แดรกคูลา
แดรกคูลา (อังกฤษ: Dracula) นวนิยายภาษาอังกฤษแนวสยองขวัญที่มีชื่อเสียงที่สุดของ บราม สโตกเกอร์ เป็นเรื่องราวของแวมไพร์หรือผีดิบดูดเลือดในโรมาเนีย ที่เดินทางมาอังกฤษเพื่อเผยแพร่เผ่าพันธุ์ โดยมีฉากหลังเป็นอังกฤษที่ปกคลุมด้วยบรรยายกาศอึมครึมในยุควิกตอเรีย[1] เนื้อเรื่องโจนาธาน ฮากเกอร์ เดินทางจากลอนดอนไปทรานซิลเวเนีย เพื่อทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับเค้าท์แดรกคูลา ระหว่างเดินทางพบเจอสภาพแวดล้อมแปลก ๆ และน่ากลัว เมื่อไปถึงโจนาธานถูกเค้าท์แดรกคูลาจองจำไว้ในปราสาทพร้อมกับแวมไพร์สาว 3 นาง ขณะที่ตัวเองเดินทางจากทรานซิลเวเนียไปลอนดอนด้วยเรือใบลำหนึ่งท่ามกลางพายุ พร้อมขนโลงศพจำนวน 50 ใบไปด้วย ขณะเดียวกัน มีนา คู่หมั้นสาวของโจนาธานรู้สึกเป็นกังวลที่โจนาธานหายตัวไป และลูซีเพื่อนสาวของเธอที่กำลังเข้าพิธีแต่งงานกับอาเธอร์ โฮล์มวูด มีพฤติกรรมแปลก ๆ และมีอาการเหม่อลอยในเวลาที่ตื่น เดินละเมอในเวลาที่หลับ ที่สุดลูซีก็มีอาการเลือดหมดตัวไปอย่างน่าประหลาด จอห์น เซวาร์ด จึงมีจดหมายไปยัง อับราฮัม แวน เฮลซิง ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคประหลาด ๆ ที่อัมสเตอร์ดัม แวน เฮลซิง เดินทางมาถึงลอนดอน ก็ต้องตกใจกับอาการของลูซี และลูซีก็กลายเป็นแวมไพร์ไปในที่สุด ทั้งหมดจึงต้องทำลายเธอลงด้วยการใช้ลิ่มตอกลงไปที่หัวใจ ภายหลังที่ลูซีตายแล้ว โจนาธานหลบหนีออกจากปราสาทแดรกคูลาได้ และได้แต่งงานกับมีนา มีนาก็ถูกคุกคามจากแดรกคูลา จนกลายเป็นข้าทาสไปในที่สุด แดรกคูลาติดต่อกับเธอทางจิต ซึ่งทางแวน เฮลซิง ก็ได้ใช้จุดนี้เพื่อตามล่าหาที่อยู่ของเค้าท์แดรกคูลา ตัวละคร
เบื้องหลังและความสำเร็จแดรกคูลา เป็นนวนิยายเรื่องที่ 5 ของบราม สโตกเกอร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1857 โดยใช้วิธีการเขียนในรูปแบบบันทึกและจดหมายโต้ตอบไปมาของบรรดาตัวละครในเรื่อง ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในอังกฤษและทั่วโลกในเวลาต่อมา มีการสร้างเป็นภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์, ซีรีส์ หรือละครเวที ในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายต่อหลายครั้ง แม้กระทั่งดัดแปลงไปเป็นรูปแบบอื่นอย่างเช่น ตลก แต่แดรกคูลากลับได้รับการแปลเป็นภาษาโรมาเนีย ในปี ค.ศ. 1990 นี้เอง ทั้งที่เป็นประเทศต้นเรื่องในนวนิยาย[1] บราม สโตกเกอร์ ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้มาจากความเจ็บป่วยของตัวเองในวัยเด็ก[2]และสร้างตัวละครเค้าท์แดรกคูลา มาจากวลาด เทเปซ หรือ วลาด ดราโค ผู้ปกครองทรานซิลเวเนียในโรมาเนียในยุคกลาง ที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยมในการทรมานเชลยศึก ภายหลังที่บราม สโตกเกอร์ เสียชีวิตได้ไม่นาน นวนิยายเรื่องแดรกคูลา ก็ถูกนำไปแปลงเป็นบทภาพยนตร์สัญชาติเยอรมันเรื่อง Nosferatu: A Symphony of Horror ในปี ค.ศ. 1922 อย่างชนิดที่ลอกเลียนมาเกือบทั้งหมด โดยเปลี่ยนแค่ชื่อตัวละครและสถานที่จากภาษาอังกฤษและเป็นภาษาเยอรมัน และจากประเทศอังกฤษและประเทศเยอรมนี เท่านั้นเอง ซึ่งในเรื่องนี้ภรรยาม่ายของสโตกเกอร์ ก็ได้ฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์และได้รับชัยชนะในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ชื่อว่า ได้ทำให้เค้าท์แดรกคูลา เป็นตัวละครที่ชาวโลกรู้จัก และรู้จักมากขึ้นตราบจนถึงปัจจุบัน ดูเพิ่มอ้างอิงแหล่งข้อมูลอื่น |