Share to:

 

เวสโต สลิเฟอร์

เวสโต เมลวิน สลิเฟอร์
เกิด11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1875(1875-11-11)
มัลเบอรี่ อินดีแอนา สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1969(1969-11-08) (93 ปี)
แฟลกสตัฟฟ์ แอริโซนา สหรัฐอเมริกา
สัญชาติชาวอเมริกัน
อาชีพนักดาราศาสตร์
นายจ้างหอดูดาวโลเวลล์
มีชื่อเสียงจากการขยายตัวของเอกภพ
ญาติเอิร์ล ซี. สลิเฟอร์ (น้องชาย)

เวสโต เมลวิน สลิเฟอร์ (อังกฤษ: Vesto Melvin Slipher; 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1875 – 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1969) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน[1] น้องชายของเขาคือ เอิร์ล ซี. สลิเฟอร์ ก็เป็นนักดาราศาสตร์เช่นกันและเป็นผู้อำนวยการหอดูดาวโลเวลล์[1]

สลิเฟอร์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอินดีแอนาเมื่อ ค.ศ. 1909[1] และเข้าทำงานที่หอดูดาวโลเวลล์ ที่แฟลกสตัฟฟ์ แอริโซนา ตราบจนตลอดชีวิต เขาได้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการหอดูดาวใน ค.ศ. 1915 รักษาการผู้อำนวยการในปี 1916 และเป็นผู้อำนวยการใน ค.ศ. 1926 ตราบจนกระทั่งเกษียณอายุเมื่อ ค.ศ. 1952[1] สลิเฟอร์ใช้วิธีสเปกโตรสโกปีในการสำรวจหาคาบการหมุนของดาวเคราะห์และตรวจสอบองค์ประกอบของบรรยากาศดาวเคราะห์ เมื่อ ค.ศ. 1912 เขาเป็นคนแรกที่สังเกตพบการเคลื่อนตัวของเส้นสเปกตรัมของดาราจักร ทำให้เขาเป็นผู้ค้นพบการเคลื่อนไปทางแดงของดาราจักร[2] เขายังเป็นผู้ว่าจ้าง ไคลด์ ทอมโบ (Clyde Tombaugh) และเป็นผู้กำกับการทำงานที่นำไปสู่การค้นพบพลูโต ใน ค.ศ. 1930[1]

โดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า เอ็ดวิน ฮับเบิล เป็นผู้ค้นพบการเคลื่อนไปทางแดงของดาราจักร แต่อันที่จริงการตรวจวัดเช่นนี้กับการตีความได้มีการทำความเข้าใจมาก่อนแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1917 โดยนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวต่าง ๆ คือ เจมส์ เอ็ดเวิร์ด คีลเลอร์ (หอดูดาวลิกและหอดูดาวอัลเลเกนี) เวสโต สลิเฟอร์ (หอดูดาวโลเวลล์) และ วิลเลียม วอลเลซ แคมป์เบล (หอดูดาวลิก)

อ้างอิงและเชิงอรรถ

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "Nesto Slipher, 93, Astronomer, Dies", The New York Times (ตีพิมพ์ 10 พฤศจิกายน 1969), p. 47, 9 พฤศจิกายน 1969, ISSN 0362-4331 สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2008.
  2. สลิเฟอร์รายงานการตรวจวัดปรากฏการณ์ด็อพเพลอร์นี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน 1912 ในรายงาน The radial velocity of the Andromeda Nebula ซึ่งอยู่ในหนังสืออนุทินประจำหอดูดาวโลเวลล์ (Lowell Observatory Bulletin) หัวข้อ 2.56–2.57 ในรายงานของเขาได้บันทึกไว้ว่า "แม็กนิจูดของความเร็วซึ่งมีค่าสูงสุดเท่าที่เคยสังเกตมา ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าระยะห่างที่คล้ายคลึงกับความเร็วไม่น่าจะเกิดจากสาเหตุอื่น แต่ผมเชื่อว่า ณ ปัจจุบันเรายังไม่สามารถแปลความออกมาได้" สามปีต่อมา สลิเฟอร์เขียนบทรีวิวในวารสาร Popular Astronomy, Vol. 23, น. 21–24 Spectrographic Observations of Nebulae เขาระบุว่า "การค้นพบก่อนหน้านี้ว่าแขนก้นหอยของแอนดรอเมดาใหญ่ มีความเร็วที่แปลกประหลาด คือ −300 km(/s) แสดงถึงความเป็นไปได้ว่า ผลการเฝ้าสังเกตมิใช่เพียงสเปกตรัมของแขนก้นหอย แต่เป็นความเร็วของมัน" สลิเฟอร์รายงานค่าความเร็วของเนบิวลาชนิดก้นหอย 15 แห่ง ทั้งหมดได้ค่าความเร็วเป็นบวก มีเพียง 3 แห่งที่ได้ค่าตรงกันข้าม

แหล่งข้อมูลอื่น


Kembali kehalaman sebelumnya