โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้องค์การสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ (สปอ.) สังกัดสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย โดยผู้ที่ศึกษาในโรงเรียนช่างฝีมือทหาร เรียกว่า นักเรียนช่างฝีมือทหาร (นชท.)
หลักสูตรที่เปิดสอนมี 2 ระดับ คือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยระดับ ปวช. จะแบ่งนักเรียนออกเป็นภาคปกติและภาคสมทบ ระดับ ปวช. จะเปิดวิชาชีพทั้งหมด 7 สาขาวิชาชีพ คือ ช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะ ช่างแมคคาทรอนิกส์ ช่างยานยนต์ ช่างไฟฟ้ากำลัง และช่างอิเล็กทรอนิกส์ โดยข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มี 4 สาขาวิชาชีพ คือ ช่างยานยนต์ ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ และช่างแมคคาทรอนิกส์
การรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักเรียนช่างฝีมือทหารนั้น ระดับ ปวช. รับนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อายุ 15 - 18 ปี ส่วนระดับ ปวส. จะรับนักเรียนที่จบระดับ ปวช.
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแล้ว นักเรียนภาคปกติจะได้บรรจุเข้ารับราชการตามเหล่าทัพต่าง ๆ และได้รับการแต่งตั้งยศ สิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี ตามสังกัด ส่วนนักเรียนภาคสมทบจะได้วุฒิการศึกษาระดับ ปวช. เพื่อนำไปศึกษาต่อ หรือสมัครงานในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐบาลและเอกชน ปัจจุบัน พลตรี บรรพต สังข์มาลา เป็นผู้บัญชาการ มี พันเอก ชวลิต ประดิษฐ์นวกุล และ พันเอก จิรานุวัฒน์ ศักดิ์เสือ เป็นรองผู้บัญชาการ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร
13°49′49″N 100°34′29″E / 13.830271°N 100.574808°E / 13.830271; 100.574808
รายนามผู้บัญชาการ
- พลอากาศตรี จำรัส วีณะคุปต์ (30 ธันวาคม พ.ศ. 2502 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2513)
- พลตรี คำรพ วิชยาภัย (31 ตุลาคม พ.ศ. 2513 - 30 กันยายน พ.ศ. 2523)
- พลเรือตรี เดชา เอกก้านตรง (1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 - 30 กันยายน พ.ศ. 2526)
- พลตรี ธงชัย วัฒนศิริโรจน์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2526 - 30 กันยายน พ.ศ. 2528)
- พลเรือตรี ชุมพล ภุมรานันท์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 - 30 กันยายน พ.ศ. 2532)
- พลเรือตรี สมพร สุมานันท์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2532 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2534)
- พลเรือตรี สุเมธี เมืองมั่น (1 เมษายน พ.ศ. 2534 - 30 กันยายน พ.ศ. 2534)
- พลเรือตรี ปรีดา เดชะคุปต์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 - 30 กันยายน พ.ศ. 2536)
- พลเรือตรี บำนาญ บูรณพงศ์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2536 - 30 กันยายน พ.ศ. 2537)
- พลเรือตรี ไกรเทพ ภมรบุตร (1 ตุลาคม พ.ศ. 2537 - 30 กันยายน พ.ศ. 2539)
- พลเรือตรี อกนิษฐ์ หมื่นศรี (1 ตุลาคม พ.ศ. 2539 - 30 กันยายน พ.ศ. 2542)
- พลเรือตรี ทวีศักดิ์ แดงฉาย (1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2545)
- พลเรือตรี ชยุติ วงษ์กระจ่าง (1 เมษายน พ.ศ. 2545 - 30 กันยายน พ.ศ. 2546)
- พลเรือตรี ชัยวัฒน์ ศรีอักขรินทร์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 - 30 กันยายน พ.ศ. 2548)
- พลเรือตรี พจนา เผือกผ่อง (1 ตุลาคม พ.ศ. 2548 - 30 กันยายน พ.ศ. 2550)
- พลเรือตรี ดำรง สารสินธิ์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 - 30 กันยายน พ.ศ. 2552)
- พลเรือตรี ธนะกาญจน์ ใคร่ครวญ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 - 30 กันยายน พ.ศ. 2555)
- พลเรือตรี ประจักษ์ สันทัดเลขา (1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 - 30 กันยายน พ.ศ. 2556)
- พลเรือตรี มนัสวี บูรณพงศ์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 - 30 กันยายน พ.ศ. 2558)
- พลตรี พิสัณห์ ปฐมเอม (1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 - 30 กันยายน พ.ศ. 2561)
- พลตรี ภาณุพงศ์ สุวัณณุสส์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 - 30 กันยายน พ.ศ. 2563)
- พลตรี พีรพัฒน์ จันทร์งาม (1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 - 30 กันยายน พ.ศ. 2566)
- พลตรี บรรพต สังข์มาลา (1 ตุลาคม พ.ศ. 2566[1])
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 209 ง หน้า 27 วันที่ 30 สิงหาคม 2566