Share to:

 

โรคคอตีบ

โรคคอตีบ
(Diphtheria)
ผู้ป่วยโรคคอตีบมีอาการคอบวม
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการไข้ เจ็บคอ ไอเสียงก้อง[1]
การตั้งต้น2–5 วัน หลังได้รับเชื้อ[2]
สาเหตุเชื้อแบคทีเรีย C. diphtheriae (ติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งหรืออากาศที่มีเชื้อ)[2]
วิธีวินิจฉัยการตรวจลักษณะคอหอย และการเพาะเชื้อ[1]
การป้องกันวัคซีนโรคคอตีบ[2]
การรักษายาปฏิชีวนะ, การเจาะคอ[2]
ความชุก4,500 (ข้อมูลปี 2015)[3]
การเสียชีวิต2,100 (2015)[4]

โรคคอตีบ (อังกฤษ: diphtheria) เป็นโรคติดเชื้ออย่างหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae[2] อาการมีได้หลากหลายตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง[1] ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-5 วัน[2] ในช่วงแรกมักมีอาการเจ็บคอและมีไข้[1] หากเป็นรุนแรงผู้ป่วยจะมีแผ่นเนื้อเยื่อสีขาวหรือสีเทาที่คอหอย[2][1] ซึ่งอาจอุดกั้นทางหายใจและทำให้เกิดอาการไอเสียงก้องเหมือนในโรคกล่องเสียงอักเสบ (ครุป) ได้[1] อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ทำให้มีคอบวม[2] เชื้อนี้นอกจากทำให้มีอาการที่คอแล้วยังทำให้มีอาการที่ระบบอื่น เช่น ผิวหนัง ตา หรืออวัยวะเพศ ได้อีกด้วย[2][1] ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ ไตอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น[2]

เชื้อคอตีบสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสโดยตรง ผ่านวัตถุที่เปื้อนเชื้อ หรือผ่านอากาศ[2][5][2] ผู้รับเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการ แต่มีเชื้อในร่างกาย และสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้[2] เชื้อ C. diphtheriae มีชนิดย่อยอยู่ 3 ชนิด แต่ละชนิดอาจทำให้มีอาการรุนแรงแตกต่างกัน[2] อาการของโรคส่วนใหญ่เกิดจากพิษที่สร้างโดยเชื้อนี้ การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจร่างกายดูลักษณะของคอหอยของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจยืนยันด้วยการเพาะเชื้อ[1] การหายจากเชื้อนี้จะไม่ได้ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อครั้งถัดไป[1]

วัคซีนโรคคอตีบเป็นวิธีป้องกันโรคนี้ที่ได้ผลดี และมีให้ใช้ในหลายรูปแบบ[2] ส่วนใหญ่แนะนำให้เด็กทั่วไปได้รับวัคซีนนี้ร่วมกับวัคซีนโรคบาดทะยักและไอกรน 3-4 ครั้ง[2] หลังจากนั้นควรได้รับวัคซีนคอตีบและบาดทะยักร่วมกันทุก ๆ 10 ปี[2] สามารถตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในเลือดเพื่อยืนยันการมีภูมิคุ้มกันได้[2] การรักษาทำได้โดยให้ยาปฏิชีวนะเช่นอีริโทรมัยซิน หรือเบนซิลเพนิซิลลิน[2] ยาปฏิชีวนะเหล่านี้นอกจากใช้รักษาโรคแล้วยังใช้ป้องกันการเกิดโรคในผู้ที่สงสัยว่าจะได้รับเชื้อได้ด้วย[2] ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงบางรายอาจมีทางเดินหายใจอุดกั้นรุนแรงจนต้องรับการรักษาด้วยการเจาะคอ[1]

ในปี ค.ศ. 2015 มีรายงานผู้ป่วยโรคคอตีบทั่วโลกรวมกัน 4,500 ราย ลดลงจากสถิติปี ค.ศ. 1980 ที่จำนวน 100,000 ราย[3] ก่อนปี 1980 เชื่อว่าแต่ละปีอาจมีผู้ป่วยถึงหนึ่งล้านรายทั่วโลก[1] ปัจจุบันโรคนี้ยังพบได้ในแอฟริกาใต้สะฮารา ประเทศอินเดีย และประเทศอินโดนีเซีย[1][6] จำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2015 อยู่ที่ 2,100 ราย ลดลงจากสถิติทศวรรษ 1980 ที่ 8,000 ราย[4][7] ในพื้นที่ที่ยังมีการระบาดจะพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเด็ก[1] โรคนี้พบได้น้อยในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจากมีการให้วัคซีนกันอย่างกว้างขวาง[1] เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปี 2004 มีผู้ป่วยรวมกันเพียง 57 ราย[2] ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต 5-10%[2] โรคนี้ได้รับการบรรยายไว้ครั้งแรกตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยฮิปโปคราเตส[2] ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคถูกค้นพบเมื่อปี 1882 โดยเอดวิน เคลบส์[2]

อาการและอาการแสดง

แผ่นหนาสีเทายึดติดและปกคลุมบริเวณทอนซิล เป็นอาการแสดงตามแบบฉบับของผู้ป่วยคอตีบ
รอยโรคที่ผิวหนังจากเชื้อโรคคอตีบ

ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการของโรคคอตีบหลังจากได้รับเชื้อมาประมาณ 2-7 วัน อาการเหล่านี้ ได้แก่ ไข้สูง (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น อ่อนเพลีย ผิวหนังเขียว (cyanosis) เจ็บคอ เสียงแหบ ไอ ปวดศีรษะ กลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ หายใจลำบาก หายใจเร็ว น้ำมูกมีกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดปน และมีต่อมน้ำเหลืองโต[8][9] พิษของเชื้ออาจทำลายเนื้อเยื่อของระบบหายใจได้ภายใน 2-3 วัน เนื้อเยื่อที่ตายแล้วเหล่านี้จะหลุดลอกออกมา กลายเป็นแผ่นเนื้อเยื่อหนาสีขาวหรือสีเทา เรียกว่า ซูโดเมมเบรน (อังกฤษ: pseudomembrane, "แผ่นเยื่อเทียม") และสามารถสะสมจนอุดตันช่องจมูก คอหอย หรือหลอดลมได้ ทำให้เกิดอาการหายใจลำบากและกลืนลำบาก[10] เป็นที่มาของชื่อโรค "คอตีบ" อาการอื่น ๆ ที่พบได้เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นประสาทอักเสบและเป็นอัมพาต เป็นต้น

สรุปจากโรคคอตีบ

การเกิดโรคคอตีบที่กล่องเสียงอาจทำให้มีอาการคอบวมได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไอเสียงก้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า หายใจมีเสียงดัง เสียงแหบ หายใจลำบาก ภาวะนี้แต่เดิมเรียกว่าครุป[11][12][13][14] ปัจจุบันครุปจากโรคคอตีบพบได้น้อยมาก เนื่องจากมีการให้วัคซีนโรคคอตีบอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันคำว่าครุปจึงมักหมายถึงภาวะครุปจากเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้มีอาการคล้ายคลึงกันแต่อาจไม่รุนแรงเท่าครุปจากโรคคอตีบ[15]

การแพร่เชื้อ

เชื้อโรคคอตีบติดต่อจากคนสู่คนผ่านอากาศที่มีเชื้อซึ่งออกมาจากการไอหรือจามของผู้ป่วย เมื่อคนทั่วไปหายใจเอาอากาศที่มีละอองเชื้อนี้เข้าไปก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้[16] การสัมผัสรอยโรคบนผิวหนังของผู้ป่วยก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการรับเชื้อ แต่พบได้น้อยกว่า[17] การติดเชื้อทางอ้อมอาจเกิดขึ้นได้จากการที่ผู้ป่วยไปสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุ แล้วเชื้อแบคทีเรียเกิดตกค้างอยู่บนพื้นผิวนั้น แล้วมีคนมาสัมผัสต่อ หลักฐานบางแหล่งสนับสนุนว่าเชื้อแบคทีเรียอาจติดต่อไปยังสัตว์และติดต่อกลับมายังคนได้ เนื่องจากพบว่ามีเชื้อ Corynebacterium ulcerans ในสัตว์บางชนิด[18] แต่สมมติฐานนี้ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคคอตีบในปัจจุบันอาศัยนิยามทางคลินิกสำหรับผู้ป่วยที่กำหนดโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ซึ่งนิยามนี้อาศัยเกณฑ์ผสมผสานทั้งอาการทางคลินิกและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ

นิยามจากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ

นิยามจากอาการทางคลินิก

  • มีอาการเจ็บป่วยทางเดินหายใจส่วนบนร่วมกับเจ็บคอ
  • มีไข้ต่ำ (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส)
  • มีแผ่นเยื่อหนา สีเทา ยึดติดอยู่กับคอหอย ในกรณีรุนแรงอาจเป็นลุกลามไปจนตลอดทั้งหลอดลม

การจำแนกกรณีผู้ป่วย

  • อาจจะใช่ (propable): ผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกเข้าได้กับโรคคอตีบ ที่ยังไม่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน และไม่มีความสัมพันธ์ทางวิทยาการระบาดกับผู้ป่วยรายอื่นที่ได้รับการยืนยันด้วยผลตรวจทางห้องปฏิบัตการ
  • ยืนยัน (confirmed): ผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกเข้าได้กับโรคคอตีบ ที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน หรือมีความสัมพันธ์ทางวิทยาการระบาดกับผู้ป่วยรายอื่นที่ได้รับการยืนยันด้วยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การรักษา

โรคนี้โดยส่วนใหญ่ถือว่าเป็นโรคที่รักษาได้ แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรง ต่อมน้ำเหลืองที่คออาจโตมาก จนทำให้หายใจลำบากและกลืนลำบาก จะรักษาค่อนข้างยาก ผู้ป่วยในระยะนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจำเป็นต้องได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือการเจาะคอเพื่อเปิดทางหายใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดเส้นประสาทอักเสบในบางตำแหน่ง ทำให้กล้ามเนื้อบางมัด เช่น กล้ามเนื้อตา คอ คอหอย หรือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจเป็นอัมพาตได้ ผู้ป่วยอาการรุนแรงเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) และต้องได้รับสารต้านพิษคอตีบ (diphtheria antitoxin) อย่างไรก็ดีสารต้านพิษเหล่านี้ไม่สามารถไปต้านพิษที่จับกับเนื้อเยื่อไปแล้วได้ จึงจำเป็นต้องให้โดยเร็วที่สุด หากให้ช้าผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้นการตัดสินใจเพื่อให้สารต้านพิษนี้ต้องตัดสินใจจากอาการแสดงทางคลินิก โดยไม่รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งมักใช้เวลานาน

ยาปฏิชีวนะมักไม่ช่วยทำให้รอยโรคติดเชื้อหายเร็วขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสารต้านพิษแล้ว แต่จะมีบทบาทมากในผู้ที่เป็นพาหะ (ผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีเชื้อและสามารถแพร่ให้คนอื่นได้) เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไปไม่ให้แพร่เชื้อต่อได้

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 "Diphtheria vaccine" (PDF). Wkly Epidemiol Rec. 81 (3): 24–32. 20 มกราคม 2006. PMID 16671240. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มิถุนายน 2015.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 2.21 2.22 2.23 Atkinson, William (พฤษภาคม 2012). Diphtheria Epidemiology and Prevention of Vaccine-Preventable Diseases (12 ed.). Public Health Foundation. pp. 215–230. ISBN 9780983263135. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กันยายน 2016.
  3. 3.0 3.1 "Diphtheria". who.int. 3 กันยายน 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 เมษายน 2015. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2015.
  4. 4.0 4.1 GBD 2015 Mortality and Causes of Death, Collaborators. (8 October 2016). "Global, regional, and national life expectancy, all-cause mortality, and cause-specific mortality for 249 causes of death, 1980-2015: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2015". Lancet. 388 (10053): 1459–1544. doi:10.1016/s0140-6736(16)31012-1. PMC 5388903. PMID 27733281. {{cite journal}}: |first1= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  5. Kowalski, Wladyslaw (2012). Hospital airborne infection control. Boca Raton, Florida: CRC Press. p. 54. ISBN 9781439821961. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 ธันวาคม 2016.
  6. Mandell, Douglas, and Bennett's Principles and Practice of Infectious Diseases (8 ed.). Elsevier Health Sciences. 2014. p. 2372. ISBN 9780323263733. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 ธันวาคม 2016.
  7. GBD 2013 Mortality and Causes of Death, Collaborators (17 December 2014). "Global, regional, and national age-sex specific all-cause and cause-specific mortality for 240 causes of death, 1990–2013: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2013". Lancet. 385: 117–71. doi:10.1016/S0140-6736(14)61682-2. PMC 4340604. PMID 25530442. {{cite journal}}: |first1= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  8. "Diphtheria—Symptoms—NHS Choices". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2015.
  9. 9.0 9.1 "Updating PubMed Health". PubMed Health. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2015.
  10. "Diphtheria Symptoms". www.cdc.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 10 April 2017. สืบค้นเมื่อ 26 October 2017.
  11. Loving, Starling (5 ตุลาคม 1895). "Something concerning the diagnosis and treatment of false croup". JAMA: the Journal of the American Medical Association. XXV (14): 567–573. doi:10.1001/jama.1895.02430400011001d. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2014.
  12. Cormack, John Rose (8 May 1875). "Meaning of the Terms Diphtheria, Croup, and Faux Croup". British Medical Journal. 1 (749): 606. doi:10.1136/bmj.1.749.606. PMC 2297755. PMID 20747853.
  13. Bennett, James Risdon (8 May 1875). "True and False Croup". British Medical Journal. 1 (749): 606–607. doi:10.1136/bmj.1.749.606-a. PMC 2297754. PMID 20747854.
  14. Beard, George Miller (1875). Our Home Physician: A New and Popular Guide to the Art of Preserving Health and Treating Disease. New York: E. B. Treat. pp. 560–564. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2014.
  15. Vanderpool, Patricia (ธันวาคม 2012). "Recognizing croup and stridor in children". American Nurse Today. 7 (12). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 April 2014. สืบค้นเมื่อ 15 April 2014.
  16. Diphtheria Causes and Transmission เก็บถาวร 13 เมษายน 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. U.S. Center for Disease Control and Prevention (2016).
  17. Youwang Y.; Jianming D.; Yong X.; Pong Z. (1992). "Epidemiological features of an outbreak of diphtheria and its control with diphtheria toxoid immunization". International Journal of Epidemiology. 21 (4): 807–11. doi:10.1093/ije/21.4.807. PMID 1521987.
  18. Hogg R. A.; Wessels J.; Hart A.; Efstratiou A.; De Zoysa G.; Mann T.; Pritchard G. C. (2009). "Possible zoonotic transmission of toxigenic Corynebacterium ulcerans from companion animals in a human case of fatal diphtheria". The Veterinary record. 165 (23): 691–2. doi:10.1136/vr.165.23.691. PMID 19966333.

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
Kembali kehalaman sebelumnya