Share to:

 

อำเภอบ้านแหลม

อำเภอบ้านแหลม
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Ban Laem
ฝูงวาฬบรูด้าในอ่าวบางตะบูน
ฝูงวาฬบรูด้าในอ่าวบางตะบูน
คำขวัญ: 
วัดเขาตะเคราศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อสัมฤทธิ์คู่บ้าน ถิ่นฐานหอยแครง สู่แหล่งเกลือดี เขียวขจีป่าชายเลน
แผนที่จังหวัดเพชรบุรี เน้นอำเภอบ้านแหลม
แผนที่จังหวัดเพชรบุรี เน้นอำเภอบ้านแหลม
พิกัด: 13°12′2″N 99°58′49″E / 13.20056°N 99.98028°E / 13.20056; 99.98028
ประเทศ ไทย
จังหวัดเพชรบุรี
พื้นที่
 • ทั้งหมด189.885 ตร.กม. (73.315 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด52,847 คน
 • ความหนาแน่น278.31 คน/ตร.กม. (720.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 76110
รหัสภูมิศาสตร์7607
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอบ้านแหลม เลขที่ 20/10 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

บ้านแหลม เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอำเภอว่า "อำเภอบ้านแหลม" จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 หลังจากที่เคยได้รับการจัดตั้งแล้วถูกยุบรวมกับอำเภอเมืองเพชรบุรี

บ้านแหลมเป็นที่ตั้งของนาเกลือที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยคิดเป็นร้อยละ 47 ของนาเกลือทั้งประเทศ

ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอบ้านแหลมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้[1]

ประวัติ

ตราประจำอำเภอบ้านแหลมบนโฉนดที่ดิน ร.ศ. 133

สมัยอดีตนั้นอำเภอบ้านแหลมเป็นเสมือนเมืองท่าของเมืองเพชรบุรีที่ใช้เป็นที่ติดต่อค้าขายกับหัวเมืองอื่น ดังนั้นเมืองเพชรบุรีจึงเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองมาแต่ในอดีตจากการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ โดยมีสินค้าหลักก็คือ น้ำตาลโตนดและเกลือ

ความเป็นเมืองท่าเล็กของสยามประเทศได้สิ้นสุดลงเมื่อได้มีสนธิสัญญาเบอร์นีที่บังคับให้สยามมีการติดต่อค้าขายผ่านทางท่าเรือคลองเตยเพียงแห่งเดียว ภายหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงได้มีผลบังคับแทนสนธิสัญญาเบอร์นีและได้ยกเลิกในรัชกาลต่อมา แต่รัฐบาลได้หันไปพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบัง หาได้มีการพัฒนาท่าเรือตามเมือง (จังหวัด) อย่างที่เคยมีมาแต่เดิมไม่ ประชาชนที่อยู่ในอำเภอบ้านแหลมในอดีตซึ่งมักจะมีฐานะจากการค้าขายภายหลังจึงได้มีการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำมาหากินในกรุงเทพมหานคร

ชื่อ "บ้านแหลม" เป็นชื่อเรียกตามสภาพภูมิประเทศที่เป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล เดิมท้องที่อำเภอบ้านแหลมมีฐานะในทางปกครองเป็นส่วนหนึ่งของแขวง 2 แขวง คือ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นอยู่กับ แขวงขุนชำนาญ ทางฝั่งตะวันตกขึ้นอยู่กับ แขวงหลวงพรหมสาร เรียกชื่อตามทินนามของผู้เป็นนายแขวงปกครองอยู่ขณะนั้น ครั้นต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ. 2443 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยุบรวมอำเภอเมืองเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2444[2] ต่อมากรมการอำเภอเมือง ได้แจ้งมณฑลเทศาภิบาลราชบุรี ว่าท้องที่อำเภอเมือง เมืองเพ็ชรบุรี มีพื้นที่กว้างขวาง มีพลเมือง 60,000 เศษ เหลือกำลังเกินที่กรมการอำเภอเมืองจะตรวตรารักษาความสงบเรียบร้อยให้ตลอดทั่วถึงได้ จึงขอแยกอำเภอใหม่ ซึ่งพระยาอมรินทร์ฤๅไชย ข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลราชบุรีได้มีใบบอกไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำความกราบบังคบทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอำเภอใหม่ว่า "อำเภอบ้านแหลม" [3] เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2447

  • วันที่ 2 กันยายน 2484 โอนพื้นที่หมู่ 4 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมืองเพชรบุรี ไปขึ้นกับตำบลท่าแร้งตก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
  • วันที่ 2 กันยายน 2484 โอนพื้นที่หมู่ที่ 7, 8 และ 9 ตำบลบางขุนไทรไปเป็นหมู่ที่ 1, 2 และ 3 ตำบลปากทะเล ตามลำดับ โอนพื้นที่หมู่ที่ 8, 9, 10 และ 11 ไปเป็น หมู่ที่ 1, 2, 3 และ 4 ตำบลบางตะบูนออก โอนพื้นที่หมู่ที่ 1, 2 และ 3 ตำบลท่าแร้ง ไปเป็นหมู่ที่ 1, 2 และ 3 ตำบลท่าแร้งออก และโอนพื้นที่หมู่ที่ 7, 8, 9 และ 10 ตำบลบางแก้ว อำเภออำเภอบ้านแหลมไปเป็น หมู่ที่ 1, 2, 3 และ 4 ตำบลแหลมผักเบี้ย ตามลำดับ [4]

รายนามนายอำเภอ

ลำดับ รายนาม ชื่อตำแหน่ง ช่วงเวลา ระยะเวลา หมายเหตุ
1. นายตั๋ว [5] นายอำเภอบ้านแหลม 5 มิถุนายน พ.ศ. 2448
2. นาย เชิดศักดิ์ ชูศรี นายอำเภอบ้านแหลม พ.ศ. 2536- พ.ศ. 2541
3. นาย ไพบูลย์ ยิ้มแย้ม นายอำเภอบ้านแหลม

การแบ่งเขตการปกครอง

การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอบ้านแหลมแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 10 ตำบล 73 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2565)[6]
1. บ้านแหลม Ban Laem
10
14,112
2. บางขุนไทร Bang Khun Sai
11
7,048
3. ปากทะเล Pak Thale
4
2,440
4. บางแก้ว Bang Kaeo
8
4,824
5. แหลมผักเบี้ย Laem Phak Bia
4
2,369
6. บางตะบูน Bang Tabun
8
3,575
7. บางตะบูนออก Bang Tabun Ok
5
2,730
8. บางครก Bang Khrok
12
7,058
9. ท่าแร้ง Tha Raeng
7
5,091
10. ท่าแร้งออก Tha Raeng Ok
4
3,257

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอบ้านแหลมประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลบางตะบูน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบางตะบูนและตำบลบางตะบูนออก
  • เทศบาลตำบลบ้านแหลม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านแหลม
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหลม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านแหลม (นอกเขตเทศบาลตำบลบ้านแหลม)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนไทร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางขุนไทรทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากทะเลทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางแก้วทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมผักเบี้ย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแหลมผักเบี้ยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางตะบูน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางตะบูนและตำบลบางตะบูนออก (นอกเขตเทศบาลตำบลบางตะบูน)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางครก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางครกทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าแร้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าแร้งทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าแร้งออก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าแร้งออกทั้งตำบล

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อำเภอบ้านแหลมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ในการจัดตั้งโครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ย โดยมีพื้นที่ตั้งโครงการอยู่ ณ ตำบลแหลมผักเบี้ย

สถานที่ท่องเที่ยว

แนวเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตำบลบางแก้ว
  • อ่าวกรุงเทพ (อ่าวไทยตอนใน รูปตัว ก) ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอำเภอบ้านแหลม โดยส่วนใหญ่มีลักษณะนิเวศวิทยาป่าชายเลน ชึ่งแต่ละปีมีการสะสมตะกอนจากกระแสน้ำที่ไหลจากแม่น้ำต่าง ๆ ออกสู่อ่าวไทย รูปตัว ก (อ่าวกรุงเทพ) ทำให้ชายฝั่งตั่งแต่เหนือสุดของเขตอำเภอบ้านแหลมถึงแหลมหลวง มีลักษณะป่าชายเลน เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ บริเวญทะเลอ่าวกรุงเทพในเขตอำเภอบ้านแหลมยังเป็นจุดชม "ฝูงวาฬบรูด้า" และ "ฝูงโลมา"ชนิดอื่น ๆ
  • ปากอ่าวบางตะบูน ตั้งอยู่ตำบลบางตะบูน จากตัวเมืองเพชรบุรีไปบ้านแหลมระยะทาง 12 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปบางตะบูนเป็นระยะทางอีก 8 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ติดริมทะเล ชาวบ้านมีอาชีพเก็บเลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม และประมงชายฝั่ง อีกทั้งเป็นที่ชมนกกาน้ำใหญ่ และนกนา ๆ ชนิด และยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน บริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติ
  • หมู่บ้านบางขุนไทร ตั้งอยู่ตำบลบางขุนไทร จากตัวเมืองเพชรบุรีไปบ้านแหลมระยะทาง 12 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปบางขุนไทรเป็นระยะทางอีก 7 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ติดริมทะเล ชาวบ้านมีอาชีพเก็บหอยเสียบ โดยใช้กระดานเลื่อนไปบนผิวเลน
  • แหลมหลวง อยู่ในตำบลแหลมผักเบี้ย ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางเดียวกับทางไปหาดเจ้าสำราญ โดยแยกซ้ายก่อนถึงหาดเจ้าสำราญเล็กน้อย ลักษณะเป็นปลายแหลมของหาดทรายยื่นยาวออกไปในทะเลถึง 2 กิโลเมตร เป็นชายทะเลที่สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
  • บางแก้ว จากตำนานเล่าว่ามีสำเภาจากประเทศจีนได้แล่นเรือเข้ามาค้าขายแล้วประสบกับพายุเกิดอับปางลง ทำให้สินค้าที่เป็นแก้วแตกกระจาย แล้วคลื่นก็พัดขึ้นสู่ชายฝั่งที่เป็นกระซ้าขาว เมื่อยามต้องแสงตัววันแล้วไซ้ ก็เกิดเป็นแสงแวววาวระยิบระยับจับตายิ่งนัก พื้นที่อ่าว ณ บริเวณนี้ที่มีการกัดเซาะของชายฝั่งทะเลที่ค่อนข้างมาก หลังจากที่ชาวบ้านได้เข้าไปขุดกระซ้าที่อยู่ชายทะเลออกขายให้แก่นายทุน พอถึงช่วงเวลาที่มีมรสุม กระแสน้ำก็ไหลพัดเข้าสู่ชายฝั่ง จนทำให้หมู่บ้านของตำบลบางแก้วหายไปเป็นหมู่บ้าน ผืนแผ่นดินไทยบริเวณนี้กลายเป็นทะเลไปวัดระยะจากชายทะเลเดิมได้กว่ากิโลเมตร บริเวณอ่าวไทยในช่วงบางแก้วนี้ จะมีหอยแครง หอยปากเป็ด (หอยราก) หอยเสียบ หอยขาว และหอยตระกายชุกชุมมาก จึงเหมาะแก่การรอพัฒนาให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป
  • วัดเขาตะเครา ตั้งอยู่ตำบลบางครก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว เรียกกันว่า "หลวงพ่อเขาตะเครา" มีชาวเมืองและนักท่องเที่ยวไปกราบไหว้ปิดทองเป็นอันมาก จนกระทั่งบัดนี้แลไม่เห็นพุทธลักษณะเดิม มีประวัติเล่าถึงหลวงพ่อองค์นี้ว่า เป็นพระพี่พระน้อง 3 องค์กับหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม บางตำราว่าเป็นพี่น้องกันถึง 5 องค์ เพิ่มเติมจาก 3 องค์คือ หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และหลวงพ่อวัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ด้วย

ที่มาของพระพุทธรูปนี้เมื่อปลายสมัยอยุธยา ตอนที่ชาวบ้านแหลม เมืองเพชรบุรีหนีพม่าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปากน้ำแม่กลองจนกระทั่งกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสมุทรสงครามในทุกวันนี้นั้น วันหนึ่งชาวประมงบ้านแหลมไปตีอวนที่ปากอ่าวได้พระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย ชาวบ้านแหลมนำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม (ปัจจุบันคือวัดเพชรสมุทรวิหาร กลางเมืองสมุทรสงคราม) ส่วนอีกองค์มอบให้ญาติชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม

ในปลาย พ.ศ. 2317 กรมพระเทพามาตย์ หรือ สมเด็จพระพันปีหลวง (นางนกเอี้ยง) ทิวงคต (สิ้นพระชนม์) ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้านางเธอ กรมหลวงเทวินทร์สุดา และพระยาธิเบศร์บดี เป็นผู้ดูแลควบคุมการก่อสร้างวัดที่ บ้านแหลม ซึ่งเป็นชาติภูมิ (ถิ่นกำเนิด) ของกรมสมเด็จพระเทพามาตย์ พระราชชนนีพันปีหลวง เป็นการอุทิศบุญกุศลถวาย โดยพระองค์ได้พระราชทานศาสนสถาน ศาสนวัตถุที่มีความงดงาม และทรงคุณค่ามากมาย เพื่อให้เป็นเกียรติประวัติ และเป็นสถานที่ ที่ควรค่าแก่การจดจำจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อไป

วัดนี้ชาวบ้านเรียก วัดกลางสนมจัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีมูลเหตุมาจากลักษณะของสถานที่ตั้ง เพราะวัดตั้งอยู่ใจกลางชุมชน หรือกลางบ้านเรือนราษฎร และอีกมูลเหตุหนึ่ง เนื่องมาจากผู้ดูแลควบคุมการก่อสร้างวัดแห่งนี้ คือ พระเจ้าน้านางเธอ กรมหลวงเทวินทร์สุดา นามเดิมชื่อ จัน (จากการสันนิษฐาน เมื่อนางจันเข้ามาอยู่ในรั้ววัง คงเปลี่ยนชื่อจาก จัน เป็น อั๋น เพราะคนในยุคสมัยนั้นนิยมใช้ชื่อ จันทร์ หรือ จัน หรือไม่ประวัติศาสตร์อาจจะบันทึกผิดพลาดจาก จัน เป็น อั๋น) ซึ่งมีถิ่นกำเนินอยู่ที่บ้านแหลม เป็นพระขนิษฐาใน กรมพระเทพามาตย์ หรือ สมเด็จพระพันปีหลวง (นางนกเอี้ยง) พระชนนีใน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ชาวบ้านเห็นว่า นางจัน เข้าไปอยู่ในรั้วในวัง จึงเข้าใจว่านางจันเป็นพระสนม และพากันเรียกว่า สนมจัน เมื่อนำมูลเหตุทั้งสองมารวมเข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็นชื่อวัดกลางสนมจัน แต่ต่อมาภายหลังชาวบ้านได้พากันเรียกชื่อวัดเพี้ยนไปเป็นวัดกลางสนามจันทร์ และมาสรุปตรงชื่อ วัดในกลาง จนถึงปัจจุบัน[7]

เศรษฐกิจ

ประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยตามชายฝั่งทะเลมักประกอบอาชีพประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนประชากรในพื้นที่อื่น ๆ ก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีทำนาในพื้นที่น้ำจืดและน้ำกร่อย ในด้านอุตสาหกรรม มีการทำนาเกลือตามชายฝั่ง นอกจากนี้ในอำเภอยังมีคลังน้ำมัน 2 แห่ง และโรงกลั่นน้ำมันอีก 1 แห่ง (ยังไม่ได้ทำการกลั่น เพราะอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล)

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

มีการกล่าวถึงของการเดินทางในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ ดังนี้[8]

"ออกนาวามาทางบ้านบางครก มะพร้าวดกดูสล้างสองข้างคลอง
มีส้มสูกลูกไม้เหมือนในสวน ตลอดล้วนเรียงรายเรียกขายของ
เขาเลียนล้อต่อถามตามทำนอง ได้ยิ้มย่องนิดหน่อยอร่อยใจ"

อ้างอิง

  1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๘ ตอนที่ ๖๖ ง ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ หน้าที่ ๑๐
  2. ประกาศกระทรวงมหาดไทย (ปรับปรุงการจัดตั้งแบ่งเขตแขวงเมืองเพ็ชร์บุรีเสียใหม่ โดยให้มี ๖ อำเภอ และการจัดกรมการอำเภอ) ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๘ ตอนที่ ๕ ประกาศ ณ วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ หน้าที่ ๕๙
  3. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งอำเภอบ้านแหลม มณฑลราชบุรี เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๑ ตอนที่ ๗ ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ หน้าที่ ๘๔
  4. [1]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอในจังหวัดเพชรบุรี | ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 26 เล่มที่ 64 หน้าที่ 1152 - 1153
  5. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย [ให้นายตั๋ว ผู้รั้งตำแหน่งนายอำเภอแม่ประจันไปเป็นนายอำเภอบ้านแหลม ให้นายเบ๋ง ปลัดอำเภอแม่ประจันเป็นนายอำเภอแม่ประจัน]ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๒ ตอนที่ ๑๑ ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๔ หน้าที ๒๑๘
  6. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-12. สืบค้นเมื่อ 2011-03-30.
  8. http://banlaem.phetchaburi.doae.go.th/amphur/amphur_banlaem.html[ลิงก์เสีย]
Kembali kehalaman sebelumnya