หมอเท้าเปล่าหมอเท้าเปล่า (อังกฤษ: barefoot doctor; จีน: 赤脚医生; พินอิน: chìjiǎo yīshēng) คือ เกษตรกรที่ได้รับการฝึกการแพทย์และผู้ช่วยแพทย์พื้นฐานขั้นต่ำและทำงานในหมู่บ้านชนบทในประเทศจีน ความมุ่งหมายเพื่อนำสาธารณสุขสู่พื้นที่ชนบทซึ่งหมอที่ฝึกในเมืองจะไม่มาตั้งถิ่นฐาน พวกเขาส่งเสริมการสุขาภิบาลเบื้องต้น สาธารณสุขป้องกันและการวางแผนครอบครัว ตลอดจนรักษาความเจ็บป่วยสามัญ ชื่อนี้ได้มาจากเกษตรกรภาคใต้ ซึ่งมักทำงานเท้าเปล่าในนาข้าว ในคริสต์ทศวรรษ 1930 ขบวนการบูรณะชนบทได้บุกเบิกผู้ใช้แรงงานสาธารณสุขหมู่บ้านที่ได้รับการฝึกสาธารณสุขพื้นฐานเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสานงาน และมีการทดลองมณฑลหลัง ค.ศ. 1949 แต่หลังสุนทรพจน์สาธารณสุขของเหมา เจ๋อตุงใน ค.ศ. 1965 มโนทัศน์นี้ถูกพัฒนาและกลายเป็นสถาบัน ในสุนทรพจน์ของเขา เหมา เจ๋อตุงวิจารณ์ความลำเอียงของระบบการแพทย์ในเมืองขณะนั้น และเรียกร้องให้มีระบบที่มุ่งความเป็นอยู่ดีของประชากรชนบทมากขึ้น[1] นโยบายสาธารณสุขของจีนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังสุนทรพจน์นี้และใน ค.ศ. 1968 โครงการหมอเท้าเปล่าได้รวมเข้าสู่นโยบายแห่งชาติ[1] โครงการเหล่านี้เรียก "ระบบการแพทย์ร่วมมือชนบท" (rural cooperative medical systems, RCMS) และต่อสู้เพื่อให้ชุมชนได้รับจัดหาบริการสาธารณสุขชนบท[2] หมอเท้าเปล่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งลดอิทธิพลของเว่ยเชงปู้ กระทรวงสาธารณสุขของจีน โดยหลักมูล ซึ่งหมอที่ฝึกจากตะวันตกครอบงำ การฝึกปกติหมอเท้าเปล่าสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาแล้วจึงรับการฝึกราวหกเดือนที่โรงพยาบาลประจำอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชน[1] ผ่านการฝึกซึ่งกินเวลาตั้งแต่ไม่กี่เดือนถึงหนึ่งปีครึ่ง การฝึกเน้นการป้องกันโรคระบาด[3] การรักษาความเจ็บป่วยอย่างง่ายซึ่งสามัญในพื้นที่เฉพาะ และได้รับการฝึกให้ใช้แพทยศาสตร์และเทคนิคตะวันตก[1] ส่วนสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรมคือการเคลื่อนไหวการส่งปัญญาชน และในกรณีนี้คือหมอ ให้รับราชการในชนบท (下鄉) การทำงานหมอเท้าเปล่าปฏิบัติเหมือนผู้ให้บริการการสาธารณสุขมูลฐานในระดับรากหญ้า พวกเขาได้รับแจกยาชุดทั้งแผนตะวันตกและจีนเพื่อจ่าย พวกเขามักปลูกสมุนไพรเองในสวนหลังบ้าน พวกเขาพยายามรวมแพทย์แผนตะวันตกและแผนจีน เช่น การฝังเข็มและการรมยา ตามที่เหมากำหนด ลักษณะสำคัญคือพวกเขายังทำงานอยู่ในไร่นา พวกเขารวมเข้าสู่ระบบซึ่งสามารถส่งต่อผู้ป่วยรุนแรงมายังโรงพยาบาลตำบลและอำเภอได้ หมอเท้าเปล่าจัดหาบริการการสาธารณสุขมูลฐานส่วนใหญ่และมุ่งป้องกันมากกว่ารักษา[1] พวกเขาจัดหาการก่อภูมิคุ้มกัน ทำคลอดสำหรับหญิงมีครรภ์และพัฒนาการสุขาภิบาล[1] รายได้ของหมอเท้าเปล่าคำนวณราวกับเป็นงานเกษตรกรรม คือ ได้รับค่าจ้างราวครึ่งหนึ่งของหมอที่ได้รับการฝึกทั่วไป[1] การจัดหาเงินทุนนี้มาจากกองทุนสวัสดิการรวมตลอดจนการร่วมบริจาคของเกษตรกรท้องถิ่น (เป็นรายได้ต่อปีตั้งแต่ 0.5% ถึง 2%)[2] โครงการนี้ประบความสำเร็จส่วนหนึ่งเพราะหมอถูกเลือกและได้รับค่าจ้างโดยหมู่บ้านของตนเอง จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1960 มีโครงการระบบการแพทย์ร่วมมือชนบทใน 90% ของหมู่บ้านชนบทของจีน[1] งานของหมอเท้าเปล่าลดราคาสาธารณสุขในประเทศจีนอย่างชะงัด และให้การรักษาการบริบาลปฐมภูมิแก่ประชากรกสิกรรมชนบท[1] องค์การอนามัยโลกถือว่า RCMS เป็น "ตัวอย่างที่สัมฤทธิ์ผลของการแก้ไขความขาดแคลนหรือบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบท"[1] เพราะหมอเท้าเปล่าจัดหาการสาธารณสุขมูลฐานเพื่อให้สาธารณสุขพื้นฐานมีราคาพอจ่ายและทำให้จีนเข้าสู่สหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก[4] ยิ่งไปกว่านั้น โครงการนี้ยังเป็นตัวแทนว่า บางโรคในประเทศยากจนสามารถแก้ไขได้เพียงขาดเทคโนโลยีที่เพียงพอ[4] การยุติระบบหมอเท้าเปล่าถูกยกเลิกใน ค.ศ. 1981 ด้วยการสิ้นสุดของระบบคอมมูนสหกรณ์การเกษตร นโยบายเศรษฐกิจใหม่ในประเทศจีนส่งเสริมการเปลี่ยนจากคติรวมหมู่เป็นการป้องกันปัจเจกโดยหน่วยครอบครัว[3] การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดการโอนระบบการแพทย์เป็นของเอกชน ซึ่งไม่อาจค้ำจุนหมอเท้าเปล่าได้[3] หมอเท้าเปล่าได้รับทางเลือกให้สอบระดับชาติ หากสอบผ่านจะกลายเป็นหมอหมู่บ้าน และหากไม่ผ่านจะเป็นผู้ช่วยสุขภาพหมู่บ้าน หมอหมู่บ้านเริ่มเก็บค่าบริการจากผู้ป่วย[3] และเนื่องจากแรงจูงในทางเศรษฐกิจใหม่ พวกเขาเริ่มหันความสนใจมายังภาวะเรื้อรังแทนการบริบาลป้องกัน[1] จนถึง ค.ศ. 1984 ความครอบคลุมของ RCMS หมู่บ้านลดลงจาก 90% เหลือ 4.8%[2] ใน ค.ศ. 1989 รัฐบาลจีนพยายามฟื้นฟูระบบสาธารณสุขร่วมมือในมณฑลชนบทโดยการริเริ่มโครงการการสาธารณสุขมูลฐาน ความพยายามนี้เพิ่มความครอบคลุมเป็น 10% ใน ค.ศ. 1993[2] ใน ค.ศ. 1994 รัฐบาลสถาปนา "โครงการ" ซึ่งเป็นความพยายามรื้อฟื้นความครอบคลุมของการสาธารณสุขมูลฐานสำหรับประชากรชนบท[2] ใน ค.ศ. 2003 รัฐบาลจีนเสนอระบบการแพทย์ร่วมมือใหม่ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการและจัดหาเงินทุน[2] โครงการนี้ดำเนินคล้ายกับโครงการการประกันภัยมากกว่า โครงการนี้จ่าย 10 เหรินมินปี้ต่อปีต่อคนที่โครงการครอบคลุม และโดยการรับประกันความครอบคลุมสำหรับโรคร้ายแรง[1] โครงการใหม่นี้อาศัยบทเรียนที่ได้รับจากสมัยหมอเท้าเปล่าอย่างหนัด แต่เผชิญความท้าทายมากมายทั้งในการจัดหาการบริบาลที่เพียงพอและคุ้มมูลค่าสำหรับประชากรชนบทของจีน[1] มรดกประวัติศาสตร์ระบบหมอเท้าเปล่าเป็นแรงบันดาลใจสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับการประชุมองค์การอนามัยโลกในอัลมา อะตา ประเทศคาซัคสถานใน ค.ศ. 1978 ซึ่งมีการลงนามปฏิญญาอัลมา อะตาอย่างเป็นเอกฉันท์[5] ปฏิญญาดังกล่าวได้รับการยอมรับเป็นความก้าวหน้าปฏิวัติในอุดมการณ์สุขภาพระหว่งประเทศ โดยกำหนดให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมตัดสินใจลำดับความสำคัญของสาธารณสุข กำหนดให้เน้นการสาธารณสุขมูลฐานและแพทยศาสตร์ป้องกัน และสำคัญสุดคือ มุ่งเชื่อมโยงแพทยศาสตร์กับการค้า เศรษฐศาสตร์ อุตสาหกรรม การเมืองชนบทและพื้นที่การเมืองและสังคมอื่น การพัฒนาระหว่างประเทศกับองค์การนอกภาครัฐใน ค.ศ. 1977 ฌ็อง-ปีแยร์ วิลเล (Jean-Pierre Willem) สร้างองค์การนอกภาครัฐหมอมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เรียก Medecins Aux Pieds Nus ในประเทศฝรั่งเศส อาสาสมัครทำงานในประเทศบุรุนดี โคลอมเบียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อพัฒนา "สวนยา" สำหรับสมุนไพรศาสตร์ (herbalism) และผลิตน้ำมันสำคัญสำหรับหน่อบำบัด (gemmotherapy) ใน ค.ศ. 1999 ฌ็อง-โกลด โรเด (Jean-Claude Rodet) กลายเป็นประธานคนแรกของ Medecins Aux Pieds Nus แคนาดา ที่ทำงานกับมาร์ก สมิธในสหรัฐอเมริกา องค์การนอกภาครัฐนี้นำภารกิจจริยชีววิทยา (ethnobiological) ซึ่งยึด "ความใกล้ชิด การป้องกันและความนอบน้อม"[6] อ้างอิง
บทความนี้รวมเอางานสาธารณสมบัติจากเว็บไซต์หรือเอกสารของ ประเทศศึกษา หอสมุดรัฐสภา "Glossary -- China" |