ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก (1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 – 6 เมษายน พ.ศ. 2565) เป็นอาจารย์และนักวิชาการทางด้านศาสนาพุทธและภาษาบาลี ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ และยังเป็นนักเขียนบทกวี ตำรา และบทความในนิตยสารหลายฉบับ เริ่มเขียนบทความให้นิตยสารต่วย’ตูน แล้วได้รับการชักนำให้เขียนลงคอลัมน์ประจำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก่อนจะย้ายไปเขียนประจำให้หนังสือพิมพ์ในเครือมติชนและข่าวสด มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเขียนวิจารณ์พระสงฆ์ที่ปฏิบัตินอกรีต โดยเฉพาะกรณีอดีตพระยันตระ อมโร รวมทั้งยังนับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการตั้งชื่อเป็นมงคลนามแก่ตัวเจ้าของชื่อด้วย
ประวัติและการศึกษา
เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 ที่บ้านโนนสูง ตำบลเลิงแฝก (ปัจจุบันคือตำบลหนองแวง) อำเภอบรบือ (ปัจจุบันคืออำเภอกุดรัง) จังหวัดมหาสารคาม เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ศึกษานักธรรมและบาลีไวยากรณ์กับอาจารย์มหาบุดดี ปุญญากโร (บุดดี สุวรรณคำ) เจ้าอาวาส จนกระทั่งสอบได้นักธรรมชั้นโทจึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยเป็นลูกศิษย์พระมหาชม ธมฺมธีโร (พระราชปริยัตยาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม) สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยค
หลังจากนั้นกลับไปอยู่ที่วัดอัมพวันในบ้านเกิด สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค แล้วจึงเดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ พ.ศ. 2508 ได้เดินทางไปศึกษาภาษาสันสกฤต ณ วิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Trinity College, Cambridge University) ประเทศอังกฤษ โดยการติดต่อประสานงานของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิการศึกษาวัดทองนพคุณ พ.ศ. 2512 สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (เกียรตินิยม) เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยได้สอนพระปริยัติธรรม ณ วัดทองนพคุณ ดังเดิม พ.ศ. 2514 ได้ลาสิกขาและรับราชการเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2519 โอนไปเป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใน พ.ศ. 2522 โอนกลับไปคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรตามเดิม จนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ 9 ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2535[2] ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
สมรสกับอาจารย์นิโลบล วรรณปก มีบุตรชาย 1 คน คือ นายเสกขภูมิ วรรณปก นักเขียน (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2562) นายเสกขภูมิ วรรณปก สมรสกับนางจารุวรรณ วรรณปก มีบุตรชาย 2 คน คือ นายภูเมธ วรรณปก จบการศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายภูวิศ วรรณปก กำลังศึกษาอยู่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิทยฐานะ
ผลงานประพันธ์
เสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้เขียนบทความลงในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เมื่อครั้งเป็นพระภิกษุ โดยการชักชวนของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ภายหลังได้เขียนบทความลงในนิตยสารต่าง ๆ เช่น ต่วย'ตูน, แม่และเด็ก, รักลูก, ชีวจิต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์มติชน
มีผลงานหนังสือทางวิชาการและกึ่งวิชาการที่พิมพ์เผยแพร่มากกว่า 200 เล่ม อาทิ:[2]
- พุทธวจนะในธรรมบท
- พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์
- พุทธจริยาวัตร พากย์ไทย-อังกฤษ
- พุทธจริยาวัตร 60 ปาง
- มีศัพท์มีแสง
- บทเพลงแห่งพระอรหันต์ : Song of the Arahant
- เพลงรักจากพระไตรปิฎก
- พระไตรปิฎกวิเคราะห์
- สองทศวรรษในดงขมิ้น
- สู่แดนพุทธภูมิ
- ไปไหว้พระบาทพระพุทธองค์ เนื้อติดกระดูก
- นิทานปรัชญาเต๋า
- พุทธวิธีแก้ทุกข์
- สัมผัสพระพุทธเจ้าด้วยใจ
- ยุทธจักรดงขมิ้น
- ใต้ร่มใบบุญ
- ฤๅสมัยนี้โลกมันเอียง
- จุดศูนย์ถ่วง
- บัวบานกลางเปลวเพลิง
- ฝ่าความมืดสีขาว
- ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
- สวนทางนิพพาน
- พุทธศาสนสุภาษิต
- พจนานุกรมไทย-อังกฤษ
- ชุดสิบล่อหั่น (สิบอรหันต์) สี่เล่ม (1.สิบล่อหั่นต้นพุทธกาล 2.สิบล่อหั่นชีวิตพิสดาร 3.สิบล่อหั่นหญิง 4.สิบล่อหั่นน้อย) จุดประกายแห่งชีวิต
- ภูฏาน ดินแดนแห่งพุทธศาสนา
- ไปสืบพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา
- พระไตรปิฎกศึกษา ชุด 1 ธรรมะนอกธรรมาสน์
- พระไตรปิฎกศึกษา ชุด 2 วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์
- คำบรรยายพระไตรปิฎก
- ช่องที่ไม่ว่าง
- ผีสางคางแดง
- สูตรสำเร็จชีวิต
- ชีวิตตัวอย่าง หมอชีวกโกมารภัจจ์
- คุณธรรมสำหรับนักบริหาร
- จากเสฐียรพงษ์ถึงพระเทพเวที และพุทธทาสภิกขุ
- ความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย : ทางออกกรณียันตระ อมโร
- สองอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ หลวงพ่อพุทธทาส และหลวงพ่อชา
- คิดเป็นทำเป็นตามนัยพุทธธรรม
- บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์
- เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม
- พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นอุบาสกรัตนะ
- พระสูตรดับทุกข์
- ธรรมะสู้ชีวิต
- เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางสองมิติ และสัปปุริสธรรม 7 นัยที่สอง
- 9 พุทธ 9 เต๋า 9 เซ็น
- สติ-สมาธิ
- พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
- ธรรมะ HOW TO
นามปากกา
- ไต้ ตามทาง ใช้เขียนเรื่องประเภทขำขันทีเล่นทีจริง
- “เปรียญเก้าประโยค” ใช้เขียนเรื่องประเภทการใช้ภาษา
- เสฐียรพงษ์ วรรณปก ใช้เขียนเรื่องประเภทวิชาการและสารคดี
เกียรติคุณที่ได้รับ
- ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ พ.ศ. 2535[2]
- ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักร ในฐานะผู้เขียนหนังสือพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2535
- ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ รายการส่งเสริมคุณธรรมดีเด่น รายการ “ดรุณธรรม” ทางช่อง 5 พ.ศ. 2535
- ได้รับประทานเข็มเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายร้อยอากาศอาวุโส กองทัพอากาศ พ.ศ. 2535
- ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากโรงเรียนนายร้อยสามพราน กรมตำรวจ
- ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พ.ศ. 2543 สาขามนุษยศาสตร์ ในฐานะได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ความสามารถและแสดงให้เป็นที่ปรากฏว่ามีฝีมือและมีชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา
- ได้รับรางวัลหนังสือวิชาการยอดเยี่ยมแห่งปี พจนานุกรมไทย-อังกฤษ จากบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2546 โดยรับรางวัลร่วมกับ ดำเนิน การเด่น
- ได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ จากคุรุสภา พ.ศ. 2553
ตำแหน่งและประสบการณ์
- เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาปรัชญาศาสนา มหาวิทยาลัยศิลปากร[3]
- เป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาศิลปากร, จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และเป็นอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและจริยธรรมตามสถาบันต่าง ๆ
- เป็นที่ปรึกษา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ข่าวสด
- เป็นคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์รายวัน, รายสัปดาห์, รายปักษ์ และรายเดือน หลายฉบับ
- เป็นราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์
- เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549-2551
- เคยรับราชการเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ 9 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- เป็นกรรมการร่างหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
- เป็นผู้แต่งตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
- เป็นประธานกรรมการจัดทำคู่มือการสอนพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- เป็นประธานกรรมการผลิตตำราเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน
- เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการศาสนา จริยธรรม และวัฒนธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
- เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการฝ่ายกฎหมายพระพุทธศาสนา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
- เป็นรองประธานคนที่ 3 กรรมาธิการวิสามัญศึกษาและส่งเสริมการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม แก่นักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
- เป็นประธานอนุกรรมาธิการจริยธรรมสำหรับข้าราชการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
- เป็นประธานอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
- เป็นรองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ บรรพชาสามเณร 84,000 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
- เป็นกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ จัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ไถ่ชีวิตโค-กระบือ และบรรพชาสามเณร 84,000 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
- ↑ "อาลัย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักปรัชญาศาสนาในวัย 83 ปี". กรุงเทพธุรกิจ. 7 เมษายน 2022.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 ""สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก" สามเณรเปรียญ 9 รูปที่สาม สมัยรัตนโกสินทร์". มติชนออนไลน์. 15 มิถุนายน 2016.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๙๘ง หน้า ๑ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๒.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๒, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๒๔, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา ปี ๒๕๔๓ เก็บถาวร 2022-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๑๘, ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕
แหล่งข้อมูลอื่น