Share to:

 

โปงลาง

โปงลาง ดนตรีพื้นเมืองอีสานถือว่าจังหวะสำคัญมาก เครื่องดนตรีประเภทตีใช้ดำเนินทำนองอย่างเดียวคือ โปงลาง โปงลางมีวิวัฒนาการมาจากระฆังแขวนคอสัตว์เพื่อให้เกิดเสียงโปงลางที่ใช้บรรเลงอยู่ในภาคอีสานมี 2 ชนิด คือ โปงลางไม้และโปงลางเหล็ก

โปงลาง

ภาพที่แสดงคือ โปงลางไม้ซึ่งประกอบด้วยลูกโปงลางประมาณสิบสองลูกเรียงตามลำดับเสียงสูง ต่ำ ใช้เชือกร้อยเป็นแผงระนาด แต่โปงลางไม่ใช้รางเพราะเห็นว่าเสียงดังอยู่แล้ว แต่นำมาแขวนกับที่แขวน ซึ่งยึดส่วนปลายกับส่วนโคนให้แผงโปงลางทำมุมกับพื้น 45 องศา ไม้ตีโปงลางทำด้วยแก่นไม้มีหัวงอนคล้ายค้อนสำหรับผู้บรรเลงใช้ตีดำเนินทำนอง 1 คู่ และอีก 1 คู่สำหรับผู้ช่วยใช้เคาะทำให้เกิดเสียงประสานและจังหวะตามลักษณะของดนตรีพื้นเมืองอีสานที่มีเสียงประสานรำ

ผู้พัฒนา

นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2529 ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ทำการพัฒนาโปงลางจนมีลักษณะเช่นในปัจจุบัน โดยได้พัฒนาโปงลางขึ้นจากเกราะลอ ซึ่งใช้เคาะส่งสัญญาณในท้องนา[1]

พระมหากรุณาธิคุณ

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงโปงลางที่วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งสร้างความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวกาฬสินธุ์เป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสเฝ้าชมบารมี ขณะที่ทรงโปงลางอันเป็นสัญลักษณ์ของชาวกาฬสินธุ์ [2]

ลายเดี่ยว

  • ลายกาเต้นก้อน (ครูเปลื้อง ฉายรัศมี เป็นผู้แต่ง)[3]
  • ลายลายนกไซบินข้ามทุ่ง
  • ลายสุดสะแนน (ทางสร้อย)

วิธีทำ

โปงลาง นิยมทำจากไม้มะหาด หรือไม้หมากเหลื้อม เพราะเป็นไม้ที่มีความอยู่ตัวมากกว่าไม้อื่น ๆ วิธีการทำเอาไม้ที่แห้งแล้ว มาถากเหลาให้ได้ขนาดลดหลั่นกันตามเสียง ที่ต้องการในระบบ 5 เสียง โปงลาง 1 ชุดจะมีจำนวนประมาณ 12 ลูก ใช้เชือกร้อยรวมกันเป็นผืน เวลาตีต้องนำปลายเชือกด้านหนึ่งไปผูกแขวนไว้กับเสาในลักษณะห้อยลงมา ส่วนปลายเชือกด้านล่างจะผูกไว้กับหลัก หรือเอวของผู้ตี วิธีการเทียบเสียง โปงลาง ทำโดยการเหลาไม้ให้ได้ขนาด และเสียงตามต้องการ ยิ่งเหลาให้ไม้เล็กลงเท่าใดเสียงก็จะยิ่งสูงขึ้น

ในสมัยอดีตโปงลางนั้นมีด้วยกัน 5 เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาโดย นาย เปลื้อง ฉายรัศมี โปงลาง ที่ได้มาตรฐานจะต้องมี 6 เสียง 13 ลูก คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา (ต่อมามีเสียง ที ด้วย) ซึ่งแตกต่างจากระนาด ซึ่งมีเจ็ดเสียง และมีการปรับแต่งเทียบเสียงด้วยการใช้ ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง ถ่วงใต้ผืนระนาด เพื่อให้ได้ระดับเสียงตามที่ต้องการ

การตี

การบรรเลง หมากกลิ้งกล่อม หรือ โปงลาง นิยมใช้ผู้บรรเลงสองคนต่อเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น แต่ละคนใช้ไม้ตี 2 อัน มี หมอเคาะ กับ หมอเสิฟ

หมอเคาะ คือ ผู้ที่ตีทำนองของเพลงหรือลายนั้น ส่วน หมอเสิฟ คือ ผู้ที่ตีประสานจะตี 2 ลูก เช่น ตี ลา-มี หรือ ซอล-เร เป็นต้น การเรียกชื่อเพลงที่บรรเลงด้วยโปงลางมักจะเรียกตามลักษณะและลีลาของเพลงโดย การสังเกตจากสภาพของธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น เพลง "ลายนกไซบินข้ามทุ่ง" เพลง "ลายกาเต้นก้อน" เพลง "ลายแมลงภู่ตอมดอกไม้" เป็นต้น

วิวัฒนาการของวงโปงลาง

แต่เดิมเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ยังไม่มีการผสมวงกันแต่อย่างใดใช้เล่นเป็นเครื่องเดี่ยวตามความถนัดของนักดนตรีที่มีอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ โอกาสที่จะมาร่วมเล่นด้วยกันได้ก็ต่อเมื่อมีงานบุญหรืองานประเพณีต่าง ๆ เช่น บุญเผวด จะมีการแห่กันหลอนของแต่ละคุ้มหรือแต่ละหมู่บ้านมาที่วัดคุ้มไหนหรือหมู่บ้านไหนมีนักดนตรีอะไรก็จะใช้บรรเลงและแห่ต้นกันหลอนมาที่วัด พอมาถึงวัดก็จะมีการผสมผสานกันของแต่ละเครื่องมือ เช่น พิณ แคน ซอ กลองเป็นต้น หลังจากผสมผสานกันโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ก็จะแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเชื่อมเข้าหากันโดยเฉพาะนักดนตรีจะไปมาหาสู่กันร่วมกันเล่น ร่วมกันสร้าง ในที่สุดก็กลายเป็นวงดนตรีและมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เช่น วงโปงลาง

ปี พ.ศ. 2505 หลังจากอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจและศึกษาพัฒนาการตีและการทำเกราะลอจนเปลี่ยนชื่อมาเป็นโปงลางและได้รับความนิยมจากชาวบ้านโดยทั่วไป จากนั้นอาจารย์เปลื้องได้เกิดแนวความคิด ในการนำเอาเครื่องดนตรีอีสานชนิดอื่น ๆ มาบรรเลงรวมกันกับโปงลาง จึงได้รวบรวมสมัครพรรพวกที่ชอบเล่นดนตรี มาบรรเลงรวมกัน

ปรากฏว่าเป็นที่น่าสนใจของชาวบ้าน พอตกเย็นก็จะมีคนมาขอให้บรรเลงให้ฟัง ทำให้ได้รับความนิยม และเป็นที่สนใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก จนมีผู้ว่าจ้างไปบรรเลงเป็นครั้งแรกเนื่องในงานอุปสมบท ณ บ้านปอแดง ตำบลอุ่นเม่า อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในราคา 40 บาท เป็นที่ชื่นชอบของของผู้ที่พบเห็นและได้ฟังจากงานอุปสมบทของบ้านปอแดง และได้รับการติดต่อให้ไปแสดงอีกในหลาย ๆ ที่

ปี พ.ศ. 2511 อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ได้นำคณะโปงลางไปร่วมแสดงเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพรรษา 5 ธันวามหาราช จึงมีโอกาสที่ทำให้ได้พบกับนายประชุม อิทรตุล ป่าไม้อำเภอยางตลาด ซึ่งนายประชุมได้นำวงดนตรีสากลมาร่วมบรรเลงประกอบลีลาศ มหรสพที่แสดงในคืนนั้นมีคณะหมอลำหมู่ ซึ่งหัวหน้าหมอลำเป็นเพื่อนอาจารย์เปลื้อง ทั้งสองจึงไปขอยืมกลองชุดสากล เพื่อนำไปเล่นเข้ากับหมอลำ นายประชุมจึงไม่ขัดข้องแต่ต้องให้วงลีลาศเลิกก่อน หมอลำก็ทำการแสดงไปก่อนได้ครึ่งคืนก็ต้องพักทานข้าวตอนดึกจึงทำให้เกิดช่องว่างของเวทีผู้คนก็ยังไม่กลับยังรอดูหมอลำต่อ อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี จึงได้นำเอาโปงลางที่ตนนำมาขึ้นแขวนบนต้นเสาของเวที ในขณะนั้นหัวหน้าหมอลำก็ยังไม่รู้จัก และไม่เคยเห็น โปงลางมาก่อน ทุกคนก็เกิดความสงสัยว่าอาจารย์เปลื้องนำอะไรขึ้นมาแขวนกับต้นเสาบนเวที แต่พอคณะโปงลางบรรเลงขึ้น ทุกคนต่างตกตะลึง และสงสัยว่าสิ่งที่กำลังตีอยู่ในขณะนั้นคืออะไร หลังจากหมอลำกินข้าวเสร็จผู้ชมก็ยังไม่ยอมให้เลิกเล่น ขอให้เล่นต่อแทนหมอลำไปเลยก็ได้

จากการแสดงในครั้งนั้นนี่เอง นายประชุม ได้ชวนอาจารย์เปลื้อง ไปอยู่ด้วยโดยฝากให้เข้าทำงานที่โรงเลื่อยยางตลาด นายประชุม อินทรตุล จึงได้สนับสนุนและตั้งวงโปงลางขึ้น ชื่อว่าวงโปงลางกาฬสินธุ์ โดยมอบหมายให้อาจารย์เปลื้อง เป็นหัวหน้าวง

จากผลงานการแสดงที่หลังจากตั้งวงแล้วไม่นาน นายบุรี พรหมลักขโน ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ติดต่อให้นำโปงลางไปแสดงออกรายการทีวีช่อง 5 จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการเผยแพร่ และท่านได้แนะนำว่าน่าจะมีชุดฟ้อนรำไปด้วยจะน่าดูยิ่งขึ้น นายประชุม อิทรตุล จึงมอบหมายให้คุณเกียง บ้านสูงเนิน คุณลดาวัลย์ สิงห์เรือง (ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปะกาฬสินธุ์ในขณะนั้น) และภรรยาของนายประชุมเองฝึกชุดฟ้อน ชุดแรก คือ รำซวยมือ ชุดที่สอง คือ ชุดเซิ้งภูไท ชุดเซิ้งสวิง ชุดบายศรีสู่ขวัญ และไทภูเขา ต่อมาคณะโปงลางกาฬสินธุ์ได้มีโอกาสไปแสดง ณ วังสวนจิตลดา วังละโว้ วังสวนผักกาด วังสราญรมย์ และแสดงเผยแพร่ในมหาลัยต่าง ๆ

การเล่นเป็นคณะ

โปงลาง นั้นนอกจากจะใช้บรรเลงตามลำพังแล้ว ยังนิยมใช้บรรเลงเป็นวงร่วมกับ เครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น พิณ แคน กลอง เพื่อการฟังและใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนพื้น บ้านอีสานได้เป็นอย่างดี ต่อมาภายหลัง อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ ได้ประยุกต์วงโปงลางขึ้นใหม่ โดยนำกระดึงผูกคอวัวที่เป็นโลหะมาแขวนเรียงแทนลูกโปงลางเดิมที่ทำด้วยไม้ ทำให้เกิดมิติของเสียงที่แตกต่างจากการบรรเลงโปงลางแบบเดิม นับเป็นต้นแบบของ การพัฒนาโปงลางในระยะต่อมา เช่น การทำลูกโปงลางด้วยแผ่นทองเหลืองขนาดต่าง ๆ เรียกว่า "หมากกะโหล่ง" รวมถึงการนำเอาไม้ไผ่มาเหลาให้มีขนาดลดหลั่นกัน เรียกว่า "โปงลางไม้ไผ่" และการนำเอาท่อเหล็กมาทำเป็น "โปงลางเหล็ก" ด้วย ทำให้เสียงมีความแตกต่างมากขึ้นและได้นำมาเล่นผสมวงกัน เกิดเป็นวง หมากกะโหล่งโปงลาง โดย วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์

การประกวด

เป็นการจัดประกวดตามเทศกาลต่าง ๆ หรือจัดการประกวดตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น

แหล่งข้อมูลอื่น

อ้างอิง

  1. "จากเว็บไซต์ศิลปินแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-07. สืบค้นเมื่อ 2011-09-20.
  2. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกาฬสินธุ์. กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ. 2542
  3. "จากบทความของเว็บ ชมไพร ชมทุ่ง ที่สัมภาษณ์ ครูเปลื้อง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-10. สืบค้นเมื่อ 2011-09-20.
  4. [1][ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์ prapanyeethai.com


Kembali kehalaman sebelumnya