โพนีแคนยอน
บริษัทโพนีแคนยอน (อังกฤษ: Pony Canyon, Inc.; ญี่ปุ่น: 株式会社ポニーキャニオン; โรมาจิ: Kabushiki gaisha Ponī Kyanion) เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2509[1] และผลิตดนตรี ดีวีดีและวีเอชเอสวิดีโอ ภาพยนตร์ และวิดีโอเกม ปัจจุบัน กลุ่มโทรคมนาคมฟุจิซันเก (Fujisankei Communications Group) ถือหุ้นใหญ่ในโพนีแคนยอน ประวัติวันที่ 1 ตุลาคม 2509 บริษัทนิปปงบรอสแคสติงซิสเตม (Nippon Broadcasting System, Inc.) ตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัทนิปปงบรอสแคสติงซิสเตมเซอร์วิส (Nippon Broadcasting System Service, Inc.) ขึ้นเพื่อผลิตดนตรีโดยใช้นักดนตรีชาวญี่ปุ่นและเพื่อทำการตลาดด้านดนตรีดังกล่าว ในช่วงปี 2509 ถึง 2510 บริษัทนิปปงบรอสแคสติงซิสเตมเซอร์วิสใช้ยี่ห้อสินค้าว่า "โพนีแพก" (PONYPak) ผลิตเทปแคสเซตที่มีความยาวแปดเพลง ครั้น 2511 จึงเปลี่ยนยี่ห้อเทปเป็น "โพนี" (PONY) เท่านั้น ลุปี 2513 บริษัทจึงเปลี่ยนชื่อตนเองเป็น บริษัทโพนี (Pony, Inc.) ตามยี่ห้อสินค้า ในปีเดียวกันนั้น บริษัทแม่ได้ตั้งบริษัทดนตรีอีกแห่งขึ้น คือ บริษัทแคนยอนริคอดส์ (Canyon Records Inc.)[2] ครั้นปี 2525 บริษัทโพนีจึงหันไปเอาดีทางผลงานที่มีเนื้อหาอาศัยปฏิสัมพันธ์ (interactive content) คือ เกมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แล้วใช้ยี่ห้อซอฟต์แวร์ดังกล่าวว่า "โพนีกา" (Ponyca) ถึงปี 2527 บริษัทโพนีได้ทำข้อตกลงกับบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทจากต่างประเทศ ได้แก่ เอ็มจีเอ็ม/ยูเอ (MGM/UA), เวสตรอนวิดีโอ (Vestron Video), วอลต์ดิสนีย์โฮมวิดีโอ (Walt Disney Home Video) และบีบีซีวิดีโอ (BBC Video) เพื่อทำงานร่วมกัน ในปี 2528 กลุ่มบริษัทเหล่านี้จึงเปิดสำนักงานหลายแห่งในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปีถัด ๆ มา บริษัทโพนีได้ทำความตกลงกับบริษัทต่างชาติรายอื่นเพิ่มขึ้นอีก คือ เอแอนด์เอ็มริคอดส์ (A&M Records) เมื่อปี 2529 กับเวอร์จินริคอดส์ (Virgin Records) เมื่อปี 2532 ในช่วงนั้นเองเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 บริษัทโพนีได้รับการรวมเข้ากับบริษัทแคนยอน แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า บริษัทโพนีแคนยอน (Pony Canyon, Inc.)[2] นับแต่นั้นโพนีแคนยอนได้เป็นบริษัทผู้นำในอุตสาหกรรมดนตรีญี่ปุ่น นักดนตรีทั้งหลายในสังกัดติดอันดับต้น ๆ บนผังดนตรีญี่ปุ่นอยู่เสมอ นอกจากชื่อเสียงด้านดนตรีแล้ว โพนีแคนยอนยังผลิตภาพยนตร์ เป็นต้นว่า บันทึกการแสดงดนตรี และอนิเมะ บริษัทโพนีแคนยอนจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2533 ปีเดียวสามารถขยายสาขาไปนอกบ้านเกิดเมืองนอนได้ถึงห้าแห่ง ในจำนวนนี้ แห่งหนึ่งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ใช้ชื่อว่า สกิน (Skin) มอบหมายให้จิมมี วี (Jimmy Wee) จัดการ และมีนักดนตรีชาวสิงคโปร์หลายคนอยู่ในสังกัดคอยผลิตผลงานเพลงเป็นภาษาอังกฤษ เช่น ไกวโล (Gwailo), อาร์ต ฟาซิล (Art Fazil), คริส แวแดม (Chris Vadham), เดอะลิซาดส์คอนเวนชัน (The Lizards' Convention), ฮัมป์แบกโอก (Humpback Oak) และเรดิโอแอกทีฟ (Radio Active) อีกแห่งอยู่ในประเทศไต้หวัน อีกแห่งอยู่บนเกาะฮ่องกงชื่อ โกลเดนโพนี (Golden Pony) และอีกแห่งอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ชื่อ แซมโพนี (SAMPONY) สองแห่งหลังนี้เป็นบริษัทร่วมทุนด้วย[3] อย่างไรก็ดี วิกฤติการณ์ทางการเงินในภูมิภาคนี้เป็นเหตุ โพนีแคนยอนจึงต้องปิดสาขาสี่แห่งในจำนวนห้าแห่งลงเมื่อปี 2540 เหลือที่ประเทศสิงคโปร์แห่งเดียว[3] ภายหลังเมื่อเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นแล้ว จึงกลับมาเปิดสาขาที่ฮ่องกงกับประเทศเกาหลีใต้ใหม่ สำหรับผลงานด้านเกมนั้น ในช่วงแรก โพนีแคนยอนได้นำเกมชุด อัลทิมา (Ultima) ของบริษัทออริจินซิสเตมส์ (Origin Systems) กับ แอดวานด์ดันเจียนส์แอนด์ดรากอนส์ (Advanced Dungeons and Dragons) ของบริษัทสเตรทีจิกซีมูเลชันส์ (Strategic Simulations) เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ครอบครัวของนินเท็นโด (Nintendo) ครั้นช่วงปี 2529 ถึง 2533 โพนีแคนยอนได้ผลิตชุดเกมสี่ชุดใช้ชื่อ อัลทิมา และโครงเรื่องเดิม แต่เขียนรหัสและทำกราฟิกส์ใหม่ทั้งสิ้น เพื่อใช้เล่นกับเอ็มเอสเอกซ์ 2 (MSX 2) และเนส (NES)[4] บริษัทฟุจิเซนไกโทรคมนาคมสากล (Fujisankei Communications International) ได้นำบรรดาวิดีโอเกมของโพนีแคนยอนออกเผยแพร่ในอเมริกาเหนือ แต่ผลงานวิดีโอเกมของโพนีแคนยอนนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าผลงานด้านดนตรี ทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคุณภาพด้วย จึงปรากฏว่า โพนีแคนยอนไม่เผยแพร่เกมอีกเลยนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 เป็นต้นมา กลุ่มฟุจิมีเดีย (Fuji Media) ได้เข้าถือครองโพนีแคนยอนตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบัน โพนีแคนยอนมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเขตมินะโตะ กรุงโตเกียว และเปิดสำนักสาขาหลายแห่งในประเทศมาเลเซียและประเทศเกาหลีใต้[5][6] โพนีแคนยอนยังเป็นเจ้าของบริษัทไฟลต์มาสเตอร์ (Flight Master) ซึ่งนำผลงานเพลงของค่ายไทม์สปา (Time S.p.A.) สัญชาติอิตาลีออกเผยแพร่ในหลายภูมิภาคทั่วโลก[7] ศิลปินในสังกัดนักดนตรีกค
จ
ช
ซ
ด
ทบ
พ
ฟม
ย
ร
ลว
ส
อ
ฮ
นักประพันธ์
วิดีโอเกม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ โพนีแคนยอน
|