หิมะภาค] หิมะภาค[ต้องการอ้างอิง]หรือ ไครโอสเฟียร์ (อังกฤษ: Cryosphere) เป็นส่วนหนึ่งของผิวโลกซึ่งประกอบด้วยน้ำในรูปของแข็ง รวมถึงทะเลที่เป็นน้ำแข็ง ทะเลสาบน้ำแข็ง แม่น้ำที่เป็นน้ำแข็ง ธารน้ำแข็ง แผ่นน้ำแข็ง และพื้นดินซึ่งเยือกแข็ง พื้นที่ส่วนใหญ่ของหิมะภาคมักจะซ้อนอยู่บนพื้นที่ของอุทกภาค หิมะภาคนั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหลายประการ โดยมักมีอิทธิพลต่อเมฆ ปริมาณหยาดน้ำฟ้า อุทกวิทยา และการไหลเวียนของอากาศและกระแสน้ำ โครงสร้างน้ำที่ผ่านจุดเยือกแข็งมาแล้วมักจะพบบนพื้นผิวโลกในรูปของหิมะ น้ำแข็งในทะเลสาบและแม่น้ำ น้ำแข็งในทะเล และธารน้ำแข็ง โดยพื้นที่ที่มีน้ำแข็งปกคลุมและน้ำแข็งในแหล่งน้ำจืดนั้นมักจะขึ้นตรงกับฤดูกาล หากอุณหภูมิสูงขึ้น หิมะหรือน้ำแข็งเหล่านี้ก็อาจละลายได้ น้ำแข็งในธารน้ำแข็งบางแห่งอาจคงสภาพได้นานถึงหนึ่งแสนปีหรือมากกว่านั้น และน้ำแข็งทางตะวันออกของทวีปแอนตาร์กติกาอาจมีอายุถึงหนึ่งล้านปี ปริมาณน้ำแข็งที่มากที่สุดในโลกอยู่ที่แอนตาร์กติกา โดยเฉพาะบริเวณตะวันออกของทวีป ส่วนบริเวณที่มีน้ำแข็งหรือหิมะปกคลุมที่กว้างที่สุดในโลกนั้นอยู่บริเวณซีกโลกเหนือ โดยหิมะภาคจะกินพื้นที่ถึงร้อยละ 23 ของซีกโลกเหนือในเดือนมกราคม มีปัจจัยทางกายภาพที่สำคัญหลายประการที่ทำให้การแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างพื้นผิวโลกกับชั้นบรรยากาศเบาบางลง ปัจจัยที่สำคัญก็คือการที่หิมะภาคสามารถสะท้อนความร้อนได้ สามารถถ่ายเทความร้อนได้ และสามารถเปลี่ยนสถานะได้ (ความร้อนแฝงจำเพาะ) ปัจจัยทางกายภาพเหล่านี้รวมถึงความขรุขระของผิวไครโอสเฟียร์นั้นมีส่วนอย่างมากในการที่มนุษย์สามารถสังเกตและศึกษาหิมะและน้ำแข็งจากอวกาศได้ ตัวอย่างเช่นความขรุขระของหิมะภาคเป็นตัวการสำคัญในการสะท้อนกลับของเรดาร์[1] ดูเติมอ้างอิง
|