อุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง
อุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง (จีน: 高平陵之變) เป็นเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[a] ในรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220-280) ของจีน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แก่ฝ่ายของสุมาอี้และฝ่ายของโจซองซึ่งต่างก็เป็นผู้สำเร็จราชการของโจฮองจักรพรรดิวุยก๊กซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 17 พรรษา ในวันนั้นขณะที่โจซองและเหล่าน้องชายตามเสด็จจักรพรรดิโจฮองไปเยือนสุสานหลวงโกเบงเหลง สุมาอี้ได้ก่อการรัฐประหารเข้าควบคุมนครหลวงลกเอี๋ยงและออกพระราชเสาวนีย์ในพระนามของกวยทายเฮากล่าวโทษถึงความผิดต่าง ๆ ที่โจซองเคยกระทำ โจซองยอมจำนนและสละอำนาจของตนหลังได้รับคำมั่นว่าตนและครอบครัวจะได้รับการไว้ชีวิต โดยโจซองคิดว่าตนจะยังคงได้ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา แต่ไม่นานหลังจากนั้น โจซองและเหล่าน้องชายรวมถึงผู้ติดตามถูกตั้งข้อหากบฏและถูกประหารชีวิตพร้อมครอบครัวในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เหตุการณ์รัฐประหารนี้ได้เพิ่มอิทธิพลของตระกูลสุมาและปูทางให้การเข้าแทนที่สมัยปกครองของวุยก๊กด้วยราชวงศ์จิ้นของตระกูลสุมาในปี ค.ศ. 266 ภูมิหลังในเดือนมกราคม ค.ศ. 239 โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กสวรรคต โจฮองพระโอรสบุญธรรมวัย 7 พรรษาของพระองค์ขึ้นสืบราชบัลลังก์ ก่อนที่โจยอยจะสวรรคตได้ทรงตั้งให้มหาขุนพลโจซองและเสนาบดีกลาโหมสุมาอี้เป็นผู้สำเร็จราชการช่วยเหลือโจฮอง โจซองต้องการผูกขาดอำนาจในราชสำนักวุยก๊ก จึงใช้กลวิธีทางการเมืองหลายอย่างเพื่อรวบอำนาจไว้ในมือตนเอง โจอี้ (曹羲 เฉา ซี) และโจหุ้น (曹訓 เฉา ซฺวิ่น) ผู้เป็นน้องชาย รวมถึงเหล่าผู้ติดตาม โจซองปฏิบัติตามคำแนะนำของโฮอั๋น (何晏 เหอ เยี่ยน) เตงเหยียง (鄧颺 เติ้ง หยาง) และเตงปิด (丁謐 ติง มี่) ให้เชิญกวยทายเฮา (พระมเหสีของจักรพรรดิโจยอย) ให้ย้ายไปประทับที่วังหย่งหนิง (永寧宮 หย่งหนิงกง) เพื่อป้องกันไม่ให้พระองค์ก้าวก่ายราชกิจ โจซองยังมอบหมายให้เหล่าน้องชายเป็นผู้บังคับบัญชาทหาร เลื่อนขั้นให้คนสนิทใกล้ชิดในดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในราชสำนัก และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก สุมาอี้พยายามหยุดยั้งโจซองแต่ไม่สำเร็จ โจซองยิ่งไม่ไว้ใจและระแวดระวังสุมาอี้มากขึ้นเรื่อย ๆ[2] ในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ค.ศ. 247 สุมาอี้อ้างว่าตนป่วยและลาออกจากราชการ ในเวลานั้นมีคำกล่าวในลกเอี๋ยงว่า "โฮ (อั๋น), เตง (เหยียง) และเตง (ปิด) สร้างความปั่นป่วนในนครหลวง"[3] ในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ค.ศ. 248 เตียวต๋อง (張當 จาง ตาง) ขันทีในพระราชวังหลวงย้ายสนม 11 คนออกจากวังอย่างผิดจารีตและมอบให้เป็นภรรยาน้อยของโจซอง โจซองและคนสนิทเห็นว่าสุมาอี้ป่วยหนักและไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป จึงวางแผนกับเตียวต๋องคิดการจะโค่นล้มจักรพรรดิโจฮองและตั้งโจซองขึ้นครองราชบัลลังก์ แต่พวกเขาก็ยังคงระแวงสุมาอี้และยังไม่ลดการป้องกันลง[4] เวลานั้นหลีซินขุนนางคนสนิทคนหนึ่งของโจซองเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋ว โจซองลอบสั่งหลีซินให้ไปตรวจสอบว่าสุมาอี้ป่วยจริงอย่างที่อ้างหรือไม่ หลีซินจึงไปเยี่ยมสุมาอี้ก่อนจะเดินทางไปยังเกงจิ๋ว สุมาอี้รู้จุดประสงค์ที่แท้จริงของการมาเยี่ยมของหลีซิน จึงแสร้างทำเป็นอ่อนแรง หลีซินเห็นว่าสุมาอี้ไม่สามารถเดินเหินและไม่สามารถสวมเสื้อผ้าหากคนรับใช้ไม่ช่วยเหลือ ถึงขั้นไม่สามารถรับประทานข้าวต้มโดยไม่ทำหกรดเปื้อนเสื้อผ้า จากนั้นหลีซินจึงพูดกับสุมาอี้ว่า "ใคร ๆ ก็คิดว่าท่านป่วยเล็กน้อย ใครจะนึกเลยว่าท่านจะมีสุขภาพย่ำแย่ถึงเพียงนี้" สุมาอี้แสร้งทำเป็นไอและหอบขณะตอบว่า "ข้าทั้งแก่ทั้งป่วยและจะตายในไม่ช้า เมื่อท่านไปถึงเป๊งจิ๋ว ท่านต้องระมัดระวังจงดีเพราะอยู่ใกล้อาณาเขตของอนารยชน เราอาจไม่ได้พบกันอีก ขอฝากสูและเจียวบุตรข้าไว้ให้ท่านดูแลด้วย" หลีซินจึงว่า "ข้าพเจ้าจะกลับไปมณฑลบ้านเกิดของข้าพเจ้า ไม่ใช่เป๊งจิ๋ว" สุมาอี้แสร้งทำเป็นฟังผิดและพูดว่า "ท่านจะไปเป๊งจิ๋วไม่ใช่หรือ" หลีซินจึงพูดว่า "มณฑลบ้านเกิดของข้าพเจ้าคือเกงจิ๋ว" สุมาอี้ตอบว่า "ข้าแก่และอ่อนแอมากแล้วจนไม่ได้ยินแม้แต่คำพูดของท่าน บัดนี้ท่านจะกลับไปยังมณฑลบ้านเกิด ก็ขอให้ท่านสร้างผลงานอันรุ่งโรจน์!" หลีซินกลับไปพบโจซองและแจ้งว่า "สุมาอี้กำลังจะตายในไม่ช้า สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีอะไรที่ท่านต้องกังวลอีกต่อไป" แล้วกล่าวต่อไปว่า "น่าเศร้าที่เห็นว่าราชครูไม่มีสุขภาพที่ดีพอจะรับราชการต่อไป" โจซองจึงลดการระแวงสุมาอี้ลง[5] รัฐประหารในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[a] โจซองและเหล่าน้องชายตามเสด็จจักรพรรดิโจฮองไปยังสุสานโกเบงเหลง (高平陵 เกาผิงหลิง) เพื่อสักการะโจยอยอดีตจักรพรรดิและพระบิดาบุญธรรมของโจฮองผู้ล่วงลับ ในวันนั้นสุมาอี้ฉวยโอกาสนี้ก่อการรัฐประหารต่อโจซองขึ้น สุมาอี้เข้าไปในวังหย่งหนิง (永寧) เพื่อเข้าเฝ้ากวยทายเฮาและทูลขอให้ถอดโจซองและน้องชายจากอำนาจ ขณะเดียวกันสุมาอี้ยังสั่งให้สุมาสูบุตรชายคนโตให้นำกำลังทหารไปยังประตูพระราชวัง ภายหลังจากสุมาอี้เข้าเฝ้ากวยทายเฮาและออกมาแล้ว สุมาอี้ได้ไปยังค่ายซึ่งเป็นที่ตั้งกำลังทหารของโจซอง เหยียน ชื่อ (嚴世)[b] ผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งของโจซองเตรียมยิงเกาทัณฑ์ใส่สุมาอี้ แต่ซุนเหียม (孫謙 ซุน เชียน) ห้ามไว้ถึง 3 ครั้งโดยกล่าวว่า "เรายังไม่รู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น"[7] ฮวนห้อมผู้เป็นเสนาบดีพระคลัง (大司農 ต้าซือหนง) และขุนนางคนสนิทคนหนึ่งของโจซองหลบหนีออกจากลกเอี๋ยงและมุ่งหน้าไปยังสุสานโกเบงเหลง เจียวเจ้ผู้เป็นเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) บอกกับสุมาอี้ว่า "ถุงปัญญา" (ชื่อเล่นของฮวนห้อม) หนีไปแล้ว สุมาอี้ตอบว่าไม่จำเป็นต้องกังวลเพราะตนรู้ว่าโจซองจะไม่ทำตามคำแนะนำของฮวนห้อม[8] จากนั้นสุมาอี้จึงมอบอาญาสิทธิ์ให้กับโกหยิวผู้เป็นเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) ตั้งให้เป็นรักษาการมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจวิน) มอบหมายให้บัญชาการกำลังทหารของโจซอง สุมาอี้ยังบอกว่าโกหยิวว่า "บัดนี้ท่านเหมือนกับจิวบุด (周勃 โจว ปั๋ว)" สุมาอี้ยังแต่งตั้งให้อองก๋วนผู้เป็นเสนาบดีราชรถ (太僕 ไท่ผู) ให้เป็นรักษาการผู้บัญชาการทหารส่วนกลาง (中領軍 จงหลิ่งจฺวิน) และมอบหมายให้เข้ายึดอำนาจบัญชาการกำลังทหารของโจอี้ (曹羲 เฉา ซี) น้องชายของโจซอง[9] สุมาอี้พร้อมด้วยเจียวเจ้และคนอื่น ๆ นำกำลังทหารออกจากลกเอี๋ยงไปยังสะพานลอยน้ำที่ใช้ข้ามแม่น้ำลั่ว สุมาอี้ส่งฎีกามาถวายจักรพรรดิโจฮอง ทูลแจ้งรายการความผิดของโจซอง (เช่น การไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ฉ้อราษฎร์บังหลวง, สมคบคิดจะชิงราชบัลลังก์) และทูลเสนอจักรพรรดิให้ถอดถอนโจซองและน้องชายจากตำแหน่ง[10] โจซองปิดงำฎีกาไม่ให้ไปถึงจักรพรรดิโจฮอง และให้จักรพรรดิประทับอยู่ฝั่งใต้ของแม่น้ำอีระหว่างที่ตัวโจซองสั่งให้ทหารไปตัดไม้สร้างสิ่งกีดขวางสำหรับต้านทหารม้าและให้ตั้งกองทหารราว 1,000 นายในบริเวณใกล้เคียงเพื่อป้องกันการรุกคืบของสุมาอี้ เวลานั้นฮวนห้อมแนะนำโจซองให้เชิญเสด็จจักรพรรดิไปยังฮูโต๋ ประณามสุมาอี้ว่าเป็นกบฏ และเรียกทุกกองกำลังทั่ววุยก๊กให้เข้าโจมตีสุมาอี้ โจซองไม่ฟังคำของฮวนห้อม ในคืนนั้นโจซองส่งเค้าอิ๋น (許允 สฺวี อิ่น) และต้านท่ายไปพบสุมาอี้ สุมาอี้อธิบายกับทั้งสองว่าตนเพียงต้องการให้โจซองยอมจำนนและสละอำนาจ สุมาอี้ยังส่งอินต้ายบก (尹大目 อิ่น ต้ามู่) ซึ่งเป็นผู้ที่โจซองไว้ใจอย่างมากให้ไปเกลี้ยกล่อมโจซองให้ยอมจำนน โจซองต้องการจะยอมจำนน ฮวนห้อมจึงพยายามคัดค้านแต่ท้ายที่สุดโจซองก็ไม่ฟังคำแนะนำของฮวนห้อม โจซองกล่าวว่า "สุมาอี้เพียงต้องการยึดอำนาจของข้า ข้ายังสามารถกลับไปบ้านในฐานะโหว ใช้ชีวิตอย่างหรูหราและสุขสบาย" ฮวนห้อมได้แต่ถอนหายใจและทุบหน้าอกตนเองด้วยความขัดเคือง จากนั้นโจซองจึงให้จักรพรรดิโจฮองได้ทรงอ่านฎีกาของสุมาอี้และตกลงที่ยอมจำนนและสละอำนาจของตน[11] ผลสืบเนื่องภายหลังจากโจซองกลับมาลกเอี๋ยง ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[c] โจซองถูกตั้งข้อหาว่าวางแผนก่อกบฏร่วมกับเตียวต๋อง (張當 จาง ตาง) ขันทีในพระราชวัง รวมไปถึงขุนนางคนสนิทได้แก่โฮอั๋น เตงปิด เตงเหงียง ปิดห้วน และหลีซิน ทั้งหมดถูกประหารชีวิตในวันเดียวกันพร้อมด้วยครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้อง เจียวเจ้พยายามโน้มน้าวสุมาอี้ให้ไว้ชีวิตโจซองและน้องชายโดยคำนึงถึงความดีความชอบในการทำราชการของโจจิ๋นผู้เป็นบิดาของพวกเขา แต่สุมาอี้ปฏิเสธ[13] สุมาเล่าจี๋ (魯芝 หลู่ จือ) และเอียวจ๋ง (楊綜 หยาง จง) ผู้ใต้บังคับบัญชา 2 คนของสุมาอี้ ก่อนหน้านี้เคยพยายามคัดค้านโจซองไม่ให้ยอมจำนนต่อสุมาอี้ หลังโจซองถูกจับกุม สุมาเล่าจี๋และเอียวจ๋งก็ถูกจับกุมด้วยเช่นกัน แต่สุมาอี้อภัยโทษให้ทั้งคู่และปล่อยตัวไป[14] ก่อนหน้านี้เมื่อฮวนห้อมหนีออกจากลกเอี๋ยงไปสมทบกับโจซองที่สุสานโกเบงเหลง ฮวนห้อมได้พบกับสูหวน (司蕃 ซือ ฟาน) ซึ่งเป็นผู้รักษาประตูผิงฉาง (平昌門 ผิงฉางเหมิน) สูหวนเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของฮวนห้อมมาก่อน จึงไว้ใจฮวนห้อมและอนุญาตให้ฮวนห้อมผ่านประตูออกไป เมื่อฮวนห้อมออกนอกลกเอี๋ยงก็หันกลับบอกสูหวนว่า "ราชครู (สุมาอี้) กำลังดำเนินแผนก่อกบฏ ท่านควรมากับข้า!" สูหวนนำทหารไล่ตามจับฮวนห้อมแต่ไล่ตามไม่ทันจึงล่าถอยกลับไป หลังการรัฐประหาร สูหวนสวามิภักดิ์ต่อสุมาอี้และบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ สุมาอี้ถามว่า "การกล่าวหาคนอื่นว่าเป็นกบฏมีโทษสถานใด" เหล่าผู้ติดตามของสุมาอี้ตอบว่า "ตามกฎหมายแล้ว ผู้ที่กล่าวหาเท็จจะต้องถูกลงโทษในข้อหากบฏ" ฮวนห้อมจึงถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัว โจซองพร้อมด้วยครอบครัวและผู้ติดตามก็ถูกประหารชีวิต[15] ในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 249 จักรพรรดิโจฮองแต่งตั้งให้สุมาอี้เป็นอัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง) เพิ่มขนาดศักดินาของสุมาอี้และพระราชทานเอกสิทธิ์เพิ่มเติม แต่สุมาอี้ปฏิเสธการรับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดี[16] ในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 250 เมื่อโจฮองพระราชทานเครื่องยศเก้าประการแก่สุมาอี้ สุมาอี้ก็ปฏิเสธที่จะรับอีก[17] ในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 250 โจฮองโปรดให้สร้างศาลบรรพชนให้กับตระกูลสุมาในลกเอี๋ยง เพิ่มจำนวนขุนนางในสังกัดของสุมาอี้ เลื่อนขั้นให้ขุนนางของสุมาอี้บางคน และพระราชทานบรรดาศักดิ์โหวระดับหมู่บ้านในกับบุตรชายของสุมาอี้คือซือหม่า หรง (司馬肜) และซือหม่า หลุน (司馬倫)[18] ในปี ค.ศ. 251 หวาง หลิง (王淩) และหลิงหู ยฺหวี (令狐愚) หลานชายวางแผนก่อกบฏในฉิวฉุนโดยมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มสุมาอี้และตั้งเฉา เปี่ยว (曹彪) เป็นจักรพรรดิแทนโจฮอง สุมาอี้ล่วงรู้ว่าหวาง หลิงวางแผนก่อกบฏจึงยกกำลังทหารไปใกล้ฐานที่มั่นของหวาง หลิงก่อนที่หวาง หลิงจะเริ่มก่อการ หวาง หลิงยอมจำนนและฆ่าตัวตายในภายหลังขณะถูกคุมตัวในฐานะนักโทษไปยังลกเอี๋ยง สุมาอี้จับกุมผู้ร่วมสมคบคิดของหวาง หลิงรวมไปถึงเฉา เปี่ยวและนำตัวไปประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัว หลังจากสุมาอี้เสียชีวิตในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 251 สุมาสูและสุมาเจียวผู้เป็นบุตรชายของสุมาอี้ได้กุมอำนาจในราชสำนักวุยก๊กต่อไปและกำจัดการต่อต้านทางการเมืองทุกรูปแบบ อิทธิพลของราชวงศ์โจในวุยก๊กอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ในขณะที่อิทธิพลของตระกูลสุมายิ่งแข็งแกร่งขึ้น ในปี ค.ศ. 266 สุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียวชิงบัลลังก์จากโจฮวน ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นแทนที่รัฐวุยก๊ก โดยตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ในวัฒนธรรมประชานิยมในภาคที่ 7 ของซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอ มีด่านที่สร้างจากเหตุการณ์รัฐประหารต่อโจซอง ในเกมไม่มีการกล่าวถึงการเสด็จไปสุสานโกเบงของจักรพรรดิโจฮอง ระบุเพียงว่าพระองค์ไปประพาสป่าล่าสัตว์กับโจซอง หมายเหตุ
อ้างอิง
บรรณานุกรม
Information related to อุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง |