หลุมพอทะเล
หลุมพอทะเล หรือ ประดู่ทะเล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Intsia bijuga) เป็นต้นไม้พืชดอกในวงศ์ถั่ว มีถิ่นกำเนิดในอินโดแปซิฟิก มีการกระจายพันธุ์จากประเทศแทนซาเนียและประเทศมาดากัสการ์ไปทางตะวันออกผ่านประเทศอินเดียและรัฐควีนส์แลนด์, ประเทศออสเตรเลียถึงหมู่เกาะแปซิฟิกของประเทศซามัว[2] ต้นสูงได้หลายเมตร พบในป่าชายเลน ลักษณะทางพฤกษศาสตร์หลุมพอทะเลเป็นไม้ยืนต้น อาจจะ สูง 20–40 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงสูงถึงแผ่กว้าง เปลือกสีเทาแกมเหลืองถึงสีน้ำตาลเทา เรียบหรือแตกสะเก็ด ใบย่อยเรียงเป็นคู่ แผ่นใบรูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง 4–10 เซนติเมตร ยาว 5–18 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงตามง่ามใบและปลายกิ่ง มีสีขาวก่อนเปลี่ยนเป็นสีชมพูและแดงในเวลาต่อมา เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.5 เซนติเมตร ผลแบน รูปขอบขนาน ผิวเกลี้ยง กว้าง 4–5 เซนติเมตร ยาว 10–25 เซนติเมตร แตกเมื่อแก่ มี 4–8 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปไข่ ปลายมนโคนตัด กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาว 2.5–3 เซนติเมตร[4] การใช้ประโยชน์เปลือกและใบของใช้เป็นยาแผนโบราณ ไม้ท่อนในปาปัวนิวกินีและนิวซีแลนด์เรียกว่า กวิลา (ตอกปีซิน: kwila) เป็นไม้ที่ทนทานและกันปลวกได้ดี ทำให้เป็นวัสดุที่มีมูลค่าสูง ใช้สำหรับการปูพื้นและการใช้งานอื่น ๆ เนื้อไม้ยังสามารถใช้สกัดสีย้อม ไม้อาจมีจุดสีทองแทรกในเนื้อซึ่งน่าดึงดูดสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม เนื่องจากมีการตัดไม้เป็นจำนวนมาก ทำให้ใกล้สูญพันธุ์ในหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[5] มีการซื้อไม้เป็นจำนวนมากสำหรับตกแต่งสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าไม้รายใหญ่ที่สุด[6] ในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นไม้ใช้สำหรับปูพื้น ซึ่งโดยทั่วไปจะขายโดยใช้ชื่อต่างกัน โรงเลื่อยที่ทำการตัดไม้มีทั้งที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับใบอนุญาต กรีนพีซอ้างว่าในอัตราปัจจุบันของการทำไม้ ต้นหลุมพอทะเลจะถูกตัดจนหมดภายใน 35 ปี[6] สัญลักษณ์หลุมพอทะเล เป็นต้นไม้สัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของดินแดนกวมของสหรัฐ รู้จักกันในชื่ออิฟิต (ชามอร์โร: ifit) ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองไม่มีความอุดมสมบูรณ์ของไม้ชนิดนี้อีกต่อไปบนเกาะ การตัดต้นอิฟิตที่มีชีวิตบนเกาะกวมถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เนื้อไม้ยังคงเป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับช่างแกะสลักในท้องถิ่น[7] อ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ Intsia bijuga
|