson 2004, pp. 194–195 Citing Buck v. Bell 274 U.S. 200, 205 (1927)
  5. Timothy F. Murphy; Marc Lappé (1994). Justice and the Human Genome Project. University of California Press. p. 18. ISBN 978-0-520-08363-9.
Kembali kehalaman sebelumnya