Share to:

 

เทศกาลมหาพรต

ผ้าคลุมไม้กางเขนที่โบสถ์แห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี

เทศกาลมหาพรต (คาทอลิก) หรือเทศกาลเข้าสู่ธรรม (โปรเตสแตนต์) [1] (อังกฤษ: Lent; ละติน: Quadragesima แปลว่า ที่สี่สิบ[2]) เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของศาสนาคริสต์ เริ่มต้นจากวันพุธรับเถ้าและสิ้นสุดวันอีสเตอร์[3] รวม 40 วัน โดยเทศกาลนี้มีไว้เพื่อระลึกถึงพระทรมานและการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ โดยกิจที่คริสต์ศาสนิกชนปฏิบัติในช่วงนี้คือการอธิษฐาน การบริจาคสิ่งของ การอดอาหาร และการไม่ฟุ่มเฟือย

ทั้งนี้ระยะเวลา 40 วันมีความสำคัญเนื่องจากเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลมีความเกี่ยวข้องกับตัวเลข 40 ไม่ว่าจะเป็น การบำเพ็ญเพียรอดอาหารของพระเยซูเป็นเวลา 40 วัน โมเสสอยู่บนเขากับพระเจ้า 40 วัน เกิดน้ำท่วมโลกในสมัยโนอาห์ 40 วัน และการอพยพของชาวยิวเข้าสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญาก็ใช้เวลายาวนานถึง 40 ปี[2] อย่างไรก็ดีเมื่อนับวันจริง ๆ แล้วจะเป็น 46 วัน เนื่องจากชาวคริสต์จะไม่จำศีลอดอาหารในวันอาทิตย์ จึงเหลือเพียง 36 วันและต้องเพิ่มวันจำศีลอีก 4 วันให้ครบ 40 วัน เทศกาลมหาพรตจึงเลื่อนมาเริ่มในวันพุธ (วันพุธรับเถ้า) ต่างกับเทศกาลอื่น ๆ ที่เริ่มจากวันอาทิตย์แรก[4]ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติกันในเฉพาะฝั่งศาสนาคริสต์ตะวันตก ส่วนในศาสนาคริสต์ตะวันออกจะเริ่มต้นวันจันทร์ เรียกว่า "วันจันทร์สะอาด" (Clean Monday) [5]

ชาวคริสต์หมู่มากฉลองเทศกาลนี้ (เช่น โรมันคาทอลิก โปรเตสแตนต์ และแองกลิคัน) ขณะที่บางกลุ่มเริ่มให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้มากขึ้น (เช่น คริสตจักรแบปทิสต์)

การปฏิบัติ

วันพุธก่อนวันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต สัตบุรุษจะรับเถ้าเป็นการเริ่มต้นเทศกาลมหาพรต พิธีเสกและโรยเถ้า ตามปกติจะทำในพิธีมิสซา หลังอ่านพระวรสารและบทเทศน์ ซึ่งให้ความหมายว่า พระวจนะของพระเป็นเจ้าเป็นพลังสำคัญที่ปลุกเร้าจิตใจของคริสตชนให้สำนึกตน กลับใจ และใช้โทษบาปในเทศกาลมหาพรตนี้

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการถ่อมตน ในเทศกาลนี้จึงมีการปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้:[6][3]

  • ตามโบสถ์ต่าง ๆ ในช่วงระหว่างเทศกาลจะจัดดอกไม้น้อยลง เชิงเทียนบนพระแท่นก็จะเปลี่ยนเป็นเชิงเทียนแบบเรียบง่าย ดนตรีจะบรรเลงเบา ๆ
  • เมื่อประกอบพิธีกรรม บาทหลวงจะสวมอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์สีม่วง ซึ่งสื่อความหมายถึงการถ่อมตน สำนึกผิด
  • การอดอาหาร
  • มี "กระปุกมหาพรต" ให้ชาวคริสต์อดออมนำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้
  • ภาวนาเป็นพิเศษ ทั้งตามโบสถ์และตามบ้านเรือน

ทั้งนี้ในระหว่างเทศกาลชาวคริสต์ควรสำรวมจดจ่อใจอยู่ที่พระเยซู สำนึกว่าตนเป็นคนบาป ตระหนักว่าต้องการให้พระเจ้าช่วยเหลือ กลับใจ สารภาพขอให้พระเจ้าอภัย และสร้างสัมพันธ์กับพระเจ้าใหม่[5] โดยตระหนักได้จากบทภาวนาของประธานของพิธีก่อนเริ่มเทศกาลที่เน้นย้ำคุณลักษณะดังกล่าว:

ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเริ่มเทศกาลมหาพรต ต่อสู้กับกิเลสด้วยการถือศีลอดอาหาร โปรดประทานความช่วยเหลือให้ข้าพเจ้าทุกคนรู้จักบังคับตนอย่างเข้มแข็ง เพื่อสามารถต่อต้านความชั่วร้ายฝ่ายวิญญาณด้วยเถิด[3]

เมื่อครบ 40 วันเป็นวันฉลองพระเยซูคืนพระชนม์ เหมือนกับการอดทนลำบากในช่วงเทศกาล แต่เมื่อตอนท้ายจะมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ (วันปัสกา) เฉกเช่นเดียวกับหลักความเชื่อที่ว่าพระเยซูถูกตรึงกางเขน ปฏิบัติอย่างต่ำต้อยที่สุด แต่พระองค์จะเสด็จมาใหม่ในพระสิริรุ่งโรจน์

วันที่

เนื่องด้วยเทศกาลมหาพรตจะยึดวันปัสกา (อีสเตอร์) เป็นหลัก ทำให้วันที่เปลี่ยนแปลงทุก ๆ ปี

ปี วันที่
2011 9 มี.ค. - 23 เม.ย.
2012 22 ก.พ. - 7 เม.ย.
2013 13 ก.พ. - 30 มี.ค.
2014 5 มี.ค. - 19 เม.ย.
2015 24 ก.พ. - 4 เม.ย.
2016 16 ก.พ. - 26 มี.ค.
2017 1 มี.ค. - 9 เม.ย.

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 314-5
  2. 2.0 2.1 มหาพรต เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
  3. 3.0 3.1 3.2 คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร (2011). "มหาพรต". สารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ (3). {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  4. วันพุธรับเถ้า เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
  5. 5.0 5.1 เทศกาลแห่งการกลับใจ - เทศกาลมหาพรต[ลิงก์เสีย] เว็บไซต์คริสตจักรวัฒนา
  6. เทศกาลมหาพรต เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
Kembali kehalaman sebelumnya